แจง เกิดสว่าง

ยาโกเบ (เจมส์ หลุยส์) แจง เกิดสว่าง
ประมุขมิสซังจันทบุรี
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2488 – พ.ศ. 2495
ถัดไปฟรังซิส เซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 ตุลาคม พ.ศ. 2424
จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศสยาม
เสียชีวิต14 เมษายน พ.ศ. 2495 (70 ปี)
จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย
เชื้อชาติไทย
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
บุพการี
  • ยวง ล้ำ เกิดสว่าง (บิดา)

พระคุณเจ้า ยาโกเบ (เจมส์ หลุยส์) แจง เกิดสว่าง (อิตาลี: Bishop Giacomo Luigi (James Louis) Cheng) หรือ พระสังฆราชยาโกเบ เป็นมุขนายกมิสซังจันทบุรีองค์แรก ซึ่งแยกออกจากมิสซังกรุงเทพเมื่อปี พ.ศ. 2487[1] และนับเป็นบิชอปที่เป็นชาวไทยองค์แรกนับจากพระคุณเจ้าหลุยส์ ลาโน ประมุขมิสซังสยามองค์แรก ตั้งแต่สมัยอยุธยายังเป็นราชธานี

ประวัติ

พระคุณเจ้าแจง เกิดสว่าง เกิดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2424 ที่บ้านบางตีนเป็ด จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับศีลล้างบาปที่โบสถ์เซนต์ปอล แปดริ้ว ในปี 2434 พระคุณเจ้าได้เข้าศึกษาที่เซมินารีพระหฤทัย บางช้าง จนสำเร็จการศึกษาขั้นตน จากนั้นในปี พ.ศ. 2442 ได้ออกทำโปรบาซีโอ ประจำอยู่ที่เซมินารีบางช้างนั่นเอง จนกระทั่งพระคุณเจ้าได้รับศีลบรรพชาเป็นบาทหลวงเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีก 8 ท่าน โดยพระคุณเจ้าเรอเน มารี โจเซฟ แปร์รอส ผู้เป็นอาจารย์ของพระคุณเจ้าฯเอง หลังจากได้รับศีลบรรพชาแล้ว พระคุณเจ้าฯได้รับคำสั่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ดังนี้

การทำงาน

พ.ศ. 2454
โบสถ์นักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ และโบสถ์นักบุญยอแซฟ พนัสนิคม จังหวัดชลบุรี รับหน้าที่เป็นบาทหลวงผู้ช่วยของบาทหลวงจิลล์ กียู อธิการองค์ที่ 2[2] ในเวลาเดียวกัน
พ.ศ. 2455

เซมินารีพระหฤทัย บางช้าง รับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนสามเณร

พ.ศ. 2457

โบสถ์นักบุญยอแซฟ อยุธยา และโบสถ์นักบุญอันนา ปากน้ำโพ รับหน้าที่เป็นอธิการองค์ที่ 13[3]

พ.ศ. 2458

เซมินารีพระหฤทัย บางช้าง รับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนสามเณร รอบที่สอง

พ.ศ. 2467

โบสถ์พระคริสตหฤทัย วัดเพลง จังหวัดราชบุรี รับหน้าที่เป็นอธิการ

พ.ศ. 2472

โบสถ์นักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ รับหน้าที่เป็นอธิการองค์ที่ 8 ได้รื้อตัวโบสถ์หลังเดิมที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2423 แล้วดำเนินการสร้างโบสถ์หลังใหม่ลักษณะเป็นไม้ ลักษณะเป็นทรงกอทิกมียอดโดมแหลมสองข้าง

พ.ศ. 2483

โบสถ์ซางตาครู้ส กุฎีจีน กรุงเทพ รับหน้าที่เป็นบาทหลวงผู้ช่วยของบาทหลวงกีโยม กิ๊น ดาครู้ส อธิการองค์ที่ 29[4] และรับหน้าที่เป็นจิตตาธิการคณะภคินีพระหฤทัย คลองเตย องค์ที่ 4[5] ในเวลาเดียวกัน

พ.ศ. 2485

โบสถ์นักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ รับหน้าที่เป็นอธิการองค์ที่ 10 พร้อมกับขอจัดตั้งโรงเรียนประชาสงเคราะห์

พ.ศ. 2487

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ได้รับสาส์นตราตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ให้ดำรงตำแหน่งมุขนายกมิสซังจันทบุรี[6][7] ซึ่งเป็นมิสซังใหม่ที่แยกออกจากมิสซังกรุงเทพซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของมุขนายกชาวฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2212 และดำรงตำแหน่งเป็นประมุขเกียรตินามแห่งบาร์คูซูส

อภิเษกเป็นมุขนายก

โบสถ์คาทอลิกหัวไผ่หลังที่ 2 สถานที่อภิเษกพระคุณเจ้าหลุยส์ แจง เกิดสว่าง
คณะบาทหลวงผู้ทำงานให้กับมิสซังจันทบุรี สมัยพระคุณเจ้าเจมส์ หลุยส์ แจง เกิดสว่าง ถ่ายที่โบสถ์เซนต์ปอล แปดริ้ว พ.ศ. 2489

หลังจากที่ได้รับสาส์นแต่งตั้งจากสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 แล้ว ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 พิธีอภิเษกมุขนายกใหม่ได้ถูกจัดขึ้นที่โบสถ์นักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ เหตุผลที่ต้องมาประกอบพิธีอภิเษกที่นี่เพราะในเวลานั้นกรุงเทพยังมีการทิ้งระเบิดจากสงครามอยู่ ทำให้พิธีไม่สามารถกระทำได้ ณ อาสนวิหารหลักของมิสซังในขณะนั้น จึงจำเป็นต้องย้ายมากระทำที่โบสถ์คาทอลิกหัวไผ่ ซึ่งเป็นโบสถ์ที่พระคุณเจ้า เจมส์ หลุยส์ แจง เกิดสว่าง เป็นคนสร้างเองในปี พ.ศ. 2472 พระคุณเจ้าเรอเน มารี โจเซฟ แปร์รอส ประมุขมิสซังกรุงเทพเป็นประธานในพิธีอภิเษกนี้ พร้อมกับพระคุณเจ้าเฮนรี่ อัลเบิร์ต โทมิน ประมุขมิสซังลาว และบรรดาสัตบุรุษจากหลายที่มาร่วมตัวกันในงานอภิเษกนี้

ผลงาน

พระคุณเจ้าเจมส์ หลุยส์ แจง เกิดสว่าง เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านดนตรีเป็นอย่างยิ่ง ท่านมีความสามารถในการแต่งเพลงในศาสนา และการแปลเพลงต่าง ๆ เพลงที่พระคุณเจ้าประพันธ์และแปลไว้มีดังนี้ พระทัยคือที่พัก , กำยานของพระเจ้า , โอ้พระเจ้าสุดเสน่หา , โอ้พระองค์ และอีกมากมาย และท่านเป็นผู้ประพันธ์เพลงในศาสนาที่เป็นภาษาไทยเพลงแรกคือ "มารีย์แม่รัก"

ช่วงสุดท้ายของชีวิต

พิธีปลงศพพระคุณเจ้าเจมส์ หลุยส์ แจง เกิดสว่าง

หลักจากที่พระคุณเจ้าได้รับอภิเษกเป็นมุขนายกมิสซังจันทบุรีแล้วนั้น ท่านได้ใช้โบสถ์คาทอลิกหัวไผ่เป็นสถานที่พำนัก จนกระทั่งท่านป่วยเป็นโรคอัมพาตอยู่หลายปี ก็ถึงแก่มรณภาพในเช้าวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2495 ขณะอายุได้ 70 ปี พิธีศพของพระคุณเจ้าถูกจัดขึ้นอย่างสง่าในวันที่ 18 เมษายน ณ โบสถ์คาทอลิกหัวไผ่ โดยมีพระคุณเจ้าหลุยส์ เคลเมนต์ โชแรง เป็นประธานในพิธี ศพของท่านถูกบรรจุไว้ที่สุสานโบสถ์คาทอลิกหัวไผ่นี้เอง

อ้างอิง

  1. รายงานการสถาปนามิสซังจันทบุรี ค.ศ. 1945 https://www.vatican.va/archive/aas/documents/AAS-37-1945-ocr.pdf
  2. ลำดับโบสถ์นักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ http://www.pj-huaphai.org/ เก็บถาวร 2023-10-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. ลำดับอธิการโบสถ์นักบุญยอแซฟ อยุธยา https://catholichaab.com/main/index.php/1/church7/6/932-2015-12-08-03-21-43
  4. ลำดับอธิการโบสถ์ซางตาครู้ส https://catholichaab.com/main/index.php/1/church7/3/913-2015-12-08-03-11-45
  5. ลำดับจิตตาธิการอารามคณะภคิณีพระหฤทัย กรุงเทพ http://www.shb.or.th
  6. https://www.catholic-hierarchy.org/bishop/bcheng.html
  7. ประกาศแต่งตั้งพระคุณเจ้าเจมส์ หลุยส์ แจง เกิดสว่าง แห่งมิสซังจันทบุรีhttps://www.vatican.va/content/pius-xii/fr/letters/documents/hf_p-xii_lett_19441029_reggente-tailandia.html


ก่อนหน้า แจง เกิดสว่าง ถัดไป
(ภายใต้การปกครองมิสซังกรุงเทพ) มุขนายกมิสซังโรมันคาทอลิกจันทบุรี
(พ.ศ. 2487 — พ.ศ. 2495)
สงวน สุวรรณศรี

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!