ไฮกุ (俳句, haiku) เป็นบทกวีญี่ปุ่น มีบทบาทมากในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไฮกุเป็นบทกวี โดยที่กวีอื่นมีความยาวมากน้อยต่างกันและมีบังคับสัมผัสตามหลักฉันทลักษณ์ ทำให้บทกวีดังกล่าวไม่เหมาะกับการแสดงออกถึงปรากฏการณ์ทางจิต-วิญญาณและความลึกซึ้งออกมาได้ เนื่องจากบทกวีได้ถูกบังคับยึดติดกับรูปแบบและข้อจำกัดตายตัว แต่บทกวีไฮกุได้ตัดทอนลงให้เหลือเพียงตัวอักษร 3 วรรค ยาว 5-7-5 รวมเป็นตัวอักษรเพียง 17 ตัวเท่านั้น ไฮกุ มีพื้นฐานคือ เรียบง่าย และ ดั้งเดิม จึงไม่ยึดติดกับแบบแผน ไม่มีข้อจำกัด ไหลเรื่อยตามธรรมชาติ สั้นกระชับที่สุด ตรงที่สุด และเป็นไปอย่างฉับพลัน ตามสภาวะสัจจะล้วนๆ เรียบง่ายและตรงความรู้สึก ออกมาจากใจของกวี โดยปราศจากอุปสรรคขวางกั้น แสดงความงาม ความเศร้า ความสงบ ความปิติ ความเก่าแก่ เปลือยเปล่าอยู่ภายใต้แสงแดดอันอบอุ่น ในวินาทีแห่งการสร้างสรรค์สิ่งอัศจรรย์ที่ไฮกุได้ถือกำเนิดขึ้น
「朝顔に釣瓶とられてもらひ水」
- อา เจ้าดอกบานเช้า
- ถังน้ำถูกเถาของเจ้าพัวพัน
- ฉันวอนขอน้ำน้อยหนึ่งได้ไหม
- --ชิโย
ในครั้งกระนั้นกวีหญิงชิโยมาตักน้ำในบ่อน้ำเธอได้พบว่าที่ตักน้ำได้ถูกเกี่ยวกระหวัดไว้ด้วยเถาของดอกบานเช้า (มอร์นิงกลอรี เธอได้ตะลึงงันด้วยความงามของมันจนลืมนึกถึงงานที่จะต้องทำ เมื่อมีสติ จึงนึกถึงภาระที่ต้องทำขึ้นมาได้ แต่เธอก็ไม่อยากจะไปรบกวนดอกไม้นั้น เธอจึงไปตักน้ำที่บ่อของเพื่อนบ้านแทน
「艸の葉を遊びありけよ露の玉」
- เริงรำจากใบหญ้าใบนี้
- สู่ใบโน้น
- หยกหยาดน้ำค้าง
- --รานเชตสุ
บทกวีรานเชตสุแสดงออกถึงความปิติรื่นเริงเบิกบานอย่างแท้จริง เมื่อชีวิตได้รับการหล่อเลี้ยงจากความงาม ย่อมเต็มเปี่ยมด้วยปิติสุข น้ำค้างเป็นตัวแทนของความปิตินี้ ไหลหยดย้อยด้วยลีลาของธรรมชาติ ดั่งการร่ายรำของหยาดน้ำค้าง จากใบหญ้าใบนี้สู่ใบโน้น น้ำค้างที่บริสุทธิสะอาดและประกายแวววับดุจหยกเมื่อต้องแสงอาทิตย์
จิตวิญญาณของกวีไฮกุ ได้ถ่ายทอดอย่างตรงไปตรงมาและมีความเกี่ยวข้องกับลัทธิเต๋าและนิกายเซนอย่างที่สุด
ประวัติไฮกุ
ไฮกุมาจากบทกวีดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกว่า ไฮไค (Haikai) หรือ เร็งกุ (Renku) ต่อมาในสมัยเอโดะ ท่านปรมาจารย์ มะสึโอะ บะโช(ค.ศ. 1644-1694) ได้ขัดเกลาและสร้างแบบแผน ซึ่งต่อมาในสมัยเมจิได้มีการเรียกการประพันธ์ในแบบนี้ว่าไฮกุ ปัจจุบันมีชาวญี่ปุ่นที่นิยมแต่งไฮกุถึง 10 ล้านคน และชาวต่างประเทศที่รักการแต่งไฮกุก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งในหมู่ชาวไทย
รายชื่อนักกวีไฮกุที่สำคัญ
อ้างอิง