เซอร์ ชัมเศทจี นสรวานจี ตาตา (คุชราต: જમશેદજી તાતા) หรือ ชัมเศทจี นสรวานจี ฏาฏา (เทวนาครี: जमशेदजी नसरवानजी टाटा) หรือนิยมเรียกว่า จัมเซตจี (อักษรโรมัน: Jamsetji, 3 มีนาคม 1839 – 19 พฤษภาคม 1904) เป็นนักอุตสาหกรรมและผู้ใจบุญชาวอินเดีย ผู้ก่อตั้งเครือทาทา บริษัทเครือที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย และผู้สถาปนานครชัมเศทปุระ[1][2]
ชัมเศทจีเกิดในครอบครัวชาวปาร์ซีที่นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์ซึ่งอพยพมาจากเปอร์เซีย และเป็นตระกูลนักบวช กระนั้นตาตาเป็นคนแรกที่ออกมาทำธุรกิจในตระกูล โดยการก่อตั้งบริษัทค้าขายในบอมเบย์ หลังทำงานในบริษัทค้าขายและส่งออก เขามองเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมฝ้ายขณะเดินทางไปจีนเพื่อเจรจาธุรกิจ และก่อตั้งบริษัทผลิตผ้า เอ็มเปรสมิลล์ในนาคปุระ[3] หลังจากนั้นได้ซื้อโรงงานน้ำมันที่ล้มละลายในมุมไบและแปรสถาภพมาเป็นโรงงานทอฝ้าย ในฐานะนักอุตสาหกรรมและนักธุรกิจ ตาตาได้ก่อตั้งบริษัทในหลายตลาด ซึ่งรวมถึงโรงแรมตาชมหัลในมุมไบ ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกในอินเดียที่มีระบบไฟฟ้า และมีบทบาทอย่างมากต่อการสถาปนาสถาบันวิทยาศาสตร์อินเดีย, บริษัทตาตาสตีล และ บริษัทตาตาพาวเวอร์[4] เขามีอิทธิพลต่อวงการอุตสาหกรรมในอินเดียอย่างมาก ถึงขั้นที่อดีตนายกรัฐมนตรี ชวาหัรลาล เนห์รู เรียกขานตาตาว่าเป็น "คณะกรรมการวางแผนที่มีตัวเขาคนเดียว" (One-Man Planning Commission)[5]
ตาตาเป็นผู้ใจบุญและบริจาคเงินสนับสนุนในหลายสาขา โดยเฉพาะในด้านสุขภาพและการศึกษา สิ่งสืบเนื่องจากตาตา เช่น นครชัมเศทปุระซึ่งตั้งชื่อตามเขา ตาตาสมรสกับหิรบาอี ดาบู (Hirabai Daboo) มีบุตรด้วยกันสองคนคือ โทรัพจี ตาตา และ รตันจี ตาตา ซึ่งยังคงสืบทอดธุรกิจในเครือตาตา บทบาทของตาตาต่อสังคมอินเดียยังได้รับการยอมรับแม้หลังเขาเสียชีวิตไปแล้ว เช่น "รายชื่อผู้ใจบุญแห่งศตวรรษฮูรุน" (2021) ขึ้นชื่อตาตาอยู่อันดับหนึ่งด้วยเงินบริจาครวมกว่า 102,400 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (คำนวณตามอัตราเงินเฟ้อในปี 2021 เป็นเงินไทยประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท) นับตั้งแต่การบริจาคเงินของเขาในปี 1892[6][7][8]
อ้างอิง