ฉากในลำกล้องปืน (อังกฤษ : Gun barrel sequence ) เป็นฉากเปิดเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ของ ภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ เกือบทุกเรื่อง[ 1] โดยเป็นฉากจากมุมมองในลำกล้องปืน สันนิษฐานว่าเป็นของนักฆ่า จากนั้นขณะที่ เจมส์ บอนด์ กำลังเดินมา เขาได้หันหน้าแล้วยิงปืนใส่นักฆ่า ทำให้เลือดของนักฆ่าไหลท่วมลำกล้อง ในฉากนี้มักจะมาคู่กับเพลง เจมส์ บอนด์ ธีม โดย มอนตี นอร์แมน
ผู้ออกแบบคือ มอริซ ไบน์เดอร์ โดยเป็นฉากที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ทุกเรื่องที่สร้างโดย อีออนโปรดักชันส์ ในขณะที่ฉากนี้ในภาพยนตร์แต่ละเรื่องนั้นมีองค์ประกอบพื้นฐานเหมือนกัน แต่ก็มีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด[ 2] เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่รู้จักกันมากที่สุดของแฟรนไชส์ และได้ใช้เป็นจุดเด่นในสื่อการตลาดสำหรับภาพยนตร์และเกิดการล้อเลียนตามมา
เจมส์ แชปแมน นักประวัติศาสตร์สื่อชาวอังกฤษ บอกว่าฉากนี้เป็นส่วนที่สำคัญของตำนานเจมส์ บอนด์ เพราะมัน "ทำให้เห็นภาพที่เป็นหัวใจสำคัญของภาพยนตร์แนวสายลับ"[ 3]
ลักษณะ
ฉากนี้เริ่มต้นด้วยมีจุดสีขาวกระพริบในพื้นหลังสีดำวิ่งจากด้านซ้ายไปขวา เมื่อจุดสีขาวมาถึงขอบด้านขวาของภาพ จุดสีขาวจะขยายเผยให้เห็นเป็นภาพภายในลำกล้องปืน เป็นมุมมองของนักฆ่าซึ่งอยู่นอกจอ มีการแพนกล้องตามเจมส์ บอนด์ขณะเดินอยู่จากขวาไปซ้ายตัดกับพิ้นหลังสีขาว[ 4] ทันใดนั้นเขาก็รู้ว่ากำลังถูกมองอยู่และหยุดที่กลางหน้าจอก่อนที่เขาจะหันเข้าหากล้องอย่างรวดเร็วและยิงปืนไปทางนั้น จากนั้นก็มีเลือดสีแดงของมือปืนไหลลงมาท่วมหน้าจอ ภาพในลำกล้องปืนก็จางไปกลายเป็นจุดสีขาว แล้วขยับจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งผ่านหน้าจอและเข้าไปยังมุมใดมุมหนึ่งของภาพ แล้วก็หดเล็กลงและก็หายไป บางครั้งจุดสีขาวก็เผยให้เห็นภาพของฉากแรกแล้วขยายเต็มจอ หรือเพียงแค่จางหายไปเป็นสีดำหลังจากบอนด์ยิงปืน
พัฒนาการของฉากในลำกล้องปืน
ฌอน คอนเนอรี
1962–1964
ไบน์เดอร์ออกแบบฉากในลำกล้องปืนให้เห็นบอนด์แค่เงา โดยใช้อัตราส่วนของภาพที่ไม่ใช่แบบจอกว้าง เขาให้สตันแมน บอบ ซิมมอนส์ แสดงแทน ฌอน คอนเนอรี [ 4] ซิมมอนส์กระโดดเล็กน้อยและหมุนเล็กน้อย เพื่อสมมติตำแหน่งการยิงและหลังจากเลือดไหลท่วมจอแล้ว จุดสีขาวนั้นก็เล็กลงและกระโดดไปที่มุมขวาล่างของภาพก่อนที่จะหายไป
ใน พยัคฆ์ร้าย 007 จุดสีขาวหยุดอยู่ที่กลางจอและมีข้อความว่า "Harry Saltzman & Albert R. Broccoli present" ปรากฏ ข้อความนั้นก็หายไปแล้วจุดสีขาวก็วิ่งต่อ ฉากนี้มาพร้อมกับดนตรีประกอบที่เป็นเสียงอิเล็กทรอนิกส์กับเสียงที่คล้ายจะมาจากตุ๊กตาไขลานที่อยู่ในกล่อง ก่อนจะหายไปด้วยเสียงยิงปืน จากนั้นก็เล่นเพลงธีมของเจมส์ บอนด์ แม้ว่าส่วนแรกที่บรรเลงด้วยกีตาร์ไฟฟ้าถูกตัดทอนออกไป
ฉากในลำกล้องปืนใน พยัคฆ์ร้าย 007 ตัดเข้าสู่ฉากแสดงเครดิตทันที โดยมีลักษณะเป็นตารางเมทริกซ์ของขนาดใหญ่ แสดงจุดวงกลมสีที่สว่างและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตัดพื้นหลังสีดำ ฉากในลำกล้องปืนนี้แบบไม่มีเสียงอิเล็กทรอนิกส์กับไม่มีข้อความของผู้อำนวยการสร้าง บรอคโคลีและซอลต์ซแมน ถูกใช้ใน เพชฌฆาต 007 โดยมีการเพิ่มสีเลือดให้แดงขึ้น และใน จอมมฤตยู 007 ได้จางหายไปก่อนเข้าสู่ฉากก่อนเครดิต
1965–1967
ธันเดอร์บอลล์ 007 ถ่ายทำโดยใช้อัตราส่วนภาพแบบจอกว้างของพานาวิชัน ทำให้ต้องถ่ายทำฉากในลำกล้องปืนใหม่ โดยครั้งนี้ ฌอน คอนเนอรี เป็นคนแสดงเอง[ 5] เป็นครั้งแรกที่จุดสีขาวเผยให้เห็นบางส่วนของฉากก่อนเครดิต ก่อนที่จะขยายจนเผยให้เห็นฉากทั้งหมด
คอนเนอรีโยกเยกเล็กน้อยในขณะที่เขายิงปืน เพราะเขางอเข่ายิงทำให้เสียการทรงตัวเล็กน้อย ถึงแม้ว่าฉากนี้จะถ่ายทำเป็นภาพสีซึ่งใช้ใน ธันเดอร์บอลล์ 007 แต่ว่าได้มีการปรับภาพเป็นขาวดำใน จอมมหากาฬ 007
1969 (จอร์จ เลเซนบี)
จอร์จ เลเซนบี เป็นนักแสดงคนใหม่ที่มารับบทเจมส์ บอนด์ในภาพยนตร์ 007 ยอดพยัคฆ์ราชินี (1969) ทำให้ต้องมีการถ่ายทำฉากในลำกล้องปืนใหม่เป็นครั้งที่สาม โดยครั้งนี้ถ่ายทำเป็นภาพสีเหมือนกับใน ธันเดอร์บอลล์ 007
ครั้งนี้จุดสีขาวหยุดอยู่กลางจอแล้วขึ้นข้อความว่า "Harry Saltzman and Albert R. Broccoli Present" เหมือนกับใน พยัคฆ์ร้าย 007 (แม้ว่าจะเปลี่ยนจาก & เป็น and แทน) ดนตรีประกอบยังเป็นเพลงธีมของเจมส์ บอนด์ เมื่อกระบอกปืนเริ่มเคลื่อนไหวตาม บอนด์นั้นเหมือนเดินอยู่กับที่อยู่ชั่วครู่ ก่อนจะหยุดอยู่กลางจอแล้วยิง เลเซนบีเป็นบอนด์คนเดียวที่คุกเข่ายิง และยังเป็นรูปแบบเดียวที่เลือดไหลได้ลบภาพของบอนด์จนหมด เหลือเพียงแค่วงกลมสีแดง นอกจากนี้ในลำกล้องปืนยังมีแสงคล้ายปริซึม
1971 (ฌอน คอนเนอรี)
เมื่อฌอน คอนเนอรีกลับมารับบทบอนด์อีกครั้งใน 007 เพชรพยัคฆราช (1971) ฉากยิงปืนนั้นใช้ฉากเดียวกับที่เคยถ่ายทำใน ธันเดอร์บอลล์ 007 เป็นภาพสีขาวดำเหมือนใน จอมมหากาฬ 007 แต่ภาพนั้นออกโทนสีน้ำเงิน มีแสงคล้ายปริซึมในลำกล้องเหมือน 007 ยอดพยัคฆ์ราชินี ซึ่งแสงมีการเคลื่อนไหวเป็นระลอกคลื่นแต่เมื่อเลือดไหลลงมา แสงนั้นก็หายไป นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่ฉากยิงปืนเป็นสีขาวดำจนกระทั่ง 007 พยัคฆ์ร้ายเดิมพันระห่ำโลก (2006) และยังเป็นครั้งสุดท้ายที่บอนด์สวมหมวก
โรเจอร์ มัวร์
1973–1974
โรเจอร์ มัวร์ รับบทเป็น เจมส์ บอนด์ ทำให้มีการถ่ายทำฉากในลำกล้องปืนใหม่เป็นครั้งที่สี่ ในภาพยนตร์ พยัคฆ์มฤตยู 007 กับ 007 เพชฌฆาตปืนทอง ใช้อัตราส่วนภาพ 1.85:1 มัวร์สวมชุดสูทธุรกิจ เขาใช้มือขวายิงปืนในขณะที่มือซ้ายจับแขนขวาไว้ ลำกล้องปืนเคลื่อนไหวไปมาเฉพาะทางด้านซ้ายด้านเดียว เป็นฉากในลำกล้องฉากแรกที่บอนด์ไม่สวมหมวก ฉากนี้ยังได้ถ่ายทำเพิ่มเติม โดยหลังบอนด์ยิงเสร็จ บอนด์ถือปืนเดินเข้ามาหากล้อง เผยให้เห็นหน้าของบอนด์ โดยฉากนี้ปรากฏในตัวอย่างภาพยนตร์ของทั้งสองเรื่อง จุดก่อนจะเข้าฉากในลำกล้องปืนของ 007 เพชฌฆาตปืนทอง นั้นเป็นสีน้ำเงิน แต่ได้เปลี่ยนเป็นจุดสีขาวในภายหลัง และยังเป็นฉากในลำกล้องปืนฉากสุดท้ายที่บอนด์สวมชุดสูทธุรกิจ จนกระทั่งใน 007 พยัคฆ์ร้ายทวงแค้นระห่ำโลก
1977–1985
ภาพยนตร์กลับมาใช้ภาพแบบจอกว้างอีกครั้งใน 007 พยัคฆ์ร้ายสุดที่รัก ทำให้ต้องมีการถ่ายทำฉากในลำกล้องปืนใหม่เป็นครั้งที่ห้า บอนด์ที่แสดงโดยมัวร์ ครั้งนี้สวมชุดทักซิโดแทนชุดสูทธุรกิจและใช้มือทั้งสองข้างยิงปืน[ 6] โดยฉากในลำกล้องปืนรูปแบบนี้ปรากฏในภาพยนตร์บอนด์ที่แสดงโดยมัวร์จำนวนห้าเรื่อง ทำให้เป็นฉากในลำกล้องปืนที่ถูกใช้มากที่สุด นอกจากนี้ปืนที่นักแสดงถือนั้นไม่ได้ยิงจริง ๆ จนกระทั่งใน 007 เพชฌฆาตปลาหมึกยักษ์ โดยสังเกตได้จากการไม่มีควันปืน พิ้นหลังของฉากในลำกล้องปืนที่แสดงโดยมัวร์ทุกฉาก มีการย้อมสีเป็นสีอื่นซึ่งปกติจะเป็นสีขาว เช่น สีพื้นหลังใน 007 พยัคฆ์ร้ายสุดที่รัก เป็นสีเปลือกไข่ ขณะที่พิ้นหลังใน 007 พยัคฆ์ร้ายเหนือเมฆ เป็นสีน้ำตาลอมเหลืองเข้ม ใน 007 เจาะดวงตาเพชฌฆาต เมื่อจุดสีขาวหยุดอยู่ที่กลางจอ ไม่ได้ค่อย ๆ ขยายจนเผยให้ฉากก่อนเครคิต แต่กลับตัดเข้าฉากทันที
1987–1989 (ทิโมธี ดาลตัน)
มีการถ่ายทำฉากในลำกล้องปืนใหม่อีกครั้ง หลัง ทิโมธี ดาลตัน รับบทเป็น เจมส์ บอนด์ แทน โรเจอร์ มัวร์ โดยถูกใช้ในภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องของดาลตัน ดาลตันเดินมาก่อนที่จะหมุนตัวและก้มเล็กน้อยก่อนที่ยิงปืนอย่างรวดเร็ว โดยครั้งนี้ดาลตันยิงปืนมือเดียวไม่เหมือนกับมัวร์ จอห์น แบร์รี เป็นผู้แต่งดนตรีประกอบฉากในลำกล้องปืนใน 007 พยัคฆ์สะบัดลาย (1987) ส่วน ไมเคิล เคเมน แต่งดนตรีประกอบฉากในลำกล้องปืนใน 007 รหัสสังหาร (1989) นี่เป็นฉากในลำกล้องปืนฉากสุดท้ายที่ออกแบบโดย มอริซ ไบน์เดอร์ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1991
1995–2002 (เพียร์ซ บรอสแนน)
หลัง มอริซ ไบน์เดอร์ เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1991 ทำให้ เดเนียล ไคลน์แมน เป็นคนออกแบบฉากในลำกล้องปืนคนใหม่ เริ่มต้นจากในภาพยนตร์ พยัคฆ์ร้าย 007 รหัสลับทลายโลก (1995) ฉากในลำกล้องปืนใช้การสร้างภาพจากคอมพิวเตอร์ (แต่ยังคงใช้ภาพในลำกล้องปืนแบบเดิม) โดยครั้งนี้แสงและเงาในเกลียวปืนเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนไหวของปืน บรอสแนนเดินมาถึงตรงกลางจอ เขาก็หมุนตัวแล้วยิงปืนในท่ายืนตัวตรง โดยใช้มือเดียวเหมือนกับดาลตัน แต่เล็งปืนอยู่ในระดับสายตา เลือดที่ไหลที่ลงมีสีที่เข้มขึ้นและไหลลงเร็วกว่าเดิม ทำนองหลักของธีมเจมส์ บอนด์หายไปในฉากในลำกล้องปืนของ 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย และ 007 พยัคฆ์ร้ายดับแผนครองโลก ในรูปแบบก่อนหน้านี้ของฉากในลำกล้องปืน จุดสีขาวจะขยายก่อนที่จะถึงขอบจอทางด้านขวา แต่ในภาพยนตร์บอนด์ของบรอสแนนทั้งสี่เรื่อง จุดสีขาวนั้นวิ่งต่อไปทางด้านขวาแล้วหายไปจากจอ จากนั้นลำกล้องปืนก็วิ่งมาทางซ้ายจากนอกจอ ใน 007 พยัคฆ์ร้ายดับแผนครองโลก เป็นครั้งแรกที่จุดสีขาวขยายแล้วเผยให้เห็นบอนด์ในทันที
ตัวอย่างภาพยนตร์ของ พยัคฆ์ร้าย 007 รหัสลับทลายโลก มีการใช้ฉากที่คล้ายกับฉากในลำกล้องปืน โดยบอนด์ปรากฏตัวอยู่ในเงา จากนั้นได้ยิงปืนใส่ข้อความที่ปรากฏอยู่บนจอว่า "ONLY ONE MAN" สุดท้ายได้ยิงตัว "M" ให้กลายเป็น "7" บอนด์เดินเข้ามาหา เผยให้เห็นหน้าของบรอสแนนแล้วพูดว่า "You were expecting someone else?" เป็นการแนะนำ เพียร์ซ บรอสแนน ผู้มารับบท เจมส์ บอนด์ คนใหม่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 ตัวอย่างภาพยนตร์ของ 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย มีฉากในลำกล้องปืนเป็นของตัวเอง โดยบอนด์สวมชุดทักซิโดและยิงปืนใช้สองมือเหมือนกับโรเจอร์ มัวร์ ในลำกล้องปืนมีหกเกลียว
ใน ดาย อนัทเธอร์ เดย์ 007 พยัคฆ์ร้ายท้ามรณะ (2002) ลี ทามาโฮรี ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ขอให้เพิ่มกระสุนซีจีเข้าไปในฉากนี้[ 7] [ 8] [ 9] ซึ่งสามารถเห็นกระสุนขยายมาจากปืนของบอนด์เข้ามาหากล้องแล้วหายไป คาดว่าบอนด์ยิงเข้ามาใส่ในอาวุธของอีกฝ่าย นี่เป็นฉากในลำกล้องปืนสุดท้ายที่บอนด์สวมชุดทักซิโดและฉากนี้ปรากฏตอนเปิดภาพยนตร์ จนกระทั่ง องค์กรลับดับพยัคฆ์ร้าย
แดเนียล เคร็ก
2006
ฉากในลำกล้องปืนมีการถ่ายทำใหม่อีกครั้งใน 007 พยัคฆ์ร้ายเดิมพันระห่ำโลก โดยมี แดเนียล เคร็ก รับบทเป็น เจมส์ บอนด์ ครั้งแรก ฉากนี้ไม่เหมือนกับฉากแบบเก่าที่ไม่ได้เป็นฉากเปิดภาพยนตร์ตั้งแต่แรก แต่เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสังหารครั้งแรกของบอนด์ก่อนที่เขาจะกลายเป็นสายลับดับเบิลโอ ขณะที่บอนด์กำลังหยิบปืนจากพื้นนั้น เหยื่อของเขา ฟิชเชอร์ ซึ่งเป็นสมุนของ ดรายเดน หัวหน้าหน่วยเอ็มไอ6 ที่ทุจริต ฟื้นตัวขึ้นก่อนจะหยิบปืนยิงบอนด์จากด้านหลัง จากนั้นภาพก็ตัดเข้ามาในลำกล้องปืนทันที บอนด์หมุนตัวแล้วยิงปืนใส่ฟิชเชอร์ก่อน
ฉากในลำกล้องปืนนี้มีความแตกต่างจากฉากเดียวกันในภาพยนตร์บอนด์ก่อนหน้านี้ ได้แก่ เริ่มต้นด้วยการที่บอนด์ยืนอยู่กับที่ (ถึงแม้เขากำลังจะเดินไปที่ประตูก่อนที่จะหยุดแล้วหันกลับมา), ไม่ได้ถ่ายทำกับพื้นหลังสีขาวที่ว่างเปล่าและแสดงคนที่ถูกยิงโดยบอนด์ เป็นครั้งแรกที่ภาพของฉากนี้เป็นสีขาวดำตั้งแต่ 007 เพชรพยัคฆราช (1971) เพราะในฉากก่อนเครดิตนั้นเป็นภาพเป็นสีขาวดำเช่นกัน บอนด์ของเคร็กนั้นใส่สูททั่วไป ไม่ใช่สูทธุรกิจหรือสูททักซิโด เคร็กยิงปืนใช้มือเดียวเหมือนกับดาลตันและบรอสแนน
นอกจากนี้ ภาพเกลียวในลำกล้องปืนที่สร้างคอมพิวเตอร์ มีรูปแบบขนาดเล็กแทนที่แบบแปดเกลียวแบบเดิม เลือดมีการไหลเร็วขึ้น แต่ไหลเป็นสายแทนที่แบบเดิมที่เป็นคลื่น และยังเป็นฉากในลำกล้องปืนแรกที่ไม่มีดนตรีประกอบจาก เจมส์ บอนด์ ธีม เลย แต่ใช้ช่วงแรกของเพลงประกอบภาพยนตร์ ยูโนวมายเนม แทน
2008
ฉากในลำกล้องปืนถูกทำใหม่อีกครั้งใน 007 พยัคฆ์ร้ายทวงแค้นระห่ำโลก โดยได้กลับไปใช้รูปแบบดั้งเดิม ถึงแม้จะวางฉากนี้ไว้ในตอนจบของภาพยนตร์ เนื่องจากฉากสุดท้ายที่น่าตื่นเต้นถูกตัดโดย มาร์ค ฟอร์สเตอร์ ฉากในลำกล้องปืนแสดงให้เห็นว่าบอนด์เป็นนักฆ่าเลือดเย็น โดยมาจากจังหวะของฉากที่ถูกตัดออก ตัวอย่างเช่น จุดสีขาวที่วิ่งจากซ้ายไปขวานั้น วิ่งไวกว่าฉากในลำกล้องปืนก่อน ๆ แดเนียล เคร็ก เดินมาที่กลางจอไวกว่าเดิมและเลือดที่ไหลลงมาไวกว่าเดิม เคร็กยิงปืนมือเดียวเหมือนกับดาลตันและบรอสแนน การออกแบบของลำกล้องปืนนั้นมีลักษณะเรียบง่ายกว่าเดิมด้วยการใช้แค่สีเทาและมีเกลียวในลำกล้องปืนที่น้อยลงและกว้างขึ้น และเมื่อรอบนอกของวงกลมสีขาวหมุนจนกลายเป็นศูนย์กลางของตัวอักษร Q ของชื่อเรื่อง Quantum of Solace เป็นครั้งแรกที่บอนด์เดินจากไปหลังจากยิงปืนแล้ว ในตัวอักษร Q จากนั้นตามด้วยเครดิตปิดของภาพยนตร์
2012
ในภาพยนตร์บอนด์ เรื่องที่ 23 คือ พลิกรหัสพิฆาตพยัคฆ์ร้าย 007 ฉากยิงปืนถูกนำมาไว้ในท้ายเรื่องเช่นเดียวกับคราวพยัคฆ์ร้ายทวงแค้นระห่ำโลก โดยภาคนี้หลังจากที่มีเลือดไหลและจอภาพเป็นสีดำแล้ว จะมีคำว่า "50 Years" อยู่ตรงกลางลำกล้องปืน เป็นการฉลองครบรอบ 50 ปีของภาพยนตร์ชุดนี้ และมีคำว่า "James Bond Will Return" อยู่ข้างใต้[ 10]
2015
ในภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ ลำดับที่ 24 องค์กรลับดับพยัคฆ์ร้าย ฉากยิงปืนอยู่ก่อนเปิดเรื่อง ซึ่งเป็นครั้งแรกของเจมส์ บอนด์ในยุคแดเนียล เคร็ก หลังจากภาคก่อนหน้าทั้ง 3 ภาค มีฉากยิงปืนในระหว่างเรื่องและปิดท้ายเรื่อง
2021
ในภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ ลำดับที่ 25 พยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะ ฉากยิงปืนในภาพยนตร์ที่ฉายต่างประเทศปรากฏหลังเครื่องหมายการค้าของยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ ในลักษณะเป็นจุดกะพริบที่เคลื่อนจากซ้ายไปขวา นอกจากนี้ในภาพยนตร์ยังมีฉากที่แสดงความเคารพต่อฉากในลำกล้องปืนคือ ฉากที่เจมส์ บอนด์เดินอยู่ในทางเดินทรงกระบอกแล้วหันมายิงปืนใส่กล้อง
เครื่องแต่งกาย
ตั้งแต่ พยัคฆ์ร้าย 007 จนถึง 007 เพชรพยัคฆราช ฉากในลำกล้องปืนนั้นแสดงโดย บอบ ซิมมอนส์, ฌอน คอนเนอรีและจอร์จ เลเซนบี เป็นเจมส์ บอนด์ในชุดสูทธุรกิจและสวมหมวกสักหลาด ครั้งที่โรเจอร์ มัวร์แสดงเป็นเจมส์ บอนด์ใน พยัคฆ์มฤตยู 007 และ 007 เพชฌฆาตปืนทอง ยังคงใส่ชุดรูปแบบเดิมแต่ว่าไม่มีหมวก ต่อมาได้เปลี่ยนชุดเป็นชุดอาหารเย็น (ทักซิโด) เริ่มตั้งแต่ 007 พยัคฆ์ร้ายสุดที่รัก จนถึง ดาย อนัทเธอร์ เดย์ 007 พยัคฆ์ร้ายท้ามรณะ ใน 007 พยัคฆ์ร้ายเดิมพันระห่ำโลก เจมส์ บอนด์ที่แสดงโดยแดเนียล เคร็กสวมชุดสูทลำลองไม่ได้ติดกระดุมและเสื้อเชิตคอเปิด แล้วได้เปลี่ยนชุดสูทธุรกิจตั้งแต่ 007 พยัคฆ์ร้ายทวงแค้นระห่ำโลก จนถึง องค์กรลับดับพยัคฆ์ร้าย ในวิดีโอเกม 007 ลีเจนด์ส ได้กลับไปใช้ชุดทักซิโด
อ้างอิง
↑ Cork, John & Scivally, Bruce (2002). James Bond: The Legacy . Boxtree, 46.
↑ Barnes, Alan & Hearn, Marcus (2000). Kiss Kiss Bang Bang: The Unofficial James Bond Companion . Batsford, 18.
↑ Chapman, James (2000). Licence to Thrill: A Cultural History of the James Bond Films . Columbia, 61.
↑ 4.0 4.1 Pfeiffer, Lee & Lisa, Philip (1995). The Incredible World of 007: An Authorized Celebration of James Bond . Boxtree, 200.
↑ Lane, Andy & Simpson, Paul (1998). The Bond Files: The Unofficial Guide to the World's Greatest Secret Agent . Virgin, 145.
↑ "The Spy Who Loved Me" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2009-01-11. สืบค้นเมื่อ 2008-11-02 .
↑ "An Analysis of Bond Title Sequences: Die Another Day" . สืบค้นเมื่อ 2013-08-14 .
↑ "Blast From the Past: Tamahori on DIE ANOTHER DAY" . สืบค้นเมื่อ 2013-08-14 .
↑ "IMDB Trivia: Die Another Day" . สืบค้นเมื่อ 2013-08-14 .
↑ Watt, Andrew (30 October 2012). "Skyfall (2012)" . Burton Mail . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-12-29. สืบค้นเมื่อ 2013-02-19 .
วรรณกรรม ภาพยนตร์ การ์ตูน โทรทัศน์ ตัวละคร เครื่องมือ บทความที่เกี่ยวข้อง
อีออนโปรดักชันส์ ไม่ได้สร้างโดยอีออนฯ ประวัติศาสตร์ นักแสดงและตัวละคร บทความที่เกี่ยวข้อง