ผู้ทดลอง (E) สั่งผู้สอน (T) อันเป็นผู้รับการทดลองของการทดลองนี้ ให้ผู้สอนเชื่อว่าตนปล่อยช็อกไฟฟ้าเจ็บแก่ผู้เรียน (L) ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นนักแสดงและเพื่อนร่วมงานของผู้ทดลอง ผู้รับการทดลองเชื่อว่าเมื่อผู้เรียนตอบคำถามผิดแต่ละครั้ง ผู้เรียนได้รับช็อกไฟฟ้าจริง แม้อันที่จริงไม่มีการลงโทษนั้น เพื่อนร่วมงานซึ่งถูกแยกจากผู้รับการทดลองติดตั้งเครื่องบันทึกเทปซึ่งต่อกับแหล่งกำเนิดช็อกไฟฟ้า ซึ่งเล่นเสียงที่บันทึกล่วงหน้าสำหรับแต่ละระดับช็อก[ 1]
การทดลองของมิลแกรมว่าด้วยการเชื่อฟังผู้มีอำนาจ เป็นชุดของการทดลองจิตวิทยาสังคม ซึ่งศาสตราจารย์ สแตนลีย์ มิลแกรม นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล เป็นผู้จัดทำ การทดลองดังกล่าววัดความสมัครใจของผู้เข้าร่วมการศึกษาซึ่งเป็นชายต่างอาชีพต่างระดับการศึกษา ว่าจะเชื่อฟัง ผู้มีอำนาจเพียงใดเมื่อผู้มีอำนาจออกคำสั่งให้เขาทำสิ่งที่ขัดกับมโนธรรม ส่วนตัว ผลการทดลองที่คาดไม่ถึงนี้มีว่า บุคคลส่วนมากพร้อมเชื่อฟังแม้ไม่เต็มใจ แม้จะประจักษ์ว่าก่อให้เกิดการบาดเจ็บและความทรมานร้ายแรง มิลแกรมอธิบายงานวิจัยนี้ครั้งแรกในบทความตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาอปกติและจิตวิทยาสังคม (Journal of Abnormal and Social Psychology )[ 1] ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2506 และต่อมาได้อภิปรายการค้นพบของเขาในรายละเอียดในหนังสือ การเชื่อฟังผู้มีอำนาจ: มุมมองทดลอง (Obedience to Authority: An Experimental View )[ 2] ตีพิมพ์เมื่อปี 2517
งานทดลองนี้เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2504 สามเดือนหลังการพิจารณาอาชญากรสงครามนาซี เยอรมัน อดอล์ฟ ไอชมันน์ ในนครเยรูซาเล็ม มิลแกรมออกแบบการศึกษาจิตวิทยาของเขาเพื่อตอบคำถามซึ่งแพร่หลายกันในเวลานั้นว่า "เป็นไปได้หรือไม่ที่ไอชมันน์และผู้ร่วมกระทำความผิดนับล้านในฮอโลคอสต์ เพียงแค่กระทำตามสั่งเท่านั้น เราจะเรียกเขาทั้งหมดว่าผู้ร่วมกระทำความผิดได้หรือไม่" (Could it be that Eichmann and his million accomplices in the Holocaust were just following orders? Could we call them all accomplices?) มีการทำการทดลองซ้ำหลายครั้งในภายหลังโดยให้ผลสอดคล้องกันในสังคมต่าง ๆ เพียงแต่ให้ผลร้อยละของผู้เชื่อฟังต่างกันเท่านั้น[ 3]
มิลแกรมสรุปใจความงานทดลองของเขาในบทความ "The Perils of Obedience" (ภยันตรายของความเชื่อฟัง) ในปี 2517 ไว้ดังนี้
บุคคลทั่วไปที่เพียงแต่ทำหน้าที่ของตัว และโดยปราศจากความเป็นปรปักษ์ใด ๆ เป็นการส่วนตัว สามารถกลายเป็นตัวการในกระบวนการทำลายล้างอันเลวร้ายได้ ยิ่งไปกว่านั้น แม้เมื่อผลลัพธ์ทำลายล้างแห่งงานของเขาเป็นที่กระจ่างแล้ว และเมื่อพวกเขาถูกสั่งให้ลงมือกระทำสิ่งที่เข้ากันไม่ได้กับมาตรฐานหลักมูลแห่งศีลธรรมต่อ กลับมีคนเพียงน้อยนิดที่มีทรัพยากรที่จำเป็นต่อการขัดขืนผู้มีอำนาจ[ 4]
การทดลอง
โฆษณาการทดลองของมิลแกรม
มิลแกรมลงโฆษณาหนังสือพิมพ์หาอาสาสมัครมาช่วยร่วมการวิจัย โดยในตอนแรกอาสาสมัครถูกหลอกว่านี่เป็นการวิจัยเกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้ ผู้วิจัยแกล้งปลอมตัวเป็นนักชีววิทยาอายุ 31 ปี ท่าทางเข้มงวด แต่งตัวใส่ชุดคลุมแลป ผู้ช่วยนักวิจัยทำตัวเป็นอาสาสมัครปลอม อายุ 47 ปี ท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใสเป็นกันเอง[ 1]
ในห้องมีคนสามคน นักวิจัย อาสาสมัครปลอม และ อาสาสมัครจริง ในตอนแรก นักวิจัยให้อาสาสมัครจริงหยิบบัตรหนึ่งใบขึ้นมาจากหมวก แกล้งทำเป็นว่ามีโอกาส 50-50 ที่จะได้คำว่า "ผู้สอน" หรือ "นักเรียน" แต่ทว่าจริงๆ อาสาสมัครตัวจริงหยิบได้คำว่า "ผู้สอน" เพราะในหมวกมีแต่คำนั้น ในระหว่างนี้ อาสาสมัครปลอมพูดเปรยๆ ว่าเขาเป็นโรคหัวใจ
"นักเรียน" (ผู้ช่วยนักวิจัย ซึ่งเล่นเป็นอาสาสมัครปลอม) และ "ผู้สอน" (อาสาสมัครตัวจริง) ถูกพาไปคนละห้องซึ่งมองไม่เห็นกัน แต่ว่าได้ยินเสียงกัน นักวิจัย ช็อกผู้สอนด้วยกระแสไฟฟ้า 45 โวลต์ เพื่อให้ผู้สอนได้ลองสัมผัส ว่ากระแสช็อกรู้สึกอย่างไร นักวิจัยบอกผู้สอนว่า ตอนนี้นักเรียนถูกมัดนั่งอยู่บนเก้าอี้ ติดกับเครื่องช็อกกระแสไฟฟ้า ซึ่งสวิตช์อยู่ในห้องผู้สอน
นักวิจัยให้ผู้สอนอ่านคำให้นักเรียนฟังทีละคู่ หลังจากนั้นถามคำถามทดสอบดูว่า นักเรียนจำและจับคู่คำเหล่านั้นได้หรือไม่ นักเรียนมีปุ่มสี่ปุ่มให้กดตอบคำถาม ถ้านักเรียนตอบผิด ผู้สอนต้องส่งกระแสไฟฟ้าไปช็อกนักเรียน โดยเริ่มจาก 15 โวลต์ เมื่อตอบคำถามแรกผิด และช็อกด้วยกระแสหนักขึ้น เป็น 30, 45, 60,... จนถึง 450 โวลต์เมื่อตอบผิดในคำถามต่อๆ ไป
ผู้สอนคิดว่าเขากำลังช็อกนักเรียนจริงๆ แต่ในอีกห้องหนึ่งนั้นนักเรียนนั่งอยู่สบายๆ ไม่ได้รับกระแสไฟฟ้า แค่แกล้งตอบผิดและทำเสียงเหมือนเจ็บปวด เมื่อกระแสไฟฟ้าเริ่มแรงขึ้น นักเรียนเริ่มเอามือทุบผนังกั้นห้อง และแกล้งร้องถึงโรคหัวใจของเขา มาถึงขั้นนี้ผู้สอน (อาสาสมัครจริง) มักจะเริ่มลังเลใจและอยากจะหยุดทำการทดลอง แต่โดยมากแล้วจะยอมทำการทดลองต่อไป เมื่อนักวิจัยบอกว่าเขาจะรับผิดชอบทุกอย่าง อาสาสมัครบางคนเริ่มหัวเราะอย่างประหม่าเมื่อได้ยินเสียงร้องโหยหวนมาจากห้องนักเรียน
หากระหว่างนั้นผู้รับการทดลองแสดงความประสงค์ยุติการทดลอง เขาจะได้รับคำสั่งต่อเนื่องจากผู้ทดลองเป็นลำดับดังนี้
กรุณาทำต่อไป
การทดลองนี้กำหนดให้คุณทำต่อไป
มันสำคัญอย่างยิ่งที่คุณทำต่อไป
คุณไม่มีทางเลือกอื่น คุณต้องทำต่อไป
ถ้าอาสาสมัครยังไม่ยอมทำการทดลองต่อ หลังจากนักวิจัยพยายามชักจูงด้วยข้อความเหล่านี้ การวิจัยก็จบลง ถ้าอาสาสมัครยอมทำการทดลองต่อไปเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วการทดลองจะจบลงเมื่อนักเรียนถูกช็อกด้วยกระแสไฟฟ้าสูงสุด 450 โวลต์สามครั้ง
ผู้ทดลองยังให้คำชักจูงพิเศษหากผู้สอนแสดงความเห็นเฉพาะ หากผู้สอนถามว่าผู้เรียนอาจได้รับอันตรายทางกายถาวร ผู้ทดลองจะตอบว่า "แม้การช็อกจะเจ็บปวด แต่ไม่มีความเสียหายต่อเนื้อเยื่อถาวร ฉะนั้นกรุณาทำต่อ" หากผู้สอนกล่าวว่าผู้เรียนต้องการหยุดอย่างชัดเจน ผู้ทดลองจะตอบว่า "ไม่ว่าผู้เรียนชอบหรือไม่ คุณต้องทำต่อจนกว่าเขาจะได้เรียนรู้คู่คำทั้งหมดอย่างถูกต้อง ฉะนั้นกรุณาทำต่อ"
สรุปผล
ก่อนเริ่มการทดลอง มิลแกรมอธิบายการทดลอง ให้นักเรียนสิบสี่คนในคณะจิตวิทยาฟัง และให้พวกเขาทายว่าผลการทดลองจะออกมาเป็นอย่างไร ทุกคนทำนายว่าเพียงส่วนน้อยของอาสาสมัคร (คำตอบของนักเรียนอยู่ในช่วง 0-3% เฉลี่ย 1.2%) จะทำการทดลองจนถึงระดับแรงดันไฟฟ้าสูงสุด มิลแกรมยังหยั่งความเห็นเพื่อนร่วมงานของเขาอย่างไม่เป็นทางการ และพบว่า พวกเขาเชื่อว่าอาสาสมัครน้อยมากจะทำการทดลองไปเกินการช็อกที่รุนแรงมาก[ 1] มิลแกรมยังหยั่งความเห็นจากจิตแพทย์สี่สิบคนจากสถาบันแพทยศาสตร์ และพวกเขาเชื่อว่าจนถึงช็อกที่สิบ เมื่อเหยื่อเรียกร้องให้ปล่อยเป็นอิสระ อาสาสมัครส่วนมากจะหยุดการทดลอง พวกเขาทำนายว่า เมื่อถึงช็อก 300 โวลต์ เมื่อเหยื่อปฏิเสธจะตอบ จะเหลืออาสาสมัครเพียง 3.73% ที่ยังทำการทดลองต่อไป และพวกเขาเชื่อว่า "มีอาสาสมัครเกินหนึ่งในสิบของหนึ่งเปอร์เซนต์เล็กน้อยจะทำการทดลองจนถึงช็อกสูงสุดบนบอร์ด"[ 5]
ในชุดการทดลองแรกของมิลแกรม อาสาสมัครเข้าร่วมการทดลอง 65% (26 จาก 40 คน) ทำการทดลองไปจนถึงขั้นกระแสไฟฟ้าสูงสุดที่ 450 โวลต์ แม้หลายคนจะรู้สึกอึดอัดที่ได้ทำเช่นนั้น เมื่อถึงขั้นหนึ่ง อาสาสมัครทุกคนจะหยุดและตั้งคำถามถึงการทดลอง บางคนจะให้เงินที่จ่ายให้เข้าร่วมการทดลองคืน ตลอดการทดลอง อาสาสมัครแสดงระดับความเครียดต่าง ๆ กัน อาสาสมัครนั้นเหงื่อออก สั่นเทา พูดติดอ่าง กัดริมฝีปาก ครวญคราง จิกเล็บเข้าเนื้อตัวเอง และบางคนถึงกับระเบิดหัวเราะออกมาอย่างประสาทหรือชัก
ภายหลัง ศาสตราจารย์ มิลแกรม และนักจิตวิทยาอื่น ๆ ได้ทำการทดลองซ้ำทั่วโลก ซึ่งให้ผลคล้ายกัน[ 6] มิลแกรมได้สอบสวนผลกระทบของที่ตั้งของการทดลองต่อระดับการเชื่อฟังโดยจัดการทดลองในสำนักงานในที่ลับและไม่ได้จดทะเบียนในนครที่แออัด ซึ่งตรงข้ามกับที่เยล อันเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับความเคารพนับถือ ระดับของการเชื่อฟัง "แม้จะลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด" สิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกต่างคือ ความใกล้ชิดของ "ผู้เรียน" กับผู้ทำการทดลอง
ดร. โธมัส แบลส แห่งมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ บัลติมอร์เคาน์ตี ทำการอภิวิเคราะห์ต่อผลของพฤติกรรมที่แสดงออกมาซ้ำ ๆ ในการทดลอง เขาพบว่าร้อยละของอาสาสมัครที่เตรียมช็อกด้วยกระแสไฟฟ้าที่ถึงตายยังคงมีสูงอยู่อย่างประหลาด คือ 61-66% โดยไม่ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ทดลอง[ 7] [ 8]
จรรยาบรรณในการทำการทดลอง
การทดลองของมิลแกรมนั้น ได้สร้างข้อกังขาต่างๆ เรื่องของงานวิจัยเชิงจรรยาบรรณทางการทดลองวิทยาศาสตร์ อันเนื่องมาจากความเครียดทางอารมณ์ขั้นร้ายแรง และความขัดแย้งภายใน ของอาสาสมัครจริง นักวิจารณ์ บางท่านอย่าง จีนา เพอร์รี ได้แย้งขึ้นมาว่าอาสาสมัครจริงอาจจะไม่ได้ตั้งใจจะทำมากกว่า แต่มิลแกรมก็ได้ออกมาแย้งว่า ร้อยละ 84 จากการทำแบบสำรวจกับอาสาสมัครจริงบอกว่าพวกเขานั้น "ดีใจ" หรือ "ดีใจมากๆ" ทีได้ร่วมการทดลอง ส่วนร้อยละ 15 ก็เลือกว่า "เฉยๆ (neutral)" (จากผลการสำรวจของอาสาสมัครจริง 92%) และที่เหลือส่วนใหญ่ก็เขียนจดหมายขอบคุณ อาสาสมัครจริงหลายคนที่ออกไป ก็เขียนคำร้องมาขอเป็นผู้ช่วยกับมิลแกรมด้วย
หกปีต่อมา (อยู่ในประมาณช่วงสงครามเวียดนาม ) มีอาสาสมัครจริงหนึ่งคน ได้เขียนจดหมายถึงมิลแกรม ว่าทำไมถึงดีใจ ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยความกดดันว่า :
ตอนข้าพเจ้าถูกกดขี่ในช่วงปี ค.ศ. 1964 ข้าพเจ้าเชื่อมาตลอดว่ากำลังทำร้ายใครบางคนอยู่ ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เอะใจเลย ว่าทำไมข้าพเจ้าถึงทำอย่างนั้น น้อยคนนักที่จะทำตามจิตใต้สำนึกตัวเอง เพราะต้องทำตามคำสั่ง ... ถ้าจะให้ข้าพเจ้าต้องไปเกณฑ์ทหาร ด้วยความที่เชื่อฟังคำสั่งของผู้มีอำนาจนั้น ก็เข้าใจได้ว่าแค่คำสั่งนั้น ก็สามารถทำให้ทำสิ่งที่ผิดมหันต์จนข้าพเจ้าเองยังหวาด ... ข้าพเจ้าเองก็เตรียมใจที่จะติดคุดติดตะรางแล้วถ้าข้าพเจ้าเองไม่ใช่ผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม ตามจริง มันก็เป็นแค่แบบทดสอบว่าข้าพเจ้าเองจะซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อได้แค่ไหน ที่ข้าพเจ้าหวังก็เพียงว่าสมาชิกบนบอร์ดของข้าพเจ้าจะยังทำตัวให้สมกับจิตใต้สำนึกของพวกเขา...[ 9] [ 10]
ในหนังสือ Obedience to Authority: An Experimental View มิลแกรมได้แย้งต่อการโจมตีด้านจรรยาบรรณในการทดลอง เนื่องจากผลที่เขาต้องการรู้นั้น จะเป็นการเปิดเผยความจริงไม่พึงประสงค์ของธรรมชาติของมนุษย์[ 11] ส่วนข้อโต้แย้งอื่นๆ จะเป็นเรื่องปัญหาอันร้ายแรงในการทดลองทางวิธีวิทยา นี้
อ้างอิง
↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Milgram, Stanley (1963). "Behavioral Study of Obedience" . Journal of Abnormal and Social Psychology . 67 : 371–378. PMID 14049516 . Full-text PDF. เก็บถาวร 2011-06-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
↑ Milgram, Stanley. (1974) , Obedience to Authority; An Experimental View . Harpercollins (ISBN 0-06-131983-X ).
↑ Blass, Thomas (1991). "Understanding behavior in the Milgram obedience experiment: The role of personality, situations, and their interactions" (PDF) . 60 (3): 398–413. doi :10.1037/0022-3514.60.3.398 .
↑ Milgram, Stanley. (1974) , "The Perils of Obedience". เก็บถาวร 2006-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Harper's Magazine. Abridged and adapted from Obedience to Authority .
↑ Milgram, Stanley (1965). "Some Conditions of Obedience and Disobedience to Authority" . Human Relations . 18 (1): 57–76. doi :10.1177/001872676501800105 . S2CID 37505499 .
↑ Milgram (1974)
↑ Blass, Thomas (1999). "The Milgram paradigm after 35 years: Some things we now know about obedience to authority". Journal of Applied Social Psychology . 29 (5): 955–978. doi :10.1111/j.1559-1816.1999.tb00134.x . as PDF เก็บถาวร มีนาคม 31, 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
↑ Blass, Thomas (Mar–Apr 2002). "The Man Who Shocked the World" . Psychology Today . 35 (2).
↑ Raiten-D'Antonio, Toni (1 September 2010). Ugly as Sin: The Truth about How We Look and Finding Freedom from Self-Hatred . HCI. p. 89. ISBN 978-0-7573-1465-0 .
↑ Milgram 1974 , p. 200 harvnb error: no target: CITEREFMilgram1974 (help )
↑ https://www.novabizz.com/NovaAce/Personality/Human_Nature.htm
การอ้างอิงทั่วไป
Blass, Thomas (2004). The Man Who Shocked the World: The Life and Legacy of Stanley Milgram . Basic Books . ISBN 978-0-7382-0399-7 .
Levine, Robert V. (July–August 2004). "Milgram's Progress" . American Scientist . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ February 26, 2015. Book review of The Man Who Shocked the World
Miller, Arthur G. (1986). The obedience experiments: A case study of controversy in social science . New York: Praeger .
Ofgang, Erik (พฤษภาคม 22, 2018). "Revisiting the Milgram Obedience Experiment conducted at Yale" . New Haven Register . สืบค้นเมื่อ 2019-07-04 .
Parker, Ian (Autumn 2000). "Obedience" . Granta (71). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ December 7, 2008. Includes an interview with one of Milgram's volunteers, and discusses modern interest in, and scepticism about, the experiment.
Tarnow, Eugen (October 2000). "Towards the Zero Accident Goal: Assisting the First Officer Monitor and Challenge Captain Errors" . Journal of Aviation/Aerospace Education & Research . 10 (1).
Wu, William (June 2003). "Compliance: The Milgram Experiment" . Practical Psychology .
อ่านเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูลอื่น
การฆ่าตัวตาย ภายใต้การช่วยเหลือของแพทย์
การุณยฆาต/ การระงับการรักษาทางการแพทย์ ความเห็นทางการแพทย์ ที่ขัดกับของ ผู้ป่วย/ผู้ปกครอง/ผู้พิทักษ์
การยินยอมโดยรับทราบ ในการเข้ารับการรักษาการวิจัย