ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง

ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง[1] (อังกฤษ: self-serving bias) เป็นกระบวนการทางประชานหรือการรับรู้ที่มีการบิดเบือนเพื่อที่จะพิทักษ์รักษาหรือเพิ่มความภูมิใจของตน (self-esteem) เมื่อเราปฏิเสธคำวิจารณ์เชิงลบ เพ่งดูแต่ข้อดีและความสำเร็จของตน แต่มองข้ามข้อเสียและความล้มเหลว หรือให้เครดิตตนเองมากกว่าผู้อื่นในงานที่ทำเป็นกลุ่ม เรากำลังพิทักษ์รักษาอัตตาจากความคุกคามหรือความเสียหาย ความโน้มน้าวทางประชานและการรับรู้เช่นนี้ทำให้เกิดการแปลสิ่งเร้าผิดและความผิดพลาด แต่เป็นความจำเป็นในการรักษาความภูมิใจในตนเอง[2] ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนอาจจะอ้างความเฉลียวฉลาดและความขยันของตน ว่าเป็นเหตุของการได้เกรดดีในการสอบ แต่อ้างการสอนของคุณครูหรือคำถามที่ไม่ยุติธรรมว่า เป็นเหตุของการได้เกรดไม่ดี ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมที่มีความเอนเอียงเช่นนี้ งานวิจัยต่าง ๆ ได้แสดงแล้วว่า การอ้างเหตุผลอย่างเอนเอียงเช่นนี้ ก็มีในสถานการณ์อื่น ๆ ด้วย รวมทั้งในที่ทำงาน[3] ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล[4] ในการกีฬา[5] และในการตัดสินใจของผู้บริโภค[6]

ทั้งกระบวนการแรงจูงใจ (เช่น การยกตนเอง [self-enhancement] การรักษาภาพพจน์ [self-presentation]) และกระบวนการทางประชาน (เช่น locus of control, ความภูมิใจในตน [self-esteem]) ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อความเอนเอียงนี้[7] ความเอนเอียงมีความแตกต่างกันทั้งในวัฒนธรรมต่าง ๆ (เช่นความแตกต่างเมื่อเปรียบเทียบในวัฒนธรรมที่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง และวัฒนธรรมที่เน้นส่วนรวม) และในคนไข้บางโรค (เช่นผู้มีภาวะเศร้าซึม)[8][9] งานวิจัยโดยมากเกี่ยวกับความเอนเอียงนี้ ใช้การอ้างเหตุผลที่ผู้ร่วมการทดลองรายงาน (self-reports) ในการทดลองที่มีการปรับเปลี่ยนผลของงาน (ที่ไม่ใช่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ร่วมการทดลอง) และในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจริง ๆ[10] แต่ว่า งานวิจัยที่ทันสมัยกว่านั้น จะใช้การปรับเปลี่ยนทางกายภาพ เช่นการทำให้เกิดอารมณ์ หรือการกระตุ้นการทำงานในระบบประสาท เพื่อที่จะเข้าใจกลไกทางชีวภาพที่มีส่วนให้เกิดความเอนเอียงรับใช้ตนเองได้ดีขึ้น[11][12]

ประวัติ

ทฤษฎีความเอนเอียงรับใช้ตนเองเกิดขึ้นระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 และเมื่องานวิจัยในประเด็นนี้เริ่มมีเพิ่มขึ้น นักวิชาการบางท่านมีความวิตกกังวลว่า ทฤษฎีนี้จะกลายเป็นเรื่องล้มเหลวเหมือนกับทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เคยมีอย่างหนึ่ง[13] แต่ว่า ในปัจจุบันนี้ ทฤษฎีนี้มีพื้นฐานที่มั่นคงแล้ว ทฤษฎีนี้เริ่มพัฒนาขึ้นเมื่อมีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับ attribution bias (ความเอนเอียงในการอ้างเหตุผล) คือนักวิจัยผู้หนึ่งพบว่า ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยชัดเจน เราจะทำการอ้างเหตุผล (คือยกย่องความดีหรือโทษความชั่ว) ที่เป็นไปเพื่อความต้องการของตนเอง เพื่อที่จะพิทักษ์รักษาความภูมิใจในตนและมุมมองของตน ความโน้มเอียงอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เป็นแนวโน้มที่เรียกว่าเป็นการ "รับใช้ตนเอง" (self-serving) งานศึกษาในปี ค.ศ. 1975 เป็นงานรุ่นแรก ๆ ที่ตรวจสอบทั้งเรื่องความเอนเอียง และรายละเอียดเกี่ยวกับการอ้างเหตุผล ทั้งเมื่อมีความสำเร็จและเมื่อมีความล้มเหลว[14]

วิธีการ

การทดสอบในแล็บ

การตรวจสอบความเอนเอียงนี้ในห้องแล็บมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการทดลอง แต่ก็จะมีหลักพื้นฐานที่คล้าย ๆ กันบ้าง คือจะมีการให้ผู้ร่วมการทดลองทำงานบ่อยครั้งเกี่ยวกับเชาวน์ปัญญา ความอ่อนไหวทางสังคม ความสามารถในการสอน และทักษะในการบำบัดโรค[10] ซึ่งอาจจะให้ทำคนเดียว เป็นคู่ หรือเป็นกลุ่ม หลังจากเสร็จแล้ว จะมีการให้คำวิจารณ์หรือคะแนนที่กุขึ้นโดยสุ่ม ในงานทดลองบางงาน จะมีการจูงใจให้เกิดอารมณ์บางอย่างเพื่อตรวจสอบอิทธิพลของอารมณ์ต่อความเอนเอียง[15] ท้ายสุดแห่งการทดลอง จะมีการให้ผู้ร่วมการทดลองอ้างเหตุผลเกี่ยวกับผลที่ได้ (ว่าทำไม่ถึงออกมาดีหรือไม่ดี) ผู้ทำงานวิจัยจะทำการประเมินการอ้างเหตุผล เพื่อสำรวจว่ามีความเอนเอียงรับใช้ตนเองในระดับไหน[10]

การทดลองทางระบบประสาท

งานทดลองที่ทันสมัยกว่า จะใช้การสร้างภาพสมองเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มจากวิธีการทดลองแบบอื่น ๆ ด้วย มีการตรวจสอบประสาทสัมพันธ์ (Neural correlates) ของความเอนเอียงรับใช้ตนเองโดยทั้งการสร้างภาพแบบการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)[12] และโดย fMRI[11] เทคนิคเหล่านี้ช่วยสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับบริเวณสมองที่มีการทำงานเมื่อเกิดความเอนเอียงนี้ และช่วยในการแยกแยะการทำงานของสมองในคนปกติและในคนไข้[16]

วิธีตรวจสอบโดยธรรมชาติ

การประเมินผลงานย้อนหลังสามารถใช้ในการตรวจสอบความเอนเอียง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการรายงานงบกำไรขาดทุนของบริษัท ก็จะมีการให้ผู้ร่วมการทดลองอ้างเหตุผลของผลที่ได้[8] ซึ่งสามารถใช้ในการตรวจสอบดูว่า พนักงานและผู้บริหารงานมีทัศนคติอย่างไรเกี่ยวกับความสำเร็จและความล้มเหลวของบริษัท วิธีนี้สามารถรวบรวมตัวแปรต่าง ๆ มากมาย เพื่อใช้ในการกำหนดว่ามีความเอนเอียงแบบนี้หรือไม่

องค์ประกอบและตัวแปร

แรงจูงใจ

มีแรงจูงใจสองอย่างที่มีผลต่อความเอนเอียงนี้ คือ การยกตนเอง (self-enhancement) และการรักษาภาพพจน์ (self-presentation)[7] การยกตัวเองมีจุดมุ่งหมายเพื่อพิทักษ์คุณค่าของตนไว้ คือการอ้างเหตุความสำเร็จภายใน และอ้างเหตุความล้มเหลวภายนอก จะช่วยในการรักษาคุณค่าของตนไว้ ส่วนการรักษาภาพพจน์หมายถึงความต้องการที่จะแสดงภาพพจน์ให้คนอื่นเห็น โดยใช้การอ้างเหตุผลรับใช้ตนเองเพื่อรักษาภาพพจน์ที่คนอื่นมีเกี่ยวกับตน[7] ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถอ้างความสำเร็จว่าเป็นของตน แต่หลีกเลี่ยงความล้มเหลว เพื่อรักษาภาพพจน์ของตนต่อผู้อื่น แรงจูงใจต่าง ๆ จะทำงานร่วมกับองค์ประกอบต่าง ๆ ทางประชาน เพื่อสร้างการอ้างเหตุผลที่น่าพึงใจต่อตนเอง ซึ่งเป็นการพิทักษ์ภาพพจน์ของตน สำหรับผลที่ได้นั้น[7]

โลคัสของการควบคุม

โลคัสของการควบคุม (Locus of control) เป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งของสไตล์การอ้างเหตุผล (attribution style) บุคคลที่มีโลคัสภายในจะเชื่อว่า ตนมีอำนาจเหนือสถานการณ์และพฤติกรรมของตนจะมีผล ส่วนบุคคลที่มีโลคัสภายนอกจะเชื่อว่า ปัจจัยภายนอก เคราะห์ และโชค จะเป็นตัวกำหนดสถานการณ์และพฤติกรรมของตนจะไม่มีผล[17] ผู้ที่มีโลคัสภายนอกมีโอกาสที่จะแสดงความเอนเอียงประเภทนี้เมื่อเกิดความล้มเหลว มากกว่าผู้ที่มีโลคัสภายใน[10][18] สไตล์การอ้างเหตุผลระหว่างผู้มีโลคัสสองอย่าง จะไม่แตกต่างกันมากเมื่อเกิดความสำเร็จ เพราะว่า บุคคลทั้งสองประเภทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพิทักษ์ภาพพจน์ของตนเองในเมื่อเกิดความสำเร็จ นักบินผู้มีโลคัสภายใน มีโอกาสมากกว่าที่จะแสดงความเอนเอียงนี้ ในเรื่องทักษะการบินและประวัติความปลอดภัยของตน[18]

เพศ

งานวิจัยหลายงานแสดงความแตกต่างกันเล็กน้อย ระหว่างเพศชายและเพศหญิง ในเรื่องความเอนเอียงนี้ ในงานสำรวจที่ให้คำตอบเอง ที่ตรวจสอบปฏิสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก ผู้ชายมักจะอ้างว่าเป็นความผิดของคู่ มากกว่าผู้หญิง[19] นี้อาจจะเป็นหลักฐานว่า ผู้ชายมีความเอนเอียงนี้มากกว่าผู้หญิง แม้ว่า งานทดลองนี้จะไม่ได้ตรวจสอบการอ้างเหตุผลเมื่อมีผลบวก

อายุ

ผู้ใหญ่วัยสูงกว่า โทษเหตุภายในเมื่อมีผลลบมากกว่า[20] สไตล์การอ้างเหตุผลที่แตกต่างกันตามอายุแสดงว่า ความเอนเอียงนี้อาจมีน้อยกว่าในผู้สูงอายุกว่า แต่ว่าผู้ใหญ่สูงอายุที่โทษเหตุภายในว่า เป็นเหตุของผลลบเหล่านี้ ประเมินตนเองด้วยว่ามีสุขภาพไม่ดี และดังนั้น องค์ประกอบทางอารมณ์เชิงลบ อาจจะเป็นตัวแปรสับสนของอายุ (คือทำให้ไม่ชัดเจนว่า อายุหรืออารมณ์เชิงลบ เป็นเหตุแห่งความแตกต่างของระดับความเอนเอียงนี้ในผู้สูงอายุ)

วัฒนธรรม

มีหลักฐานที่แสดงความแตกต่างกันระหว่างวัฒนธรรม โดยเฉพาะในสังคมตะวันตกที่เน้นความเป็นตัวของตัวเอง (individualistic) เปรียบเทียบกับสังคมอื่นที่เน้นส่วนรวม (collectivistic)[21] คือ ประโยชน์จุดมุ่งหมายของครอบครัวและชุมชนจะมีความสำคัญกว่าในวัฒนธรรมที่เน้นส่วนรวม และโดยเปรียบเทียบกัน ประโยชน์จุดมุ่งหมายของตนและความเป็นตัวของตัวเองที่เน้นในสังคมตะวันตก จะเพิ่มความจำเป็นสำหรับคนในวัฒนธรรมเช่นนี้ ในการพิทักษ์และเพิ่มพูนความภูมิใจในตนเอง ถึงจะมีงานวิจัยที่แสดงความแตกต่างเช่นนี้ ก็ยังมีงานวิจัยที่แสดงผลขัดกัน คือแสดงการอ้างเหตุผลที่คล้ายกันระหว่างสังคมที่เน้นความเป็นตัวของตัวเองและสังคมที่เน้นส่วนรวม โดยเฉพาะก็คือ ระหว่างประเทศเบลเยี่ยม เยอรมนีตะวันตก เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร[22] งานวิจัยเหล่านี้มักจะรวบรวมข้อมูลจากงานทดลองที่ออกแบบและทำกับนักศึกษามหาวิทยาลัย ส่วนงานที่ใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่จริง ๆ ระหว่างบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นพบว่า[23]

  • ทั้งบริษัทอเมริกันและญี่ปุ่นทำการอ้างเหตุเกี่ยวกับผลบวก มากกว่าผลลบ
  • บริษัทอเมริกันจะเน้นการกล่าวถึงผลบวกมากกว่าบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งแสดงว่าบริษัทญี่ปุ่นสามารถยอมรับข้อมูลเชิงลบเกี่ยวกับองค์กรได้มากกว่า
  • ทั้งบริษัทอเมริกันและญี่ปุ่นจะอ้างเหตุภายในสำหรับผลบวก (คืออ้างว่าผลบวกเกิดจากความสามารถการกระทำของบริษัท)
  • บริษัทญี่ปุ่นจะโทษปัจจัยภายนอกสำหรับผลลบมากกว่าบริษัทอเมริกัน

ดังนั้น โดยรวม ๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีมติร่วมกันว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีผลต่อความเอนเอียงนี้อย่างไร แต่ว่า ดูเหมือนว่าจะมีความแตกต่างอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมอื่น ๆ

บทบาท

งานวิจัยที่แยกบทบาทของผู้ร่วมการทดลองเป็นผู้ทำงานหรือผู้สังเกตการณ์ผู้ทำงาน พบความคล้ายคลึงกับปรากฎการณ์ actor-observer asymmetry (อสมมาตรระหว่างผู้ทำงานกับผู้สังเกตการณ์) คือ ผู้ทำงานจะแสดงความเอนเอียงรับใช้ตนเองในการให้เหตุผลความสำเร็จหรือความล้มเหลวของงาน แต่ผู้สังเกตการณ์ผลงานของผู้อื่นจะมีการให้เหตุผลที่ต่างกัน[10] คือ ผู้สังเกตการณ์มักจะมีความเป็นกลางมากกว่าในการยกปัจจัยภายในและภายนอกว่าเป็นเหตุของผลงานที่ได้ นี้อาจจะเป็นเพราะว่า นี่เป็นเรื่องของภาพพจน์ของผู้ทำงานโดยตรง และดังนั้น ผู้ทำงานจะต้องพิทักษ์ภาพพจน์ของตน ส่วนผู้สังเกตการณ์ไม่มีความโน้มเอียงในการพิทักษ์ภาพพจน์ของผู้อื่น[24]

ความภูมิใจในตนและอารมณ์

อารมณ์ต่าง ๆ สามารถมีอิทธิพลต่อความรู้สึกภูมิใจในตน (self-esteem) ซึ่งก็จะมีผลต่อความรู้สึกว่าต้องทำการปกป้องภาพพจน์ของตน เชื่อกันว่าบุคคลที่มีความภูมิใจในตนสูง จะมีการพิทักษ์รักษาภาพพจน์ของตนมากกว่า และดังนั้น ก็จะแสดงความเอนเอียงรับใช้ตนมากกว่าผู้ที่มีความภูมิใจในตนที่ต่ำกว่า[10] ในงานวิจัยหนึ่ง ผู้ร่วมการทดลองที่ทำให้เกิดอารมณ์คือความรู้สึกผิด หรือขยะแขยง มีโอกาสน้อยลงที่จะอ้างเหตุรับใช้ตนเองในความสำเร็จ และอ้างเหตุปกป้องตนเองในความล้มเหลว[15] นักวิจัยในงานนี้สรุปว่า อารมณ์คือความรู้สึกผิดหรือความรู้สึกขยะแขยงลดระดับความภูมิใจในตน และดังนั้น จึงลดระดับความเอนเอียงรับใช้ตน

ความสำนึกตนและโอกาสพัฒนา

ความสัมพันธ์ระหว่างระดับความสำนึกตน (self awareness) และความรู้สึกว่ามีโอกาสที่จะพัฒนา มีอิทธิพลต่อความเอนเอียงนี้[25] คือ บุคคลที่มีความสำนึกตนสูง จะอ้างเหตุภายในว่าทำให้เกิดความล้มเหลวเมื่อรู้สึกว่า มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาในงานนั้น แต่ว่า จะเกิดความเอนเอียงนี้ คือโทษปัจจัยภายนอก เมื่อรู้สึกว่า มีโอกาสน้อยที่จะพัฒนาในงานนั้น ส่วนบุคคลที่มีความสำนึกตนน้อย จะโทษปัจจัยภายนอกไม่ว่าโอกาสการพัฒนาในงานจะมีแค่ไหน

ผลของความเอนเอียงในสถานการณ์จริง ๆ

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

การแสดงออกของความเอนเอียงนี้อาจขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดกันระหว่างบุคคล คือความสัมพันธ์ทางสังคม เมื่อทำงานเป็นคู่ในงานที่สืบเนื่องกัน คู่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดจะไม่แสดงความเอนเอียงนี้ ในขณะที่คู่ที่มีความสัมพันธ์ห่างกันจะแสดง[4] งานศึกษาความเอนเอียงในสังคมหนึ่งเสนอว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดจะจำกัดความโน้มเอียงในการยกตนของแต่ละบุคคล[26] คือแต่ละคนจะถ่อมตัวกว่าเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด และเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะใช้ความสัมพันธ์นั้นเพื่อประโยชน์ตน แม้ว่า ความเข้าใจว่าทำไมคู่ที่มีความสัมพันธ์เช่นนี้จึงเว้นจากความเอนเอียงนี้ ยังไม่ชัดเจน แต่อาจจะอธิบายได้โดยส่วนหนึ่ง โดยความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกันและกัน งานวิจัยอีกงานหนึ่งพบผลที่คล้ายคลึงกัน เมื่อตรวจสอบเพื่อนและคนแปลกหน้า มีการให้ผู้ร่วมการทดลองเป็นคู่ ๆ ทำงานสร้างสรรค์ที่สืบเนื่องกัน แต่บอกว่าผลงานเป็นความสำเร็จหรือความล้มเหลวโดยกุขึ้น คนแปลกหน้ามักจะแสดงความเอนเอียงนี้ในการอ้างเหตุผล ส่วนผู้เป็นเพื่อนมักจะยกคุณและโทษให้ทั้งตนเองและเพื่อนเท่า ๆ กันทั้งกรณีสำเร็จและกรณีล้มเหลว ซึ่งนักวิจัยถือเอาเป็น "ขอบเขตของการยกตนเอง"[4]

ในที่ทำงาน

มีงานวิจัยที่แสดงว่า ผลการสมัครงานสามารถอธิบายได้ด้วยความเอนเอียงนี้ ถ้าได้งานเราจะอ้างว่าเป็นเพราะเหตุภายใน แต่ถ้าไม่ได้งานก็จะอ้างว่าเป็นเพราะปัจจัยภายนอก[27] แต่ว่า เมื่อมีการตรวจสอบคำอธิบายความว่างงานด้วยการทดลอง โดยการให้ผู้ร่วมการทดลองจินตนาการถึงงานที่กำลังรับสมัคร และความเป็นไปได้ในระดับต่าง ๆ ของการได้งาน จะไม่พบความเอนเอียงชนิดนี้[3] นักวิจัยอ้างว่า นี้อาจจะเป็นเพราะความแตกต่างกันระหว่างบทบาทของผู้กระทำ-ผู้สังเกตการณ์ ในการแสดงความเอนเอียงนี้ ในที่ทำงานจริง ๆ ผู้ที่รับความบาดเจ็บต่ออุบัติเหตุที่รุนแรงมักจะโทษปัจจัยภายนอก แต่ว่า เพื่อนร่วมงานและผู้บริหารมักจะโทษการกระทำของผู้ที่รับความบาดเจ็บ[28]

ความต่าง ๆ กันเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลของความเอนเอียง ที่กล่าวถึงในหัวข้อที่แล้ว จะมีผลต่อการอ้างเหตุของผลที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ในงานทดลองหนึ่งที่ตรวจสอบพลวัตของกลุ่ม มีการให้ผู้ร่วมการทดลองซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่ม ทำงานตัดสินใจผ่านการสื่อสารกับสมาชิกอื่น ๆ ทางคอมพิวเตอร์ ผลงานทดลองว่า ในผลล้มเหลว ผู้ร่วมการทดลองจะมีความเอนเอียงนี้ และความห่างไกลกันเพราะเหตุความสัมพันธ์ที่มีผ่านคอมพิวเตอร์ จะเพิ่มระดับการยกโทษให้กันและกันในกรณีล้มเหลว[29]

มีงานวิจัยหลายงานที่พบว่า ความรักตัวเอง (narcissism) มีความสัมพันธ์กับการให้คะแนนตัวเองสูงขึ้นของหัวหน้ากลุ่ม ในงานวิจัยปี ค.ศ. 2006 นักวิจัยก็พบเหมือนกันว่า ความรักตัวเองมีความสัมพันธ์กับการชื่มชมตัวเองของหัวหน้ากลุ่ม แต่ว่า ความรักตัวเองของหัวหน้ากลุ่มจะมีผลลบต่อการให้คะแนนหัวหน้าจากลูกน้อง และงานวิจัยก็แสดงด้วยว่า ความรักตัวเองของหัวหน้า จะมีผลเป็นการให้คะแนนบวกกับตัวเองแม้ในการกระทำที่มีผลลบต่อองค์กร และในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งจะแตกต่างจากคะแนนที่ลูกน้องให้กับหัวหน้า[30] และเพราะว่าความรักตัวเองหมายถึงทั้งการชื่มชมตัวเองที่มีกำลัง และความโน้มน้าวทางพฤติกรรมอย่างอื่น ๆ ที่อาจจะดูไม่ดีสำหรับคนอื่น เป็นไปได้ที่ความรักตัวเองจะมีอิทธิพลต่อความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเองและความรู้สึกเกี่ยวกับผู้อื่นที่ต่าง ๆ กัน และความเข้าใจในเรื่องนี้อาจสำคัญเพราะว่า ความแตกต่างของความรู้สึกต่อตนเองและต่อผู้อื่น เป็นรากฐานของการบริหารการปฏิบัติงานและการพัฒนาบางวิธี[30]

ในห้องเรียน

งานวิจัยทั้งในห้องแล็บทั้งในเหตุการณ์จริง ๆ พบว่า ทั้งคุณครูทั้งนักเรียนต่างก็มีความเอนเอียงรับใช้ตนเอง เกี่ยวเนื่องกับผลที่ได้ในห้องเรียน[31] การยกย่องตนเองและโทษปัจจัยอื่น อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคุณครูกับนักเรียน เพราะว่า ต่างคนต่างไม่รับผิดชอบ (ผลไม่ดีที่เกิดขึ้น) คือ นักเรียนอาจจะโทษคุณครู ในขณะที่คุณครูก็จะถือเอาว่าเป็นหน้าที่ของนักเรียน แต่ว่า ทั้งคุณครูทั้งนักเรียนต่างก็มีความเข้าใจว่า อีกฝ่ายหนึ่งมีความเอนเอียง ซึ่งอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าอาจจะมีวิธีแก้ปัญหานี้

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

คอมพิวเตอร์ได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของชีวิต มีงานวิจัยที่แสดงว่า เราอาจจะมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ เหมือนกับมีกับบุคคลอื่น โดยที่เป็นไปใต้จิตสำนึก[32] การมีปฏิสัมพันธ์เยี่ยงนี้ บวกกับทฤษฎีความเอนเอียงรับใช้ตนเอง ดูเหมือนจะแสดงว่า ผู้บริโภคที่ใช้คอมพิวเตอร์ซื้อสินค้า อาจจะยกเครดิตให้ตนเองเมื่อการซื้อสินค้านั้นสำเร็จลงด้วยดี แต่จะโทษคอมพิวเตอร์เมื่อมีผลลบ แต่ก็มีผลงานวิจัยที่พบว่า ผู้บริโภคจะให้เครดิตคอมพิวเตอร์เมื่อเกิดความสำเร็จและจะไม่โยนโทษให้เมื่อมีความล้มเหลว ถ้ามีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวกับคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าอาจทำให้เกิดความเสียหายได้[6] เหตุผลที่ไม่โทษคอมพิวเตอร์อีกอย่างหนึ่งก็คือ เราคุ้นเคยต่อความใช้งานได้ที่ไม่ค่อยดี ลูกเล่นสมรรถภาพที่ใช้ยาก จุดบกพร่องต่าง ๆ และความล้มเหลวฉับพลัน ที่พบในโปรแกรมประยุกต์ (ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน) โดยทั่ว ๆ ไป ดังนั้น เราจึงไม่ค่อยบ่นเกี่ยวกับปัญหาคอมพิวเตอร์ และกลับเชื่อว่า เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของตนที่จะต้องเข้าใจปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และที่จะหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น ปรากฎการณ์ที่แปลกนี้ พบในงานตรวจสอบปฏิสัมพันธระหว่างมนุษย์-คอมพิวเตอร์หลายงานเมื่อไม่นานนี้[33]

การกีฬา

มีหลักฐานว่า นักกีฬามีความเอนเอียงรับใช้ตนเองเมื่อพิจารณาผลของการแข่งขัน ในงานวิจัยหนึ่ง ที่นักกีฬามวยปล้ำระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงเหตุของผลการแข่งขัน ผู้ชนะจะมีโอกาสมากกว่าผู้แพ้ ที่จะอ้างเหตุภายใน (คือชมว่าเป็นความสามารถของตน)[5] นักวิจัยให้ข้อสังเกตว่า มวยปล้ำเป็นการแข่งขันหนึ่งต่อหนึ่งและมีผู้ชนะที่ชัดเจน ดังนั้น กีฬาชนิดอื่นที่มีลักษณะเช่นเดียวกัน อาจจะมีปรากฎการณ์ของความเอนเอียงคล้าย ๆ กัน แต่ว่ากีฬาทีม หรือกีฬาที่มีการแพ้ชนะที่ไม่ชัดเจน อาจจะไม่มีรูปแบบความเอนเอียงในลักษณะเดียวกัน[5]

ภาวะซึมเศร้า

คนไข้ภาวะซึมเศร้ามักจะมีความเอนเอียงนี้ในระดับที่น้อยกว่าคนปกติ[9] ในงานทดลองหนึ่งที่สำรวจผลของพื้นอารมณ์ (mood) ต่อความเอนเอียงนี้ โดยที่พื้นอารมณ์ของผู้ร่วมการทดลอง จะมีการปรับเปลี่ยนให้เป็นไปทางเชิงบวกหรือเชิงลบ ผู้มีพื้นอารมณ์เชิงลบ มีโอกาสที่จะให้เครดิตตัวเองเพราะผลสำเร็จน้อยกว่าผู้มีพื้นอารมณ์เชิงบวก โดยไปให้เครดิตปัจจัยภายนอกแทน[34] มีการเสนอว่า พื้นอารมณ์เชิงลบของผู้มีภาวะซึมเศร้า และความใส่ใจที่มุ่งไปในตน เป็นตัวอธิบายว่า ทำไมคนไข้คลินิกที่มีภาวะซึมเศร้า จึงมีโอกาสน้อยกว่าที่จะแสดงความเอนเอียงนี้เทียบกันคนปกติ[9]

งานวิจัยทางประสาท

fMRI

มีการใช้เทคนิค fMRI ในการสร้างภาพสมองของคนปกติเมื่อเกิดความเอนเอียงนี้ เมื่ออ้างเหตุผลที่มีความเอนเอียง สมองจะเกิดการทำงานในเขต dorsal striatum ซึ่งมีบทบาทในพฤติกรรมที่ประกอบกับแรงจูงใจ และในเขต dorsal anterior cingulate[12][35] แต่ในคนไข้โรคซึมเศร้า จะมีการเชื่อมต่อกันที่อ่อนกว่าระหว่างเขต dorsomedial prefrontal cortex และระบบลิมบิก ดังนั้น การทำงานเชื่อมต่อกันนี้ อาจมีบทบาทเกี่ยวกับการอ้างเหตุผลรับใช้ตนเอง[16]

EEG

ในงานวิจัยหนึ่งที่ใช้เทคนิคการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ในการเช็คการทำงานของสมอง ผู้ร่วมการทดลองจะได้รับฟังผลงานที่กุขึ้น แล้วให้ให้เหตุผล ปฏิกิริยาที่รับใช้ตนเองจะไม่แสดงการทำงานในระดับที่สูงขึ้นของ dorsomedial frontal cortex ก่อนจะอ้างเหตุผล โดยต่างจากปฏิกิริยาที่ไม่รับใช้ตนเอง การไม่มีทำงานของสมองในเขตนี้บ่งว่า การควบคุมตนเอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของสมองส่วน dorsomedial frontal cortex จะไม่เกิดขึ้นเมื่อรับใช้ตนเอง ในระดับเดียวกันกับเมื่อไม่รับใช้ตนเอง[11]

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถและอ้างอิง

  1. "Lexitron พจนานุกรมไทย<=>อังกฤษ รุ่น 2.6". หน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษา, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2546. serving=การรับใช้
  2. Forsyth, Donelson. "Self-Serving Bias" (PDF). research (2 ed.). International Encyclopedia Of The Social Sciences. สืบค้นเมื่อ 2013-04-12.
  3. 3.0 3.1 Pal, G.C. (2007). "Is there a universal self-serving attribution bias?". Psychological Studies. 52 (1): 85–89.
  4. 4.0 4.1 4.2 Campbell, W. Keith (2000). "Among friends? An examination of friendship and the self-serving bias". British Journal of Social Psychology. 39 (2): 229–239. doi:10.1348/014466600164444. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 De Michele, P.; Gansneder, B.; Solomon, G. (1998). "Success and failure attributions of wrestlers: Further Evidence of the Self-Serving Bias". Journal of Sport Behavior. 21 (3): 242.
  6. 6.0 6.1 Moon, Youngme (2003). "Don't Blame the Computer: When Self-Disclosure Moderates the Self-Serving Bias". Journal of Consumer Psychology. 13 (1): 125–137. doi:10.1207/153276603768344843.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Shepperd, James (2008). "Exploring Causes of the Self-serving Bias". Social and Personality Psychology Compass. 2 (2): 895–908. doi:10.1111/j.1751-9004.2008.00078.x. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  8. 8.0 8.1 Hooghiemstra, Reggy (2008). "East-West Differences in Attributions for Company Performance: A Content Analysis of Japanese and U.S. Corporate Annual Reports". Journal of Cross-Cultural Psychology. 39 (5): 618–629. doi:10.1177/0022022108321309.
  9. 9.0 9.1 9.2 Greenberg, Jeff (1992). "Depression, self-focused attention, and the self-serving attributional bias". Personality and Individual Differences. 13 (9): 959–965. doi:10.1016/0191-8869(92)90129-D. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 Campbell, W. Keith; Sedikides, Constantine (1999). "Self-threat magnifies the self-serving bias: A meta-analytic integration". Review of General Psychology. 3 (1): 23–43. doi:10.1037/1089-2680.3.1.23.
  11. 11.0 11.1 11.2 Krusemark, Elizabeth A. (2008). "Attributions, deception, and event related potentials: An investigation of the self-serving bias". Psychophysiology. 45 (4): 511–515. doi:10.1111/j.1469-8986.2008.00659.x. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  12. 12.0 12.1 12.2 Blackwood, NJ; Bentall, RP; Fytche, DH; Simmons, A; Murray, RM; Howard, RJ (2003). "Self-responsibility and the self-serving bias: an fMRI investigation of causal attributions". Neuroimage. 20 (2): 1076–85. doi:10.1016/s1053-8119(03)00331-8.
  13. Miller, Dale; Michael Ross (1975). "Self-serving Biases in the Attribution of Causality: Fact or Fiction?". Psychological Bulletin. 82 (2): 213–225. doi:10.1037/h0076486.
  14. Larson, James; Rutger U; Douglass Coll. "Evidence for a self-serving bias in the attribution of causality". Journal of Personality. 43 (3): 430–441. {{cite journal}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  15. 15.0 15.1 Coleman, Martin D. (2011). "Emotion and the Self-Serving Bias". Current Psychology. 30 (4): 345–354. doi:10.1007/s12144-011-9121-2.
  16. 16.0 16.1 Seidel, Eva-Maria; Satterthwaite, Theodore D.; Eickhoff, Simon B.; Schneider, Frank; Gur, Ruben C.; Wolf, Daniel H.; Habel, Ute; Derntl, Birgit (2011). "Neural correlates of depressive realism — An fMRI study on causal attribution in depression". Journal of Affective Disorders. 138 (3): 268–276. doi:10.1016/j.jad.2012.01.041.
  17. Twenge, Jean M. (2004). "It's Beyond My Control: A Cross-Temporal Meta-Analysis of Increasing Externality in Locus of Control, 1960-2002". Personality and Social Psychology Review. 8 (3): 308–319. doi:10.1207/s15327957pspr0803_5. {{cite journal}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  18. 18.0 18.1 Wichman, Harvey; Ball, James (1983). "Locus of control, self-serving biases, and attitudes towards safety in general aviation pilots". Aviation, Space, and Environmental Medicine. 54 (6): 507–510.
  19. Christensen, A.; Sullaway, M.; King, C. E. (1983). "Systematic error in behavioral reports of dyadic interaction: Egocentric bias and content effects". Behavioral Assessment. 5 (2): 129–140.
  20. Lachman, M. (1990). "When Bad Things Happen to Older People: Age Differences in A ttributional Style". Psychology and Aging. 5 (4): 607–609. doi:10.1037/0882-7974.5.4.607.
  21. Al-Zahrini, S.; Kaplowitz, S. (1993). "Attributional Biases in Individualistic and Collectivistic Cultures: A Comparison of Americans with Saudis". Social Psychology Quarterly. 56 (3): 223–233. doi:10.2307/2786780.
  22. Schuster, B.; Forsterlung, F.; Weiner, B. (1989). "Perceiving the Causes of Success and Failure: A Cross-Cultural Examination of Attributional Concepts". Journal of Cross-Cultural Psychology. 20 (2): 191–213. doi:10.1177/0022022189202005.
  23. Hooghiemstra, R. (2008). "East--West Differences in Attributions for Company Performance: A Content Analysis of Japanese and U.S. Corporate Annual Reports". Journal of Cross-Cultural Psychology. 39 (5): 618–629. doi:10.1177/0022022108321309.
  24. Baumeister, Roy F.; Heatherton, Todd F.; Tice, Dianne M. (1993). "When ego threats lead to self-regulation failure: Negative consequences of high self-esteem". Journal of Personality and Social Psychology. 64 (1): 141–156. doi:10.1037/0022-3514.64.1.141. ISSN 1939-1315.
  25. Duval, Thomas; Paul Silvia (2002). "Self-Awareness, Probability of Improvement, and the Self-Serving Bias". Journal of Personality and Social Psychology. 82 (1): 49–61. doi:10.1037//0022-3514.82.1.49.
  26. Sedikides, Constantine; Keith Campbell; Glenn Reeder; Andrew Elliot (1998). "The Self-Serving Bias in Relational Context". Journal of Personality and Social Psychology. 74 (2): 378–386. doi:10.1037/0022-3514.74.2.378.
  27. Furnham, A. (1982). "Explanations for Unemployment in Britain". Journal of European Social Psychology. 12: 335–352. doi:10.1002/ejsp.2420120402.
  28. Gyekye, Seth Ayim; Salminen, Simo (2006). "The self-defensive attribution hypothesis in the work environment: Co-workers' perspectives". Safety Science. 44 (2): 157–168. doi:10.1016/j.ssci.2005.06.006.
  29. Walther, J. B.; Bazarova, N. N. (2007). "Misattribution in virtual groups: The effects of member distribution on self-serving bias and partner blame". Human Communication Research. 33 (1): 1–26. doi:10.1111/j.1468-2958.2007.00286.x.
  30. 30.0 30.1 Judge, Timothy (2006). "Loving Yourself Abundantly: Relationship of the Narcissistic Personality to Self- and Other Perceptions of Workplace Deviance, Leadership, and Task and Contextual Performance" (PDF). Journal of Applied Psychology. 91 (4): 762–776. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-03-17. สืบค้นเมื่อ 2014-02-10.
  31. McAllister, Hunter A. (1996). "Self-serving bias in the classroom: Who shows it? Who knows it?". Journal of Educational Psychology. 88 (1): 123–131. doi:10.1037/0022-0663.88.1.123.
  32. Moon, Youngme (2000). "Intimate exchanges: Using computers to elicit self-disclosure from consumers". Journal of Consumer Research. 26: 324–340. doi:10.1086/209566.
  33. Serenko, A. (2007). "Are interface agents scapegoats? Attributions of responsibility in human-agent interaction" (PDF). Interacting with Computers. 19: 293–303. doi:10.1016/j.intcom.2006.07.005.
  34. Gordon, R.; Holley, P.; Shaffer, C. (2001). The Journal of Social Psychology. 130 (4): 565–567. {{cite journal}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  35. Seidel, Eva-Maria; Eickhoff, Simon B.; Kellermann, Thilo; Schneider, Frank; Gur, Ruben C.; Habel, Ute; Derntl, Birgit (2010). "Who is to blame? Neural correlates of causal attribution in social situations". Social Neuroscience. 5 (4): 335–350. doi:10.1080/17470911003615997.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • Campbell, W.K.; Sedikides, C. (1999). "Self-threat magnifies the self-serving bias: A meta-analytic integration". Review of General Psychology. 3: 23–43. doi:10.1037/1089-2680.3.1.23.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!