กองบิน 21 (อังกฤษ: Wing 21 Royal Thai Air Force) เป็นกองบินขับไล่สกัดกั้น อยู่ในส่วนกำลังรบและเป็นหน่วยขึ้นตรงของกองทัพอากาศไทย[1] ประจำการอยู่ที่ฐานบินอุบลราชธานี ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2520[1]
ประวัติ
กองบิน 21 มีจุดเริ่มต้นจากการก่อตั้งฝูงบินผสม 22 ขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ในพื้นที่ตำบลปทุม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ทางทิศใต้ของสนามบินติดกับตัวเมือง ประจำการเครื่องบินแบบ ที-6 (บ.ฝ.8) และได้รับการตั้งชื่อว่า ฐานบินอุบลราชธานี จากนั้นได้มีการบรรจุเครื่องบินเพิ่มเติมแบบ ที-28ดี โทรจาน (บ.จ.13) ระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 จนเต็มครบฝูง และเปลี่ยนชื่อฝูงบินผสม 22 เป็น ฝูงบินที่ 222 ในปี พ.ศ. 2511[2]
กระทั่งในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2520 กองทัพอากาศได้เปลี่ยนชื่อ ฐานบินอุบลราชธานี เป็น กองบิน 21 ขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศ และเปลี่ยนชื่อฝูงบิน 222 เป็น ฝูงบิน 211 กองบิน 21 จึงได้ยึดถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาหน่วย[2]
ในอีกสามปีต่อมา วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ได้มีการเปลี่ยนแบบเครื่องบินที่ประจำการ จากเดิมเครื่องบินแบบ ที-28 เป็นเครื่องบินโจมตีทิ้งระเบิดแบบ เอ-37บี (บ.ท.6) ซึ่งในอีกสิบปีต่อมา พ.ศ. 2533 กองทัพอากาศได้จัดตั้งกองพลบินที่ 2 ขึ้น กองบิน 21 จึงขึ้นตรงกับกองพลบินที่ 2 ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2533[2]
จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2537 กองบิน 21 ได้บรรจุเครื่องบินแบบ เอฟ-5อี/เอฟ (บ.ข.18 ข/ค) เข้าแทนที่เครื่องบิน เอ-37บี ซึ่งถึงกำหนดในการปลดประจำการ และมีการปรับส่วนราชการใหม่อีกครั้ง ทำให้กองบิน 21 กองพลบินที่ 2 เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองบัญชาการยุทธการทางอากาศ และปรับโครงสร้างใหม่อีกครั้งในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2552 ให้กองบิน 21 เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองทัพอากาศจนถึงปัจจุบัน[2]
ธงชัยเฉลิมพล
กองบิน 21 ได้รับพระราชทางธงชัยเฉลิมพลจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2522 ในพระราชพิธีตรึงหมุดธงและพระราชทานธงชัยเฉลิมพล โดย นาวาอากาศเอก ปราโมทย์ วีรุตมเสน ผู้บังคับการกองบิน 23 เป็นผู้รับพระราชทาน[1]
เกียรติประวัติ
กองบิน 21 ปฏิบัติการในการต่อต้านภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อเนื่องจากภารกิจตอนยังเป็นฝูงบิน 222 ในการใช้กำลังทางอากาศ จนกระทั่งเหตุการณ์สงบลงในปี พ.ศ. 2526[1]
ขณะเดียวกันภัยคุกคามจากพื้นที่ตะวันออกคือประเทศกัมพูชาเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2526-2530 กองบิน 21 ได้ใช้กำลังทางอากาศตามแนวชายแดนในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ช่องพระพะลัย ช่องพริก จังหวัดศรีสะเกษ ช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ และช่องโอบก จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อผลักดันกองกำลังต่างชาติ ส่งผลให้เกิดการสูญเสีย 2 เหตุการณ์[1] ได้แก่
ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2526 เวลาประมาณ 10.45 น. เครื่องบิน เอ-37บี หัวหน้าหมู่บิน 2 บินลาดตระเวนและถูกยิงด้วยอาวุธต่อต้านจากภาคพื้นดินจนเครื่องบินตกในพื้นที่ช่องจอม อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ส่งผลให้ เรืออากาศเอก ปทุม ไทยาภิรมย์ และเรืออากาศตรี สราวุฒิ นาควิไล เสียชีวิต[1]
ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2528 เวลาประมาณ 10.00 น. เครื่องบิน เอ-37บี หัวหน้าหมู่บิน 4 ปฏิบัติการทิ้งระเบิดใส่ที่หมายกองกำลังต่างชาติในพื้นที่ช่องโอบก อำเภอบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ โดยหลังจากทิ้งระเบิดแล้วได้ถูกอาวุธนำวิธีแบบ เอสเอ-7 ยิง ส่งผลให้นักบินตัดสินใจดีดตัวออกจากเครื่อง โดยนายแรก นาวาอากาศโท อาคมฯ ร่มกางและตกลงสู่พื้นอย่างปลอดภัย ขณะที่ เรืออากาศตรี วศินฯ ระบบดีดตัวมีปัญหาจากความเสียหายในการโจมตี ทำให้ดีดตัวสำเร็จแต่ร่มไม่กาง ทำให้เสียชีวิตจากการตกลงพื้น ซึ่งนักบินทั้ง 2 ได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญในเวลาต่อมา[1]
ขณะเดียวกัน ในช่วงปี พ.ศ. 2527 กองบิน 21 ได้สนับสนุนปฏิบัติการปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์มาลายา (จคม.) ในพื้นที่ชายแดนมาเลเซีย โดยแบ่งกำลังไปวางกำลังที่ฐานบินหาดใหญ่ และมีเหตุการณ์สูญเสียสำคัญ คือในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2527 เวลาประมาณ 09.10 น. หมู่บิน 4 ได้นำเครื่องบิน เอ-37บี หมายเลข 3 ปฏิบัติการทิ้งระเบิดค่ายพักแรมของโจรคอมมิวนิสต์มาลายาในพื้นที่ชายแดนตำบลตาเนอะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา หลังปฏิบัติการเครื่องบินถูกยิงตก ทำให้ เรืออากาศเอก ไพบูลย์ ชุมมะโน และ เรืออากาศโท ปรวัตน์ ส่องสว่าง นักบินทั้ง 2 คนเสียชีวิต[1]
การจัดหน่วย
กองบิน 21 แบ่งส่วนการบริหารราชการภายใน[3] ดังนี้
- กองบังคับการ
- แผนกยุทธการ
- แผนกกำลังพล
- แผนกธุรการ
- แผนกการข่าว
- แผนกส่งกำลังบำรุง
- แผนกกิจการพลเรือน
- ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
- หมวดจัดหา
- กองเทคนิค
- แผนกช่างอากาศ
- แผนกสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์
- แผนกสรรพาวุธ
- ฝูงบิน 211 "Eagle"
- เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ข/ค: เอฟ-5อี/ที
- เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 ข/ค: เอฟ-5ทีเอช รุ่นที่กองทัพอากาศไทยเพิ่มประสิทธิภาพ[4]
- กองพันทหารอากาศโยธิน
- แผนกช่างโยธา
- แผนกสนับสนุนการบิน
- โรงพยาบาลกองบิน
- แผนกขนส่ง
- แผนกสวัสดิการ
- กองร้อยทหารสารวัตร
- แผนกการเงิน
- แผนกพลาธิการ
- ฝ่ายคลังพัสดุรวมการ (อัตราเพื่อพลาง)
- หน่วยสมทบ จำนวน 5 หน่วย
อากาศยาน
อดีตอากาศยาน
- ที-6 (บ.ฝ.8)
- ที-28ดี โทรจาน (บ.จ.13)
- เอ-37บี (บ.ท.6)
ที่ตั้ง
- กองบิน 21 มีที่ตั้งอยู่ที่ฐานบินอุบลราชธานี โดยมีฝูงบินทั้งหมดประจำการอยู่ที่นี่เช่นเดียวกัน
ภารกิจ
กองบิน 21 มีภารกิจในการเตรียมความพร้อม ทั้งด้านของ กำลังพล อาวุธ ยุทโธปกรณ์ ให้มีความพร้อมรบ และการดำเนินการปฏิบัติการใช้กำลังทางอากาศในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง รวมถึงสนับสนุนนโยบายการปฏิบัติงานของรัฐบาลในการดำเนินงานต่าง ๆ ทั้งด้านยุทธการและด้านพลเรือน[2] สนับสนุนโครงการพระราชดำริ[8] รวมถึงการบรรเทาสาธารณภัยต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของกองบิน[9]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
---|
ฐานทัพอากาศ | | |
---|
ฐานบิน | ปฏิบัติการหลัก | |
---|
ปฏิบัติการหน้า | |
---|
ปฏิบัติการกิจพิเศษ | |
---|
อื่น ๆ | |
---|
|
---|
กองบิน | |
---|
สนามบิน | |
---|
|