ความจำ

ประเภทและกิจหน้าที่ของความจำในวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ

ในจิตวิทยา ความจำ (อังกฤษ: memory) เป็นกระบวนการที่ข้อมูลต่าง ๆ รับการเข้ารหัส การเก็บไว้ และการค้นคืน เนื่องจากว่า ในระยะแรกนี้ ข้อมูลจากโลกภายนอกมากระทบกับประสาทสัมผัสต่าง ๆ (มีตาเป็นต้น) ในรูปแบบของสิ่งเร้าเชิงเคมีหรือเชิงกายภาพ จึงต้องมีการเปลี่ยนข้อมูลไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็คือการเข้ารหัส เพื่อที่จะบันทึกข้อมูลไว้ในความจำได้ ระยะที่สองเป็นการเก็บข้อมูลนั้นไว้ ในสภาวะที่สามารถจะรักษาไว้ได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง ส่วนระยะสุดท้ายเป็นการค้นคืนข้อมูลที่ได้เก็บเอาไว้ ซึ่งก็คือการสืบหาข้อมูลนั้นที่นำไปสู่การสำนึกรู้ ให้สังเกตว่า การค้นคืนความจำบางอย่างไม่ต้องอาศัยความพยายามภายใต้อำนาจจิตใจ

จากมุมมองเกี่ยวกับกระบวนการประมวลข้อมูล มีระยะ 3 ระยะในการสร้างและค้นคืนความจำ คือ

  • การเข้ารหัส (encoding) เป็นการรับ การแปลผล และการรวบรวมข้อมูลที่ได้รับ
  • การเก็บ (storage) เป็นการบันทึกข้อมูลที่ได้เข้ารหัสแล้วอย่างถาวร
  • การค้นคืน (retrieval หรือ recollection) หรือ การระลึกถึง เป็นการระลึกถึงข้อมูลที่ได้บันทึกไว้แล้วโดยเป็นกระบวนการตอบสนองต่อตัวช่วย (cue) เพื่อใช้ในพฤติกรรมหรือกิจกรรมอะไรบางอย่าง

การสูญเสียความจำเรียกว่าเป็นความหลงลืม หรือถ้าเป็นโรคทางการแพทย์ ก็จะเรียกว่า ภาวะเสียความจำ[1] (amnesia)

ความจำอาศัยประสาทสัมผัส

Sensory memory (ความจำอาศัยความรู้สึก) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความรู้สึกที่เก็บไว้น้อยกว่า 1 วินาทีหลังจากเกิดการรับรู้สิ่งที่มากระทบประสาทสัมผัส ความสามารถในการเห็นวัตถุหนึ่งแล้วจำได้ว่าเหมือนกับอะไร โดยดู (หรือจำ) ใช้เวลาเพียงไม่ถึงวินาที เป็นตัวอย่างของความจำอาศัยความรู้สึก เป็นความจำนอกเหนือการควบคุมทางประชานและเป็นการตอบสนองอัตโนมัติ แม้ว่าจะมีการแสดงให้ดูเพียงระยะสั้น ๆ ผู้ร่วมการทดลองมักจะรายงานว่าเหมือนจะ "เห็น" รายละเอียดมากกว่าที่จะรายงานได้จริง ๆ (เพราะกว่าจะบอกสิ่งที่เห็นหมด ก็ลืมไปก่อนแล้ว)

นักจิตวิทยาเชิงประชานชาวอเมริกัน ศ. จอร์จ สเปอร์ลิง ได้ทำงานทดลองชุดแรก ๆ เพื่อตรวจสอบความจำประเภทนี้ในปี ค.ศ. 1963[2] โดยใชัรูปแบบ "partial report paradigm" (การทดลองแบบรายงานเป็นบางส่วน) คือ มีการแสดงตารางมีอักษร 12 ตัว จัดเป็น 3 แถว 4 คอลัมน์ให้ผู้ร่วมการทดลองดู หลังจากให้ดูเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็จะเล่นเสียงสูง เสียงกลาง หรือเสียงต่ำเพื่อบอกผู้ร่วมการทดลองว่า ให้รายงานอักษรแถวไหน จากการทดลองอย่างนี้ ศ. สเปอร์ลิงสามารถแสดงได้ว่า สมรรถภาพของความจำอาศัยความรู้สึกสามารถจำได้ประมาณ 12 อักษร แต่ว่าจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว (ภายใน 2-3 ร้อยมิลลิวินาที) เนื่องจากเสื่อมเร็วมาก ผู้ร่วมการทดลองจะเห็นสิ่งที่แสดง แต่ไม่สามารถรายงานอักษรทั้งหมดก่อนที่ความจำจะเสื่อมไป ความจำชนิดนี้ไม่สามารถทำให้ดำรงอยู่ได้นานขึ้นโดยการท่องซ้ำ ๆ (rehearsal)

ความจำอาศัยความรู้สึกมี 3 ประเภท คือ

  • Iconic memory เป็นตัวเก็บข้อมูลทางตาที่เสื่อมอย่างรวดเร็ว เป็นความจำอาศัยความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เก็บภาพที่เกิดการรับรู้ไว้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ
  • Echoic memory เป็นตัวเก็บข้อมูลทางหูที่เสื่อมอย่างรวดเร็ว เป็นความจำอาศัยความรู้สึกอีกอย่างหนึ่งที่เก็บเสียงที่เกิดการรับรู้ไว้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ[3]
  • Haptic memory เป็นความจำอาศัยความรู้สึกที่เป็นฐานข้อมูลของสิ่งเร้าทางสัมผัส

ความจำระยะสั้น

ความจำระยะสั้น (short-term memory) เป็นความจำที่ช่วยให้ระลึกข้อมูลได้เป็นเวลาหลายวินาทีจนถึงนาทีหนึ่งโดยไม่ต้องท่องซ้ำ ๆ ความจำนี้มีขนาดจำกัดมาก ในปี ค.ศ. 1956 เมื่อทำงานอยู่ที่เบ็ลล์แล็บ นักจิตวิทยาเชิงประชานชาวอเมริกัน ศ. จอร์จ มิลเล่อร์ทำการทดลองที่แสดงว่า ขนาดความจำระยะสั้นอยู่ที่ 7±2 ชิ้น และได้เขียนบทความตีพิมพ์ที่มีชื่อเสียงว่า "The Magical Number Seven, Plus or Minus Two (เลขขลังคือ 7, บวกหรือลบ 2)" แต่ว่า ขนาดประมาณปัจจุบันของความจำระยะสั้นน้อยกว่าที่มิลเล่อร์กล่าวไว้ โดยปกติจะอยู่ที่ 4-5 ชิ้น[4] แต่ว่า สามารถจะเพิ่มขนาดขึ้นได้ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า chunking (คือรวมข้อมูลหลายชิ้นให้เป็นชิ้นเดียวกัน เช่น เบอร์รหัส 02 หมายถึงเบอร์โทรศัพท์ในกรุงเทพฯ)[5] ยกตัวอย่างเช่น ในการระลึกถึงเบอร์โทรศัพท์ 9 เบอร์ เราสามารถแบ่งเบอร์ออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก (เช่น 02) ส่วนที่สองที่มีเลขสามตัว (เช่น 456) และส่วนสุดท้ายที่มีเลข 4 ตัว (เช่น 7890) การจำเบอร์โทรศัพท์โดยวิธีเช่นนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าพยายามจะจำเลขเดี่ยว ๆ 9 ตัว เพราะว่า เราสามารถที่จะแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนต่าง ๆ ที่มีความหมาย ซึ่งก็จะเห็นได้ในประเทศต่าง ๆ ที่มักจะแสดงเบอร์โทรศัพท์เป็นส่วน ๆ แต่ละส่วนมี 2-4 ตัวเลข

ความจำระยะสั้นเชื่อกันว่า อาศัยการเข้ารหัสโดยเสียง (acoustic code) โดยมากในการเก็บข้อมูล และอาศัยการเข้ารหัสโดยสิ่งที่เห็น (visual code) บ้างแต่น้อยกว่า ในปี ค.ศ. 1964 คอนแรด[6] พบว่าผู้ร่วมการทดลองมีปัญหาในการระลึกถึงกลุ่มอักษรที่มีเสียงคล้ายกัน (เช่น E, P, D) ความสับสนในการระลึกถึงอักษรที่มีเสียงคล้าย ๆ กัน ไม่ใช่เพราะมีรูปร่างคล้าย ๆ กันบอกเป็นนัยว่า อักษรต่าง ๆ มีการเข้ารหัสโดยเสียง แต่การทดลองของคอนแรดเกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสตัวเขียนหนังสือ ดังนั้น แม้ว่าความจำเกี่ยวกับภาษาเขียนอาจจะต้องอาศัยส่วนประกอบเกี่ยวกับเสียง แต่ว่า นัยทั่วไปเกี่ยวกับความจำทุก ๆ แบบไม่ควรจะทำเพราะเพียงเหตุแห่งผลการทดลองนี้เท่านั้น

ความจำระยะยาว

งานศิลป์ Memory (ความจำ) ปี ค.ศ. 1896 ของโอลิน ลีไว วอร์เนอร์ อยู่ที่หอสมุดรัฐสภา ตึกทอมัส เจฟเฟอร์สัน เมืองวอชิงตัน ดี.ซี.

การเก็บความจำอาศัยความรู้สึกและความจำระยะสั้นทั่ว ๆ ไปแล้วมีขนาดและระยะเวลาจำกัด ซึ่งก็หมายความว่า ไม่สามารถรักษาข้อมูลไว้ได้ตลอดชั่วกาลนาน โดยเปรียบเทียบแล้ว ความจำระยะยาวมีขนาดใหญ่กว่าเพื่อบรรจุข้อมูลที่อาจไม่จำกัดเวลา (เช่นรักษาไว้ได้จนตลอดชีวิต) ขนาดความจำระยะยาวมีขนาดใหญ่จนวัดไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าให้เลข 7 หลักโดยสุ่ม เราอาจจะจำได้เพียงแค่ 2-3 วินาทีก่อนที่จะลืม ซึ่งบอกเป็นนัยว่าเก็บอยู่ในความจำระยะสั้นของเรา เปรียบเทียบกับเบอร์โทรศัพท์ที่เราอาจจะจำได้เป็นเวลาหลาย ๆ ปีผ่านการท่องและการระลึกถึงซ้ำ ๆ ข้อมูลนี้จึงเรียกว่าเก็บอยู่ในความจำระยะยาว

เปรียบเทียบความจำระยะสั้นที่เข้ารหัสข้อมูลโดยเสียง ความจำระยะยาวเข้ารหัสข้อมูลโดยความหมาย (semantic) ในปี ค.ศ 1966 แบ็ดเดลีย์[7] พบว่า หลังจาก 20 นาที ผู้ร่วมการทดลองมีปัญหาในการจำกลุ่มคำที่มีความหมายคล้าย ๆ กัน (เช่นบิ๊ก ใหญ่ โต) ในระยะยาว ส่วนความจำระยะยาวอีกอย่างหนึ่งก็คือ "ความจำอาศัยเหตุการณ์" (episodic memory) "ซึ่งเป็นการพยายามเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ 'อะไร' 'เมื่อไร' และ 'ที่ไหน'"[8] เป็นความจำที่เราสามารถระลึกถึงเหตุการณ์เฉพาะต่าง ๆ เช่นงานเลี้ยงวันเกิดหรืองานแต่งงาน

ความจำระยะสั้นมีมูลฐานเป็นรูปแบบการสื่อสารในเซลล์ประสาทแบบชั่วคราว โดยอาศัยเขตต่าง ๆ ในสมองกลีบหน้า (โดยเฉพาะ dorsolateral prefrontal cortex) และในสมองกลีบข้าง เปรียบเทียบกับความจำระยะยาว ซึ่งอาศัยการเปลี่ยนแปลงที่มีเสถียรภาพและถาวรโดยการเชื่อมต่อทางเซลล์ประสาทที่กระจายไปอย่างกว้างขวางในสมอง ฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในการทำความจำระยะสั้นให้กลายเป็นความจำระยะยาว (ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ) เป็นกระบวนการที่เรียกว่า "การทำความจำให้มั่นคง" (consolidation) แม้ว่าตัวเองจะไม่ใช่เป็นส่วนที่เก็บข้อมูลนั้นไว้เอง แต่ถ้าไม่มีส่วนนี้ของสมอง ความจำใหม่ ๆ จะไม่สามารถเก็บไว้ในความจำระยะยาว ดังที่พบในคนไข้เฮ็นรี่ โมไลสันหลังจากที่เขาผ่าตัดเอาฮิปโปแคมปัสทั้งสองซีกออก[9] และจะไม่สามารถใส่ใจอะไรได้นาน ๆ (คือมีสมาธิสั้น) นอกจากนั้นแล้ว สมองส่วนนี้อาจมีบทบาทในการเปลี่ยนการเชื่อมต่อทางประสาทในช่วงเวลา 3 เดือนหรือมากกว่านั้นหลังจากเกิดการเรียนรู้เหตุการณ์นั้น ๆ

สิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นหน้าที่หลัก ๆ ของการนอนหลับก็คือ ทำข้อมูลที่ได้เรียนรู้นั้นให้มั่นคง (consolidation) ได้ดีขึ้น เพราะว่า งานวิจัยหลายงานได้แสดงว่า ความจำที่ดีขึ้นอยู่กับการหลับนอนที่เพียงพอในช่วงระหว่างการเรียนและการทดสอบความจำ[10] นอกจากนั้นแล้ว ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยหลายงานที่ใช้การสร้างภาพในสมอง (neuroimaging) แสดงรูปแบบการทำงานในสมองในขณะนอนหลับที่เหมือนกับช่วงการเรียนรู้งานนั้น ๆ ในวันก่อน[10] ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ความจำใหม่ ๆ อาจเกิดการทำให้มั่นคงผ่านการเล่นซ้ำ (rehearsal)

งานวิจัยหนึ่งเสนอว่า การเก็บความจำระยะยาวในมนุษย์อาจจะมีการรักษาไว้โดยกระบวนการ DNA methylation[11] (เป็นกระบวนการชีวเคมีที่เติมกลุ่ม Methyl หนึ่งลงใน cytosine DNA nucleotides หรือ adenine DNA nucleotides) หรือผ่านตัวพรีออน[12]

แบบจำลอง

แบบจำลองของความจำความจำหลายอย่างแสดงรูปแบบต่าง ๆ ที่เชื่อกันว่าเป็นกระบวนการทำงานของความจำ ต่อไปนี้เป็นแบบจำลองต่าง ๆ ที่ได้รับการเสนอโดยนักจิตวิทยาหลายท่าน แต่ก็มีข้อถกเถียงด้วยว่า มีโครงสร้างต่าง ๆ ทางประสาทของความจำเหมือนแบบเหล่านี้จริง ๆ หรือไม่

แบบจำลองของ Atkinson-Shiffrin

ในปี ค.ศ. 1968 ริชาร์ด แอ็ตกินสัน และริชาร์ด ชริฟฟรินได้เสนอแบบจำลอง multi-store model (แบบจำลองความจำมีหลายที่เก็บ) หรือ Atkinson-Shiffrin memory model ซึ่งต่อมาได้รับการวิจารณ์ว่าง่ายเกินไป ยกตัวอย่างเช่น ความจำระยะยาวเชื่อกันว่า ประกอบด้วยส่วนประกอบต่าง ๆ เช่นความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) และความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) นอกจากนั้นแล้ว แบบจำลองยังเสนอว่าการฝึกซ้อม (rehearsal) เป็นกลไกเดียวที่ข้อมูลต่าง ๆ รับการบันทึกในที่เก็บความจำระยะยาว แต่กลับมีหลักฐานที่แสดงว่า เราสามารถจำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องฝึกซ้อม (หรือท่องจำ) แบบจำลองยังแสดงด้วยว่า ที่เก็บความจำทุกส่วนเป็นหน่วย ๆ เดียวเปรียบเทียบกับผลงานวิจัยที่ต่างไปจากนี้ ยกตัวอย่างเช่น ความจำระยะสั้นสามารถแบ่งออกเป็นหน่วยต่าง ๆ เช่นข้อมูลการเห็นและข้อมูลเสียง

งานวิจัยในปี ค.ศ. 1986 พบว่า คนไข้เรียกว่า 'KF' มีความสามารถที่ไม่เข้ากับแบบจำลองของ Atkinson-Shiffrin คือคนไข้มีสมองเสียหาย มีปัญหาหลายอย่างเกี่ยวกับความจำระยะสั้น คือ การรู้จำเสียงต่าง ๆ เช่นที่เกี่ยวกับเลข อักษร คำ และเสียงที่ควรจะระบุได้อย่างง่าย ๆ (เช่นเสียงกระดิ่งประตูและเสียงแมวร้อง) เกิดความเสียหาย แต่ที่น่าสนใจก็คือ ความจำระยะสั้นเกี่ยวกับการเห็นไม่เกิดความเสียหาย ซึ่งบอกเป็นนัยของความแยกออกเป็นสองส่วนระหว่างความจำเกี่ยวกับการเห็นและเกี่ยวกับการได้ยิน[13]

แบบจำลองความจำใช้งาน

แบบจำลองความจำใช้งาน

ในปี ค.ศ. 1974 แบ็ดเดลีย์และฮิตช์เสนอ "แบบจำลองความจำใช้งาน" (working memory model) ซึ่งแทนที่หลักทั่วไปของความจำระยะสั้นว่า เป็นการรักษาข้อมูลอย่างแอ๊กถีฟในที่เก็บความจำระยะสั้น ในแบบจำลองนี้ ความจำใช้งานมีที่เก็บ 3 อย่าง คือ central executive (ส่วนบริหารกลาง) phonological loop (วงจรเสียง) และ visuo-spatial sketchpad (สมุดร่างเกี่ยวกับการเห็น-พื้นที่) ในปี ค.ศ. 2000 แบ็ดเดลีย์เติมส่วน multimodal episodic buffer (ที่พักเหตุการณ์จากประสาทสัมผัสต่าง ๆ) เข้าไปเพิ่ม[14]

  • ส่วน central executive เป็นศูนย์ควบคุมการใส่ใจ โดยทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังส่วนประกอบต่าง ๆ คือ phonological loop, visuo-spatial sketchpad, และ episodic buffer
  • ส่วน phonological loop เก็บข้อมูลโดยฝึกซ้อมเสียงหรือคำต่าง ๆ เป็นวงวนกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คือ articulatory process (กระบวนการออกเสียง) ยกตัวอย่างเช่น การท่องเบอร์โทรศัพท์ซ้ำและซ้ำอีก ดังนั้น ข้อมูลมีจำนวนไม่มากจึงง่ายกว่าที่จะจำได้
  • ส่วน visuospatial sketchpad เก็บข้อมูลทางตาและเกี่ยวกับพื้นที่ ซึ่งต้องใช้ในการทำงานเกี่ยวกับพื้นที่ (เช่นการกะระยะทาง) หรือเกี่ยวกับตา (เช่นการนับจำนวนหน้าต่างในบ้านหรือในการจินตนาการภาพ)
  • ส่วน episodic buffer ทำหน้าที่เชื่อมข้อมูลจากระบบต่าง ๆ เพื่อรวมข้อมูลทั้งทางตา ทางพื้นที่ ทางการพูด และทางลำดับกาลเวลา (เช่น ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ของเรื่องหนึ่ง ๆ หรือเกี่ยวกับตอนหนึ่ง ๆ ของภาพยนตร์) นอกจากนั้นแล้ว ส่วนนี้ยังสมมติว่า มีการเชื่อมต่อกันกับความจำระยะยาว และความจำอาศัยความหมายอีกด้วย

แบบจำลองความจำใช้งานสามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์หลายอย่างในชีวิต เช่น ทำไมจึงทำงานสองงานที่ต่าง ๆ กัน (เช่นงานหนึ่งเกี่ยวกับการพูดและอีกงานหนึ่งเกี่ยวกับการเห็น) พร้อม ๆ กัน ง่ายกว่าทำงานสองงานที่คล้าย ๆ กัน (เช่นเกี่ยวกับการเห็นเหมือนกัน) และขนาดจำกัดของความจำใช้งานดังที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี ไอเดียเกี่ยวกับ central executive ดังที่กล่าวมานี้ได้รับคำวิจารณ์ว่ายังไม่สมบูรณ์และคลุมเครือเกินไป[ต้องการอ้างอิง] ความจำใช้งานเป็นสิ่งที่เชื่อว่าจำเป็นในการทำกิจในชีวิตประจำวันที่ต้องอาศัยความคิด เป็นระบบความจำที่ต้องใช้ในกระบวนการความคิด เป็นกระบวนการที่เราใช้เพื่อการเรียนรู้หรือการคิดหาเหตุผลเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ[14]

ประเภทความจำ

นักวิจัยแยกแยะระหว่างความจำโดยรู้จำ (recognition memory) และความจำโดยระลึก (recall memory) งานเกี่ยวกับความจำโดยรู้จำจะให้ผู้ร่วมการทดลองบอกว่าเคยได้พบสิ่งเร้าหนึ่ง ๆ เช่นรูปภาพหรือคำศัพท์ มาก่อนหรือไม่ ส่วนงานเกี่ยวกับความจำโดยระลึกจะให้ผู้ร่วมการทดลองค้นคืนข้อมูลที่ได้เรียนรู้มาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น อาจจะให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ได้เห็นมาก่อน หรือกล่าวถึงรายการคำศัพท์ที่ได้ยินมาก่อน

การจัดประเภทโดยประเภทข้อมูล

"ความจำอาศัยภูมิประเทศ" (Topographic memory) เป็นความสามารถในการกำหนดตำแหน่งของตนในพื้นที่ ในการรู้จำและดำเนินไปตามเส้นทาง หรือในการรู้จำสถานที่ที่คุ้นเคย[15] การหลงทางเมื่อเดินทางไปตามลำพังเป็นตัวอย่างหนึ่งข้อความล้มเหลวของความจำอาศัยภูมิประเทศ[16]

"ความจำแบบหลอดแฟลช" (Flashbulb memories) เป็นความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พิเศษและประกอบด้วยอารมณ์ความรู้สึกสูง[17] ตัวอย่างเช่น การจำได้ว่าตนอยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่เมื่อได้ยินข่าวการลอบสังหารประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี[18] หรือข่าววินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เป็นตัวอย่างของความจำแบบหลอดแฟลช

ในปี ค.ศ. 1976 นักจิตวิทยาจอห์น รอเบิรต์ แอนเดอร์สัน[19] ได้แบ่งความจำระยะยาวออกเป็นความจำเชิงประกาศ (declarative หรือ explicit memory) และความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural หรือ implicit memory)

ความจำเชิงประกาศ

ความจำเชิงประกาศนั้นกำหนดด้วยการต้องระลึกถึงภายใต้อำนาจจิตใจ (เหนือสำนึก) คือมีกระบวนการประกอบด้วยความสำนึกที่ค้นคืนข้อมูลที่ต้องการที่จะค้นคืน เป็นระบบที่บางครั้งเรียกว่าความจำชัดแจ้ง (explicit memory) เพราะเป็นข้อมูลที่ต้องจำและค้นคืนอย่างเปิดเผยชัดแจ้ง (ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น)

ความจำชัดแจ้งสามารถแบ่งประเภทย่อย ๆ ออกเป็นความจำอาศัยความหมาย (semantic memory) ซึ่งเป็นความจำเกี่ยวกับความจริงต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม และความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) ซึ่งเป็นความจำเกี่ยวกับข้อมูลที่เชื่อมกับเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมเช่นเวลาและสถานที่ ความจำอาศัยความหมายทำให้เกิดการเข้ารหัสความรู้เชิงนามธรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับโลกได้ เช่นความรู้ว่า "กรุงปารีสเป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส" เปรียบเทียบกับความจำอาศัยเหตุการณ์ ซึ่งใช้ในเรื่องความจำเกี่ยวกับตนเอง เช่นความรู้สึกทางประสาทสัมผัส อารมณ์ความรู้สึก และความสัมพันธ์ที่เป็นอัตวิสัยของสิ่งนั้นกับสถานที่และเวลาโดยเฉพาะ ๆ

ส่วน "ความจำอาศัยอัตชีวประวัติ" (Autobiographical memory) เป็นความจำสำหรับเหตุการณ์เฉพาะ ๆ ในชีวิตของตน ซึ่งมองว่าเทียบเท่ากับ หรือเป็นส่วนของความจำอาศัยเหตุการณ์ ส่วน "ความจำทางตา" (Visual memory) เป็นส่วนของความจำที่เก็บลักษณะบางอย่างของความรู้สึกทางประสาทสัมผัสเกี่ยวกับประสบการณ์ทางตา ดังนั้น เราจึงสามารถเก็บไว้ในความจำข้อมูลที่เหมือนกับวัตถุ สถานที่ สัตว์ หรือบุคคลต่าง ๆ ในรูปแบบของมโนภาพ (mental image) ความจำทางตาเป็นเหตุของปรากฏการณ์ priming (คือการรับรู้ที่ไวขึ้นเมื่อเคยเห็นสิ่งนั้นมาก่อน แม้ว่าอาจจะเห็นโดยไม่มีความสำนึก) โดยมีสมมติฐานว่า มีระบบทางประสาทที่เป็นตัวแทนสิ่งที่รับรู้ (perceptual representational system) ที่เป็นมูลฐานของปรากฏการณ์นี้[ต้องการอ้างอิง]

ความจำเชิงกระบวนวิธี

โดยเปรียบเทียบกันแล้ว ความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) หรือความจำโดยปริยาย (implicit memory) ไม่ใช่เป็นการระลึกถึงข้อมูลภายใต้อำนาจจิตใจ แต่เป็นการระลึกถึงข้อมูลที่ได้เรียนรู้โดยปริยาย (implicit learning) คือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติแม้อาจจะจำเหตุการณ์เกี่ยวกับการเรียนนั้นไม่ได้ ความจำเชิงกระบวนวิธีเป็นความจำที่ใช้ในการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว (motor skill) และพิจารณาว่า เป็นส่วนของความจำโดยปริยาย ความจำนี้จะปรากฏก็ต่อเมื่อเราสามารถทำงานหนึ่ง ๆ ได้ดีขึ้นเพราะทำบ่อย ๆ แม้ว่าอาจจะไม่มีความจำชัดแจ้งเกี่ยวกับการฝึกซ้ำ ๆ กันนั้น เพราะการเข้าถึงทักษะที่ได้เรียนรู้ในประสบการณ์ครั้งก่อน ๆ เป็นไปโดยไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจ ความจำเชิงกระบวนวิธีที่มีบทบาทในการเรียนรู้ทักษะการเคลื่อนไหว ต้องอาศัยส่วนต่าง ๆ ในสมองรวมทั้งซีรีเบลลัมและ basal ganglia

ลักษณะหนึ่งของความจำเชิงกระบวนวิธีก็คือทักษะที่จำได้จะเปลี่ยนไปเป็นการกระทำอัตโนมัติ และดังนั้น จึงเป็นระบบความจำที่ยากที่จะอธิบายหรือกำหนด ตัวอย่างของความจำอย่างนี้รวมทั้งความสามารถในการขี่จักรยานหรือการผูกเชือกรองเท้า[20] (ที่เมื่อชำนาญแล้วสามารถทำได้โดยอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องใส่ใจในการกระทำโดยมาก)

การแบ่งประเภทโดยเวลา

วิธีหลักอีกอย่างหนึ่งในการแบ่งหน้าที่ต่าง ๆ ของความจำก็คือถ้าเป็นการระลึกถึงอดีต คือความจำย้อนหลัง (retrospective memory) หรือถึงอนาคต คือความจำตามแผน (prospective memory) ดังนั้น ความจำย้อนหลังเป็นประเภทที่รวมความจำอาศัยความหมาย ความจำอาศัยเหตุการณ์ และความจำอาศัยอัตชีวประวัติ เปรียบเทียบกับความจำตามแผน ซึ่งเป็นความจำเกี่ยวกับความตั้งใจที่มีเพื่ออนาคต หรือ "การจำไว้เพื่อจะให้จำได้"[21] ความจำตามแผนสามารถแบ่งออกอีกเป็นความจำตามแผนอาศัยเหตุการณ์ (event-based) หรือความจำตามแผนอาศัยกาล (time-based)

ความจำตามแผนอาศัยกาลเกิดการลั่นไกอาศัยตัวช่วยทางเวลา เช่นจะไปหาหมอ (การกระทำ) ตอน 16 นาฬิกา (ตัวช่วย) ส่วนความจำตามแผนอาศัยเหตุการณ์คือความตั้งใจที่เกิดการลั่นไกโดยตัวช่วยอื่น ๆ เช่นการจำได้ว่าต้องการจะส่งจดหมาย (การกระทำ) หลังจากที่เห็นตู้จดหมาย (ตัวช่วย) ตัวช่วยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการกระทำ (เหมือนตัวอย่างจดหมาย-ตู้จดหมาย) เพราะว่า แม้รายการที่จดไว้ โน้ตที่จดไว้ ผ้าเช็ดหน้าที่ผูกไว้ หรือเส้นด้ายที่พันไว้ที่นิ้ว ล้วนแต่เป็นตัวอย่างของตัวช่วยที่เราใช้ในการช่วยเตือนความจำ

เทคนิคใช้ในการศึกษาเรื่องความจำ

การประเมินความจำของทารก

ทารกยังไม่รู้ภาษาเพื่อที่จะรายงานความจำของตน ดังนั้น เราจึงไม่สามารถใช้ภาษาเพื่อประเมินความจำของเด็กที่ยังเล็กมาก แต่ว่า ในปีที่ผ่าน ๆ มา นักวิจัยได้พัฒนาและปรับปรุงวิธีต่าง ๆ เพื่อประเมินความจำโดยรู้จำ (recognition) และความจำโดยระลึก (recall) ของเด็กทารก

มีการใช้เทคนิค Habituation (แปลว่า การเกิดความเคยชิน ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่สิ่งมีชีวิตลดหรือระงับการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหลังจากที่สิ่งเร้าปรากฏซ้ำ ๆ กัน[22]) และเทคนิค operant conditioning (แปลว่า การปรับพฤติกรรมโดยตัวดำเนินการ ซึ่งเป็นรูปแบบการรเรียนรู้ที่พฤติกรรมมีการเปลี่ยนไปเพราะการกระทำที่มีมาก่อนและผลของการกระทำนั้น) เพื่อประเมินความจำโดยรู้จำ และ deferred imitation (การให้เลียนแบบมีการรอ) กับ elicited imitation (การให้เลียนแบบโดยชักจูง) เพื่อประเมินความจำโดยระลึก

กระบวนการที่ใช้ประเมินความจำโดยรู้จำของทารกรวมทั้ง

  • Visual paired comparison procedure (แปลว่า กระบวนการเปรียบเทียบทางตาโดยเป็นคู่) เป็นกระบวนการที่อาศัยการเกิดความเคยชิน คือ ตอนแรกให้ทารกดูสิ่งเร้าทางตาคู่หนึ่ง เช่นรูปถ่ายขาวดำของใบหน้ามนุษย์ เป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังจากที่เกิดความคุ้นเคยกับรูปถ่ายคู่นั้น ก็จะให้ดูรูปถ่ายที่ "คุ้นเคย" และรูปใหม่อีกรูปหนึ่ง จะมีการบันทึกเวลาที่ทารกดูรูปแต่ละรูป การมองดูรูปภาพใหม่ที่ใช้เวลานานกว่าแสดงว่าทารกจำหน้าที่ "คุ้นเคย" ได้ (เพราะชินกับใบหน้าที่คุ้นเคยจึงใช้เวลาดูน้อยกว่า) งานวิจัยต่าง ๆ ที่ใช้เทคนิคนี้พบว่าทารกวัย 5-6 เดือนสามารถจำข้อมูลได้นานถึง 14 วัน[23]
  • Operant conditioning technique (แปลว่าเทคนิคปรับพฤติกรรมโดยตัวดำเนินการ) คือ เอาทารกใส่ไว้ในเตียงนอนเด็กที่กั้นรอบ แล้วผูกริบบิ้นไว้ที่เท้าเด็กติดกับกับเครื่องแขวนที่เคลื่อนไหวได้ข้างบน หลังจากที่เด็กสังเกตเห็นว่าเมื่อเตะเท้าเครื่องแขวนก็จะขยับ อัตราการเตะเท้าจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยไม่กี่นาที งานวิจัยต่าง ๆ ที่ใช้เทคนิคนี้แสดงให้เห็นว่า ความจำของทารกมีประสิทธิภาพดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 18 เดือนแรก คือ ในขณะที่ทารกวัย 2-3 เดือนจะจำพฤติกรรมเพราะเหตุตัวดำเนินการ (เช่นเตะเท้าเพราะเหตุที่ตัวแขวนเคลื่อนที่ไป) ได้เป็นเวลาอาทิตย์หนึ่ง ทารกวัย 6 เดือนจะจำพฤติกรรมนี้ได้เป็นเวลา 2 อาทิตย์ ทารกวัย 18 เดือนจะจำได้นานถึง 13 สัปดาห์[24][25][26]

ส่วนเทคนิคที่ใช้ประเมินความจำโดยระลึกของทารกรวมทั้ง

  • "Deferred imitation technique" (แปลว่า เทคนิคให้เลียนแบบมีการรอ) คือ แสดงให้ทารกดูลำดับการกระทำโดยเฉพาะ (เช่น ใช้ไม้กดปุ่มหรือดันกล่อง) แล้วรอสักพักหนึ่ง แล้วให้ทารกเลียนแบบลำดับการกระทำนั้น งานวิจัยต่าง ๆ ที่ใช้เทคนิคนี้แสดงว่า ทารกวัย 14 เดือนสามารถจำลำดับการกระทำนี้ได้นานถึง 4 เดือน[27]
  • "Elicited imitation technique" (แปลว่าเทคนิคให้เลียนแบบโดยชักจูง) เป็นเทคนิคคล้ายกับเทคนิคก่อน แต่ต่างกันตรงที่ให้ทารกเลียนแบบการกระทำก่อนที่จะมีการรอ งานวิจัยต่าง ๆ ที่ใช้เทคนิคนี้แสดงว่า ทารกวัย 20 เดือนสามารถจำลำดับการกระทำได้นานถึง 12 เดือน[28][29]

การประเมินความจำของเด็กที่โตกว่าและของผู้ใหญ่

นักวิจัยใช้งานทดสอบหลายงานเพื่อประเมินความจำของเด็กที่โตกว่าและของผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น

  • Paired associate learning (แปลว่า การเรียนรู้การสัมพันธ์สิ่งเร้าคู่) คือเมื่อเกิดการเรียนรู้ที่จะสัมพันธ์คำ ๆ หนึ่งกับอีกคำหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อให้คำว่า "ความปลอดภัย" จะต้องเรียนที่จะตอบด้วยคำเฉพาะคำหนึ่ง เช่นคำว่า "สีเขียว" คือต้องตอบสนองต่อสิ่งเร้าเป็นการเฉพาะ[30][31]
  • Free recall (การระลึกโดยอิสระ) คือ ให้ผู้รับการทดลองเรียนรู้รายการคำศัพท์ และหลังจากนั้น ให้ระลึกถึงหรือเขียนคำศัพท์เหล่านั้นมากเท่าที่สุดที่จะจำได้[32] คำต้น ๆ ในรายการจะได้รับอิทธิพลของการรบกวนย้อนหลัง (retroactive interference ตัวย่อ RI) ซึ่งหมายความว่า รายการคำยิ่งยาวเท่าไร การรบกวนก็จะมากขึ้นและโอกาสจะจำคำต้น ๆ ได้ก็จะน้อยลงเท่านั้น เปรียบเทียบกับคำท้าย ๆ ซึ่งรับอิทธิพลจาก RI น้อย แต่รับอิทธิพลอย่างมากจากการรบกวนล่วงหน้า (proactive interference ตัวย่อ PI) โดยเฉพาะถ้าระยะการเรียนและการระลึกถึงมีระยะเวลายาว[33][34]
  • การรู้จำ (Recognition) คือให้ผู้ร่วมการทดลองจำรายการคำศัพท์หรือรูปภาพ แล้วภายหลังให้ระบุคำศัพท์หรือรูปภาพที่เห็นมาก่อนจากรายการอีกรายการหนึ่งที่มีทั้งสิ่งที่เห็นมาก่อนและสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น[35]
  • การรู้จำ (Recognition) คือให้ผู้ร่วมการทดลองจำรายการคำศัพท์หรือรูปภาพ แล้วภายหลังให้ระบุคำศัพท์หรือรูปภาพที่เห็นมาก่อนจากรายการอีกรายการหนึ่งที่มีทั้งสิ่งที่เห็นมาก่อนและสิ่งที่ยังไม่เคยเห็น[35]
  • Detection paradigm (แบบตรวจจับ) คือ แสดงวัตถุจำนวนหนึ่งมีสีต่าง ๆ กันเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วทดสอบความจำในการเห็น โดยให้ดูวัตถุทดสอบต่าง ๆ แล้วให้ระบุว่าคล้ายกับสิ่งที่เห็นมาก่อนหรือไม่ ว่ามีอะไรเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า

ความจำล้มเหลว

  • Transience (ความชั่วคราว) คือความจำจะเสื่อมไปตามกาลเวลา ซึ่งเกิดขึ้นในระยะการเก็บความจำ คือหลังจากบันทึกความจำแล้วและก่อนที่จะได้รับการค้นคืน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในที่เก็บทั้งความจำอาศัยความรู้สึก ความจำระยะสั้น และความจำระยะยาว และมีรูปแบบเป็นการลืมข้อมูลนั้น ๆ อย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 วันแรก หรือ 2-3 ปีแรก แล้วมีการลืมแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ ต่อไปในช่วงวันและปีถัด ๆ ไป
  • Absentmindedness (การมีสติหลงลืม) เป็นความจำล้มเหลวเพราะขาดความใส่ใจ ความใส่ใจมีบทบาทสำคัญในการเก็บข้อมูลไว้ในความจำระยะยาว คือ ถ้าขาดความใส่ใจ ข้อมูลนั้นอาจจะไม่เกิดการเก็บไว้ ทำให้ไม่สามารถจำได้ในภายหลัง (เช่นลืมว่าวางของไว้ที่ไหนเพราะไม่ได้ใส่ใจ)

สรีรภาพ

เขตในสมองที่มีบทบาทเกี่ยวกับประสาทกายวิภาคของความจำ (neuroanatomy of memory) เช่นเขตฮิปโปแคมปัส อะมิกดะลา striatum และ mammillary bodies เชื่อกันว่ามีบทบาทในความจำเฉพาะอย่างแต่ละอย่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เชื่อกันว่าฮิปโปแคมปัสมีบทบาทในการเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ (spatial learning) และการเรียนรู้เชิงประกาศ (declarative learning) ในขณะที่อะมิกดะลามีบทบาทในความจำที่ประกอบกับอารมณ์ความรู้สึก (emotional memory)[36] ความเสียหายของเขตต่าง ๆ ในสมองทั้งในคนไข้และสัตว์ตัวแบบและความบกพร่องทางความจำที่ปรากฏต่อ ๆ มา เป็นข้อมูลปฐมภูมิในการศึกษาประเด็นนี้ แต่ก็ยังต้องระวังว่า ความเสียหายในเขตนั้น ๆ โดยตรงอาจจะไม่ใช่เหตุของความบกพร่องที่ปรากฏ เหตุอาจจะเป็นความเสียหายในเขตติด ๆ กัน หรือในวิถีประสาทที่วิ่งผ่านเขตนั้น นอกจากนั้นแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะบอกว่า ความจำและสิ่งที่คู่กันกับความจำคือการเรียนรู้ อาศัยเพียงแค่เขตสมองเฉพาะต่าง ๆ เหล่านั้น ทั้งการเรียนรู้และความจำเป็นผลของความเปลี่ยนแปลงที่ไซแนปส์ของเซลล์ประสาท ซึ่งเชื่อกันว่าสื่อโดยกระบวนการ long-term potentiation และ long-term depression

โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ถ้ามีอารมณ์ความรู้สึกประกอบที่ยิ่งสูงขึ้นเท่าไรในเหตุการณ์หรือประสบการณ์นั้น ๆ ก็จะเกิดความจำที่ดีขึ้นเท่านั้น เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า memory enhancement effect (ปรากฏการณ์เพิ่มสมรรถภาพความจำ) แต่คนไข้ที่มีอะมิกดะลาเสียหาย จะไม่ปรากฏปรากฏการณ์นี้[37][38]

นักจิตวิทยาชาวแคนาดา ดร. โดนัลด์ เฮ็บบ์ เป็นผู้แยกแยะความจำระยะสั้นและความจำระยะยาว เขาวางหลักไว้ว่า ความจำทุกอย่างที่เก็บอยู่ในความจำระยะสั้นเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอ จะเกิดการทำให้มั่นคง (consolidation) กลายเป็นความจำระยะยาว แต่ว่า งานวิจัยภายหลังปฏิเสธหลักนี้ คือพบว่า การฉีดยา cortisol หรืออีพิเนฟรินช่วยการเก็บความจำเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น และการกระตุ้นอะมิกดะลาก็ทำให้เกิดผลเช่นนี้ด้วย ซึ่งแสดงว่า ความตื่นเต้นเพิ่มสมรรถภาพความจำโดยกระตุ้นฮอร์โมนที่มีผลต่ออะมิกดะลา แต่ว่า ความเครียดจัดหรือนาน (ทำให้เกิดการหลั่ง cortisol นาน) อาจขัดขวางการเก็บความจำ นอกจากนั้นแล้ว คนไข้ที่มีอะมิกดะลาเสียหายไม่สามารถจำคำศัพท์ที่ประกอบด้วยอารมณ์ความรู้สึก ได้ดีกว่าคำที่ไม่ประกอบด้วยความรู้สึก

ส่วนฮิปโปแคมปัสมีความสำคัญต่อความจำชัดแจ้ง สำคัญต่อการทำความจำให้มั่นคง (memory consolidation) อีกด้วย นอกจากนั้นแล้ว ฮิปโปแคมปัสยังรับข้อมูลมาจากส่วนต่าง ๆ ของคอร์เทกซ์และส่งข้อมูลไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองด้วย ข้อมูลที่รับมามาจากเขตรับความรู้สึก (sensory area) ระดับทุติยภูมิหรือตติยภูมิ เป็นข้อมูลที่มีการแปลผลมาในระดับสูงแล้ว ความเสียหายที่ฮิปโปแคมปัสอาจทำให้เกิดความสูญเสียความจำและเกิดปัญหาในการเก็บความจำ[39]

ความจำทางประสาทวิทยาศาตร์เชิงประชาน

นักประสาทวิทยาศาสตร์เชิงประชาน (Cognitive neuroscience) พิจารณาความจำว่าเป็นการเก็บ (retention) การปลุกฤทธิ์ (reactivation) และการสร้างใหม่ (reconstruction) ของตัวแทนทางประสาทภายใน (internal representation) ที่มีต่างหากจากประสบการณ์ การใช้คำว่า "ตัวแทนภายใน" แสดงว่า นิยามของความจำจะต้องมีสองส่วน คือ การแสดงออกของความจำทางพฤติกรรมและทางการรับรู้ และความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของระบบประสาท (Dudai 2007) ส่วนที่สองนั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "engram" หรือ "memory trace" (Semon 1904) นักประสาทวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาบางพวกเทียบความคิดเรื่อง engram เท่ากับความจำ (memory) อย่างผิดพลาด คือรวมเอาสิ่งที่คงเหลือทั้งหมดของประสบการณ์ว่าเป็นความจำ (คือถือเอาแต่ส่วนที่สองของนิยาม) ในขณะที่พวกอื่นปฏิเสธการรวมยอดอย่างนี้โดยแสดงว่า ความจำจริง ๆ แล้วจะไม่มีจนกระทั่งเปิดเผยโดยพฤติกรรมหรือความคิด (คือบอกว่าต้องมีทั้งสองส่วนของนิยามจึงจะเป็นความจำ) (Moscovitch 2007)

คำถามหนึ่งที่สำคัญยิ่งในประสาทวิทยาศาสตร์เชิงประชานก็คือ ข้อมูลและประสบการณ์ทางใจเกิดการเข้ารหัสและการสร้างตัวแทนในสมองได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์ได้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเข้ารหัสผ่านงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาพพลาสติก (plasticity) ของระบบประสาท แต่งานวิจัยเช่นนี้โดยมากมักจะโฟกั้สที่การเรียนรู้ง่าย ๆ ในวงจรประสาทง่าย ๆ แต่ยังไม่มีความชัดเจนของความเปลี่ยนแปลงในระบบประสาทเกี่ยวกับความจำที่ซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความจำเชิงประกาศที่ต้องเก็บทั้งข้อมูลความจริงและเหตุการณ์ต่าง ๆ (Byrne 2007)

การเข้ารหัส

การเข้ารหัสของความจำใช้งาน (working memory) รวมการทำงานของนิวรอนที่เกิดขึ้นเพราะข้อมูลทางประสาทสัมผัส ที่คงอยู่แม้หลังจากข้อมูลทางประสาทสัมผัสนั้นหมดไปแล้ว (Jensen and Lisman 2005; Fransen et al. 2002) ส่วนการเข้ารหัสของความจำอาศัยเหตุการณ์มีความเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรในโครงสร้างโมเลกุลที่ปรับเปลี่ยนการส่งสัญญาณผ่านไซแนปส์ระหว่างนิวรอน ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงโดยโครงสร้างเช่นนี้พบได้ในกระบวนการ long-term potentiation (LTP) และ spike-timing-dependent plasticity (STDP) การทำงานที่คงอยู่ได้ในความจำใช้งานสามารถเพิ่มสมรรถภาพความเปลี่ยนแปลงที่ไซแนปส์และที่เซลล์ในการเข้ารหัสความจำอาศัยเหตุการณ์ (Jensen and Lisman 2005) .

ความจำใช้งาน

งานวิจัยในปี ค.ศ. 2005 พบสัญญาณบ่งความจำใช้งานทั้งในสมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe ตัวย่อ MTL) ซึ่งเป็นส่วนสมองที่มีความสัมพันธ์ระดับสูงกับความจำระยะยาว และใน prefrontal cortex[40] ซึ่งบอกเป็นนัยถึงความสัมพันธ์ที่มีกำลังระหว่างความจำใช้งานและความจำระยะยาว แต่ว่า สัญญาณบ่งความจำใช้งานที่มีกำลังกว่าในสมองกลีบหน้าแสดงว่า สมองกลีบหน้ามีบทบาทที่สำคัญกว่าเกี่ยวกับความจำใช้งาน (Suzuki 2007)

การทำความจำให้มั่นคง

ความจำระยะสั้น (Short-term memory ตัวย่อ STM) นั้นชั่วคราวและไวต่อการรบกวน ในขณะที่ความจำระยะยาว (long-term memory ตัวย่อ LTM) ที่มีการทำให้มั่นคงแล้ว จะคงทนและมีเสถียรภาพ ส่วนการเปลี่ยนความจำระยะสั้นไปเป็นความจำระยะยาวในระดับโมเลกุลเชื่อกันว่าเกิดจาก 2 กระบวนการ คือ synaptic consolidation (การทำการส่งสัญญาณผ่านไซแนปส์ให้มั่นคง) และ system consolidation (การทำความจำให้มั่นคงในทั้งระบบ) กระบวนการแรกเกิดจากกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนในสมองกลีบขมับด้านใน (MTL) ในขณะที่กระบวนการหลังเป็นการเปลี่ยนความจำที่ต้องอาศัย MTL ไปเป็นความจำที่เป็นอิสระจาก MTL ซึ่งใช้เวลาหลายเดือนจนถึงหลายปี (Ledoux 2007)

ในปีที่ผ่าน ๆ มานี้ ความเชื่อเดิม ๆ เหล่านี้ได้เริ่มมีการตรวจสอบใหม่เพราะผลจากงานวิจัยต่าง ๆ ในประเด็น reconsolidation (การทำความจำให้มั่นคงอีก) คืองานวิจัยเหล่านี้พบว่า ถ้ามีตัวรบกวนเกิดขึ้นหลังจากการค้นคืนความจำที่มีอยู่แล้ว จะมีผลต่อการค้นคืนความจำนั้น ๆ ต่อไปอีก (Sara 2000) นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 แสดงว่า การให้ยายับยั้งการสังเคราะห์โปรตีน (protein synthesis inhibitor) หรือสารประกอบอื่น ๆ อีกหลายอย่าง หลังจากการค้นคืนความจำ จะนำไปสู่ภาวะเสียความจำ (Nadel et al. 2000b; Alberini 2005; Dudai 2006) ผลงานวิจัยเหล่านี้เกี่ยวกับ reconsolidation เข้ากันกับหลักฐานทางพฤติกรรมว่า ความจำที่ค้นคืนมานั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหมือนกับประสบการณ์เดิมจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ และจะเกิดการปรับเปลี่ยนเมื่อมีการค้นคืน

ยีน

การศึกษาด้านพันธุศาสตร์เกี่ยวกับความจำในมนุษย์ยังอยู่ในยุคเริ่มต้น ผลงานสำเร็จเริ่มต้นที่เด่นก็คือการสัมพันธ์โปรตีน Apolipoprotein E กับความผิดปกติทางความจำของคนไข้โรคอัลไซเมอร์ การสืบค้นหายีนต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับความจำที่มีความแตกต่างกันตามปกติก็ยังเป็นงานที่ดำเนินต่อไป แต่ยีนที่มีบทบาทในความแตกต่างกันของความจำอย่างหนึ่งก็คือยีน KIBRA[41] ซึ่งดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์กับความเร็วในการลืมข้อมูลหลังจากการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ

ความจำในวัยทารก

จนกระทั่งถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 มีการสันนิษฐานโดยทั่ว ๆ ไปว่า เด็กทารกจะไม่สามารถเข้ารหัส เก็บ และค้นคืนข้อมูลความจำ[42] แต่ผลงานวิจัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันกลับบอกว่า เด็กทารกแม้ในวัย 6 เดือน ยังสามารถระลึกถึงข้อมูลต่าง ๆ 24 ช.ม. หลังจากการเรียนรู้ได้[43] นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยยังแสดงด้วยว่า เมื่อเจริญวัยขึ้น ก็สามารถที่จะเก็บข้อมูลนั้นได้นานขึ้นเรื่อย ๆ คือ ทารกวัย 6 เดือนสามารถระลึกถึงข้อมูลได้หลังจาก 24 ช.ม. วัย 9 เดือนสามารถระลึกถึงได้หลังจาก 5 อาทิตย์ และวัย 20 เดือนสามารถระลึกได้นานถึง 12 เดือน[44] ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยต่าง ๆ ยังแสดงด้วยว่า เมื่อเจริญวัยขึ้น เด็กทารกสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้เร็วเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เด็กทารกวัย 14 เดือนสามารถระลึกถึงลำดับการกระทำมี 3 ขั้นตอนหลังจากมีการเรียนรู้เพียงแค่ครั้งเดียว ในขณะที่เด็กวัย 6 เดือนต้องมีการเรียนรู้ถึง 6 ครั้งจึงจะจำได้[27][43]

ควรจะสังเกตว่า แม้ว่าเด็กทารกวัย 6 เดือนจะสามารถระลึกถึงข้อมูลในช่วงระยะสั้น แต่ว่าจะมีปัญหาในการระลึกถึงข้อมูลตามลำดับ ต้องเป็นเด็กทารกเริ่มตั้งแต่วัย 9 เดือนที่จะสามารถระลึกถึงการกระทำสองขั้นตอนตามลำดับ ซึ่งก็คือ ระลึกถึงการกระทำที่ 1 ก่อน ตามมาด้วยการกระทำที่ 2[45][46] กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เมื่อให้เลียนแบบลำดับการกระทำ 2 ขั้นตอน (เช่นเอารถเด็กเล่นวางไว้ที่ฐานรองรับ แล้วใช้ไม้ดันให้รถวิ่งไปอีกด้านหนึ่ง) เด็กทารกวัย 9 เดือนมักจะเลียนแบบการกระทำในลำดับที่ถูกต้อง (ขั้น 1 แล้วจึงขั้น 2) ทารกที่เยาว์วัยกว่านั้น (คือ 6 เดือน) สามารถระลึกถึงขั้นตอนหนึ่งในลำดับสองขั้นตอนเท่านั้น[43] มีนักวิจัยที่เสนอว่า ความแตกต่างระหว่างวัยเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นเพราะส่วน dentate gyrus ของฮิปโปแคมปัส และเพราะเหตุส่วนต่าง ๆ ด้านหน้าของเครือข่ายประสาทยังไม่เจริญเต็มที่ในทารกวัย 6 เดือน[28][47][48]

ความจำและความชราภาพ

ประเด็นเรื่องกังวลอย่างหนึ่งของคนชราก็คือการสูญเสียความจำ โดยเฉพาะโดยเป็นอาการเด่นของโรคอัลไซเมอร์ แต่ว่า การสูญเสียความจำที่เนื่องกับความชราไม่เหมือนกับที่เนื่องกับโรคอัลไซเมอร์ (Budson & Price, 2005) งานวิจัยได้พบว่า สมรรถภาพในการทำงานเกี่ยวกับความจำที่ต้องอาศัยเขตสมองด้านหน้าจะเสื่อมลงเพราะความชราภาพ คือ คนชรามักจะแสดงความบกพร่องในงานต่าง ๆ เช่น

  • ที่ต้องรู้ลำดับของสิ่งที่เรียนรู้[49]
  • ที่ต้องให้จำสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เรียนรู้ข้อมูลนั้น ๆ (source memory task)[50]
  • ที่ต้องจำว่าจะทำกิจกรรมอย่างหนึ่งในอนาคต (prospective memory task ) แม้ว่าจะสามารถแก้ไขได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่นใช้สมุดนัดเป็นต้น

ผลของการออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย โดยเฉพาะแบบแอโรบิกเช่นการวิ่ง การขี่จักรยาน และการว่ายน้ำมีประโยชน์ทางประชานหลายอย่าง ผลดีที่เกิดขี้นรวมทั้ง ระดับสารสื่อประสาทที่สูงขึ้น การส่งออกซิเจนและสารอาหารที่ดีขึ้น และกระบวนการ neurogenesis (การสร้างเซลล์ประสาทใหม่) ในฮิปโปแคมปัสในระดับที่เพิ่มขึ้น ผลของการออกกำลังกายต่อความจำมีนัยสำคัญต่อการเพิ่มสมรรถภาพทางการศึกษาของเด็ก ๆ ต่อการรักษาสมรรถภาพทางความคิดในวัยชรา และต่อการป้องกันและการรักษาโรคทางประสาท

โรค

ความรู้มากมายเกี่ยวกับความจำในปัจจุบันมาจากการศึกษาโรคเกี่ยวกับความจำ (memory disorders) โดยเฉพาะภาวะเสียความจำ (amnesia) ซึ่งอาจจะเป็นผลของความเสียหายอย่างกว้างขวางต่อ (1) เขตต่าง ๆ ในสมองกลีบขมับส่วนใน (medial temporal lobe) เช่นฮิปโปแคมปัส, dentate gyrus, subiculum, อะมิกดะลา, parahippocampal cortex, entorhinal cortex และ perirhinal cortex[51] หรือ (2) เขต midline diencephalic region โดยเฉพาะส่วน dorsomedial nucleus ของทาลามัส และ mammillary bodies ของไฮโปทาลามัส[52]

มีรูปแบบของภาวะเสียความจำมากมาย เพราะฉะนั้น การศึกษารูปแบบต่าง ๆ ทำให้สามารถสังเกตข้อบกพร่องที่ปรากฏในส่วนย่อยต่าง ๆ ของระบบความจำ และจึงทำให้สามารถตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับหน้าที่ของส่วนย่อย ๆ เหล่านั้นในสมองปกติ โรคเกี่ยวกับระบบประสาทอื่น ๆ เช่นโรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน[53] ก็สามารถมีผลต่อความจำและประชานอีกด้วย ส่วนโรค Hyperthymesia หรือว่า hyperthymesic syndrome มีผลต่อความจำอาศัยอัตชีวประวัติ (autobiographical memory) ซึ่งโดยสำคัญก็คือ คนไข้ไม่สามารถลืมรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปกติจะไม่เก็บไว้[54] ส่วน Korsakoff's syndrome หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Korsakoff's psychosis เป็นโรคที่มีภาวะเสียความจำและการกุเหตุความจำเสื่อม (confabulation) เป็นโรคเกี่ยวกับสมองที่มีผลลบต่อความจำ

แม้ว่าจะไม่ใช่โรค ความล้มเหลวชั่วคราวในการค้นหาคำที่จะใช้พูดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ติดอยู่ที่ปลายลิ้น" (Tip of the tongue) แต่ว่า คนไข้โรค "Anomic aphasia" (ภาวะเสียการสื่อความโดยหาคำเรียกไม่ได้) หรือบางครั้งเรียกว่า "Nominal aphasia" ประสบกับปรากฏการณ์ติดอยู่ที่ปลายลิ้นอย่างต่อเนื่องเพราะเหตุความเสียหายต่อสมองกลีบหน้าและสมองกลีบข้าง

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความจำ

กลิ่นและอารมณ์ความรู้สึก

ในปี ค.ศ. 2007 นักวิจัยชาวเยอรมันพบว่าสามารถใช้กลิ่นต่าง ๆ ในการปลุกฤทธิ์ของความจำใหม่ ๆ ในสมอง ในขณะที่ผู้ร่วมการทดลองกำลังนอนหลับอยู่ และหลังจากนั้นผู้ร่วมการทดลองก็ปรากฏกว่าจำเรื่องนั้นได้ดีขึ้น[55] นอกจากนั้นแล้ว อารมณ์ความรู้สึกยังสามารถมีผลที่มีกำลังต่อความจำ งานวิจัยมากมายแสดงว่า ความจำอาศัยอัตชีวประวัตที่ชัดเจนที่สุดมักจะเป็นเหตุการณ์ที่ประกอบด้วยอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งมักจะมีการระลึกถึงอยู่บ่อย ๆ ประกอบด้วยความชัดเจนและรายละเอียดที่มากกว่าเหตุการณ์ธรรมดา ๆ[56]

ส่วนของสมองที่ขาดไม่ได้ในการสร้างอารมณ์ก็คืออะมิกดะลา ซึ่งเปิดโอกาสให้ฮอร์โมนความเครียดสามารถเพิ่มกำลังของการสื่อสารระหว่างนิวรอนต่าง ๆ[57] คือ สารเคมี cortisone และอะดรีนาลีนจะเกิดการปล่อยในสมองเมื่อเกิดการทำงานในอะมิกดะลาไม่ว่าจะเป็นเพราะความตื่นเต้นทั้งทางบวกหรือทางลบ วิธีที่ได้ผลที่สุดในการเริ่มการทำงานของอะมิกดะลาก็คือความกลัว เพราะความกลัวเป็นกลไกป้องกันตนเองที่มีอยู่ตามสัญชาตญาณ เป็นสิ่งที่มีกำลังจึงทำให้จำเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย แต่ว่า บางครั้งความรู้สึกอาจจะมีอย่างท่วมท้น ซึ่งทำให้ความจำแม้คลุมเครือแต่ก็ยังรู้สึกเหมือนชัด หรือว่าอาจจะทำให้คิดถึงบ่อย ๆ และมีความชัดเจนอย่างยิ่ง การค้นพบเช่นนี้ได้นำไปสู่การพัฒนายาเพื่อช่วยความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD)[58] เมื่อเราอยู่ในภาวะที่เกิดอารมณ์สูง เหตุการณ์ต่าง ๆ อาจจะทำให้เกิดความจำที่มีกำลังและทำให้คิดถึงบ่อย ๆ โดยที่ไม่ต้องการ ทำให้กลายเป็นปัญหาอย่างหนึ่งในชีวิตเป็นเวลาหลาย ๆ ปี[59]

งานทดลองที่ทำในหนูช่วยพัฒนายาที่ใช้บำบัดอาการอย่างนี้ ดร. เคอร์รี่ เร็สส์เรอร์ที่มหาวิทยาลัยเอ็มมอรี่ในรัฐจอร์เจีย ใช้เสียงและการช็อตด้วยไฟฟ้าเพื่อทดลองยารักษาวัณโรค cycloserine ที่มีมาก่อนแล้ว คือ หนูทดลองจะได้ยินเสียงแล้วเกิดการช็อต ทำให้เกิดการกลัวเสียง หลังจากนั้นก็จะให้ยากับหนูกลุ่มหนึ่ง แล้วก็จะทำการทดลองซ้ำอีก หนูที่ไม่ได้รับยาจะหยุดนิ่ง (freeze) เพราะเหตุแห่งความกลัว แต่ว่าสำหรับหนูที่ได้ยา แม้ได้ยินเสียงก็จะไม่ใส่ใจและจะทำกิจกรรมของตนต่อไป[60] ยานี้มีประสิทธิภาพในการเพิ่มหน่วยรับความรู้สึก (receptor) ที่มีบทบาทในการเชื่อมต่อกันระหว่างนิวรอน และในการปรับเปลี่ยนอะมิกดะลา ทำให้คนไข้ที่หวาดกลัวเพราะเหตุความเครียดที่สะเทือนใจ (PTSD) มีโอกาสที่จะหายจากความกลัวอย่างนี้ได้

ส่วนในอีกงานหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเอ็มมอรี่ ดร. บาร์บารา โรธบอมได้ทำงานทดลองเกี่ยวกับการบำบัด PTSD โดยใช้ความรู้ว่า นิวรอนที่เกิดการทำงานเมื่อสร้างความจำ เป็นนิวรอนพวกเดียวกันที่ทำงานเมื่อมีการระลึกถึงความจำนั้น การใช้ยา cycloserine มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยคนไข้ให้สร้างการเชื่อมต่อใหม่ ๆ ระหว่างนิวรอน เพื่อลดการเชื่อมต่อกันระหว่างนิวรอนที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดนั้น ดร. โรธบอมใช้การสร้างความจริงเสมือนร่วมกับยาเพื่อเปลี่ยนความจำของคนไข้ คือเมื่อคนไข้ได้ระบุเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิด PTSD ได้แล้ว ก็จะมีการสร้างสถานการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ ผ่านหมวกที่สร้างความจริงเสมือน (เช่นเหตุการณ์เหมือนในรถเกราะที่คนไข้ประสบในสงครามทะเลทราย)

วิธีนี้ช่วยให้ระลึกเหตุการณ์นั้นในที่ที่ปลอดภัย และทำให้เกิดการทำงานในนิวรอนเดียวกันโดยไม่มีการตอบสนองด้วยความกลัวจากอะมิกดะลา คือ เหตุการณ์เสมือนจะกระตุ้นการทำงานในนิวรอนเดียวกันที่ทำงานในช่วงเหตุการณ์ และคนไข้ก็จะมีโอกาสที่จะสร้างการเชื่อมต่อกันทางประสาทใหม่ โดยมีสารเคมีต่าง ๆ ส่งมาจากอะมิกดะลาน้อยลง เพราะเหตุยา cycloserine ในระบบประสาทของคนไข้ จริง ๆ แล้ว วิธีนี้ไม่ได้ลบความจำเก่าออก แต่ช่วยทำให้มีกำลังน้อยลง ซึ่งช่วยคนไข้ให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปโดยไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความจำของเหตุการณ์นั้น ๆ[61][62]

การระลึกถึงความจำมีความสัมพันธ์กับอารมณ์ ถ้ามีความเจ็บปวด ความยินดี ความตื่นเต้น หรืออารมณ์ความรู้สึกที่มีกำลังอื่น ๆ ในช่วงเหตุการณ์ นิวรอนต่าง ๆ ที่ทำงานในช่วงเหตุการณ์ก็จะเกิดการเชื่อมต่อที่มีกำลังต่อกันและกัน และเมื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้ในอนาคต นิวรอนเหล่านี้ก็จะทำการเชื่อมต่อกันอย่างง่าย ๆ และอย่างรวดเร็ว กำลังและความยั่งยืนของความจำขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกในเหตุการณ์ที่สร้างความจำนั้นขึ้นโดยตรง[63]

การรบกวนจากความรู้ที่มีอยู่

ที่ศูนย์ประชานศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต นักวิจัยพบว่า ผู้ใหญ่มีปัญหาความแม่นยำของความจำเพราะการมีความรู้ และประสบการณ์มากกว่าเด็ก ๆ และมักจะใช้ความรู้ที่มีอยู่ในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ผลงานวิจัยนี้ปรากฏในวารสาร Psychological Science (วิทยาศาตร์จิตวิทยา) ในฉบับสิงหาคม ปี ค.ศ. 2004

สิ่งรบกวนสามารถขัดขวางการสร้างความจำและการค้นคืนความจำ มีทั้งการรบกวนแบบย้อนหลัง (retroactive interference) ซึ่งการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ทำให้ยากขึ้นที่จะจำข้อมูลเก่า[64] และมีการรบกวนล่วงหน้า (proactive interference) ที่การเรียนรู้ที่มีมาก่อนจะขัดขวางการระลึกถึงข้อมูลใหม่ ๆ แม้ว่าจะมีข้อมูลเก่าเป็นตัวรบกวนที่ทำให้ลืม แต่ก็ควรจะตระหนักว่า มีสถานการณ์บางอย่างที่ข้อมูลเก่าช่วยในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ยกตัวอย่างเช่น ความรู้ภาษาละตินอาจจะช่วยในการเรียนภาษาที่สืบเนื่องกันเช่นภาษาฝรั่งเศส[65]

ความจำและความเครียด

ความเครียดมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อการสร้างความจำและการเรียนรู้ เพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่ตึงเครียด สมองจะปล่อยฮอร์โมนและสารสื่อประสาท (เช่น glucocorticoids และ catecholamines) ซึ่งมีผลต่อการเข้ารหัสความจำในฮิปโปแคมปัส งานวิจัยทางพฤติกรรมของหนูพบว่า การมีความเครียดเรื้อรังจะทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนอะดรีนาลีนซึ่งมีผลต่อฮิปโปแคมปัสในสมอง[66]

งานวิจัยที่ทำโดยนักจิตวิทยาประชานในปี ค.ศ. 2010 แสดงว่า การเรียนรู้ใต้ความเครียดทำให้ระลึกถึงสิ่งที่เรียนนั้นได้น้อยลงในมนุษย์[67]

คือ ในงานวิจัยนี้ ผู้ร่วมการทดลองเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยหญิงชายที่ร่วมการทดลองในกลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุมซึ่งมีการเลือกโดยสุ่ม มีการให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มทดลองเอามือแช่ไว้ในน้ำเย็นเหมือนน้ำแข็ง (โดยงานทดลองที่เรียกว่า ‘Socially Evaluated Cold Pressor Test’ ตัวย่อ SECPT) เป็นเวลา 3 นาที โดยมีการเช็คและถ่ายวีดิโอไปพร้อมกัน หลังจากนั้นจึงให้คำ 32 คำกับทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมเพื่อจะจำ หลังจากนั้นอีก 24 ช.ม. ก็จะเช็คทั้งสองกลุ่มดูว่า สามารถจำคำที่ได้เรียนได้กี่คำ (free recall) และสามารถรู้จำคำที่เรียนได้กี่คำในรายการคำศัพท์อีกรายการหนึ่งที่มีทั้งคำที่เรียนและคำที่ไม่ได้เรียน (recognition) ผลการทดลองแสดงอย่างชัดเจนว่า ประสิทธิภาพความจำตกลงในกลุ่มทดลอง ผู้สามารถระลึกถึงคำที่เรียนรู้มาแล้ว 30% น้อยกว่ากลุ่มควบคุม นักวิจัยเสนอว่า ความเครียดที่ประสบในช่วงการเรียนรู้ทำใจให้ไขว้เขวในระยะกระบวนการเข้ารหัสความจำ

ถึงอย่างนั้น ประสิทธิภาพของความจำสามารถทำให้ดีขึ้นเมื่อสิ่งที่เรียนมีความสัมพันธ์กับสถานการณ์ แม้ว่าจะเกิดใต้ความเครียด ในงานทดลองต่างกันใน ปี ค.ศ. 2009 นักวิจัยกลุ่มเดียวกันพบว่า เมื่อทำการทดสอบผู้ร่วมการทดลองในสถานการณ์ที่คล้ายหรือเข้ากันกับที่มีในช่วงการเรียนรู้ (เช่นในห้องเดียวกัน) ประสิทธิภาพที่เสื่อมลงของการเรียนรู้เหตุความเครียดสามารถลดลงได้[68]

คือ ในงานวิจัยนี้ มีนักศึกษามหาวิทยาลัยสุขภาพดีทั้งชายหญิง 72 คน รับการเลือกโดยสุ่มให้อยู่ในกลุ่มทดลองแบบ SECPT หรือในกลุ่มควบคุม มีการให้นักศึกษาจำสถานที่เก็บไพ่ที่มีรูป 15 คู่ เป็นเกมคอมพิวเตอร์เหมือนกับเกม "Concentration" หรือ "Memory" มีการฉีดกลิ่นวะนิลาในห้องที่ทำการทดลอง เพราะว่ากลิ่นเป็นตัวช่วยที่มีกำลังสำหรับความจำ การทดสอบความจำจะทำในวันต่อไป ในห้องเดียวกันที่มีกลิ่นวะนิลาหรือในห้องต่างกันที่ไม่มี ประสิทธิภาพของผู้ร่วมการทดลองที่เกิดความเครียดในช่วงการเรียนรู้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อรับการทดสอบในห้องที่ไม่คุ้นเคยไม่มีกลิ่นวะนิลา (incongruent context คือมีสถานการณ์ที่ไม่เข้ากัน) ส่วนประสิทธิภาพของผู้ที่รับการทดสอบในห้องเดียวกันที่มีกลิ่นวะนิลา (congruent context คือมีสถาสนการณ์ที่เข้ากัน) ไม่มีความเสียหาย ผู้ร่วมการทดลองทุกคน ไม่ว่าจะเกิดความเครียดหรือไม่เกิด ทำข้อทดสอบได้เร็วกว่าเมื่อสถานการณ์ที่มีเมื่อมีการเรียนรู้และเมื่อรับการทดสอบมีความคล้ายคลึงกัน[69]

ผลงานวิจัยของความเครียดต่อความจำอาจจะแสดงนัยการปฏิบัติในวงการศึกษา เกี่ยวกับการให้การของพยานในศาล และเกี่ยวกับจิตบำบัด (psychotherapy) คือ

  • นักเรียนอาจทำข้อสอบได้ดีกว่าถ้าทดสอบในห้องเรียนแทนในห้องสอบ
  • พยานอาจจะระลึกถึงรายละเอียดในที่เกิดเหตุได้ดีกว่าในศาล
  • คนไข้ PTSD อาจดีขึ้นถ้าช่วยให้ปรับเปลี่ยนความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เป็นต้นเหตุในสถานการณ์ที่สมควร

การสร้างและการปรับแต่งความจำ

แม้ว่าเราอาจจะคิดว่า ความจำเป็นเหมือนกับเครื่องอัดวีดิโอ แต่นี่ไม่ใช่ความจริง กลไกทางโมเลกุลที่เป็นฐานของการเกิดและการรักษาความจำมีภาวะที่เป็นพลวัต (คือไม่อยู่กับที่) และประกอบด้วยระยะต่าง ๆ ที่มีช่วงเวลาเป็นวินาทีจนถึงทั้งชีวิต[70] จริง ๆ แล้ว ผลงานวิจัยแสดงว่า สิ่งที่เราจำได้เป็นสิ่งที่สร้างขึ้น (ใหม่) คือ เราสร้างความจำทั้งที่เมื่อมีการเข้ารหัสทั้งที่เมื่อมีการระลึกถึง ความจริงนี้ รู้ได้จากผลงานวิจัยคลาสิกในปี ค.ศ. 1974[71] ที่ให้ผู้ร่วมการทดลองดูภาพยนตร์เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่ท้องถนน และถามว่า ได้เห็นอะไร นักวิจัยพบว่า บุคคลที่ได้รับคำถามว่า "รถเหล่านั้นวิ่งเร็วแค่ไหนเมื่อวิ่งเข้าบี้กัน"[72] จะให้ความเร็วประเมินที่สูงกว่าบุคคลที่ได้รับคำถามว่า "รถเหล่านั้นวิ่งเร็วแค่ไหนเมื่อชนกัน"[73]

นอกจากนั้นแล้ว เมื่อถามอีกอาทิตย์หนึ่งว่า เห็นกระจกแตกในหนังหรือไม่ ผู้ที่รับคำถามเกี่ยวกับรถวิ่งเข้าบี้กันมีโอกาสถึง 2 เท่าที่จะรายงานว่าเห็นกระจกแตก มากกว่าผู้ที่ได้รับคำถามเกี่ยวกับรถชนกัน แต่จริง ๆ แล้ว ไม่มีกระจกแตกแสดงในภาพยนตร์ ดังนั้น คำถามจึงเป็นตัวบิดเบือนความจำของผู้ร่วมการทดลอง สิ่งที่สำคัญก็คือ คำที่ใช้ในคำถามโน้มน้าวให้ผู้ร่วมการทดลองสร้างความจำใหม่ที่ต่างจากเหตุการณ์จริง ๆ คือ ผู้ที่รับคำถามเกี่ยวกับรถวิ่งเข้าบี้กันระลึกถึงอุบัติเหตุว่าร้ายแรงกว่าที่เห็นจริง ๆ ผลงานทดลองนี้สามารถทำซ้ำได้และให้ผลเดียวกันทั่วโลก คือนักวิจัยสามารถแสดงอย่างคงเส้นคงวาว่า ถ้าได้รับข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด ก็จะทำให้เกิดการระลึกถึงความจำที่ผิดพลาด เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า misinformation effect (แปลว่า ปรากฏการณ์ข้อมูลผิด)[74]

เป็นที่น่าสนใจว่า ผลงานวิจัยแสดงว่า การให้ผู้ร่วมการทดลองจินตนาการการกระทำที่ไม่เคยได้ทำมาก่อนหรือเหตุกาณ์ที่ไม่ได้ประสบมาจริง ๆ ซ้ำ ๆ กัน อาจมีผลทำให้เกิดความจำที่ไม่ตรงกับความจริง ยกตัวอย่างเช่น ในงานวิจัยปี ค.ศ. 1998[75] มีการให้ผู้ร่วมการทดลองจินตนาการว่าได้ทำการอย่างหนึ่ง (ซึ่งก็คือ หักไม้จิ้มฟัน) ในช่วงแรกของการทดลอง และภายหลังถามว่าได้ทำอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ผลการทดลองพบว่า ผู้ร่วมการทดลองที่ได้จินตนาการซ้ำ ๆ กันว่าได้ทำสิ่งนั้นมีโอกาสที่จะคิดว่าได้ทำสิ่งนั้นจริง ๆ มากกว่าผู้ที่ไม่ได้จินตนาการ และโดยคล้าย ๆ กัน ในงานวิจัยปี ค.ศ. 1996[76] มีการให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรายงานว่า มั่นใจแค่ไหนว่าได้ประสบเหตุการณ์หนึ่ง ๆ (เช่น ทำหน้าต่างแตกโดยใช้มือ) ในวัยเด็ก แล้วหลังจากนั้น 2 อาทิตย์ก็ให้นักศึกษาจินตนาการเหตุกาณ์ 4 อย่าง นักวิจัยพบว่า นักศึกษา 1/4 ที่ทำการจินตนาการรายงายว่า ได้ประสบเหตุการณ์เหล่านั้นจริง ๆ ในวัยเด็ก ซึ่งก็คือ เมื่อให้จินตการถึงเหตุการณ์เหล่านั้น ก็จะเกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าได้ประสบเหตุการณ์เหล่านั้นจริง ๆ

งานวิจัยในปี ค.ศ. 2013 พบว่า สามารถเร้าความจำที่มีอยู่แล้วโดยไม่ได้ใช้วิธีธรรมชาติ (artificial) และสามารถสร้างความจำเทียมในหนู โดยใช้ optogenetics (ใช้แสงควบคุมนิวรอนซึ่งได้ทำให้ไวแสงโดยแปลงยีน) คือกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของสถาบัน RIKEN-MIT สามารถทำให้หนูสัมพันธ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่มีภัย กับประสบการณ์ที่ไม่น่ายินดีที่เกิดในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน (หนูในที่สุดมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีภัยเหมือนกับมีภัย) นักวิทยาศาสตร์บางท่านเชื่อว่า งานวิจัยนี้อาจมีนัยสำคัญในการศึกษาการเกิดความจำผิด ๆ ในมนุษย์ และในการบำบัดรักษาคนไข้ PTSD และโรคจิตเภท[77][78]

การเพิ่มประสิทธิภาพความจำ

งานวิจัยปี ค.ศ. 2006 ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแอนเจลิสที่พิมพ์ในวารสาร American Journal of Geriatric Psychiatry (วารสารจิตเวชผู้สูงอายุอเมริกัน) พบว่า เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบประชานและสมองโดยเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างง่าย ๆ เช่นการฝึกหัดความจำ การทานอาหารสุขภาพ การรักษาร่างกายให้แข็งแรง และการบริหารความเครียด ในงานทดลองนี้ มีการตรวจสอบผู้ร่วมการทดลอง 17 คนโดยมีอายุเฉลี่ย 53 ปี มีประสิทธิภาพความจำเป็นปกติ มีการให้ผู้ร่วมการทดลอง 8 คนทานอาหารที่ดีต่อสมอง (brain healthy) ฝึกการผ่อนคลาย ออกกำลังกาย ฝึกจิต (ซึ่งเป็นเทคนิคฝึกสมองและความจำเกี่ยวกับภาษา) หลังจากนั้น 14 วัน ผู้ร่วมการทดลองสามารถใช้คำได้คล่องขึ้น (word fluency) เทียบกับความสามารถที่ได้วัดมาก่อน แต่ไม่มีการวัดผลติดตามในระยะยาว ดังนั้น จึงยังไม่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงชีวิตเช่นนี้มีผลระยะยาวต่อความจำหรือไม่[79]

มีหลักและเทคนิคช่วยจำที่มีความสัมพันธ์กันกลุ่มหนึ่ง (ที่เรียกว่า Art of memory ศิลปะความทรงจำ) ที่สามารถใช้เพื่อเพิ่มสมรรถภาพความทรงจำ เช่น ในปี ค.ศ. 2001 International Longevity Center (ศูนย์อายุยืนสากล) พิมพ์รายงาน[80] ที่ในหน้า 14-16 ให้คำแนะนำวิธีการรักษาสมรรถภาพทางใจให้ดีจนกระทั่งถึงวัยชรา ข้อแนะนำรวมทั้ง การใช้สมองโดยการเรียน การฝึกสมองหรือการอ่านหนังสือ การมีวิถีชีวิตที่แอ๊กถีฟเพื่อสนับสนุนการหมุนเวียนของเลือดในสมอง การเข้าสังคม การลดความเครียด การนอนเป็นเวลา การหลีกเลี่ยงภาวะเศร้าซึมหรือการมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ และการทานอาหารสุขภาพ

ระดับการประมวลผล

ในปี ค.ศ. 1972 นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเสนอว่า วิธีการจำและระดับการประมวลผลเพื่อที่จะจำเป็นองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพการเก็บประสบการณ์ไว้ในความจำ ไม่ใช่การฝึกซ้อม (rehearsal) ข้อมูลนั้นบ่อย ๆ คือ

  • การจัดระเบียบ (organization) ในปี ค.ศ. 1967 มีการให้ไพ่คำศัพท์ตลับหนึ่งแก่ผู้ร่วมการทดลองแล้วให้ผู้ร่วมการทดลองจัดไพ่เป็นกอง ๆ โดยใช้วิธีจัดระเบียบตามความชอบใจ ภายหลังเมื่อให้ผู้รับการทดลองระลึกถึงคำให้มากที่สุดเท่าที่จะจำได้ พวกที่มีจำนวนหมวดการจัดที่มากกว่าสามารถจำคำได้มากกว่า งานวิจัยนี้บอกเป็นนัยว่า การจัดระเบียบความจำเป็นองค์ประกอบของประสิทธิภาพของความจำอย่างหนึ่ง (Mandler, 2011)
  • ความพิเศษ (distinctiveness) ในปี ค.ศ. 1980 มีการให้ผู้ร่วมการทดลองกล่าวคำต่าง ๆ โดยวิธีที่ไม่ให้เหมือนคำอื่น ๆ เช่นให้สะกดคำต่าง ๆ ดัง ๆ ผู้ร่วมการทดลองที่ทำเช่นนี้สามารถจำคำได้ดีกว่าคนที่เพียงแค่อ่านคำเหล่านั้นจากรายการ
  • ความพยายาม (effort) ในปี ค.ศ. 1979 มีการให้ผู้ร่วมการทดลองแก้ปริศนาคำสลับอักษร บางคำง่าย (เช่น FAHTER ให้เป็น FATHER) และบางคำยาก (เช่น HREFAT) ผู้ร่วมการทดลองจำคำที่แก้ได้ยากได้ดีกว่า เพราะเชื่อว่าต้องทำความพยายามมากกว่า
  • การเพิ่มรายละเอียด (elaboration) ในปี ค.ศ. 1983 มีการให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านวรรคต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศในทวีปอัฟริกาที่ไม่มีจริงประเทศหนึ่ง มีวรรคที่มีข้อความสั้น ๆ และมีวรรคที่กล่าวรายละเอียดของประเด็นในวรรคนั้น วรรคที่ประกอบด้วยรายละเอียดมีการระลึกถึงได้ดีกว่า

วิธีที่ช่วยการท่องจำ

การท่องจำเป็นวิธีหนึ่งในการเรียนรู้ที่ยังให้เราสามารถระลึกถึงข้อมูลได้คำต่อคำ ปรากฏการณ์เว้นระยะ (spacing effect) แสดงว่าเรามักจะจำรายการสิ่งต่าง ๆ ได้ดีกว่าถ้าท่องจำแล้วเว้นระยะ ทำซ้ำ ๆ กันเป็นช่วงระยะเวลายาว เปรียบเทียบวิธีนี้กับการพยายามจำเนื้อความเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ปรากฏการณ์ที่เข้าประเด็นอีกอย่างหนึ่งก็คือ Zeigarnik effect ซึ่งแสดงว่า เราจำงานที่ยังไม่เสร็จหรือที่เกิดการขัดจังหวะได้ดีกว่างานที่เสร็จแล้ว ส่วนวิธี Method of loci (การจินตนาการเส้นทางที่คุ้นเคยแล้ววางสิ่งที่ต้องการจะจำไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่น) เป็นการใช้ความจำทางพื้นที่เพื่อจะจำข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นที่[81]

เชิงอรรถและอ้างอิง

  1. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑"
  2. PMID 13990068 (PMID 13990068)
    Citation will be completed automatically in a few minutes. Jump the queue or expand by hand
  3. Carlson, Neil R. (2010). Psychology: the science of behavior. Boston, Mass: Allyn & Bacon. ISBN 0-205-68557-9. OCLC 268547522.
  4. Cowan, N (February 2001). "The magical number 4 in short-term memory: a reconsideration of mental storage capacity" (PDF). Behav Brain Sci. 24 (1): 87–114, discussion 114-85. doi:10.1017/S0140525X01003922. PMID 11515286. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-04-13. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  5. Miller, G.A. (March 1956). "The magical number seven plus or minus two: some limits on our capacity for processing information". Psychol Rev. 63 (2): 81–97. doi:10.1037/h0043158. PMID 13310704.
  6. Conrad, R. (1964). "Acoustic Confusions in Immediate Memory". British Journal of Psychology. 55: 75–84. doi:10.1111/j.2044-8295.1964.tb00899.x. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-28. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  7. Baddeley, A. D. (1966). "The influence of acoustic and semantic similarity on long-term memory for word sequences". Quart. J. Exp. Psychol. 18 (4): 302–9. doi:10.1080/14640746608400047. PMID 5956072.
  8. Clayton, N.S.; Dickinson, A. (September 1998). "Episodic-like memory during cache recovery by scrub jays". Nature. 395 (6699): 272–4. doi:10.1038/26216. PMID 9751053.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  9. Scoville W.B., Milner B. (1957). "Loss of Recent Memory After Bilateral Hippocampal Lesions" (PDF). Journal of Nurology, Neurosurgery and Psychiatry. 20: 11–21. doi:10.1136/jnnp.20.1.11. PMC 497229. PMID 13406589.
  10. 10.0 10.1 Ellenbogen, J; Hulbert, J; Stickgold, R; Dinges, DF; Thompson-Schill, SL (July 2006). "Interfering with theories of sleep and memory: sleep, declarative memory, and associative interference" (PDF). Curr. Biol. 16 (13): 1290–4. doi:10.1016/j.cub.2006.05.024. PMID 16824917. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-05-14. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2557. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. Miller C, Sweatt J (2007-03-15). "Covalent modification of DNA regulates memory formation". Neuron. 53 (6): 857–869. doi:10.1016/j.neuron.2007.02.022. PMID 17359920.
  12. Papassotiropoulos, Andreas; Wollmer, M. Axel; Aguzzi, Adriano; Hock, Christoph; Nitsch, Roger M.; de Quervain, Dominique J.-F. (2005). "The prion gene is associated with human long-term memory". Human Molecular Genetics. Oxford Journals. 14 (15): 2241–2246. doi:10.1093/hmg/ddi228. PMID 15987701.
  13. Zlonoga, B.; Gerber, A. (February 1986). "A case from practice (49) . Patient: K.F., born 6 May 1930 (bird fancier's lung)". Schweiz. Rundsch. Med. Prax. 75 (7): 171–2. PMID 3952419.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  14. 14.0 14.1 Baddeley, A.D. (2000). "The episodic buffer: a new component of working memory?". Trends in Cognitive Science. 4 (11): 417–23. doi:10.1016/S1364-6613(00)01538-2. PMID 11058819.
  15. "IIDRSI: topographic memory loss". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-30. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  16. Aguirre, G.K.; D'Esposito, M. (September 1999). "Topographical disorientation: a synthesis and taxonomy". Brain. 122 (9): 1613–28. doi:10.1093/brain/122.9.1613. PMID 10468502.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  17. T.L. Brink (2008) Psychology: A Student Friendly Approach. "Unit 7: Memory." pp. 120 [1]
  18. Neisser, Ulric (1982). Memory observed: remembering in natural contexts. San Francisco: W.H. Freeman. ISBN 0-7167-1372-1. OCLC 7837605.
  19. Anderson, John R. (1976). Language, memory, and though. Hillsdale, N.J.: L. Erlbaum Associates. ISBN 978-0-470-15187-7. OCLC 2331424.
  20. Schacter, Daniel L; Gilbert, Daniel T; Wegner, Daniel M (2010). Implicit Memory and Explicit Memory. Psychology. New York: Worth Publishers. p. 238. ISBN 1-4292-3719-8. OCLC 755079969.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  21. Winograd, 1988
  22. Bouton, M.E. (2007). Learning and behavior: A contemporary synthesis. MA Sinauer: Sunderland. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-01. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  23. Fagan, J.F. (June 1974). "Infant recognition memory: the effects of length of familiarization and type of discrimination task". Child Dev. 45 (2): 351–356. PMID 4837713.
  24. Rovee-Collier, Carolyn (1999). "The Development of Infant Memory" (PDF). Current Directions in Psychological Science. 8 (3): 80–85. doi:10.1111/1467-8721.00019. ISSN 0963-7214. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2003-07-21. สืบค้นเมื่อ 2014-09-09.
  25. Rovee-Collier, C.K., Bhatt, R. S. (1993). Ross Vasta (บ.ก.). Evidence of long-term retention in infancy. Annals of Child Development. Vol. 9. London: Jessica Kingsley Pub. pp. 1–45. ISBN 1-85302-219-5. OCLC 827689578.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  26. Hartshorn, K.; Rovee-Collier, C.; Gerhardstein, P.; และคณะ (March 1998). "The ontogeny of long-term memory over the first year-and-a-half of life". Dev Psychobiol. 32 (2): 69–89. doi:10.1002/(SICI)1098-2302(199803)32:2<69::AID-DEV1>3.0.CO;2-Q. PMID 9526683.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  27. 27.0 27.1 Meltzoff, A.N. (June 1995). "What infant memory tells us about infantile amnesia: long-term recall and deferred imitation". J Exp Child Psychol. 59 (3): 497–515. doi:10.1006/jecp.1995.1023. PMC 3629912. PMID 7622990.
  28. 28.0 28.1 Bauer, Patricia J. (2002). "Long-Term Recall Memory: Behavioral and Neuro-Developmental Changes in the First 2 Years of Life". Current Directions in Psychological Science. 11 (4): 137–141. doi:10.1111/1467-8721.00186. ISSN 0963-7214.
  29. Bauer, Patricia J. (2007). Remembering the times of our lives: memory in infancy and beyond. Hillsdale, N.J: Lawrence Erlbaum Associates. ISBN 0-8058-5733-8. OCLC 62089961.
  30. "Paired-associate learning". Encyclopedia Britannica.
  31. Kesner RP (2013). "A process analysis of the CA3 subregion of the hippocampus". Front Cell Neurosci. 7: 78. doi:10.3389/fncel.2013.00078. PMC 3664330. PMID 23750126.
  32. "Recall (memory)". Encyclopedia Britannica.
  33. Baddeley, Alan D (1976). The Psychology of Memory. New York: Basic Books, Inc. pp. 131-132. ISBN 0-465-06736-0.
  34. doi:10.1176/appi.ajp.160.2.396
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand The Nature of Remembering: Essays in Honor of Robert G. Crowder (Full Web Article)
  35. 35.0 35.1 "Recognition (memory)". Encyclopedia Britannica.
  36. LaBar K.S., & Cabeza R. (2006). "Cognitive neuroscience of emotional memory". Nature Reviews Neuroscience. 7 (1): 54–64. doi:10.1038/nrn1825.
  37. Adolphs R., Cahill L., Schul R., & Babinsky R. (1997). "Impaired declarative memory for emotional material following bilateral amygdala damage in humans". Learning & Memory. 4: 291–300. doi:10.1101/lm.4.3.291.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  38. Cahill L.; Babinsky R.; Markowitsch H.J.; McGaugh J.L. (1995). "The amygdala and emotional memory". Nature. 377 (6547): 295–296. doi:10.1038/377295a0.
  39. Kalat, J. W. (2001). Biological psychology (7th ed.). Belmont, CA: Wadsworth Publishing.
  40. doi:10.1162/0898929054475118
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  41. "Gene called Kibra plays an important role in memory". 2006-10-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  42. Teti D.M. (2005). Handbook of research methods in developmental science: New developments in the study of infant memory. San Francisco: Blackwell Publishing.
  43. 43.0 43.1 43.2 Barr R., Dowden A., & Hayne H. (1996). "Developmental changes in deferred imitation by 6- to 24-month-old infants". Infant Behavior and Development. 19: 159–170. doi:10.1016/s0163-6383(96)90015-6.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  44. Bauer P.J. (2004). "Getting explicit memory off the ground: Steps toward construction of a neuro-developmental account of changes in the first two years of life". Developmental Review. 24: 347–373. doi:10.1016/j.dr.2004.08.003.
  45. Bauer, P.J.; Wiebe, S.A.; Carver, L.J.; Waters, J.M.; Nelson, C.A. (November 2003). "Developments in long-term explicit memory late in the first year of life: behavioral and electrophysiological indices". Psychol Sci. 14 (6): 629–35. doi:10.1046/j.0956-7976.2003.psci_1476.x. PMID 14629697.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  46. Carver, L.J.; Bauer, P.J. (March 1999). "When the event is more than the sum of its parts: 9-month-olds' long-term ordered recall". Memory. 7 (2): 147–74. doi:10.1080/741944070. PMID 10645377.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  47. Carver, L.J.; Bauer, P.J. (December 2001). "The dawning of a past: the emergence of long-term explicit memory in infancy". J Exp Psychol Gen. 130 (4): 726–45. doi:10.1037/0096-3445.130.4.726. PMID 11757877.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  48. Cowan, N., บ.ก. (1997). The development of memory in childhood. Hove, East Sussex: Psychology Press.
  49. Parkin A.J., Walter B.M., & Hunkin N.M. (1995). "Relationships between normal aging, frontal lobe function, and memory for temporal and spatial information". Neuropsychology. 9: 304–312. doi:10.1037/0894-4105.9.3.304.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  50. McIntyer J.S., & Craik F.I.M. (1987). "Age differences in memory for item and source information". Canadian Journal of Psychology. 41: 175–192.
  51. Corkin S, Amaral DG, Gonzalez RG, Johnson KA, Hyman, BT (1997). "H.M.'s medial temporal lobe lesion: Findings from magnetic resonance imaging". The Journal of Neuroscience. 17: 3964–3979.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  52. Zola-Morgan S, Suire LR (1993). "Neuroanatomy of memory". Annual Reviews Neuroscience. 16: 547–563. doi:10.1146/annurev.ne.16.030193.002555.
  53. "Memory of Time May Be Factor in Parkinson's". Columbia University. 1996-04-05. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  54. "Forgetfulness is the Key to a Healthy Mind". New Scientist. February 16, 2008.
  55. Fox, Maggie (12 March 2007). "Want a better memory? Stop and smell the roses". Reuters. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-13. สืบค้นเมื่อ 15 December 2013.
  56. "Emotion and memory". English Wikipedia. 2004-04-15. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  57. Cherry, Kendra. "Amygdala - Definition". About.com. สืบค้นเมื่อ 5 December 2012.
  58. doi:10.1016/j.pscychresns.2012.08.007
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  59. Jeffrys (MD), Matt. "Clinician's Guide to Medications for PTSD". United States Department of Veterans Affairs. สืบค้นเมื่อ 15 December 2013.
  60. Siegelheim, Matt. "Researchers Discover Biological Pathway Linked to PTSD". abcnews.go.com. สืบค้นเมื่อ 15 December 2013.
  61. doi:10.1176/appi.ajp.2014.13121625
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  62. doi:10.1016/j.cpr.2009.09.001
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand อ้างอิง
    • Davis, M., Ressler, K., Rothbaum, B. O., & Richardson, R. (2006). "Effects of D-cycloserine on extinction: Translation from preclinical to clinical work". Biological Psychiatry. 60 (4): 369–375.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  63. Heuer, Friderike; Reisberg, Daniel (1 September 1990). "Vivid memories of emotional events: The accuracy of remembered minutiae". Memory & Cognition. Springer-Verlag. 18 (5): 496–506. doi:10.3758/BF03198482. ISSN 0090-502X. สืบค้นเมื่อ 15 December 2012.
  64. Underwood, BJ (1957). "Interference and forgetting". Psychological Review. 64 (1): 49–60. doi:10.1037/h0044616. สืบค้นเมื่อ 9 กันยายน 2557. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  65. Perkins DN, Salomon G (1992). "Transfer of learning". ใน Postlethwaite, T. Neville, Husén, Torsten (บ.ก.). International Encyclopedia of Education (2 ed.). Oxford: Pergamon. ISBN 978-0-08-041046-3. OCLC 749308019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-03. สืบค้นเมื่อ 2011-10-30.
  66. doi:10.1016/j.pnpbp.2009.11.003
    This citation will be automatically completed in the next few minutes. You can jump the queue or expand by hand
  67. Schwabe, L.; Wolf, O.T. (2010). "Learning under stress impairs memory formation". Neurobiology of Learning and Memory. 93 (2): 183–188. doi:10.1016/j.nlm.2009.09.009.
  68. Schwabe, L.; Wolf, O.T. (2009). "The context counts: Congruent learning and testing environments prevent memory retrieval impairment following stress". Affective & Behavioral Neuroscience. 9 (3): 229–236. doi:10.3758/CABN.9.3.229.
  69. Schwabe, L.; Bohringer, A.; Wolf, O.T. (2009). "Stress disrupts context-dependent memory". Learning and Memory. 16 (2): 110–113. doi:10.1101/lm.1257509.
  70. Schwarzel, M; Mulluer, U (2006). "Dynamic Memory Networks" (PDF). Cellular and Molecular Life Science.
  71. Loftus EF & Palmer JC (1974). "Reconstruction of automobile destruction: An example of the interaction between language and memory". Journal of Verbal Learning & Verbal Behavior. 13: 585–589. doi:10.1016/s0022-5371(74)80011-3.
  72. How fast were the cars going when they smashed into each other?
  73. How fast were the cars going when they hit each other?
  74. Loftus GR (1992). "When a lie becomes memory's truth: Memory distortion after exposure to misinformation". Current Directions in Psychological Science. 1: 121–123. doi:10.1111/1467-8721.ep10769035.
  75. Goff LM & Roediger HL (1998). "Imagination inflation for action events: Repeated imaginings lead to illusory recollections". Memory and Cognition. 26: 20–33. doi:10.3758/bf03211367.
  76. Garry M, Manning CG, Loftus EF, & Sherman SJ (1996). "Imagination inflation: Imagining a childhood event inflates confidence that it occurred". Psychonomic Bulletin & Review. 3: 208–214. doi:10.3758/bf03212420.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  77. A mouse. A laser beam. A manipulated memory [หนู แสงเลเซอร์ (และ) ความจำถูกแปลง (มีคำบรรยายภาษาไทย)] (MP4). TED. มิถุนายน 2556.
  78. Hogenboom, Melissa (July 25, 2013). "Scientists can implant false memories into mice". BBC News. สืบค้นเมื่อ July 26, 2013.
  79. Small, G.W.; Silverman, D.H.; Siddarth, P.; และคณะ (June 2006). "Effects of a 14-day healthy longevity lifestyle program on cognition and brain function". Am J Geriatr Psychiatry. 14 (6): 538–45. doi:10.1097/01.JGP.0000219279.72210.ca. PMID 16731723.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  80. "International Longevity Center report on memory" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-07-19. สืบค้นเมื่อ 1 September 2008.
  81. Henrik Olsson, Leo Poom and Anne Treisman (Jun. 14, 2005) . Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America 102 (24) : 8776-8780

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!