กายอุปกรณ์ หมายถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆที่ใช้กับร่างกาย ในความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน มักจะหมายถึงอุปกรณ์ที่ใช้กับร่างกายเพื่อช่วยเหลือการเคลื่อนไหว เช่น แขนเทียม ขาเทียม อุปกรณ์ประคองหรือดามหลัง อุปกรณ์ดามมือ เป็นต้น แต่โดยทั่วไป ขอบเขตที่แท้จริงของกายอุปกรณ์ ยังรวมไปถึงอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้กับร่างกายด้วย เช่น ลูกตาเทียม ข้อเข่าเทียมที่ใช้สำหรับผ่าตัดทดแทนเข่าเดิมในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น และอุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น รถล้อเข็น (Wheelchair) ไม้เท้า เป็นต้น
ส่วน งานกายอุปกรณ์ หมายถึงการตรวจวัดขนาด ออกแบบ ประดิษฐ์ ผลิต ดัดแปลง แก้ไข ซ่อมแซม อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้กับร่างกายให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อช่วยเหลือการเคลื่อนไหวเท่านั้น งานกายอุปกรณ์ต้องอาศัยทักษะฝีมือและความเชี่ยวชาญชำนาญเฉพาะบุคคลค่อนข้างสูง (ร่วมกับความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัสดุศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และเรื่องวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านกายวิภาคประยุกต์ ด้านชีวกลศาสตร์และการเคลื่อนไหวประยุกต์พอสมควร)
และ งานกายอุปกรณ์ จัดเป็นส่วนหนึ่งของทีมงานด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู อีกด้วย
ในภาษาอังกฤษคำว่า กายอุปกรณ์ ใช้ใน US ว่า Orthosis and Prosthesis (ตัวย่อว่า O&P) ส่วนในประเทศไทยนิยมเรียกว่า Prosthesis and Orthosis (ตัวย่อ PO) อนึ่งคำว่า Prosthesis อาจเขียนว่า Prostheses ก็ได้เมื่อมีความหมายเป็นพหูพจน์ และคำว่า Orthosis สามารถเขียนให้อยู่ในรูปพหูพจน์ได้ว่า Orthoses
ส่วนคำว่า งานกายอุปกรณ์ ใช้ว่า Prosthetics and Orthotics (ตัวย่อ P&O) หรือ Orthotics and Prosthetics (ตัวย่อ O&P) ก็ได้เช่นกัน
บุคลากรด้านกายอุปกรณ์ในประเทศไทย
บุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจวัดขนาด ออกแบบ ประดิษฐ์ ผลิตและดัดแปลงซ่อมแซมกายอุปกรณ์เสริม-เทียมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและผู้พิการ มีชื่อเรียกตามที่ ก.พ.ระบุ ซึ่งเรียกชื่อตำแหน่งบรรจุตามวุฒิการศึกษาคือ หากสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรจากโรงพยาบาลเลิดสิน หรือ สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูงจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (พ.ศ. 2536-2542) เรียกว่า ช่างกายอุปกรณ์ (PO technician) แต่หากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาจะเรียกว่า นักกายอุปกรณ์ (Prosthetist/Orthotist) ซึ่งโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[1] ถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตบัณฑิตในสาขากายอุปกรณ์หรือนักกายอุปกรณ์ออกมา
(ในอดีต หลักสูตรด้านกายอุปกรณ์ในประเทศไทยยังไม่มีการจัดเป็นหลักสูตรปริญญา ซึ่งเหมือนกับอีกหลายๆหลักสูตร เช่น พยาบาล (เทคนิค) , ครู (ประกาศนียบัตรชั้นสูง) เป็นต้น แต่ในปัจจุบันได้ปรับหลักสูตรเป็นระดับปริญญาแล้ว ในหลายๆประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ปัจจุบันยังมีหลักสูตรกายอุปกรณ์ทั้งระดับปริญญา (เรียน 4 ปี) และระดับอนุปริญญา (เรียน3 ปี) เช่นกัน)
ช่างกายอุปกรณ์หรือนักกายอุปกรณ์ จะปฏิบัติงานในทีมของเวชศาสตร์ฟื้นฟู ซึ่งจะประกอบด้วยสหสาขาวิชา เช่น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักอรรถบำบัด นักจิตวิทยา พยาบาลทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู
ผู้ที่ทำหน้าที่ส่งต่อการรักษาและร่วมตรวจสอบกายอุปกรณ์กับผู้ป่วยคือ แพทย์ ซึ่งมักเป็น แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู หรือ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์
ประเภทของกายอุปกรณ์
กายอุปกรณ์แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- กายอุปกรณ์เทียม (prosthesis) กายอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทดแทนอวัยวะหรือชิ้นส่วนของอวัยวะที่ขาดหายไป เช่น ขาเทียม[2] แขนเทียม นิ้วมือเทียม เป็นต้น
- ในทางกายอุปกรณ์สำหรับแขนขา หมายถึง อุปกรณ์ใดๆก็ตามภายนอกร่างกาย ที่นำมาทดแทนส่วนของระยางค์ (แขน-ขา) ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งไม่เคยมีอยู่เลยหรือขาดหายไป
- Prosthesis; Prosthetic device: Externally applied device used to replace wholly, or in part, an absent or deficient limb segment. (จากข้อ 2.1.1 ใน ISO 8549-1 : 1989)
- กายอุปกรณ์เสริม (orthosis) คือ กายอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้เพื่อเสริมการทำหน้าที่ของอวัยวะที่มีปัญหาในการทำงาน (เช่น อ่อนแรง, เจ็บปวด, เสื่อมสมรรถภาพ เป็นต้น) อาจเรียกชื่อสามัญว่า อุปกรณ์เสริม, อุปกรณ์ดาม หรือที่ประคอง (Splint หรือ Brace) ก็ได้
- ในทางกายอุปกรณ์สำหรับแขนขา หมายถึง อุปกรณ์ใดๆก็ตามภายนอกร่างกาย ที่นำมาดัดแปลงลักษณะโครงสร้างหรือการทำหน้าที่ของระบบประสาท-กล้ามเนื้อและระบบค้ำจุนร่างกาย (กระดูก-กล้ามเนื้อ) ของร่างกาย
- Orthosis; Orthotic device: Externally applied device used to modify the structural and functional characteristics of the neuro-muscular and skeletal systems. (จากข้อ 2.1.2 ใน ISO 8549-1 : 1989)
- เมื่อดูจากคำจำกัดความตาม ISO อุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหว (Mobility aids) ชนิดต่างๆ เช่น รถล้อเข็น (Wheelchair) , ไม้เท้า (Cane) , ไม้ค้ำยัน (Crutches) ก็จัดได้ว่าเป็นกายอุปกรณ์เสริมชนิดหนึ่งเช่นกัน แต่ตามปรกติในทางปฏิบัติ มักไม่ถูกรวมอยู่ในกายอุปกรณ์เสริม มักจัดเป็นอีกกลุ่มซึ่งแยกออกมา
กายอุปกรณ์เทียม
ในงานกายอุปกรณ์ แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆคือ
- กายอุปกรณ์สำหรับระยางค์ล่าง หรือเรียกง่ายๆว่า ขาเทียม
- กายอุปกรณ์เทียมสำหรับระยางค์บน หรือเรียกแบบง่ายว่า แขนเทียม
หมายเหตุ
รยางค์ล่าง (Lower extremity) หมายถึง ขา (ตั้งแต่ปลายนิ้วเท้าจนถึงข้อสะโพก) และกระดูกเชิงกราน (ทำหน้าที่เป็นโครงให้ขายึดกับแกนกลางร่างกายที่กระดูกสันหลัง)
รยางค์บน (Upper extremity) หมายถึง แขน (ตั้งแต่ปลายนิ้วมือจนถึงข้อไหล่) กระดูกไหปลาร้าและกระดูกสะบัก (ทำหน้าที่เป็นโครงให้ขายึดกับแกนกลางร่างกายที่กระดูกซี่โครง)
การเรียกชื่อชนิดต่างๆของแขนเทียมและขาเทียม สามารถทำได้ 2 แบบคือ
- เรียกตามตำแหน่งที่ระยางค์ล่างโดนตัด แบ่งได้เป็น (จากด้านล่างขึ้นมาด้านบน)
- สำหรับระยางค์ล่าง แบ่งได้เป็น
- กายอุปกรณ์เทียมทดแทนนิ้วเท้า (Toe prosthesis)
- กายอุปกรณ์เทียมทดแทนบางส่วนของเท้า (Partial foot prosthesis)
- ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อเท้า (Ankle disarticulation (AD) prosthesis)
- ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกหน้าแข้ง (Transtibial (TT) prosthesis)
- ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อเข่า (Knee disarticulation (KD) prosthesis)
- ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกต้นขา (Transfemoral (TF) prosthesis)
- ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อสะโพก (Hip disarticulation (HD) prosthesis)
- ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาและเอากระดูกเชิงกรานออกไปด้วย 1 ข้าง (Hemipelvectomy prosthesis)
- สำหรับระยางค์บน แบ่งได้เป็น
- กายอุปกรณ์เทียมทดแทนนิ้วมือ (Finger prosthesis)
- กายอุปกรณ์เทียมทดแทนบางส่วนของมือ (Partial hand prosthesis)
- แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนผ่านข้อมือ (Wrist disarticulation (WD) prosthesis)
- แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนผ่านกระดูกปลายแขน (Transradial (TR) prosthesis)
- แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนผ่านข้อศอก (Elbow disarticulation (ED) prosthesis)
- แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนผ่านกระดูกต้นแขน (Transhumeral (TH) prosthesis)
- แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนผ่านกระดูกต้นแขนที่คอกระดูกต้นแขน (Humeral-neck amputation prosthesis)
- แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนผ่านข้อไหล่ ("True" shoulder disarticulation prosthesis)
- แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนร่วมกับเอากระดูกสะบักและกระดูกไหปลาร้าออกไปด้วย 1 ข้าง (Forequater amputation prosthesis)
- เรียกโดยอ้างอิงจากตำแหน่งของข้อต่อ เป็นการแบ่งง่ายๆและเป็นระบบเดิมที่นิยมใช้กันมา ได้แก่
- ขาเทียม มักใช้ข้อเข่าเป็นจุดอ้างอิง โดย
- ใช้ ขาเทียมระดับใต้เข่า (Below-knee (BK) prosthesis) แทน ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกหน้าแข้ง
- ใช้ ขาเทียมระดับข้อเข่า (Through-knee (TK) prosthesis) แทน ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านข้อเข่า
- ใช้ ขาเทียมระดับเหนือเข่า (Above-knee (AK) prosthesis) แทน ขาเทียมสำหรับผู้ถูกตัดขาผ่านกระดูกต้นขา
- แขนเทียม มักใช้ข้อศอกเป็นจุดอ้างอิง โดย
- ใช้ แขนเทียมระดับใต้ศอก (Below-elbow (BE) prosthesis) แทน แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนผ่านกระดูกปลายแขน
- ใช้ แขนเทียมระดับข้อศอก (Through-elbow (TE) prosthesis) แทน แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนผ่านข้อศอก
- ใช้ แขนเทียมระดับเหนือศอก (Above-elbow (AE) prosthesis) แทน แขนเทียมสำหรับผู้ถูกตัดแขนผ่านกระดูกต้นแขน
- นอกจากนี้ สำหรับแขนเทียม ยังสามารถแบ่งตามคุณสมบัติได้แก่
- ประเภทสวยงาม (Cosmetic type) ประเภทนี้ไม่สามารถเคลื่อนไหวมือเทียม/ข้อมือ/ข้อศอก/ข้อไหล่ได้
- ประเภทใช้งานได้ (Functional type) สามารถเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของแขนเทียมได้ตามความต้องการของผู้พิการ โดยยังสามารถแบ่งลงไปได้ตามประเภทของการควบคุมการเคลื่อนไหวเป็น
- ควบคุมโดยการใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย (Body controlled)
- ควบคุมโดยใช้พลังงานภายนอก (External-power controlled) ซึ่งควบคุมการจ่ายไฟฟ้าด้วยปุ่มสวิตช์กด (Switch controlled) หรือ ตัวรับสัญญาณไฟฟ้าในกล้ามเนื้อ (Myoelectric)
กายอุปกรณ์เสริม
- มีหน้าที่ต่างๆ เช่น
- จำกัดการเคลื่อนไหวของอวัยวะ
- ช่วยให้มีการเคลื่อนไหวของอวัยวะ
- บรรเทาอาการเจ็บปวด
- ช่วยส่งเสริมให้กระดูกที่หักติดเป็นปรกติ
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ข้อเคลื่อนหลุด เอ็นฉีกขาด เป็นต้น
- ฯลฯ
- กายอุปกรณ์เสริม มักแบ่งประเภทใหญ่ๆตามอวัยวะที่ใช้เป็น 4 ประเภทได้แก่
- กายอุปกรณ์สำหรับศีรษะ (Head orthosis)
- กายอุปกรณ์สำหรับกระดูกสันหลัง (Spinal orthosis)
- กายอุปกรณ์สำหรับระยางค์บน (Upper-extremity orthosis)
- กายอุปกรณ์สำหรับระยางค์ล่าง (Lower-extremity orthosis) รวมถึงกายอุปกรณ์เสริมสำหรับเท้า (Foot orthosis) และการดัดแปลงรองเท้า (Shoe modification) อีกด้วย
โดยการเรียกชื่อสำหรับกายอุปกรณ์เสริมแต่ละชนิด สามารถเรียกชื่อได้หลายแบบตามแต่ละระบบมาตรฐานทางการแพทย์ โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆตามข้อด่อที่กายอุปกรณ์เสริมพาดผ่าน เช่น กายอุปกรณ์เสริมสำหรับมือ-ข้อมือ (Wrist-hand orthosis: WHO) , กายอุปกรณ์เสริมสำหรับเท้า-ข้อเท้า (Ankle-foot orthosis: AFO) หรือ กายอุปกรณ์เสริมสำหรับกระดูกสันหลังส่วนอก-ส่วนหลัง-ส่วนกระเบนเหน็บ (Thoracolumbosacaral spinal orthosis: TLSO) เป็นต้น
และมักเพิ่มเติมชื่อกายอุปกรณ์เสริมแต่ละชนิดเพื่อให้จำเพาะเจาะจงไปมากกว่านี้ โดยอาจเรียกตามหน้าที่การทำงาน เช่น ป้องกันการเหยียด (Extension-stopped) , ช่วยการงอ (Flexion-assisted) หรือตามตำแหน่ง"ด้าน"ที่อยู่บนร่างกาย เช่น ด้านหลังมือ (Dorsal) , ด้านฝ่ามือ (Volar) เป็นต้น
นอกจากนี้ อาจเรียกตามชื่อสามัญ ซึ่งเป็นชื่อเดิมที่มีมาก่อนจะจัดระบบ เช่น อุปกรณ์เสริมชนิดจีเว็ตต์ เบรซ (Jewette brace) , อุปกรณ์เสริมชนิดไนท์เบรซ (Knight brace) หรือ ยูนิเวอร์ซัล คัฟฟ์ (Universal cuff) เป็นต้น
อุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหว
อุปกรณ์ช่วยเหลือการเคลื่อนไหว (Mobility aids) ต่างๆ เช่น รถล้อเข็น (Wheelchair) , ไม้เท้า (Cane) , ไม้ค้ำยัน (Crutches) เป็นต้น มีหลากหลายชนิด ซึ่งต้องอาศัยความรู้ในการเลือกชนิดและส่วนประกอบของอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแผ่นรองนั่งของรถล้อหมุน
สำหรับรถล้อเข็น สามารถแบ่งจำพวกเป็น
- รถล้อเข็นมือหมุน
- รถล้อเข็นมือหมุนใช้งานทั่วไป
- รถล้อเข็นมือหมุนใช้งานพิเศษ (เช่น สำหรับใช้แข่งขันกีฬา เป็นต้น)
- รถล้อเข็นไฟฟ้า
อ้างอิง
- ตำรากายอุปกรณ์
- ตำรา Physical medicine & rehabilitation (3rd edition) โดย Braddom RL.
- คำจำกัดความจาก ISO 8549-1 : 1989
ดูเพิ่ม