กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมที่เริ่มต้นในวัยผู้ใหญ่ (Adult-onset immunodeficiency syndrome) |
---|
ชื่ออื่น | Adult-onset immunodeficiency with anti-interferon-gamma autoantibodies |
---|
กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมที่เริ่มต้นในวัยผู้ใหญ่ (อังกฤษ: adult-onset immunodeficiency syndrome) เป็นชื่อเบื้องต้นของโรคภูมิคุ้มกันเสื่อมที่เพิ่งได้รับการค้นพบใหม่โรคหนึ่ง ชื่อนี้ถูกเสนอในบทรายงานการวิจัยชิ้นแรกที่ค้นพบโรคนี้แล้วเผยแพร่ต่อสาธารณะ[1] เชื่อว่าเป็นโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ มีผู้ป่วยเป็นคนเอเชียอายุประมาณ 50 ปี[2][3] เริ่มวินิจฉัยได้ตั้งแต่ ค.ศ. 2004 ส่วนมากพบในประเทศไทยและประเทศไต้หวัน
สื่อในประเทศไทยนิยมเรียกโรคนี้ว่าโรคใหม่คล้ายเอดส์[4] หรือโรคใหม่อาการคล้ายเอดส์[5]
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อมในผู้ป่วยโรคนี้ยังไม่แน่ชัด การศึกษาวิจัยที่ทำในไทยและไต้หวันพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีการติดเชื้อฉวยโอกาสมีการสร้างออโตแอนติบอดีต่ออินเตอร์เฟียรอนแกมมาขึ้นในร่างกาย ซึ่งอินเตอร์เฟียรอนแกมมานี้เป็นสารตัวกลางตัวสำคัญตัวหนึ่งในกระบวนการการกำจัดเชื้อโรคในร่างกาย ร่างกายของผู้ป่วยที่สร้างออโตแอนติบอดีต่อสารนี้จึงมีความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้น้อยกว่าปกติ จึงเกิดเป็นภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อม คณะผู้วิจัยเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเป็นโรคนี้คือเชื้อชาติ เนื่องจากผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเท่าที่มีบันทึกไว้เป็นคนเอเชีย ส่วนปัจจัยอื่นๆ ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติม[1]
อาการและอาการแสดง
ผู้ป่วยจะมีอาการของภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อม ทำให้เกิดการติดเชื้อฉวยโอกาส ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดโรคในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ โรคจากการติดเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้เช่น ติดเชื้อรา เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอกคัส ปอดอักเสบจากเชื้อราเพนิซิลเลียม วัณโรค หรือเชื้ออื่นคล้ายวัณโรค การติดเชื้อเหล่านี้ทำให้มีอาการเฉพาะโรค นอกจากอาการเฉพาะโรคจากการติดเชื้อเหล่านี้แล้วยังมีอาการทั่วไปอื่นๆ เช่น ไข้เรื้อรัง น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น
ประวัติศาสตร์
มีการสังเกตมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมีอาการคล้ายคลึงกับที่พบในผู้ป่วยเอดส์ คือ มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อฉวยโอกาส มีไข้เรื้อรัง แต่ตรวจไม่พบหลักฐานของการติดเชื้อเอชไอวี และตรวจไม่พบสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีภาวะภูมิคุ้มกันเสื่อม เช่น เบาหวาน มะเร็ง หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่นๆ ที่เป็นที่รู้จัก พบผู้ปว่ยลักษณะเช่นนี้ในประเทศไทยประมาณ 100 คน มีอาการเป็นแล้วหายแล้วกลับเป็นซ้ำอีก ไม่หายขาด
ต่อมา พ.ศ. 2547 แพทย์สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยชาวเอเชียที่มีอาการเช่นนี้จำนวนหนึ่ง สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Health, NIH) จึงได้เริ่มโครงการศึกษาวิจัยร่วมกับประเทศไทยและประเทศไต้หวัน ได้อาสาสมัครผู้ป่วยจากทั้งสองประเทศประมาณ 200 ราย อายุตั้งแต่ 18-78 ปี เก็บข้อมูลอาการเจ็บป่วย ผลการตรวจร่างกาย และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด
อ้างอิง