การระบาดของโรคชอบเต้น ค.ศ. 1518 เป็นกรณีภาวะเต้นรำผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส (ขณะนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ช่วงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1518 โดยมีคนหลายคนเต้นรำไม่หยุดติดต่อกันหลายวัน หลังเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งเดือน บางคนก็เริ่มเสียชีวิตจากหัวใจวาย สมองขาดเลือด หรืออาการอ่อนเพลีย
เหตุการณ์
การระบาดเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1518 เมื่อสตรีคนหนึ่งเริ่มเต้นรำอย่างเร่าร้อนบนท้องถนนในสตราสบูร์ก[1] ซึ่งกินเวลานานประมาณสี่ถึงหกวัน ภายในหนึ่งสัปดาห์ มีคนเข้าร่วมอีก 34 คน และภายในอีกเดือน มีนักเต้นประมาณ 400 คน ซึ่งบางส่วนได้เสียชีวิตจากหัวใจวาย สมองขาดเลือดหรืออ่อนเพลีย[1]
เอกสารประวัติศาสตร์ รวมทั้ง "บันทึกแพทย์ เทศนามหาวิหาร จดหมายเหตุท้องถิ่นและภูมิภาค และแม้กระทั่งบันทึกที่ออกโดยสภานครสตราสบูร์ก" ชัดเจนว่าเหยื่อเต้นรำจริง[1] แต่ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงเต้นรำจนเสียชีวิต
เมื่อโรคระบาดเต้นรำเลวร้ายลง ชนชั้นสูงที่เป็นกังวลได้หาคำแนะนำจากแพทย์ท้องถิ่น ซึ่งชี้สาเหตุทางโหราศาสตร์และเหนือธรรมชาติ และได้ประกาศว่าโรคดังกล่าวเป็น "โรคตามธรรมชาติ" ซึ่งเกิดจาก "เลือดร้อน" อย่างไรก็ดี ทางการกลับสนับสนุนให้คนเต้นรำมากขึ้น กระทั่งสร้างเวทีไม้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าผู้เต้นรำจะมีอาการดีขึ้นเฉพาะเมื่อเต้นรำต่อเนื่องกันทั้งกลางวันกลางคืนเท่านั้น บ้างถึงกับจ้างนักดนตรีให้มาบรรเลงเพลงด้วย[2]
อ้างอิง