โทรทัศน์ระบบดิจิทัล, โทรทัศน์ดิจิทัล, หรือ ทีวีดิจิทัล (อังกฤษ: Digital television) เป็นรูปแบบการถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงโดยกระบวนการส่งสัญญาณดิจิทัล เป็นกระบวนการที่ตรงข้ามกับการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ซึ่งใช้การแบ่งคลื่นออกเป็นหลาย ๆ ช่องสัญญาณ โทรทัศน์ดิจิทัลสามารถรองรับรายการโทรทัศน์ได้มากกว่าหนึ่งรายการในช่องแบนด์วิดท์เดียว[1] นอกจากสัญญาณภาพและเสียงแล้ว การแพร่ภาพระบบดิจิทัลยังสามารถส่งข้อมูลอื่นๆ อาทิ ผังรายการ, บทบรรยาย มาพร้อมกันได้อีกด้วย ถือเป็นนวัตกรรมด้านโทรทัศน์ที่ยิ่งใหญ่สุดนับตั้งแต่การเปลี่ยนจากโทรทัศน์ขาวดำเป็นโทรทัศน์สีในทศวรรษที่ 1950[2] ในปัจจุบัน หลาย ๆ ประเทศได้ทยอยเปลี่ยนมาใช้การแพร่ภาพแบบดิจิทัล โดยที่ในแต่ละภูมิภาคก็ใช้มาตรฐานการแพร่ภาพที่แตกต่างกันไป
กลางยุค 80 สถานีโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่นเริ่มค้นคว้าการแพร่ภาพโทรทัศน์ความละเอียดสูง อย่างไรก็ตามการแพร่ภาพโทรทัศน์ความละเอียดสูงในญี่ปุ่นนั้นได้ใช้รูปแบบ MUSE ซึ่งเป็นโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ซึ่งญี่ปุ่นได้ใช้รูปแบบนี้จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1990 อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันนั้น บริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริกของสหรัฐ ก็ได้ทดลองศึกษาความเป็นไปได้ในการแพร่ภาพสัญญาณดิจิทัล และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1990 ก็เป็นที่ประจักษ์ว่าแนวคิดในการแพร่ภาพด้วยสัญญาณดิจิทัลนั้นสามารถเป็นไปได้ และออกมากล่าวว่าระบบใหม่นี้จะมีมาตรฐานสูงกว่าระบบแอนะล็อก และทันสมัยที่สุด ซึ่งจะสามารถแพร่ภาพที่มีความละเอียดมากกว่าความละเอียดของระบบเดิมได้อย่างน้อย 2 เท่า
สำหรับในส่วนโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ปัจจุบัน การแพร่สัญญาณมาตรฐาน DVB-T เป็นที่แพร่หลายที่สุดของโลก ซึ่งมีใช้อยู่ในส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย, แอฟริกา และยุโรป ในขณะที่ในทวีปอเมริกาเหนือ และประเทศเกาหลีใต้ ใช้มาตรฐาน ATSC ส่วนในทวีปอเมริกาใต้, ประเทศญี่ปุ่น และประเทศฟิลิปปินส์ ใช้มาตรฐาน ISDB-T ส่วนประเทศจีนเป็นประเทศเดียวของโลกที่ใช้มาตรฐาน DTMB ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จีนพัฒนาขึ้นมาเอง
ดูเพิ่ม
อ้างอิง