กิตติ ทองลงยา |
---|
|
เกิด | 6 ตุลาคม พ.ศ. 2471 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
---|
เสียชีวิต | 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 (45 ปี) ประเทศไทย |
---|
สัญชาติ | ไทย |
---|
อาชีพ | นักสัตววิทยา |
---|
กิตติ ทองลงยา (อังกฤษ: Kitti Thonglongya) (6 ตุลาคม พ.ศ. 2471 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517[1]) เป็นนักสัตววิทยาชาวไทย เชี่ยวชาญด้านนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีชื่อเสียงจากการค้นพบสัตว์ใกล้สูญพันธุ์สองชนิด
ชีวิต
กิตติ ทองลงยา เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนโตของนายดาบเกียรติ (ยูเกียง) ทองลงยา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดกาญจนบุรีกับนางอบ ทองลงยา[2] เกิดเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2471 กิตติ ทองลงยา จบการศึกษาที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2496 หลังจากจบการศึกษาได้เข้าทำงานที่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในตำแหน่งผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ปี พ.ศ. 2500 ได้ลาออกมาประกอบอาชีพอิสระในงานด้านอนุรักษ์วิทยาและศึกษาด้านอนุกรมวิธาน เกี่ยวกับสัตว์ป่าในประเทศไทย ในเวลาเดียวกันก็ได้ร่วมงานกับสมาคมนิยมไพร จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติออกเผยแพร่ ปี พ.ศ. 2505 ได้เข้าร่วมทำงานในสถาบันวิจัยการแพทย์ องค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียอาคเนย์ (ส.ป.อ.) โดยมีหน้าที่ค้นหาพาหะที่นำโรคและสัตว์ป่าที่เป็นแหล่งสะสมโรคที่เกี่ยวกับมนุษย์[2] ในปี พ.ศ. 2508 ได้เข้าทำงานในตำแหน่งภัณฑารักษ์สัตว์มีกระดูกสันหลังบนบก ศูนย์รวบรวมวัสดุอุเทศแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน) [1][3] กิตติ ทองลงยา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517
ผลงาน
กิตติ ทองลงยาเป็นผู้ค้นพบค้างคาวคุณกิตติ ค้างคาวและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สุดในโลกในปี พ.ศ. 2516 กิตติตายด้วยเหตุหัวใจวายก่อนที่ค้างคาวจะได้รับการจัดจำแนกโดยเพื่อนร่วมงานชาวอังกฤษ จอห์น อี. ฮิลล์ (John E. Hill) ผู้ตั้งชื่อค้างคาวตามชื่อกิตติเพื่อเป็นเกียรติแก่กิตติผู้ค้นพบค้างคาวชนิดนี้เป็นคนแรก
นอกจากนี้กิตติยังค้นพบนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร (Pseudochelidon sirintarae) ในปี พ.ศ. 2512 นกนางแอ่นที่พบบริเวณบึงบอระเพ็ด และได้พระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งนกชนิดนี้อาจสูญพันธุ์ไปแล้วในปัจจุบัน
ตัวอย่าง 2 ตัวอย่างแรกของนกเด้าลมแม่น้ำโขง (Motacilla samveasna) ในประเทศไทยก็ถูกเก็บได้โดยกิตติ ทองลงยาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2515 เขายังร่วมแต่ง Bats from Thailand and Cambodia และเริ่มการศึกษาอนุกรมวิธานของค้างคาวในประเทศไทยที่ตีพิมพ์หลังจากการตายของเขาคือ The Bats and Bat's Parasites of Thailand
อ้างอิง
บรรณานุกรม
แหล่งข้อมูลอื่น