แครอล รักเธอสุดหัวใจ (อังกฤษ: Carol) เป็นภาพยนตร์รักอิงประวัติศาสตร์ในปี 2015 กำกับโดยทอดด์ เฮย์เนส เขียนบทโดยฟิลลิส นากี ดัดแปลงจากนวนิยายรัก เดอะไพรซ์ออฟซอลต์ เมื่อปี 1952 โดยแพตทริเซีย ไฮสมิธ (ตีพิมพ์ซ้ำในชื่อ แครอล ในปี 1990) ภาพยนตร์แสดงนำโดยเคต แบลนเชตต์, รูนีย์ มารา, ซาราห์ พอลสัน, เจก เลซี และไคล์ แชนด์เลอร์ โดยมีฉากหลังเกิดขึ้นในนครนิวยอร์ก ระหว่างช่วงต้นทศวรรษ 1950 แครอล รักเธอสุดหัวใจ บอกเล่าความสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างช่างภาพหญิงผู้ทะเยอทะยานกับหญิงมีอายุที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการหย่าร้าง
การพัฒนาของ แครอล รักเธอสุดหัวใจ เริ่มต้นในปี 1997 เมื่อนากีเขียนบทร่างแรก ต่อมาบริษัทสัญชาติบริติช ฟิล์ม4 โปรดักชันส์ ซึ่งมีเทสซา รอสส์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารในขณะนั้น ได้ให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนา แต่ต่อมาภาพยนตร์กลับประสบกับการพัฒนาที่ยากลำบาก เนื่องจากมีปัญหาด้านเงินทุน สิทธิ ความขัดแย้งด้านตารางเวลา และความสามารถในการเข้าถึง จากนั้นนัมเบอร์ 9 ฟิล์มส์ ก็เข้ามาอำนวยการสร้าง เมื่อเอลิซาเบธ คาร์ลเซนได้รับสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องนี้ อีกทั้งยังร่วมอำนวยการสร้างโดยคิลเลอร์ฟิล์มส์ อันเป็นบริษัทที่มีรากฐานอยู่ในนิวยอร์ก ซึ่งได้เข้าร่วมการพัฒนาในปี 2013 หลังจากที่คริสทีน วาชอน ได้ทาบทามเฮย์เนสให้เป็นผู้กำกับ ภาพยนตร์เป็นการผลิตร่วมกันระหว่างประเทศสหราชอาณาจักรและสหรัฐ การถ่ายฉากสำคัญเริ่มต้นในเดือนมีนาคม 2014 ในเมืองซินซินแนติ รัฐไอโอวา และใช้เวลา 34 วัน ซึ่งผู้กำกับภาพ เอ็ดเวิร์ด ลาชแมน ถ่ายภาพยนตร์ด้วยกล้องฟิล์มซูเปอร์ขนาด 16 มม.[5][6]
แครอล รักเธอสุดหัวใจ ฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์กานเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2015 และเข้าฉายในสหรัฐเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน และในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ภาพยนตร์ทำเงินมากกว่า 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากงบประมาณการสร้าง 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางสำหรับการกำกับของเฮย์เนสและการแสดงของแบลนเชตต์และมารา อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีที่สุดในปี 2015 แครอล รักเธอสุดหัวใจ ยังได้เข้าประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำในเมืองกาน ซึ่งมาราได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม โดยเสมอกับเอมมานูแอล เบอร์คอต ทั้งนี้ ภาพยนตร์ยังได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์หกสาขา, รางวัลแบฟตาเก้าสาขา และรางวัลลูกโลกทองคำอีกห้าสาขา นอกจากนี้ ภาพยนตร์ยังได้รับรางวัลดอเรียนห้าสาขาและรางวัลจากนักวิจารณ์ภาพยนตร์นิวยอร์ก, สมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ลอสแอนเจลิส และสมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ภาพยนตร์ยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดหลายรายการและได้รับการจัดอันดับจากสถาบันภาพยนตร์อังกฤษให้เป็นภาพยนตร์แอลจีบีทีที่ดีที่สุดตลอดกาลและยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 โดยบีบีซี
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "Carol (2015)". American Film Institute. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 4, 2017. สืบค้นเมื่อ December 3, 2017.
- ↑ 2.0 2.1 "Carol (2015)". British Film Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 4, 2017. สืบค้นเมื่อ December 3, 2017.
- ↑ Abramovitch, Seth (September 25, 2015). "Killer Films' Co-Founders Christine Vachon and Pamela Koffler on Lesbian Romance 'Carol' and Indie Resilience". The Hollywood Reporter. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 28, 2015. สืบค้นเมื่อ September 27, 2015.
- ↑ "Carol". The Numbers. Nash Information Services. 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 22, 2019. สืบค้นเมื่อ May 21, 2020.
- ↑ Fauer, Jon (January 29, 2016). "Ed Lachman ASC on Super 16mm "Carol"". Film and Digital Times. สืบค้นเมื่อ March 18, 2022.
- ↑ Mulcahey, Matt (January 14, 2016). ""The Grain of Super 16 Gives the Film Another Layer": Edward Lachman on Carol". Filmmaker. สืบค้นเมื่อ March 18, 2022.
แหล่งข้อมูลอื่น