ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (อังกฤษ: Dusit Central Park) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมใจกลางกรุงเทพมหานคร บนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จำนวน 23 ไร่ 2 งาน 2.72 ตารางวา บริเวณหัวมุมถนนพระรามที่ 4 ตัดถนนสีลม (แยกศาลาแดง) ตรงข้ามกับสวนลุมพินีฝั่งพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เยื้องกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในพื้นที่แขวงสีลม เขตบางรัก ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ และ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) สำนักงานสีลม บริหารงานโดย บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ภายใต้การร่วมทุนของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเซ็นทรัล โดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)[3] ตั้งเป้าเป็นแลนด์มาร์คหนึ่งของเส้นขอบฟ้ากรุงเทพมหานคร ด้วยความสูงของอาคารที่อยู่อาศัยซึ่งสูงที่สุดในโครงการที่ 69 ชั้น ภายใต้สถาปัตยกรรมแบบไทยโบราณร่วมกับสถาปัตยกรรมแบบไทยร่วมสมัย รองรับกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ
ประวัติ
ภูมิหลัง
พื้นที่ของโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค แต่เดิมเป็นบ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาคณะกรรมการโรงแรม ปริ๊นเซส ได้ดำเนินการขอเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงแรมระดับห้าดาวที่หรูหราแห่งแรกในกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2511 ภายใต้ชื่อ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยตัวอาคารมีความสูง 23 ชั้น นับเป็นอาคารสูงแห่งแรกในประเทศไทย[4] ในส่วนของชื่อโรงแรมได้ตั้งตามชื่อเมืองจำลองของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ เนื่องจากโรงแรมตั้งอยู่ตรงข้ามกับลานพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ที่ประดิษฐานทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสวนลุมพินี[5]
การยกระดับโครงการ
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เครือดุสิตธานีได้ประกาศต่อสัญญาเช่าที่ดินกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 67 ปี[6] จึงประกาศแผนพัฒนาและยกระดับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ด้วยการร่วมทุนกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสม (Mixed-use) บนที่ดินขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่, อาคารที่พักอาศัย, อาคารสำนักงาน, พื้นที่ค้าปลีก ฯลฯ ขึ้นมาทดแทน[7] เพื่อตอบรับต่อการพัฒนาเมืองและย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร
เมื่อเริ่มต้นโครงการใช้งบลงทุน 36,700 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 46,000 ล้านบาท[8] ทำให้เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดของกลุ่มดุสิตธานี[9] และเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับที่ 5 ในวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยโครงการมีกำหนดเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบภายใน พ.ศ. 2569
การจัดสรรพื้นที่
ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค มีพื้นที่รวม 440,000 ตารางเมตร ประกอบทั้งหมดสี่ส่วน ได้แก่
โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่ เป็นอาคารโรงแรมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโครงการ สร้างขึ้นทดแทนอาคารโรงแรมดุสิตธานีเดิมซึ่งปิดกิจการเมื่อ พ.ศ. 2562 อาคารโรงแรมใหม่นี้ตั้งอยู่บนที่ตั้งเดิมของไทยประกันชีวิต สำนักงานสีลม ออกแบบโดยกลุ่มสถาปนิก อังเดร ฟู สตูดิโอ โดยอังเดร ฟู[10] ผู้ซึ่งมีผลงานการออกแบบโรงแรมหรูหราหลายแห่งในฮ่องกง รวมถึงโรงแรมวาลดอฟ แอสโทเรีย แบงค็อก ภายในอาคาร แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด[11] อาคารโรงแรมฉาบเปลือกนอกด้านหน้ากับเรือนยอดด้วยโทนสีทอง และนำสถาปัตยกรรมของอาคารเดิมมาปรับใช้ทั้งหมด
อาคารโรงแรมนี้มีความสูง 39 ชั้น ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 257 ห้อง ที่ทุกห้องมีหน้าต่างขนาดใหญ่กว้าง 5 เมตร รับวิวสวนลุมพินี รวมถึงห้องจัดเลี้ยง "นภาลัยแกรนด์บอลรูม" ที่เปิดมุมมองสวนลุมพินีแบบพาโนรามา ความจุ 950 คน ห้องอาหาร "พาวิลเลียน" ที่ให้บริการอาหารไทยและเอเชีย และ "1970 บาร์" กับ "สไปร์ รูฟท็อป บาร์" พร้อมจุดชมทัศนียภาพบริเวณชั้นบนสุด ซึ่งโครงการได้นำยอดแหลมไม้สักทองจากอาคารเดิมมาใช้ด้วย ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวได้เปิดเป็นส่วนแรกของโครงการอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567 ส่วนรูฟท็อปบาร์เปิดให้บริการในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน
นอกจากนี้โรงแรมยังมีส่วนขยายในชื่อ "บ้านดุสิตธานี" ตั้งอยู่ริมถนนศาลาแดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "ดุสิตกูร์เมต์" ร้านขนม คาเฟ่ และบาร์, ห้องอาหารไทย "เบญจรงค์", ห้องอาหารเวียดนาม "เธียนดอง"[12] และร้านอาหารอเมริกาใต้ "โนมาดา"[13]
เซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส
อาคารสำนักงานเซ็นทรัล พาร์ค ออฟฟิศเซส เป็นอาคารทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของโครงการ ความสูง 43 ชั้น พื้นที่รวม 130,000 ตารางเมตร ออกแบบในโทนสีเงิน มีรูฟท็อปบาร์ที่ชั้นบนสุดของอาคาร และให้มุมมองโอบล้อมสวนลุมพินีทั้งหมด กำหนดเปิดบริการในไตรมาส 2 พ.ศ. 2568 โดยมีผู้เช่าหลักเป็นกลุ่มบริษัทระดับเอลิสต์ของประเทศไทย รวมถึงตัวของเครือดุสิตธานีเองก็จะใช้อาคารนี้เป็นสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของบริษัทแทนอาคารจามจุรีสแควร์เดิมเช่นกัน
ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค
ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พาร์ค เป็นอาคารส่วนฐานของโครงการ ความสูง 8 ชั้น (เหนือพื้นดิน 6 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น) พื้นที่รวม 130,000 ตารางเมตร โดยเป็นศูนย์การค้าเรือธงแห่งที่ 3 ในเขตใจกลางกรุงเทพมหานครของกลุ่มเซ็นทรัล ต่อจากเซ็นทรัลเวิลด์ และเซ็นทรัล เอ็มบาสซี แต่มีความแตกต่างกับสองศูนย์การค้าข้างต้นที่จะเน้นร้านค้าซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว[14]
โครงการเซ็นทรัล พาร์ค ประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และสวนสาธารณะพร้อมลานกีฬากลางแจ้ง ทั้งนี้ ชั้นใต้ดินจะเชื่อมกับโถงออกบัตรโดยสารสถานีสีลมของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และเชื่อมต่อกับทางเดินลอยฟ้าไปรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ที่สถานีศาลาแดง
เซ็นทรัล พาร์ค กำหนดเปิดให้บริการในไตรมาส 3 พ.ศ. 2568
เดอะ เรสซิเดนเซส แอท ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค
อาคารที่พักอาศัย เดอะ เรสซิเดนเซส แอท ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค[15] เป็นอาคารทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโครงการ ความสูง 69 ชั้น พื้นที่ขนาด 50,500 ตารางเมตร ออกแบบในโทนสีนาก ประกอบด้วยที่พักอาศัยสองรูปแบบ ได้แก่ ดุสิต เรสซิเดนเซส จำนวน 160 ยูนิต และดุสิต พาร์คไซด์ จำนวน 246 ยูนิต[16] โดยทุกห้องพักให้มุมมองโอบล้อมสวนลุมพินีและแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารดังกล่าวกำหนดเปิดใช้งานเป็นส่วนสุดท้ายของโครงการในปี พ.ศ. 2569
ระเบียงภาพ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
---|
เซ็นทรัลแบงค็อก | |
---|
เซ็นทรัล ไลฟ์คอมเพล็กซ์ (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) | |
---|
เซ็นทรัล ไลฟ์คอมเพล็กซ์ (ภูมิภาค) | |
---|
โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) | |
---|
โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ (ภูมิภาค) | |
---|
ท็อปส์ พลาซา | |
---|
ศูนย์การค้า | |
---|
ต่างประเทศ | |
---|
ตัวเอียง = กำลังก่อสร้าง |
|
---|
ฝั่งพระนคร | | |
---|
ฝั่งธนบุรี | |
---|
ดูเพิ่ม | |
---|
- ตัวเอียง หมายถึงตึกระฟ้าที่อยู่ในระหว่างก่อสร้างหรือระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง
|
|
---|
แขวง | |
---|
ประวัติศาสตร์ | |
---|
ภูมิศาสตร์ | |
---|
เศรษฐกิจ | |
---|
สังคม | การศึกษา | |
---|
หน่วยงานราชการ | |
---|
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ | |
---|
คุณภาพชีวิต | |
---|
วัฒนธรรม | |
---|
|
---|
|