โลมาปากขวด

โลมาปากขวด
ส่วนปากของโลมาปากขวดธรรมดา (T. truncatus) ที่เรียวยาวเหมือนปากขวด อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ
โลมาปากขวดอินโดแปซิฟิก (T. aduncus) จะเห็นว่ามีความแตกต่างจากโลมาปากขวดธรรมดา ตรงที่มีข้างลำตัวและด้านท้องมีจุดสีเทาเข้มขึ้นประปราย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
อันดับฐาน: Cetacea
วงศ์: Delphinidae
สกุล: Tursiops
Gervais, 1855
ชนิด

โลมาปากขวด หรือ โลมาหัวขวด (อังกฤษ: Bottlenose dolphin) เป็นสกุลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Tursiops (/ทูร์-ไซ-ออฟส์/) จัดอยู่ในวงศ์โลมามหาสมุทร (Delphinidae)

มีลำตัวสีน้ำเงินเข้มอมเทา สีจางหรือบางครั้งอมชมพูด้านท้อง จะงอยปากค่อนข้างสั้นใหญ่ครีบหลังขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นรูปโค้งอยู่กึ่งกลางหลัง รูปร่างค่อนข้างอ้วน ไม่มีลายหรือจุดประแต่ประการใด ขนาดเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 2.3-3.1 เมตร [2]

มีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง ในบางฝูงอาจพบได้ถึงหลายร้อยตัวจนถึงหลักพัน และชอบว่ายน้ำแข่งกับเรือขณะที่เรือเดินอยู่ในทะเลได้หลายไมล์[3] และมีความเร็วในการว่ายน้ำประมาณ 40.5 กิโลเมตร/ชั่วโมง[4]

โลมาปากขวด เป็นโลมาที่ฉลาด มีความแสนรู้ ขี้เล่น เป็นมิตรกับมนุษย์ จึงนิยมเลี้ยงไว้แสดงตามสวนสัตว์และสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำทั่วไป พบกระจายพันธุ์ตามทะเลเปิดและมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่นรวมถึงเขตหนาวทั่วโลก

แต่เดิมถูกแบ่งไว้เพียงชนิดเดียว คือ โลมาปากขวดธรรมดา (T. truncatus) แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1998 ได้มีการแบ่งออกเป็นอีกชนิดหนึ่ง คือ โลมาปากขวดอินโดแปซิฟิก (T. aduncus)[5] [6] โดยมีความแตกต่างกันอยู่ที่ถิ่นที่อยู่อาศัย เนื่องจากโลมาปากขวดธรรมดาจะพบในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีอากาศหนาวเย็น แต่โลมาปากขวดอินโดแปซิฟิก พบในพื้นที่ ๆ เป็นอากาศอบอุ่นและพื้นที่เขตร้อน เช่น ในประเทศไทย เป็นต้น และมีความแตกต่างกันที่สภาพกายภาพภายนอก กล่าวคือ โลมาปากขวดอินโดแปซิฟิก มีจุดสีเทาเข้มประปรายตามลำตัวด้านข้างและด้านท้อง และมีขนาดลำตัวเล็กกว่าโลมาปากขวดธรรมดา[2]

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2011 นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียได้ประกาศว่ามีโลมาปากขวดชนิดใหม่ คือ โลมาปากขวดบูร์รูนาน (T. australis) โดยพบประมาณ 150 ตัวว่ายน้ำอย่างเริงร่าบริเวณท่าเรืออ่าวฟิลลิป และทะเลสาบกิปป์สแลนด์ บริเวณชายฝั่งเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในตอนแรกคิดว่าเป็นโลมาปากขวดสองชนิดแรกที่รู้จัก แต่ทว่าเมื่อได้ทำการศึกษาลงไป พบว่ามีความแตกต่างกันทางสรีระและกะโหลกศีรษะ รวมถึงความแตกต่างกันด้านดีเอ็นเอด้วย [7]

อ้างอิง

  1. Charlton-Robb, K.; Gershwin, L.-A.; Thompson, R.; Austin, J.; Owen, K.; McKeschnie, S. 2011. A New Dolphin Species, the Burrunan Dolphin Tursiops australis sp. nov., Endemic to Southern Australian Coastal Waters. PLoS ONE 6 (9): e24047. doi:10.1371/journal.pone.0024047
  2. 2.0 2.1 "โลมาปากขวด". dmcr. 16 February 2014. สืบค้นเมื่อ 16 February 2014.[ลิงก์เสีย]
  3. หน้า 39, สัตว์สวยป่างาม (ชมรมนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล, สิงหาคม 2518)
  4. หน้า 104, ความสามารถพิเศษของสัตว์. "โลกเร้นลับของสิ่งมีชีวิต" แปลโดย ขวัญนุช คำเมือง (พิมพ์ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ มกราคม 2543) ISBN 974-472-262-2
  5. Wells, R. and Scott, M. (2002). "Bottlenose Dolphins". In Perrin, W.; Wursig, B. and Thewissen, J.. Encyclopedia of Marine Mammals. Academic Press. p. 122–127. ISBN 0-12-551340-2.
  6. Möller Luciana M., Beheregaray Luciano B. 2001. Coastal bottlenose dolphins from southeastern Australia are Tursiops aduncus according to sequences of the mitochondrial DNA control region. Marine Mammal Science 17(2): 249-263.
  7. "พบโลมาชนิดใหม่ว่ายวนใต้จมูกออสเตรเลีย". ไทยรัฐ. 19 September 2011. สืบค้นเมื่อ 16 February 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Tursiops ที่วิกิสปีชีส์

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!