คริส โปตระนันทน์ (เกิด 7 เมษายน พ.ศ. 2531) เป็นทนายความและนักการเมืองชาวไทย หัวหน้าพรรคเส้นด้าย ผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้น-ด้ายเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่[1] ในปี 2564 คริสก่อตั้งกลุ่ม "เส้น-ด้าย" เพื่อจัดการปัญหาวิกฤตการณ์โควิด[2]
ประวัติ
คริสเป็นบุตรชายของมีพาศน์ โปตระนันทน์กับวีณา วราโชติเศรษฐ์ คริสเป็นหลานปู่ของพระยาสุนทรลิขิต(ประจำกระทรวงธรรมการ, นักเรียนทุนรัฐบาลสมัยรัชกาลที่ 5 จบจากวิทยาลัยแห่งเมืองบาดท์ (Bath) สหราชอาณาจักร) และคุณหญิงระเบียบ และหลานตาของสุรัช วราโชติเศรษฐ์ ซึ่งจบการศึกษาจากประเทศจีนและสุนีย์ คริสจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนอุดมวิทยา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง และใช้เวลาเพียงสามปีครึ่งในการเรียนชั้นปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยม) สาขากฎหมายมหาชน ขณะศึกษาคริสได้รับเลือกตั้งเป็นประธานองค์กรนักศึกษากฎหมายแห่งเอเชีย[3] (Asian Law Students' Association) และรองหัวหน้านิสิตคณะนิติศาสตร์ฯ
คริสสอบผ่านเนติบัณฑิตไทยในรุ่นที่ 63 หลังจากนั้นได้เดินทางไปศึกษาเศรษฐศาสตร์จนได้ปริญญา Graduate Diploma of Economics เกียรตินิยม (Merit) จากมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม (University of Nottingham) จากนั้นได้รับทุนฟุลไบรท์ (Fulbright)ไปทำปริญญา LL.M. ด้าน Antitrust Law and Economics จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา[4]
การทำงาน
งานวิชาการ
คริสเคยเป็นผู้ช่วยวิจัยที่สถาบันพระปกเกล้า และนักวิชาการรับเชิญ (Visiting Scholar) ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และเคยเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษในหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต วิชากฎหมายป้องกันการผูกขาดที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเคยได้รับเชิญสอนวิชา TU101 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปัจจุบันยังคงเป็นอาจารย์พิเศษ ภาควิชากฎหมายมหาชนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย
งานเขียน
คริสเขียนบทความเชิงวิพากษ์ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับ กฎหมาย, การเมือง, ประชาธิปไตย, เศรษฐกิจ ในหลาย ๆ ประเด็น เช่น เชื่อในการแข่งขันเสรีและเศรษฐกิจแบบตลาดที่รัฐไม่เข้าไปแทรกแซง[5] และเป็นหนึ่งในผู้ต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยโดยใช้การวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีเกม [6] ในส่วนของวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2548 นั้น คริสตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุเกิดจากการที่รัฐไทยใช้ระบบรัฐรวมศูนย์อำนาจ เชื่อว่าการกระจายอำนาจจะเป็นทางออกของปัญหาการเมืองในปัจจุบัน[7][8]
นอกจากนี้เขาเสนอว่า สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต้องถูกยกเลิกเนื่องจากก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ[9] งานเขียนในปัจจุบันยังคงเป็นแนววิพากษ์สังคม
งานการเมือง
มหาวิทยาลัย
คริสรับหน้าที่ทำพาเหรดล้อการเมืองในของฝั่งจุฬา คริสและเพื่อนนิสิตต้องเผชิญกับการเซ็นเซอร์ของผู้บริหารในจุฬาฯ เนื่องจากต้องการวิพากษ์ทหารที่คุมการเมืองไทย[10]
พรรคอนาคตใหม่
ในการประชุมใหญ่จัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้แนะนำคริสต่อผู้เข้าร่วมประชุมว่าคริสจะเป็นคนที่ทำนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรค
ในการเลือกตั้ง ในปี 2562 คริสเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกรุงเทพมหานคร เบอร์ 8 ในเขต 6 ซึ่งประกอบไปด้วย เขตราชเทวี เขตพญาไท เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจตุจักรและจอมพล) โดยได้คะแนน 23,980 คะแนน[11] การลงเลือกตั้งครั้งนี้ของคริสได้รับการพูดถึงในโซเชียลอย่างมากว่า เป็นการทำงานการเมืองแบบใหม่ที่เน้นเข้าถึงประชาชนทั้งในพื้นที่และออนไลน์ โดยเขามีเอกลักษณ์ในการทำไลฟ์หาเสียงตามแคมเปญของเค้าในโซเชียลมีเดีย[12] ล่าสุดเขาได้ทำแคมเปญหาเสียง "888 : หาเสียงผ่าเมือง" โดยคริส เบอร์ 8 ชวนสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออันดับที่ 8 ผู้เชี่ยวชาญด้านการคมนาคม โดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเป็นคนเดินมาส่งทั้งสองขึ้นรถเมล์สาย 8 ด้วยตนเอง เพื่อพูดคุยและแก้ไขเรื่องการขนส่งมวลชนและการจราจรในกทม.
ในปี 2563 พรรคอนาคตใหม่ได้ประกาศจะผลักดันร่างกฎหมายสุราก้าวหน้าเพื่อปลดล็อกอุตสาหกรรมสุราพื้นบ้านจากการผูกขาดของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยคริส โปตระนันทน์ รับหน้าที่ในการร่างกฎหมายนี้ร่วมกับเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร และทีมงานคนอื่น ๆ ของพรรคอนาคตใหม่[13]
พรรคพลเมืองไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566[14][15] ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกคริส อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่พร้อมกับเปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็นพรรคเส้นด้าย[16]
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 เขาลงสมัครรับเลือกตั้งใน เขตเลือกตั้งที่ 6 กรุงเทพมหานคร (พญาไท ดินแดง) แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง[17]
งานในรัฐสภา
คริส โปตระนันทน์ ได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิจารณาขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส)[18] ที่ปรึกษาประจำอนุกรรมาธิการ การฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์ การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ค่าเช่า ค่าใช้จ่าย การเดินทางไปราชการต่างประเทศ งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน งบรายจ่ายอื่น ๆ และทุนหมุนเวียน[19] กรรมาธิการประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย[20] อนุกรรมาธิการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบประจำคณะที่ 2[21] ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการแรงงาน[22]
กิจกรรมทางสังคม
คริสจับมือร่วมกับพี่ชาย “อัพ VGB” ได้จัดตั้งกลุ่มประชาชนอาสาในนาม “เส้น-ด้าย (Zen-Dai)” เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคโควิด-19 หรือประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ประสบปัญหาการเดินทางอย่างปลอดภัยในการเข้ารับการตรวจรักษา โดยร่วมมือกับกุลเชษฐ วัฒนผล ซึ่งเป็นพี่ชายของกุลทรัพย์ วัฒนผล หรือ “อัพ VGB” เกมเมอร์ รุ่นบุกเบิก ที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันเวลา[23]
ในนาม "เส้นด้าย" คริสและเพื่อน ๆ ร่วมกันสร้างองค์กรอาสาที่มีสมาชิกกว่า 100 คนทั่วกทม. 200 กว่าคนทั่วประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2564 ทำการช่วยเหลือกว่า 2,602 คน รวมถึงรับส่งผู้ป่วยเข้าสถานพยาบาลกว่า 2,200 เที่ยว ช่วยคนได้กว่า 1,500 คน พากลุ่มเสี่ยงไปตรวจเชิงรุกอีกกว่า 1,000 คน รวมไปถึงการช่วยเหลือและบรรเทาผู้เสี่ยงต่าง ๆ[24]
รางวัลที่ได้รับ
รายชื่อรางวัลและการถูกเสนอชื่อ
|
ปี
|
รางวัล
|
หน่วยงานมอบรางวัล
|
ผล
|
2564 |
Prime Minister Award: Innovation for Crisis |
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ |
ได้รับรางวัล[25]
|
2566 |
COVID-19 Social Media Award |
Unite Health |
ได้รับการเสนอชื่อ[26]
|
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น