จิงจฺวี้

จิงจฺวี้ *
  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก
นักแสดงเล่นเป็นเปาบุ้นจิ้น
ประเทศ จีน
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
สาขาศิลปะการแสดง
เกณฑ์พิจารณาR.1, R.2, R.3, R.4, R.5
อ้างอิง00418
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2010 (คณะกรรมการสมัยที่ 5)
รายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและการสงวนรักษาที่ดี
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

จิงจฺวี้ (จีน: 京劇; พินอิน: jīngjù; "ละครเมืองหลวง") ไต้หวันเรียก กั๋วจฺวี้ (จีน: 國劇; พินอิน: guójù; "ละครของชาติ") เป็นงิ้วรูปแบบหนึ่งซึ่งประกอบด้วยดนตรี การขับร้อง การแสดง การเต้น และกายกรรม เกิดขึ้นเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 แล้วได้รับการพัฒนาและยอมรับนับถืออย่างเต็มที่เมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19[1] งิ้วรูปแบบนี้เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในราชสำนักของราชวงศ์ชิง และถือเป็นหนึ่งในสมบัติทางวัฒนธรรมของประเทศจีน[2] คณะนักแสดงกลุ่มหลักตั้งสำนักอยู่ ณ เป่ย์จิงและเทียนจินในภาคเหนือ กับช่างไห่ในภาคใต้[3] ทั้งยังอนุรักษ์กันอยู่ในไต้หวัน และเผยแพร่ไปประเทศอื่น เช่น สหรัฐ และญี่ปุ่น[4]

จิงจฺวี้ใช้นักแสดงหลักอยู่สี่ประเภท คือ พระเอก เรียกว่า เชิง (生), นางเอก เรียกว่า ต้าน (旦), บทชาย เรียกว่า จิ้ง (淨), และบทตลก เรียกว่า โฉ่ว (醜) ในการแสดงจะใช้เสื้อผ้าอาภรณ์อลังการและการแต่งหน้าฉูดฉาด นักแสดงอาศัยทักษะในการพูด ร้อง เต้น และต่อสู้ด้วยท่าทางที่เป็นสัญลักษณ์มากกว่าความสมจริง นักแสดงยังยึดถือธรรมเนียมทางรูปแบบหลากหลายธรรมเนียมซึ่งช่วยให้ผู้ชมเข้าถึงเนื้อเรื่องที่แสดง[5] การเคลื่อนไหวแต่ละอย่างจะต้องลงกับดนตรีและจังหวะเพื่อสื่อความหมาย ท่วงทำนองที่ใช้แบ่งเป็นสองประเภท คือ ซีผี (西皮) และเอ้อร์หวง (二黄) ซึ่งมีหลากรูปแบบ เช่น เพลงร้องเดี่ยว ทำนองที่ตายตัว และเสียงเครื่องกระทบ[6] ส่วนบทละครนั้นมีกว่า 1,400 เรื่อง ซึ่งมักอิงประวัติศาสตร์ เทพปกรณัม และปัจจุบันก็ยึดโยงกับเรื่องราวในชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น[7]

ในการปฏิวัติวัฒนธรรมช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 จิงจฺวี้ถูกประณามว่า เป็นสิ่งตกค้างจากยุคเจ้าขุนมูลนาย และถูกแทนที่ด้วยการแสดงย่างป่านซี่ (樣板戲) ที่รัฐบาลปฏิวัติคิดขึ้นเพื่อโฆษณาชวนเชื่อและเผยแพร่ลัทธินิยมของตน หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถูกยกเลิกเกือบทั้งสิ้น ปัจจุบัน มีความพยายามปฏิรูปจิงจฺวี้หลายประการเพราะคนดูลดลงเรื่อย ๆ เป็นต้นว่า พยายามเพิ่มคุณภาพในการแสดง ประยุกต์องค์ประกอบใหม่ ๆ รวมถึงเล่นเรื่องใหม่เรื่องเก่าคละกันบ้าง การปฏิรูปดังกล่าวประสบผลสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง[8]

อ้างอิง

  1. Goldstein, Joshua S. (2007). Drama Kings: Players and Publics in the Re-creation of Peking Opera, 1870–1937. University of California Press. pp. 3.
  2. Mackerras, Colin Patrick (1976). "Theatre and the Taipings". Modern China. 2 (4): 473–501. doi:10.1177/009770047600200404.
  3. Wichmann, Elizabeth (1990). "Tradition and Innovation in Contemporary Beijing Opera Performance". TDR. TDR (1988–), Vol. 34, No. 1. 34 (1): 146–178. doi:10.2307/1146013. JSTOR 1146013.
  4. Rao, Nancy Yunhwa (2000). "Racial Essences and Historical Invisibility: Chinese Opera in New York, 1930". Cambridge Opera Journal. 12 (2): 135–162. doi:10.1017/S095458670000135X.
  5. Wichmann, Elizabeth (1991). Listening to Theatre: The Aural Dimension of Beijing Opera. University of Hawaii Press. p. 360.
  6. Guy, Nancy A. (1990). "The Appreciation of Chinese Opera: A Reply to Ching-Hsi Perng (in Forum for Readers and Authors)". Asian Theatre Journal. Asian Theatre Journal, Vol. 7, No. 2. 7 (2): 254–259. doi:10.2307/1124341. JSTOR 1124341.
  7. Wichmann, Elizabeth (1991) p.12–16
  8. Lu, Xing (2004). Rhetoric of the Chinese Cultural Revolution. University of South California Press. pp. 143–150.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!