คทาดำ

แซราห์ คลาร์ก ผู้เบิกคทาดำคนปัจจุบันแห่งสหราชอาณาจักร (ตั้งแต่ ค.ศ. 2018)

คทาดำ (อังกฤษ: Black Rod) หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า ผู้เบิกคทาดำ (Usher of the Black Rod, ถ้าเป็นหญิง เรียก Lady Usher of the Black Rod และถ้าเป็นชาย เรียก Gentleman Usher of the Black Rod) เป็นเจ้าพนักงานรัฐสภาในประเทศเครือจักรภพบางประเทศ มีต้นกำเนิดในสภาขุนนางของรัฐสภาสหราชอาณาจักรที่จัดให้มีเจ้าพนักงานถือคทาทำจากไม้มะเกลือสีดำประดับรูปสิงโตสีทองที่หัว[1]

ในสหราชอาณาจักร เจ้าพนักงานนี้มีความรับผิดชอบหลัก ๆ เป็นการควบคุมการเข้าถึงสภาขุนนางและบริเวณโดยรอบ และรักษาระเบียบในพื้นที่ดังกล่าว[2] นอกจากนี้ ยังมีความรับผิดชอบในพิธีการบางอย่าง ซึ่งรวมถึงการเบิกตัวสมาชิกสภาสามัญชนไปฟังพระราชดำรัสจากพระราชบัลลังก์ (Speech from the Throne) ร่วมกับสมาชิกสภาขุนนางในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (State Opening of Parliament) ด้วยการเชิญคทาไปหยุดอยู่หน้าประตูสภาสามัญชน แล้วให้ประตูปิดใส่หน้าของตนอย่างแรง ก่อนใช้คทานั้นเคาะประตูสามครั้งเพื่อขออนุญาตเข้าไปประกาศเบิกตัว พิธีการดังกล่าวเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า สามัญชนเป็นอิสระจากกษัตริย์[1][3]

ผู้เบิกคทาดำคนปัจจุบันแห่งสหราชอาณาจักร คือ แซราห์ คลาร์ก (Sarah Clarke) ซึ่งเป็นสตรีคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ โดยอยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่ ค.ศ. 2018[4] และได้รับค่าตอบแทนราว 93,000 ปอนด์ต่อปี[1]

สหราชอาณาจักร

การแต่งตั้ง

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งผู้เบิกคทาดำตามที่เลขาธิการรัฐสภา (Clerk of the Parliaments) เลือกสรรมา เดิมตำแหน่งนี้หมุนเวียนกันในกลุ่มข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกองทัพเหล่าต่าง ๆ แต่ตั้งแต่ ค.ศ. 2002 ได้ประกาศรับเป็นการทั่วไป ผู้เบิกคทาดำ ถ้าไม่ได้เป็นอัศวินอยู่แล้ว มักได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวินประเภทไนต์แบชเลอร์ (Knight Bachelor) และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์การ์เทอร์ (Order of Garter) ส่วนรองผู้เบิกคทาดำ ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Yeoman Usher of the Black Rod"[5]

หน้าที่

ความรับผิดชอบหลัก ๆ ของผู้เบิกคทาดำ คือ การควบคุมการเข้าถึงสภาขุนนางและอาณาบริเวณ และรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่นั้น[2] เดิมยังรับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าว และรับผิดชอบด้านอาคารสถานที่กับการบริการภายในวังเวสต์มินสเตอร์ แต่ความรับผิดชอบทั้งสองด้านดังกล่าว ปัจจุบันโอนให้แก่ผู้อำนวยการรักษาความปลอดภัยรัฐสภา (Parliamentary Security Director) ตั้งแต่ ค.ศ. 2016 และผู้อำนวยการอาคารสถานที่แห่งสภาขุนนาง (Lords Director of Facilities) ตั้งแต่ ค.ศ. 2019 ตามลำดับแล้ว[6]

อนึ่ง ผู้เบิกคทาดำยังเป็นผู้เฝ้าประตูและเชิญบุคคลเข้าที่ในช่วงประชุมสมาชิกเครื่องราชอิสรยาภรณ์การ์เทอร์ และเป็นผู้ถวายการรับใช้โดยตรงให้แก่พระมหากษัตริย์ในที่ประชุมสภาขุนนาง นอกจากนี้ ยังเป็นเลขานุการของลอร์ดเกรตเชมเบอร์ลิน (Lord Great Chamberlain) เป็นผู้เฝ้าประตูสภาขุนนาง และเป็นซาร์เจินต์แอตอามส์ (serjeant-at-arms) ประจำสภาขุนนาง เมื่อใดที่สภาขุนนางประชุมกัน ทั้งผู้เบิกคทาดำและรองผู้เบิกคทาดำต้องอยู่ด้วย และทำหน้าที่เบิกตัวสมาชิกใหม่เฉพาะที่เป็นขุนนางฝ่ายอาณาจักรเข้าที่ประชุม อนึ่ง ผู้เบิกคทาดำยังมีอำนาจจับกุมสมาชิกคนใด ๆ ที่ละเมิดเอกสิทธิ์ทางรัฐสภา หรือกระทำความผิดอื่น ๆ ในทางรัฐสภา เช่น ละเมิดอำนาจ (contempt), ก่อความไม่สงบ (disorder), หรือขัดขวางกระบวนพิจารณาของสภา อันเป็นบทบาทที่เทียบเท่ากับซาร์เจินต์แอตอามส์แห่งสภาสามัญชน

ผู้เบิกคทาดำรับผิดชอบเชิญคทาพิธีการ (ceremonial mace) เข้าและออกห้องประชุมสภาขุนนางเพื่อให้ประธานสภาขุนนางใช้ แต่ปัจจุบันหน้าที่นี้ส่งผ่านให้รองผู้เบิกคทาทำ หรือให้ผู้ช่วยประธานสภาขุนนาง (Lord Speaker's Deputy) ทำในโอกาสที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายตุลาการ

ผู้เบิกคทาดำยังเป็นที่รู้จักเพราะบทบาทในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาซึ่งพระมหากษัตริย์จะเสด็จมาเปิดประชุมและมีพระราชดำรัสจากพระราชบัลลังก์ ในพิธีดังกล่าว ผู้เบิกคทาจะเบิกตัวสมาชิกสภาสามัญชนไปฟังพระราชดำรัสร่วมกับสมาชิกสภาขุนนาง ด้วยการเชิญคทาไปเคาะบานประตูสภาสามัญชนสามครั้งเพื่อขอเข้าไปประกาศเบิกตัว[7]

เดวิด ลีกีย์ (David Leakey) อดีตผู้เบิกคทาดำ กล่าวว่า ร้อยละ 30 ของงานในตำแหน่งผู้เบิกคทาดำแห่งสภาขุนนางนั้น ต้องทำในหรือทำเพื่อสภาสามัญชน[8]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 "Who is Black Rod and what do they do in Parliament?". BBC News (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2019-09-10. สืบค้นเมื่อ 2021-11-11.
  2. 2.0 2.1 "Black Rod". UK Parliament (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2019-04-07.
  3.  Chisholm, Hugh, บ.ก. (1911). "Black Rod" . สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911. Vol. 4 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
  4. "Sarah Clarke appointed to the role of Black Rod". parliament.uk. 17 November 2017. สืบค้นเมื่อ 17 November 2017.
  5. "Yeoman Usher". Parliament of the United Kingdom. สืบค้นเมื่อ 16 August 2016.
  6. Torrance, Michael (12 December 2017). "Governance and Administration of the House of Lords" (PDF). House of Lords Library. สืบค้นเมื่อ 2019-04-07.
  7. "Black Rod". www.parliament.uk (ภาษาอังกฤษ).
  8. "'Scandal' if Bercow got peerage - ex-Parliament official", BBC News, 5 February 2020, สืบค้นเมื่อ 6 June 2020

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!