พอล แจ็กสัน พอลล็อก (อังกฤษ : Paul Jackson Pollock ) เป็นจิตรกรชาวอเมริกัน ยุคศตวรรษที่ 20 และเป็นผู้นำขบวนการเขียนภาพแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (abstract expressionism) ซึ่งเป็นการทำงานศิลปะโดยการหยด สาด หรือเทสีลงบนผ้าใบ โดยไม่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบศิลป์ หรือแบบแผนใด ๆ แต่ปล่อยให้จิตสำนึกเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นนั้น พอลล็อกได้รับสมญานามว่า "แจ็กเดอะดริปเปอร์" (Jack The Dripper) จากนิตยสารไทม์ ด้วยแบบอย่างการเขียนภาพที่เรียกว่า กัมมันตจิตรกรรม (action painting) ด้วยการสาด เท หยด สลัดสีลงบนผ้าใบขนาดใหญ่ แสดงถึงความเคลื่อนไหวว่องไวและมีพลัง ด้วยผลงานที่น่าสนใจและวิธีการซึ่งเป็นเอกลักษณ์นี้ ทำให้เขามีชื่อเสียง และผลงานของเขาหลาย ๆ ชิ้นมีราคาสูงหลายล้านดอลลาร์
ประวัติ
โรงนาที่แจ็กสัน พอลล็อก ใช้เป็นสตูดิโอสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ
แจ็กสัน พอลล็อก เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1912 ที่เมืองโคดี รัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา เขาเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 5 คน ในปี ค.ศ. 1912 พอลล็อกเข้าเรียนไฮสกูล ที่ Losangles's Manual Arts High School ในลอสแอนเจลิส และในปี ค.ศ. 1930 เมื่ออายุได้ราว 17 ปี เขาได้ย้ายไปที่รัฐนิวยอร์ก เพื่อเข้าศึกษาต่อที่ The Art Students League ภายใต้การสอนของทอมัส ฮาร์ต เบนตัน (Thomas Hart Benton) จิตรกรเขียนภาพฝาผนัง ผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อการวาดภาพของเขาในขณะนั้นเป็นอย่างมาก
ปี ค.ศ. 1936 พอลล็อกเข้าทำงานที่สตูดิโอของ Siqueiros ซึ่งเป็นศิลปินชาวเม็กซิกันที่ทำให้เขาได้รับอิทธิพลในการเขียนภาพในช่วงนี้ ซึ่งนิยมการแสดงออกอย่างรุนแรง และต่อมาได้รับแรงบันดาลใจจากปีกัสโซและศิลปินในลัทธิเหนือจริง (surrealism)
ในปี ค.ศ. 1941 พอลล็อกตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ติดสุรา หนักงอมแงม เขาได้อาศัยอยู่กับพี่ชาย จนภรรยาของพี่ชายไม่พอใจ ต้องพาครอบครัวและแม่ย้ายหนีไป จุดเปลี่ยนของชีวิตพอลล็อกคือการได้พบกับลี แครสเนอร์ (Lee Krasner) จิตรกรหญิงผู้เชื่อมั่นในความสามารถของพอลล็อก จากนั้นทั้งสองก็ย้ายมาสร้างสตูดิโอทำงานศิลปะด้วยกันที่ลองไอแลนด์ นิวยอร์ก ทั้งสองได้แต่งงานกัน แต่มีข้อสัญญาตกลงกันว่าพอลล็อกจะต้องเลิกดื่มเหล้าและหันมาสร้างงานศิลปะอย่างจริงจัง
ในช่วงปี ค.ศ. 1938-1944 เขาได้เข้ารับการรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง และได้ศึกษาผลงานและทฤษฎีของคาร์ล ยุง (Carl Jung) นักจิตแพทย์ชาวสวิสที่ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง ซึ่งทำให้พอลล็อกเกิดอิทธิพลกับงานของเขา งานของพอลล็อกในช่วงนี้จะแฝงไปด้วยความสงสัย และปริศนาต่าง ๆ
หลังจากที่พอลล็อกกลับมาสร้างผลงานศิลปะอีกครั้ง ผลงานของเขาจึงไปเข้าตาเพ็กกี กุกเกนไฮม์ (Peggy Guggenheim) เจ้าของหอศิลป์ใหญ่ในนิวยอร์ก กุกเกนไฮม์ยอมจัดแสดงงานเดี่ยวให้พอลล็อก แม้จะขายภาพไม่ได้เลย แต่พอลล็อกก็เริ่มเป็นที่สนใจในวงการศิลปะ และเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ค้นพบวิธีการสร้างงานรูปแบบใหม่ เมื่อต้องไปวาดผนังบ้านพักของกุกเกนไฮม์เป็นค่าตอบแทนตามสัญญา อาการเครียดและอยากเก็บตัวเริ่มเกิดขึ้นกับพอลล็อกอีกครั้ง แครสเนอร์คอยให้กำลังใจพอลล็อกอยู่เสมอ ภายหลังทั้งคู่จึงตัดสินใจหลบความวุ่นวายในเมืองและย้ายไปหาความสงบในชนบท โดยใช้โรงนาเป็นสตูดิโอสร้างสรรค์งานศิลปะ
เมื่อพอลล็อกมีเวลาเต็มที่สำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ วันหนึ่งเขาค้นพบเทคนิคการเขียนภาพแบบใหม่โดยบังเอิญ ขณะกระป๋องสีล้มใส่ภาพที่เขากำลังเขียน ต่อมาเรียกเทคนิคแบบนี้ว่า กัมมันตจิตรกรรม หรือลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม ซึ่งเป็นการสร้างงานศิลปะ โดยการหยด สาด หรือ เทสีลงบนผ้าใบ โดยไม่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบศิลป์หรือแบบแผนใด ๆ แต่ปล่อยให้จิตสำนึกของศิลปินเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นนั้น แต่พอลล็อกก็ยังยืนยันว่าผลงานศิลปะของเขาไม่ได้เกิดขึ้นโดยเหตุบังเอิญเพราะเขาสามารถควบคุมมันได้ รูปแบบงานของพอลล็อกเป็นแบบเฉพาะตัว ทำให้เขากลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง มีเงินทอง และชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ทำให้พอลล็อกรู้สึกหวั่นไหวและหวาดกลัว เขาเริ่มหันไปเที่ยวเตร่และติดเหล้างอมแงมอีกครั้ง ภายใต้ความเศร้าเสียใจที่ไม่สามารถมีลูกกับลี แครสเนอร์ได้ เพราะฝ่ายหญิงไม่ยอม เขาจึงทิ้งแครสเนอร์ และหันไปคว้าภรรยา คนใหม่ที่ชื่อ รูท หญิงสาวอ่อนวัยมาทดแทน แต่ความทุกข์ระทมในจิตใต้สำนึกของเขาก็ไม่เคยจางหาย
แจ็กสัน พอลล็อก ได้ถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1956 จากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อเขาขับรถกลับบ้านด้วยอาการเมา ที่เซาแทมป์ตัน นิวยอร์ก ขณะมีอายุ 44 ปี
อุปนิสัย
No. 5, 1948
แจ็กสัน พอลล็อก ตลอดชีวิตเขาพบแต่ความผิดหวัง เขาเป็นคนขี้โมโห อารมณ์ร้อน และไม่อดทนต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ จนครั้งหนึ่ง จิม สวีนีย์ แสดงความเห็นไว้ในบทความว่าพอลล็อกเป็นคนไม่มีหลักเกณฑ์ ทำให้พอลล็อกโมโหมาก จึงลงมือเขียนภาพ Search for a Symbol แล้วหิ้วภาพนี้ไปพบสวีนีย์ พร้อมกับพูดว่า "ผมต้องการให้คุณเห็นว่า ภาพที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร" แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่พอลล็อกเป็นคนขี้โมโห อารมณ์ร้อน และติดเหล้าอย่างหนัก ในระยะแรกก่อนที่เขาจะค้นพบตัวเอง เขาได้สร้างงานศิลปะขึ้นในแนวแอบสเตรคแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อผลงานไม่ประสบความสำเร็จ และไม่ได้รับการยอมรับ เขาจึงเก็บตัวเครียดและกินเหล้าอยู่เสมอ แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้พอลล็อกลงมือทำงานอย่างจริงจังเพื่อแสดงตัวตนและลบคำสบประมาท จนเขาได้รับการยกย่องยอมรับว่าเป็นผู้นำขบวนการเขียนภาพแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม พร้อมกับเป็นต้นแบบเทคนิคการเขียนภาพที่เรียกว่ากัมมันตจิตรกรรม
รูปแบบการทำงาน
ในปี 1944 พอลล็อกได้กล่าวถึงอิทธิพลทางความคิดต่าง ๆ ที่เขาได้รับมา ไม่ว่าจาก โทมัส ฮาร์ต เบนตัน, ศิลปะของชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองหรืออินเดียนแดง ซึ่งมีวิธีการสร้างงานศิลปะบนพื้นทราย รวมไปถึงศิลปินชื่อดังอย่างปาโบล ปีกัสโซ และมักซ์ แอนสท์ ทำให้เขาได้แรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะที่แหวกแนวสุด ๆ ในสมัยนั้น
เทคนิคการวาดภาพของเขานับว่าแปลกแหวกแนวที่สุด เขาไม่ชอบใช้แปรงหรือพู่กัน แต่นิมใช้สีกระป๋องหยดราดบนผืนผ้าใบซึ่งวางนอนราบกับพื้นห้อง ซึ่งเขามีแนวคิดว่า ไม่ต้องการความยุ่งยาก และสามารถทำให้เดินได้รอบ ๆ ผืนผ้าใบ ซึ่งวิธีการนี้คล้ายคลึงกับวิธีการของจิตรกรชาวพื้นเมืองอเมริกันทางซีกตะวันตก และกระทั่งใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น ด้ามแปรง เกรียงขนาดใหญ่ มีด ฯลฯ
ผลงานของเขาเต็มไปด้วยความรุนแรง มีความเด็ดขาดและอิสระเสรีอย่างถึงที่สุด รอยทับซับซ้อนของสีที่ถูกโรยราดบนผืนผ้าก่อให้เกิดมิติต่าง ๆ แรงเหวี่ยงสะบัดทำให้เกิดความรุนแรงของลีลา สิ่งเหล่านี้ต่างเร้าอารมณ์ผู้ชมได้อย่างดียิ่ง ซึ่งผลงานของเขานั้นได้ทำให้เกิดการพัฒนาก้าวหน้าแก่ศิลปินอเมริกันในสมัยหลังเป็นอย่างมาก
ภาพยนตร์ชีวประวัติ
เรื่องราวของพอลล็อก ถูกนำมาสร้างเป็นหนังสารคดี 2 ครั้ง ในครั้งแรกคือ Jackson Pollock ปี 1987 โดยผู้กำกับคิม อีแวนส์ อีกเรื่องหนึ่งชื่อ Jackson Pollok : Love and death on Long Island ปี 1999 โดยเทรีซา กริฟฟิทส์ เป็นประวัติชีวิตและผลงาน รวมทั้งภาพการทำงานของพอลล็อก นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์ของ ลี แครสเนอร์ และเพื่อน ๆ ศิลปินอีกด้วย
สำหรับ Pollock หนังเริ่มต้นในปี 1941 เมื่อพอลล็อก (แฮร์ริส) ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ติดเหล้างอมแงม อาศัยอยู่กับแซนดี (รอเบิร์ต นอตต์) พี่ชาย จนภรรยาของแซนดี้ไม่พอใจ ต้องพาแซนดี้และแม่ย้ายหนีไป จุดเปลี่ยนของชีวิตพอลล็อกคือการได้พบลี แครสเนอร์ (มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน) จิตรกรหญิงผู้เชื่อมั่นในความสามารถของพอลล็อก แครสเนอร์แต่งงานกับเขาโดยมีข้อตกลงว่าพอลล็อกต้องเลิกดื่มเหล้าและมุ่งมั่นสร้างงานศิลปะ ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์ซึ่งยกมาจากชีวิตจริงของเขา
"คุณค่า" ของหนังแนวชีวประวัติอย่าง Pollock ไม่ใช่การสะท้อนภาพของศิลปินซึ่งเป็นที่สนใจของผู้ชมทั่วไป แต่เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงหรือแนะนำให้รู้จักเสียมากกว่า ซึ่งแฮร์ริสก็ทำในจุดนี้ได้ดี เพราะนอกจากผู้ชมจะได้รู้จักพอลล็อกแล้ว ยังได้เห็นวิธีการทำงานศิลปะซึ่งแปลกและแตกต่างจากศิลปินคนอื่น ๆ
หนังเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากมายโดยเฉพาะถึงกับทำให้ผู้ชมติดตราตรึงใจ กับเอ็ด แฮร์ริส ผู้รับบทแสดงเป็น แจ็กสัน พอลล็อก จนหลายคนให้ทัศนคติว่า สองคนนี้ช่างมีทุกสิ่งอย่างที่คล้ายกันเหลือเกิน
ผลงานที่สำคัญ
(1942) "Male and Female" Philadelphia Museum of Art
(1943) "Moon-Woman Cuts the Circle"
(1942) "Stenographic Figure" The Museum of Modern Art
(1943) "The She-Wolf" The Museum of Modern Art
(1943) "Blue (Moby Dick)" Ohara Museum of Art
(1946) "Eyes in the Heat" Peggy Guggenheim Collection, Venice
(1946) "The Key" The Art Institute of Chicago
(1946) "The Tea Cup" Collection Frieder Burda
(1946) "Shimmering Substance", from "The Sounds In The Grass" The Museum of Modern Art
(1947) "Full Fathom Five" The Museum of Modern Art
(1947) "Cathedral"
(1947) "Enchanted Forest" Peggy Guggenheim Collection, Venice
(1948) "Painting"
(1948) "Number 5" (4ft x 8ft)
(1948) "Number 8"
(1948) "Summertime: Number 9A" Tate Modern
(1949) "Number 3"
(1950) "Number 1, 1950 (Lavender Mist)" National Gallery of Art
(1950) "Autumn Rhythm: No.30, 1950"
(1950) "One: No. 31, 1950" at the Museum of Modern Art (MoMA)
(1950) "No. 32"
(1951) "Number 7"
(1952) "Convergence" Albright-Knox Art Gallery
(1952) "Blue Poles: No. 11, 1952"
(1953) "Portrait and a Dream"
(1953) "Easter and the Totem" The Museum of Modern Art
(1953) "Ocean Greyness"
(1953) "The Deep"
อ้างอิง
กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554)หน้า 423-426.
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2545).
บาร์บารา เฮสส์. แอ็บสแตรกต์ เอกซ์เพรสชั่นนิสม์. อนิมา ทัศจันทร์ แปลจาก Abstract Expressionism (เชียงใหม่ : ไฟน์อาร์ท, 2552).
Francis W. O’Connor. Jackson Pollock (Newyork: The Museum of Modern Art, 1967).
แหล่งข้อมูลอื่น