(ไอแคนท์เก็ตโน) แซทิสแฟคชัน

(ไอแคนท์เก็ตโน) แซทิสแฟคชัน (อังกฤษ: (I Can't Get No) Satisfaction) หรือ แซทิสแฟคชัน (Satisfaction) เป็นเพลงร็อกของเดอะโรลลิงสโตนส์ แต่งโดยคีธ ริชาร์ด และมิก แจ็กเกอร์ โปรดิวส์โดยแอนดรูว์ ลูก โอลแดม ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1965 มีเนื้อหาเกี่ยวกับความผิดหวังในเรื่องทางเพศ และเกี่ยวกับลัทธิทางการค้าในสหรัฐอเมริกา

ริชาร์ดและแจ็กเกอร์แต่งเพลงนี้ขณะพักอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองเคลียร์วอเทอร์ สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1965 [1] คืนหนึ่งริชาร์ดตื่นขึ้นมาตอนกลางดึกพร้อมกับคิดท่อนริฟฟ์กีตาร์ใหม่ขึ้นมาได้ เขาบันทึกตัวอย่างท่อนกีตาร์นั้นลงม้วนเทป และเขียนไว้ว่า "ฉันยังไม่พอใจ" (I can't get no satisfaction) แล้วกลับไปนอนต่อ [2]

ต่อมาแจ็กเกอร์ได้เขียนคำร้อง บรรยายถึงความไม่พอใจที่ขณะพักอยู่ที่นั่นทางวงไม่ได้รับอนุญาตให้ซ้อมดนตรี และวิพากษ์การค้าแบบมุ่งหวังผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ที่สัมผัสได้ว่าแตกต่างจากในบ้านเกิดของพวกเขาที่สหราชอาณาจักร ในการบันทึกเสียงจริง ริชาร์ดได้ปรับปรุงท่อนริฟฟ์เล็กน้อย เพราะกังวลว่าของเดิมนั้นคล้ายคลึงกับท่อนฮอร์นริฟฟ์ของเพลง "Nowhere To Run" ของวงอาร์แอนด์บี มาร์ธาแอนด์เดอะแวนเดลลาส มากเกินไป

เดอะโรลลิงสโตนส์บันทึกเสียงเพลงนี้เสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1965 อยู่ในอัลบัม Out of Our Heads ฉบับวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา เพลงนี้กลายเป็นเพลงฮิต เป็นเพลงแรกของวงที่ขึ้นถึงอันดับหนึ่งบิลบอร์ดฮอต 100 ส่วนในสหราชอาณาจักร ในระยะแรกเพลงนี้มีเปิดเฉพาะกับสถานีวิทยุใต้ดินเนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวกับทางเพศโจ่งแจ้ง [3] ซิงเกิลวางจำหน่ายในอังกฤษเมื่อเดือนสิงหาคมปีนั้น เป็นเพลงที่สี่ของวงที่ขึ้นถึงอันดับหนึ่งชาร์ตซิงเกิลแห่งสหราชอาณาจักร และยังขึ้นถึงอันดับหนึ่งในเยอรมนี ไอร์แลนด์

ในปี 2004 นิตยสารโรลลิงสโตนได้จัดให้เพลงนี้ติดอันดับ 2 ของ 500 อันดับเพลงยอดเยี่ยมตลอดกาล รองจากเพลง ไลค์อะโรลลิงสโตน ของบ็อบ ไดแลน[4] ในปี 2006 เพลงนี้ได้รับการบรรจุไว้ในหอทะเบียนงานบันทึกเสียงแห่งชาติ ของหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน [5]

ศิลปินที่นำผลงานเพลงนี้มาขับร้องใหม่ เช่น โอทิส เรดดิง ในปี 1966, เดโว ในปี 1977, บริตนีย์ สเปียร์ส ในปี 2000

อ้างอิง

  1. Tobin, Thomas C. "Clearwater: Can't get No Satisfaction เก็บถาวร 2008-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน". St. Petersburg Times. 23 July 2000. Retrieved on 18 December.
  2. Booth, Stanley (1994). Keith Richards: Till I Roll Over Dead. Headline Book Publishing. p. 51. ISBN 0-7472-0770-4.
  3. Nuzum, Eric (2009). Parental Advisory: Music Censorship in America. HarperCollins Publishers. ISBN 0-06-197673-3.
  4. "The RS 500 Greatest Songs of All Time". 2004-12-09. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-06-22. สืบค้นเมื่อ 2008-04-10.
  5. "The National Recording Registry 2006". The Library of Congress. March 6, 2007. สืบค้นเมื่อ March 7, 2007.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!