แผ่นแสตมป์ (หรือ แสตมป์เต็มแผ่น) แผ่นกระดาษที่ประกอบไปด้วยแสตมป์อยู่ภายในและยังไม่ได้ฉีกแยกออกมา ในหนึ่งแผ่นอาจมีแสตมป์ 20, 25, 50 หรือ 100 ดวงหรือต่างจากนี้ขึ้นกับความต้องการของไปรษณีย์ของประเทศนั้น ๆ
ในอดีต แสตมป์ทุกดวงในแผ่นจะเป็นแบบเดียวกันหมด แต่ในระยะหลัง มีการพิมพ์แผ่นที่มีแสตมป์หลายแบบในแผ่นเดียวกัน เรียกว่า แผ่นแสตมป์คละแบบ (composite sheet) โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อการสะสม แสตมป์บางชุดมีการพิมพ์ทั้งแผ่นธรรมดาและแผ่นคละแบบ และแสตมป์บางชุดทุกดวงในแผ่นก็มีแบบไม่ซ้ำกันอีกด้วย
ชีท และ เพน
ในหลาย ๆ ประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา มีการจำหน่ายแผ่นแสตมป์อยู่สองแบบ คือแผ่นขนาดใหญ่เหมือนที่ออกมาจากแท่นพิมพ์ เรียกว่าชีท (sheet) ซึ่งในสหรัฐสามารถหาซื้อได้จากแผนกเกี่ยวกับการสะสมของไปรษณีย์ ส่วนที่ขายตามที่ทำการไปรษณีย์ทั่วไป ได้จากการตัดชีทออกเป็นแผ่นขนาดเล็กลง เรียกว่า เพน (pane) โดยชีทแผ่นใหญ่ (ซึ่งสะดวกในการพิมพ์) มักสามารถตัดแยกเป็น เพนแผ่นเล็ก (ซึ่งสะดวกต่อการขาย) ได้สองหรือสี่แผ่น อีกประโยชน์หนึ่งก็คือสำหรับใช้ทำสมุดตราไปรษณียากรเล่มเล็กโดยติดส่วนตรงกลางเข้ากับปก ส่วนในอีกหลายประเทศ รวมไปถึงประเทศไทย ทางโรงพิมพ์ตัดแยกเป็นแผ่นเล็กก่อนที่ส่งมายังไทย ทำให้มีแผ่นเพียงแบบเดียว จะเรียกแผ่นดังกล่าวว่า sheet ในภาษาอังกฤษ (ในภาษาไทย ชีท มักหมายถึง ชีทที่ระลึก)
บนชีท ส่วนที่อยู่ระหว่างเพนซึ่งมีรูปร่างเหมือนแสตมป์แต่ไม่มีภาพ เรียกว่า กัทเทอร์ (gutter) และเมื่อฉีกออกมาจากชีทให้มีกัทเทอร์พร้อมแสตมป์ประกบอยู่สองด้าน จะเรียกว่า กัทเทอร์แพร์ (gutter pair) ถ้ามีแสตมป์และกัทเทอร์ติดกันมากกว่านั้น เรียกว่า กัทเทอร์บล็อก (gutter block)
หลายโรงพิมพ์นิยมพิมพ์สัญลักษณ์ตรงขอบของแผ่น ทำให้เมื่อตัดชีทออกมาเป็นเพนแล้ว สามารถบอกได้ว่าเพนดังกล่าวมาจากตำแหน่งไหนในแผ่นชีท ตัวอย่างเช่นแสตมป์ของสหรัฐอเมริกาในสมัยหลัง[1] แต่ถ้าไม่การพิมพ์สัญลักษณ์เอาไว้ อาจสามารถสังเกตจากรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ลักษณะการปรุรูที่ขอบ (ปรุทะลุจนถึงขอบ หรือ ไม่มีการปรุ) เป็นต้น
รายละเอียดต่าง ๆ ที่ปรากฏบนแผ่นแสตมป์
บนแผ่นแสตมป์ นอกเหนือไปจากแสตมป์ที่อยู่ภายใน ส่วนขอบของแผ่นรอบ ๆ แสตมป์ (เรียกอีกชื่อว่าชานแสตมป์ หรือ ชานกระดาษ) มักมีการพิมพ์ข้อมูลอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น
- หมายเลขแผ่น
- เครื่องหมายระบุ แท่นพิมพ์ หรือ เพนในชีท อาจเป็นหมายเลข ตัวอักษร หรือรูปภาพ
- ชื่อโรงพิมพ์
- วันแรกจำหน่ายแสตมป์
- ครั้งที่พิมพ์
- จุดควบคุมสี เป็นเครื่องหมายเพื่อให้ตรวจสอบได้ง่ายว่า พิมพ์ครบทุกสีในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่
- ข้อความประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมให้ใส่รหัสไปรษณีย์บนจดหมาย เป็นต้น
ข้อมูลต่าง ๆ ที่ยกมาข้างบนอาจมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับชุดและโรงพิมพ์ แต่อย่างน้อยมักต้องมี หมายเลขแผ่น (ประโยชน์ในการนับ) และชื่อโรงพิมพ์
ส่วนหมายเลขแท่นพิมพ์ เพน ครั้งที่พิมพ์ และจุดควบคุมสี
รูปแบบจะขึ้นอยู่กับโรงพิมพ์ (เรียก plate number หรือ cylinder number ขึ้นกับเทคนิกการพิมพ์ว่าใช้แทนพิมพ์แบบราบหรือแบบลูกกลิ้ง) ตัวอย่างเช่น แสตมป์ของโรงพิมพ์แฮริสัน แอนด์ ซันส์ (Harrison And Sons) ใช้สัญลักษณ์ เช่น 1A, 1B, ... โดยที่หมายเลข 1 แทนพิมพ์ครั้งที่ 1 ส่วน A, B, ... แทน หมายเลขแท่นพิมพ์ หรือ เพน
การที่มีการพิมพ์ลายละเอียดรอบ ๆ แผ่นแสตมป์ ทำให้นักสะสมหลายคนนิยมสะสมแสตมป์พร้อมทั้งชานแสตมป์ โดยไม่ฉีกส่วนนั้นออก ตัวอย่างรูปแบบที่นิยมแบบหนึ่ง คือ การสะสมแสตมป์สองแถวล่าง หมายถึงมีแสตมป์ติดกันสองแถวพร้อมทั้งขอบด้านล่างของแผ่น ซึ่งในแสตมป์หลาย ๆ ชุด จะมีรายละเอียด เช่น ชื่อโรงพิมพ์ หมายเลขแผ่น ครั้งที่พิมพ์ ครบถ้วน
ตำแหน่งแสตมป์ในแสตมป์สหราชอาณาจักร
|
|
ในปัจจุบัน แสตมป์ แต่ละดวงในแผ่น (ที่ไม่ใช่คละแบบ) จะมีภาพที่เหมือนกันหมด แต่ในแสตมป์ของสหราชอาณาจักรในยุคต้น ตั้งแต่ ค.ศ. 1840 ถึง 1864 แสตมป์แต่ละดวงในแผ่นจะมีตัวอักษรบอกตำแหน่งแสตมป์ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการปลอมแปลง[2][3][4] ตัวอักษรดังกล่าวช่วยในการศึกษาแม่พิมพ์ต่าง ๆ อีกทั้งเป็นแรงดลใจให้นักสะสมพยายามแสวงหาแสตมป์ที่ตำแหน่งต่าง ๆ มาเรียงให้ครบแผ่นอีกครั้ง มาตรการกันการปลอมแปลงดังกล่าวยุ่งยากเพราะต้องใส่ตัวอักษรลงบนแม่พิมพ์แสตมป์ทีละดวง และยกเลิกเทคนิกดังกล่าวในเวลาต่อมา
ดูเพิ่ม
อ้างอิง