ซากซุยโยมารุ (อังกฤษ: Zuiyo-maru carcass; ญี่ปุ่น: ニューネッシー; โรมาจิ: Nyū Nesshii; แปลว่า เนสซีใหม่) เป็นซากสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง ที่ถูกลากขึ้นมาจากท้องทะเลด้วยเรือประมงสัญชาติญี่ปุ่นชื่อ "ซุยโยมารุ" (ญี่ปุ่น: 瑞洋丸; โรมาจิ: Zuiyō Maru) นอกชายฝั่งของนิวซีแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1977 ซากดังกล่าวได้สร้างความฮือฮาและเป็นปริศนาในเชิงวิทยาศาสตร์
วันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1977 ที่นอกชายฝั่งเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ประมาณ 30 ไมล์ เรือซุยโยมารุ ของญี่ปุ่นที่กำลังทำการประมงปลาแมกเคอเรลอยู่ ขณะกำลังดึงอวนในความลึก 300 เมตรขึ้นมา อวนนั้นได้ติดเอาซากของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างประหลาดขึ้ันมาด้วย ซากนั้นมีสีขาวซีด ส่งกลิ่นเน่าเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว กัปตันทานากะ อากิระ ได้วินิจฉัยด้วยตนเองว่าน่าจะเป็นซากวาฬที่กำลังเน่าเปื่อย แต่ถึงอย่างไรซากดังกล่าวก็ได้ถูกยกขึ้นมาแขวนและถ่ายรูปไว้ โดย มิจิฮิโกะ ยาโนะ นักสมุทรศาสตร์และผู้จัดการเรือ ก่อนจะทิ้งลงทะเลไป เพราะลูกเรือทนกลิ่นของมันไม่ไหว แต่ก็ยังคงมีเนื้อเยื่อติดอยู่จึงเก็บไว้สำหรับใช้ตรวจสอบต่อไป ลักษณะของซากดังกล่าว ดูคล้ายกับเพลสิโอซอร์ สัตว์เลื้อยคลานทางทะเลขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์ไปแล้วในยุคครีเตเชียสตอนปลาย เมื่อกว่า 65 ล้านปีก่อน คือ มีคอยาว ส่วนหัวเล็ก มีครีบสี่ข้างเหมือนใบพายขนาดใหญ่ โดยซากนี้ทีส่วนคอยาว 1.5 เมตร มีครีบสีแดงสี่ครีบ และส่วนหางยาวประมาณ 2 เมตร ไม่มีครีบหลัง ไม่มีอวัยวะภายใน แต่ไขมันและเนื้อไม่สมบูรณ์[1][2]
[2][3]
เมื่อเรือกลับถึงฝั่งในอีกสองเดือนต่อมา กัปตันอากิระได้สเก็ตช์ภาพขึ้นมาพร้อมกับภาพถ่าย ทำให้เรื่องนี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไปโดยสำนักข่าวท้องถิ่น ได้สร้างกระแสเป็นที่ฮือฮาในวงกว้างโดยเฉพาะในแวดวงวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์โยชิโนริ อิมาอิซูมิ แห่งสถาบันวิจัยสัตว์ทะเลกรุงโตเกียว กล่าวว่า นี่ไม่ใช่ปลา วาฬ หรือกระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใด ๆ พร้อมกับได้เรียกชื่อมันเป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลได้ว่า "เนสซีตัวใหม่" ขึ้นมา พร้อมกับได้สันนิษฐานว่า มันน่าจะเป็นเพลสิโอซอร์ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการเอาตัวรอดได้ในกระแสน้ำเย็น หาอาหารและเอาชีวิตรอดในมหาสมุทร[4] สอดคล้องกับศาสตราจารย์โทกิโอะ ชิกามะ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮามะ ที่เห็นว่ามันคล้ายเพลสิโอซอร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และศาสตราจารย์ฟูจิโร ยาซูดะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทางทะเลโตเกียว ที่เห็นว่า ภาพถ่ายแสดงให้เห็นถึงซากของสัตว์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์[2]
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตก เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยบางคนนำไปผูกโยงกับการค้นพบปลาซีลาแคนท์ ปลาทะเลกระดูกแข็งที่เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้วในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก่อนจะค้นพบอีกครั้งที่ชายฝั่งตอนใต้ของทวีปแอฟริกาใน ค.ศ. 1938 แต่บางคนก็เห็นว่าการค้นพบปลาซีลาแคนท์ไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะนำไปเทียบกับเพลสิโอซอร์ ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่กว่ามากและหายใจด้วยปอด ซึ่งต้องโผล่ส่วนหัวพ้นน้ำขึ้นมาเพื่อที่จะหายใจ[2]
แต่การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วยการใช้เศษเนื้อเยื่อที่หลงเหลืออยู่นั้นด้วยการวิเคราะห์ทางชีวเคมี พบว่ากรดอะมิโนของซากมีลักษณะคล้ายกับกรดอะมิโนในปลากระดูกอ่อนจำพวกปลาฉลาม หรือปลากระเบน รวมถึงลักษณะของเนื้อเยื่อของครีบก็คล้ายกับครีบของปลาฉลามด้วย จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นซากของปลาฉลามบาสกิน ปลาฉลามขนาดใหญ่ที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากปลาฉลามวาฬมากกว่า อีกทั้งลักษณะทางกายภาคเมื่อเปรียบเทียบความยาว รวมถึงครีบและหางก็เหมือนกันด้วย โดยเชื่อว่าปลาฉลามตัวนี้ได้ตายมานานนับเดือนแล้ว และซากของมันบางส่วนได้หลุดหายไปจากการเน่าเปื่อยหรือถูกสัตว์อื่นกัดกินไป จึงทำให้มีลักษณะผิดแผกออกไปจากปกติ[2][5][6]
อย่างไรก็ตาม ซากซุยโยมารุ ก็ยังคงถูกอ้างอิงเสมอ ๆ ในแวดวงของวิทยาสัตว์ลึกลับตามภาพยนตร์สารคดีเรื่องต่าง ๆ เช่น Lost Tapes ตอน Monster of Monterey ในปี ค.ศ. 2009 ทางช่องดิสคัฟเวอรี[7], The Truth Behind ตอน The Loch Ness Monster ในปี ค.ศ. 2011 ทางช่องเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก[8] หรือกระทั่งถูกอ้างอิงถึงในเครดิตตอนต้นของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Godzilla ในปี ค.ศ. 2014 เป็นต้น[9]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ Bord, Janet and Colin (1990), in Varelser från det okända (Det oförklarliga), Bokorama.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Sjögren, Bengt, Berömda vidunder, Settern, 1980, ISBN 91-7586-023-6 (Swedish)
- ↑ Welfare & Fairley, 1981
- ↑ Ellis, Richard (2006). Monsters of the Sea. Guilford, Connecticut: First Lyons Press. p. 68. ISBN 978-1-59228-967-7.
- ↑ John Koster (November 1977). "What Was the New Zealand Monster?". Oceans. San Diego: Trident Publishers, Inc.: 56–59. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Reprint)เมื่อ 2009-01-25. สืบค้นเมื่อ 2017-04-08.
- ↑ Glen J. Kuban (May–June 1997). "Sea-monster or Shark? An Analysis of a Supposed Plesiosaur Carcass Netted in 1977" (Reprint). Reports of the National Center for Science Education. 17 (3): 16–28. ISSN 1064-2358.
- ↑ "Monster of Monterey". แอนิมอลแพลนเนต.
- ↑ "THE TRUTH BEHIND THE LOCH NESS MONSTER". เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก.
- ↑ "Godzilla Map of the Pacific - Opening Credits". วอร์เนอร์บราเธอร์ส. 2014-08-22.