เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยในปี 2561 จนถึงวันที่ 8 มีนาคม 2561 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันแล้ว 345 คน โดยจังหวัดร้อยเอ็ดมากที่สุด 69 คน และจนถึงวันที่ 16 มีนาคม พบผู้เสียชีวิตแล้ว 5 คน[1]
สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์รายงานว่าตรวจพบไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ 341 ตัว[2] ใน 40 จังหวัดทั่วประเทศ[3] เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2560 ถึง 2 เท่า พบว่าสัตว์ที่คิดเชื้อร้อยละ 91.3 เป็นหมา และร้อยละ 2.03 เป็นแมว ในจำนวนนี้ร้อยละ 60.25 เป็นสัตว์มีเจ้าของ และร้อยละ 32.61 เป็นสัตว์จรจัด[4] กรมปศุสัตว์กล่าวโทษว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่นำสัตว์ไปฉีดวัคซีน ส่วนสื่อบางแห่งรายงานว่า ไม่มีวัคซีนให้พร้อม กรมปศุสัตว์คาดว่าจะฉีดวัคซีนหมาและแมว 10 ล้านตัวทั่วประเทศภายในเดือนกันยายน[3]
บีบีซีไทยรายงานว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่หยุดฉีดวัคซีนให้กับสัตว์ในช่วง 1–2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่า อปท. ไม่มีภารกิจจัดหาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับประชาชน ประชาไท และ Hfocus รายงานว่า นายกเทศมนตรีนครรังสิตกล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ของเขาได้รับผลกระทบจากการท้วงติงจาก สตง. ค่อนข้างมาก และอาจเป็นเหตุที่ทำให้สถานการณ์ดูรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบให้ท้องถิ่นฉีดวัคซีนเองทำให้ปัญหาทุเลาลง ฝ่ายผู้ว่า สตง. แถลงว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน และเคยมีทำหนังสือด่วนที่สุดแจ้งไปทางทุกจังหวัดตั้งแต่กลางปี 2558 แล้ว[2]
วันที่ 27 มีนาคม 2561 มีชายอายุ 39 ปีเสียชีวิตในจังหวัดพัทลุงจากโรคพิษสุนัขบ้า หลังถูกลูกสุนัขเลี้ยงข่วนเมื่อ 1 เดือนที่แล้ว[5] วันที่ 20 เมษายน 2561 มีเด็กหญิงอายุ 15 ปีเสียชีวิตในจังหวัดหนองคายจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยญาติเล่าว่าถูกลูกสุนัข 2 เดือนข่วนที่ลำคอเป็นรอยถลอกเล็ก ๆ เมื่อเดือนธันวาคม 2560 เป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 8[6]
วันที่ 24 เมษายน 2561 มีการชุมนุมเรียกร้องให้อธิบดีกรมปศุสัตว์และพวกลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่โปร่งใส ทำให้เกิดการเรียกคืนและขาดตลาด[7]
อ้างอิง