ค้อนประธาน

ค้อนแกเฟิลไม้วางอยู่บนรายงานกระบวนพิจารณา จัดแสดงอยู่ที่ศูนย์ตุลาการมินเนโซตา (Minnesota Judicial Center)

ค้อนประธาน (ฝรั่งเศส: marteau de président) หรือ ค้อนแกเฟิล (อังกฤษ: gavel; เสียงอ่านภาษาอังกฤษ: /ˈgævəl/) หรือในภาษาไทยมักเรียกเพียง ค้อน นั้น เป็นอุปกรณ์ทางพิธีการ ลักษณะอย่างค้อน มีขนาดเล็ก มักทำจากไม้แข็งและติดด้าม สำหรับใช้เคาะที่วาง (block) เพื่อกระทำเสียง ค้อนแกเฟิลนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและสิทธิสำหรับกระทำกิจการในอำนาจหน้าที่ของประธาน (chair) อย่างเป็นทางการ หรือสำหรับเป็นประธานในการหนึ่ง ๆ[1] โดยมักใช้กระทำเสียงเคาะเพื่อเรียกความสนใจ หรือเคาะนำหรือจบการสั่ง ประกาศ วินิจฉัย หรือพิพากษา หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน จึงเป็นที่มาของสำนวนในภาษาอังกฤษว่า "gavel-to-gavel" อันหมายถึง การประชุมทั้งกระบวนการ

ค้อนแกเฟิลนั้น ตุลาการในศาล และผู้ทอดตลาดในการขายทอดตลาด มักใช้ และในภาษาไทย ลักษณนาม คือ "เต้า" หรือ "อัน"[2]

ประวัติ

ว่ากันว่า การใช้ค้อนแกเฟิลนั้น มีประวัติย้อนหลังไปในอังกฤษมัชฌิมยุค (Medieval England) โดยในศาลที่ดิน (land court) ตุลาการจะเคาะโต๊ะด้วยค้อนแกเฟิล ก่อนกำหนดข้อตกลงชำระค่าเช่าด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นที่มิใช่เงินสดเสมอ

การใช้อันเหมาะสม

"ข้อบังคับการประชุมของรอเบิร์ตฉบับตรวจชำระใหม่" (Robert's Rules of Order Newly Revised) วางหลักเกี่ยวกับการใช้ค้อนแกเฟิลอย่างเหมาะสมในการประชุมปรึกษา ตัวอย่างเช่น ประธานจะไม่เคาะค้อนแกเฟิลเพื่อกลบเสียงของสมาชิกผู้ประพฤติไม่เรียบร้อย[3] หากประธานจะเคาะค้อนแกเฟิลเบา ๆ แต่ขึงขังเป็นครั้งเป็นคราในช่วงต่าง ๆ[1] ประธานไม่พึงเล่นค้อนแกเฟิล หรือใช้ค้อนแกเฟิลสำหรับต่อต้าน คุกคาม หรือเน้นย้ำการแสดงความคิดเห็นใด ๆ เช่น เคาะค้อนแกเฟิลรัว ๆ เพื่อสนับสนุนความคิดเห็นใด ๆ อย่างเดียวกับปรบมือ[1] ข้อห้ามประธานตัดสิทธิสมาชิกในอันที่จะอภิปรายหรือเสนอญัตติ ด้วยการที่ประธานนำปัญหาข้อนั้นให้ลงคะแนนเสียงกันเสียทีเดียวก่อนสมาชิกคนใด ๆ จะได้แสดงความคิดเห็นนั้น เรียกว่า "การเคาะค้อนเชิงมาตรการ" (gaveling through a measure)[4]

ส่วน "คู่มือของดีมีเทอร์ ว่าด้วยข้อบังคับและวิธีประชุมสภา" (Demeter's Manual of Parliamentary Law and Procedure) ว่า นอกจากใช้เคาะกระทำเสียงแสดงว่าการลงคะแนนเสียงเสร็จสิ้นแล้วนั้น ค้อนแกเฟิลยังใช้ในสามกรณีต่อไปนี้อีก[1]

  1. เรียกความสนใจ หรือเรียกให้ที่ประชุมอยู่ในความสงบ ในองค์การส่วนใหญ่ เคาะสองครั้ง หมายถึง ให้ที่ประชุมลุกยืน และเคาะครั้งเดียว หมายถึง ให้ที่ประชุมนั่งลง ส่วนในที่อื่น ๆ เคาะสองครั้ง หมายถึง ให้ลุกยืน และสามครั้ง หมายถึง ให้นั่งลง
  2. รักษาความสงบ เรียกความสงบกลับคืนมา หลังมีความวุ่นวายระหว่างดำเนินกระบวนประชุม โดยเคาะเพียงครั้งเดียว แต่ให้ขึงขัง
  3. ส่งค้อนแกเฟิลให้ผู้เข้ารับตำแหน่งคนใหม่ หรือใช้ในพิธีการต่าง ๆ เป็นต้น

ค้อนแกเฟิลในรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา

ค้อนแกเฟิลในวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา (ซ้าย คือ เต้าเดิมที่ทำลายลง และขวา คือ เต้าใหม่ที่เป็นของขวัญจากประเทศอินเดีย)

ตาม ประเพณีทางวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา (Traditions of the United States Senate) นั้น ค้อนแกเฟิลเฉพาะสำหรับวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา มีแต่หัวค้อน ซึ่งมีรูปอย่างนาฬิกาทราย และไม่มีด้าม ค้อนแกเฟิลเต้าเดิมนั้นทำจากงาช้าง และใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1789 เป็นอย่างน้อย จนมีสภาพทรุดโทรมลงโดยลำดับ แม้ใน ค.ศ. 1952 จะมีการเพิ่มที่แผ่นเงินเข้าหัวท้ายค้อนแกเฟิลงาช้างนี้เพื่อกันบุบสลายมากขึ้นก็ตาม แต่ในสองปีถัดมา คือ ค.ศ. 1954 ค้อนแกเฟิลงาช้างก็ทำลายลงขณะ รองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกซัน ใช้เคาะระหว่างการอภิปรายอันดุเดือดเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากไม่สามารถหางาช้างขนาดใหญ่พอจะทำค้อนแกเฟิลอย่างเต้าเดิมนั้นได้ วุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกาจึงร้องขอไปยังสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศอินเดียได้ทำค้อนแกเฟิลขึ้นใหม่จากงาช้าง เลียนแบบค้อนเต้าเดิม แล้วส่งเป็นของขวัญให้แก่วุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกา วุฒิสภาได้ใช้ค้อนนี้เป็นครั้งแรก ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1954 จนบัดเดี๋ยวนี้

ส่วนในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกานั้น ใช้ค้อนแกเฟิลซึ่งมีรูปลักษณะธรรมดา และทำด้วยไม้ เนื่องจากมีการใช้เคาะแรง ๆ บ่อย ๆ สภาผู้แทนราษฎรจึงเปลี่ยนค้อนใหม่บ่อยมาก[5]

ในสภาทั้งสองของสหรัฐอเมริกา จะเคาะค้อนแกเฟิลหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปิดประชุม เลื่อนประชุม และประกาศคำวินิจฉัย (เช่น เมื่อประธานในที่ประชุมประกาศว่า มติหรือญัตติเป็นอันผ่านแล้ว จะเคาะค้อนแกเฟิลหนึ่งครั้ง ก่อนดำเนินการต่อ) อนึ่ง จะรัวค้อนแกเฟิล เพื่อเรียกความสงบของที่ประชุมกลับคืนมา ในโอกาสที่มีการปะทะคารมกันรุนแรง หรือมีเสียงเอะอะมะเทิ่ง เป็นต้น

เชิงอรรถ

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 แม่แบบ:Cite parl
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, 2551 : ออนไลน์.
  3. แม่แบบ:Cite parl
  4. RONR (10th ed.), p. 374
  5. "C-span.org". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 2011-04-11.

อ้างอิง

ดูเพิ่ม

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ค้อนประธาน

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!