เส้นแบ่งความยากจน (อังกฤษ: poverty line) หรือ ขีดแบ่งความยากจน (อังกฤษ: poverty threshold) เป็นระดับรายได้ซึ่งถือว่าเพียงพอแก่การดำรงชีพในประเทศหนึ่ง[1] ในทางปฏิบัติ เช่นเดียวกับนิยามของความยากจน เส้นแบ่งในประเทศพัฒนาแล้วมักอยู่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา[2][3] เส้นแบ่งความยากจนนานาชาติในอดีตอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน[4] ใน ค.ศ. 2008 ธนาคารโลกได้ปรับตัวเลขนี้เป็น 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยให้เทียบกับความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (PPP) ณ ค.ศ. 2005[5]
การกำหนดเส้นแบ่งความยากจนมากจะทำโดยการหาค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของคนวัยผู้ใหญ่เฉลี่ยตลอดหนึ่งปี[6] ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มักเป็นค่าเช่าสำหรับการอยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์จึงมักให้ความใส่ใจกับตลาดอสังหาริมทรัพย์และราคาที่อยู่อาศัยว่าเป็นตัวกำหนดเส้นแบ่งความยากจนที่สำคัญ ปัจจัยในชีวิตของปัจเจกบุคคลที่นำเข้ามาพิจารณาด้วยก็ได้แก่ สถานภาพการเป็นพ่อแม่ ความชราภาพ การแต่งงาน เส้นแบ่งความยากจนอาจถูกปรับใหม่ทุกปีได้
เส้นแบ่งความยากจนประชาชาติ
ค่าประมาณการณ์เส้นแบ่งความยากจนของประเทศได้จาก ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามกลุ่มย่อยของประชากรอันได้มาจากการสำรวจครัวเรือน นิยามของเส้นแบ่งความยากจนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในประเทศที่ร่ำรวยมากจะมีมาตรฐานที่สูงกว่าประเทศที่ยากจน ดังนั้นจึงไม่อาจเปรียบเทียบตัวเลขที่แต่ละประเทศรายงานมาได้โดยตรง
ใน ค.ศ. 2010 เส้นแบ่งความยากจนในสหรัฐอเมริกาสำหรับคนที่อายุต่ำกว่า 65 ปีคือรายได้ 11,344 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี สำหรับครัวเรือนที่มีผู้ใหญ่สองคนและเด็กสองคนคือรายได้ 22,133 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี[7][8] สำนักสำมะโนประชากรสหรัฐฯ เปิดเผยว่าใน ค.ศ. 2010 มีประชากรที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15.1
ในสหราชอาณาจักร สถาบัน IPPR รายงานว่า "กว่าห้าล้านคน หรือกว่าหนึ่งในห้า (ร้อยละ 23) ของลูกจ้างทั้งหมด ได้รับค่าแรงน้อยกว่า £6.67 ต่อชั่วโมงในเดือนเมษายน ค.ศ. 2006 ... ซึ่งหากทำงาน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์จะได้รายได้ £9,191 ต่อปี (ก่อนหักภาษีและ National Insurance) "[9][10]
เส้นแบ่งความยากจนของทางการอินเดีย มีสองมาตรฐานสำหรับชนบทและในเมือง สำหรับผู้อยู่อาศัยในเมืองเส้นแบ่งความยากจนอยู่ที่ 538.60 รูปี (ราว 12 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน ในขณะที่เส้นแบ่งความยากจนในชนบทอยู่ที่ 356.35 รูปี (ราว 7.50 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเดือน[11]
ข้อวิพากษ์
การใช้เส้นแบ่งความยากจนอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีเพราะการมีรายได้มากน้อยกว่าเส้นแบ่งนั้นก็อาจไม่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ ผลแห่งความยากจนมักจะเกิดขึ้นต่อเนื่องมากกว่าจะมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน และผลแห่งรายได้ที่น้อยก็ส่งผลกระทบต่อแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ไป บางครั้งจึงมีการใช้ดัชนีความยากจนแทน
อ้างอิง
- ↑ Ravallion, Martin Poverty freak: A Guide to Concepts and Methods. Living Standards Measurement Papers, The World Bank, 1992, p. 25
- ↑ Hagenaars, Aldi & de Vos, Klaas The Definition and Measurement of Poverty. Journal of Human Resources, 1988
- ↑ Hagenaars, Aldi & van Praag, Bernard A Synthesis of Poverty Line Definitions. Review of Income and Wealth, 1985
- ↑ Sachs, Jeffrey D. The End of Poverty 2005, p. 20
- ↑ Ravallion, Martin; Chen Shaohua & Sangraula, Prem Dollar a day The World Bank Economic Review, 23, 2, 2009, pp. 163-184
- ↑ {Poverty Lines-Martin Ravallion, in The New Palgrave Dictionary of Economics, 2nd Edition, London: Palgrave Macmillan}
- ↑ "Poverty Thresholds 2010". สืบค้นเมื่อ 2012-02-05.
- ↑ US Census Bureau. "How the Census Bureau Measures Poverty". สืบค้นเมื่อ 22 December 2010.
- ↑ Working out of Poverty: A study of the low paid and the working poor by Graeme Cooke and Kayte Lawton
- ↑ "IPPR Article: "Government must rescue 'forgotten million children' in poverty"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-08-04. สืบค้นเมื่อ 2013-03-01.
- ↑ "POVERTY ESTIMATES FOR 2004-05" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2009-11-19.