เท็นโชอิง 天璋院 |
---|
เท็นโชอิง |
เกิด | 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1836(1836-02-05) คาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ ญี่ปุ่น |
---|
เสียชีวิต | 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1883(1883-11-20) (47 ปี) โตเกียว ญี่ปุ่น |
---|
สัญชาติ | ญี่ปุ่น |
---|
ชื่ออื่น | อัตสึฮิเมะ |
---|
เท็นโชอิง (ญี่ปุ่น: 天璋院; โรมาจิ: Tenshōin; 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1835 — 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1883) หรือที่รู้จักกันในนามว่า "อัตสึฮิเมะ" (ญี่ปุ่น: 篤姫; โรมาจิ: Atsuhime) เป็นมิไดโดโกโระหรือภรรยาเอกของของโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ (ญี่ปุ่น: 徳川家定; โรมาจิ: Tokugawa Iesada) โชกุนลำดับที่ 13 ของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะแห่งญี่ปุ่น
ประวัติ
เท็นโชอิงเกิดเมื่อ ค.ศ. 1835 ที่คาโงชิมะ แคว้นซัตสึมะ เดิมมีชื่อว่า "คัตสึ" (ญี่ปุ่น: 一; โรมาจิ: Katsu) เป็นบุตรสาวของของชิมาซุ ทาดาตาเกะ (ญี่ปุ่น: 島津忠剛; โรมาจิ: Shimazu Tadatake) ผู้นำของตระกูลชิมาซุแห่งอิมาอิซูมิ (ญี่ปุ่น: 今和泉島津; โรมาจิ: Imaizumi Shimazu) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของตระกูลชิมาซุที่ปกครองแคว้นซัตสึมะอยู่ในขณะนั้น มารดาคือนางยูกิ (ญี่ปุ่น: 幸; โรมาจิ: Yuki) คัตสึมีพี่ชายร่วมมารดาเดียวกันจำนวนสองคน
ในปี ค.ศ. 1853 ชิมาซุ นาริอากิระ ไดเมียวที่ปกครองแคว้นซัตสึมะอยู่ในเวลานั้น ต้องการเชื่อมสัมพันธ์และแผ่ขยายอำนาจของซัตสึมะเข้าไปในรัฐบาลโชกุน จึงรับเอาคัตสึมาเป็นบุตรสาวบุญธรรมของตนเอง เพื่อที่จะส่งไปยังนครเอโดะเพื่อแต่งงานกับโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ เมื่อได้เป็นธิดาบุญธรรมของชิมาซุ นาริอากิระแล้ว คัตสึได้รับชื่อใหม่ว่า "อัตสึโกะ" (ญี่ปุ่น: 篤子; โรมาจิ: Atsuko) หรือ "อัตสึ" และเนื่องจากอัตสึเป็นบุตรสาวบุญธรรมของไดเมียวเจ้าผู้ครองแคว้น อัตสึจึงมีฐานะเป็นฮิเมะหรือท่านหญิง หรือว่า ท่านหญิงอัตสึ หรือ อัตสึฮิเมะ อัตสึเดินทางจากเมืองคาโงชิมะมายังเมืองเอโดะและอาศัยอยู่ที่คฤหาสน์ของตระกูลชิมาซุในเอโดะ
เข้าสู่ตระกูลโทกูงาวะ
หลังจากที่พำนึกอยู่ที่เมืองเอโดะเป็นเวลาสามปี ในค.ศ. 1856 อัตสึจึงแต่งงานกับโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ เนื่องจากตามธรรมเนียมภรรยาเอกของโชกุนหรือมิไดโดโกโระในสมัยเอโดะต้องมาจากโกเซ็กเกะ (ญี่ปุ่น: 五摂家; โรมาจิ: Gosekke) หรือตระกูลผู้สำเร็จราชการทั้งห้าซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลฟูจิวาระ หรือมาจากสาขาย่อยของพระราชวงศ์ญี่ปุ่น อัตสึจึงเข้าเป็นธิดาบุญธรรมของโคโนเอะ ทาดาฮิโระ (ญี่ปุ่น: 近衛忠煕; โรมาจิ: Konoe Tadahiro) ขุนนางในราชสำนักเมืองเกียวโตซึ่งเป็นน้องเขยของชิมาซุ นาริอากิระ อัตสึได้รับชื่อใหม่อีกครั้งว่า ฟูจิวาระ โนะ ซูมิโกะ (ญี่ปุ่น: 藤原敬子; โรมาจิ: Fujiwara no Sumiko) อัตสึเข้าพิธีแต่งงานกับโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1856 ได้รับตำแหน่งเป็น มิไดโดโกโระ หรือ ภรรยาเอกของโชกุน อัตสึย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ภายในโอโอกุ (ญี่ปุ่น: 大奥; โรมาจิ: Ōoku) หรือฝ่ายในของปราสาทโชกุนอันเป็นเขตของสตรีซึ่งบุรุษอื่นใดนอกจากโชกุนไม่อาจย่างกรายเข้าไป
โชกุนอิเอซาดะนั้นขาดทายาทไว้สืบตำแหน่งโชกุน จึงเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาลโชกุนในประเด็นเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุน ฝ่ายสนับสนุนการปฏิรูปนำโดยชิมาซุ นาริอากิระ ให้การสนับสนุนแก่โทกูงาวะ โยชิโนบุ (ญี่ปุ่น: 徳川慶喜; โรมาจิ: Tokugawa Yoshinobu) ผู้นำของตระกูลโทกูงาวะสาขาฮิตตสึบาชิ (ญี่ปุ่น: 一橋; โรมาจิ: Hitotsubashi) ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำโดยอิอิ นาโอซูเกะ (ญี่ปุ่น: 井伊直弼; โรมาจิ: Ii Naosuke) ให้การสนับสนุนแก่โทกูงาวะ โยชิโตมิ (ญี่ปุ่น: 徳川慶福; โรมาจิ: Tokugawa Yoshitomi) ไดเมียวแห่งแคว้นคิอิ (ญี่ปุ่น: 紀伊; โรมาจิ: Kii) อัตสึถูกคาดหวังให้การช่วยเหลือทางการเมืองแก่ฝ่ายของชิมาซุ นาริอากิระ ด้วยการสนับสนุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ให้ขึ้นเป็นโชกุน โดยคนสนิทของอัตสึคือ อิกูชิมะ (ญี่ปุ่น: 幾島; โรมาจิ: Ikushima) คอยส่งข่าวภายในให้แก่ชิมาซุ นาริอากิระอย่างสม่ำเสมอ แต่ทว่าสตรีอื่นส่วนมากภายในโอโอะกุนั้นให้การสนับสนุนแก่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และให้การสนับสนุนแแก่โทกูงาวะ โยชิโตมิ ในการสืบทอดตำแหน่งโชกุน
หลังจากที่อัตสึใช้ชีวิตคู่สมรสกับโชกุนอิเอซาดะเป็นเวลาทั้งสิ้นหนึ่งปีเก้าเดือน โชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะถึงแก่อสัญกรรมในปีค.ศ. 1858 โดยที่มิได้มีบุตรด้วยกัน และในอีกเพียงสิบวันต่อมาบิดาบุญธรรมของอัตสึคือชิมาซุ นาริอากิระ ก็เสียชีวิตลงเช่นกัน อัตสึจึงเข้าพิธีปลงผมบวชเป็นชีตามธรรมเนียมได้รับฉายาว่า "เท็นโชอิง" (ญี่ปุ่น: 天璋院; โรมาจิ: Tenshō-in) และได้รับตำแหน่งเป็น โอมิไดโดโกโระ (ญี่ปุ่น: 大御台所; โรมาจิ: Ōmidaidokoro) หรือ ภรรยาเอกของโชกุนผู้ล่วงลับ ในสมัยเอโดะโอโอกุนั้นมีบทบาทอย่างมากในการคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งโชกุน แต่ทว่าเท็นโชอิงไม่สามารถใช้อิทธิพลทางการเมืองให้การสนับสนุนแก่โยชิโนบุได้เนื่องจากบิดาบุญธรรมของเท็นโชอิงได้ถึงแก่กรรมทำให้อำนาจของแคว้นซัตสึมะลดลงชั่วคราว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงสามารถผลักดันให้โทกูงาวะ โยชิโตมิ ขึ้นเป็นโชกุนลำดับที่ 14 ต่อมาจากโชกุนอิเอซาดะได้สำเร็จ โยชิโตมิเมื่อเข้ารับตำแหน่งโชกุนแล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็น โทกูงาวะ อิเอโมจิ (ญี่ปุ่น: 徳川慶茂; โรมาจิ: Tokugawa Iemochi) โชกุนคนใหม่เข้าฝากตัวเป็นบุตรบุญธรรมของโชกุนอิเอซาดะผู้ล่วงลับไปแล้วเพื่อให้การสืบทอดตำแหน่งเป็นไปอย่างราบรื่น เท็นโชอิงจึงอยู่ในฐานะเป็นมารดาบุญธรรมของโชกุนอิเอโมจิ อำนาจของแคว้นซัตสึมะถูกลดทอนอย่างมากในช่วงการปราบปรามปีอันเซ (ญี่ปุ่น: 安政の大獄; โรมาจิ: Ansei no taigoku) ซึ่งอิอิ นาโอซูเกะ ใช้โอกาสนี้ในการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ทำให้เท็นโชอิงห่างเหินจากตระกูลชิมาซุและแคว้นซัตสึมะ และใกล้ชิดกับตระกูลโทกูงาวะมากขึ้น
ผู้นำของโอโอกุ
ในปี ค.ศ. 1862 เพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลโชกุนและราชสำนักของพระจักรพรรดิที่เมืองเกียวโต รัฐบาลโชกุนจึงจัดให้โชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ เข้าเสกเสกสมรสกับเจ้าหญิงคาซูโนมิยะ (ญี่ปุ่น: 和宮; โรมาจิ: Kazu no miya) พระขนิษฐาในจักรพรรดิโคเม ในเวลานี้เองทางแคว้นซัตสึมะได้เชิญให้เท็นโชอิงกลับมาพำนักที่แคว้นซัตสึมะแต่เท็นโชอิงปฏิเสธคำเชิญนั้น เมื่อเจ้าหญิงคาซูโนมิยะเสด็จมาถึงปราสาทเอโดะและเข้าประทับอยู่ภายในโอโอกุแล้วนั้น ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างนางเท็นโชอิงและเจ้าหญิงคาซุในเรื่องของพิธีการ แม้ว่าเจ้าหญิงคาซูโนมิยะจะทรงมีชาติกำเนิดสูงเป็นพระขนิษฐาในพระจักรพรรดิ แต่เท็นโชอิงก็ยังมีฐานะเป็นพระสัสสุของเจ้าหญิงคาซุ ภายในโอโอกุมีการจัดที่นั่งให้ที่นั่งของเท็นโชอิงอยู่สูงกว่าและใหญ่กว่าพระอาสน์ของเจ้าหญิงคาซุ อีกทั้งเจ้าหญิงคาซุยังทรงยึดมั่นในขนมธรรมเนียมของราชสำนักเมืองเกียวโตแม้ว่าจะทรงอภิเษกเข้ามาในตระกูลของซามูไรแล้วก็ตาม ท้ายที่สุดทั้งเท็นโชอิงและเจ้าหญิงคาซุต่างปรองดองและเคารพซึ่งกันและกัน
ต่อมาในปีค.ศ. 1866 โชกุนโทกูงาวะ อิเอโมจิ ยกทัพของรัฐบาลโชกุนเข้าปราบปรามแคว้นโชชู (จังหวัดยามางูจิในปัจจุบัน) ในระหว่างสงครามโชกุนอิเอโมจิล้มป่วยจนถึงแก่อสัญกรรมที่ปราสาทโอซากะในปีนั้น เจ้าหญิงคาซุโนมิยะทรงปลงพระเกศาบวชเป็นชีได้รับพระนามว่า เซกันอิง (ญี่ปุ่น: 静寛院; โรมาจิ: Seikan-in) ทั้งนางเท็นโชอิงและพระนางเซกันอิงต่างต้องการให้ตำแหน่งโชกุนตกเป็นของโทกูงาวะ คาเมโนซูเกะ (ญี่ปุ่น: 徳川亀之助; โรมาจิ: Tokugawa Kamenosuke) ซึ่งมีอายุเพียงสามปีตามคำสั่งเสียของโชกุนอิเอโมจิ แต่รัฐบาลโชกุนมีความเห็นว่าในภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมืองไม่ควรที่จะมีโชกุนอายุน้อยเป็นผู้นำ รัฐบาลโชกุนจึงผลักดันให้โทกูงาวะ โยชิโนบุ ขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนเป็นโชกุนคนสุดท้ายของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ
ในปีต่อมาค.ศ. 1867 โชกุนโยชิโนบุสละตำแหน่งโชกุนล้มเลิกระบอบรัฐบาลโชกุนถวายอำนาจคืนแด่พระจักรพรรดิ หลังจากที่พ่ายแพ้ต่อกองทัพของซัตสึมะและโจชูในการรบที่โทบะ-ฟูชิมิ (Battle of Toba-Fushimi) ในค.ศ. 1868 อดีตโชกุนโยชิโนบุหลบหนีกลับมายังเมืองเอโดะ ไซโง ทากาโมริ (ญี่ปุ่น: 西郷隆盛; โรมาจิ: Saigō Takamori) ยกทัพของซัตสึมะซึ่งอยู่ฝ่ายพระจักรพรรดิเข้าติดตามโยชิโนบุเข้าประชิดเมืองเอโดะ เท็นโชอิงร่วมกับคัตสึ ไคชู (ญี่ปุ่น: 勝海舟; โรมาจิ: Katsu Kaishū) และพระนางเซกันอิงในการเจรจาสงบศึกกับทัพฝ่ายพระจักรพรรดิ โดยเท็นโชอิงเขียนจดหมายไปยังไซโง ทากาโมริ ในฐานะชาวแคว้นซัตสึมะเหมือนกัน ร้องขอให้ระงับการใช้กองกำลังทหารเข้ายึดครองเมืองเอโดะ และยอมจำนนยินยอมที่จะยกปราสาทเอโดะให้แก่ไซโง ทากาโมริแต่โดยดี กองทัพฝ่ายพระจักรพรรดิจึงเข้ายึดปราสาทเอโดะได้อย่างสันติปราศจากการเสียเลือดเนื้อ (ญี่ปุ่น: 無血開城; โรมาจิ: Muketsu kaijō) เท็นโชอิงนำสตรีหลายพันชีวิตภายในโอโอกุออกมาสู่โลกภายนอก เป็นการปิดฉากของโอโอกุซึ่งดำรงอยู่เคียงคู่กับรัฐบาลโชกุนมาเป็นเวลาประมาณสองร้อยห้าสิบปี
บั้นปลายชีวิต
หลังจากออกจากโอโอกุแล้วเท็นโชอิงพำนักอยู่ที่คฤหาสน์ของตระกูลโทกูงาวะที่เซ็นดางายะ (ญี่ปุ่น: 千駄ヶ谷; โรมาจิ: Sendagaya) แขวงชิบูยะในปัจจุบัน เท็นโชอิงไม่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินใด ๆ จากแคว้นซัตสึมะและไม่กลับไปที่ซัตสึมะอีกเลยตลอดชีวิต เท็นโชอิงใช้เวลาที่เหลือในบั้นปลายชีวิตดูแลหลานชายบุญธรรมคือโทกูงาวะ คาเมโนซูเกะ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โทกูงาวะ อิเอซาโตะ (ญี่ปุ่น: 徳川家達; โรมาจิ: Tokugawa Iesato) โทกูงาวะ อิเอซาโตะ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำตระกูลโทกูงาวะในสมัยเมจิ เป็นผู้นำตระกูลโทกูงาวะลำดับที่ 16 เท็นโชอิงถึงแก่กรรมที่เมืองโตเกียวในค.ศ. 1883 ขณะมีอายุได้ 48 ปี และได้รับการฝังศพไว้ที่วัดคันเอจิ (ญี่ปุ่น: 寛永寺; โรมาจิ: Kan'ei-ji) ย่านอูเอโนะในกรุงโตเกียว เคียงข้างกับร่างของโชกุนโทกูงาวะ อิเอซาดะ ผู้เป็นสามี
ภาพยนตร์
เรื่องราวของเธอได้มีการนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง "เจ้าหญิงอัตสึ" (篤姫, Atsuhime) โดยบรรษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น (NHK) ในปี พ.ศ. 2551 โดยอาศัยเค้าโครงจากนิยายอิงชีวประวัติของเธอชื่อ "เท็นโชอิงอัตสึฮิเมะ" (天璋院篤姫, Tenshō-in Atsuhime) ซึ่งประพันธ์โดย โทมิโกะ มิยาโอะ (Tomiko Miyao) เมื่อปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527)
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น