เตลกฏาหคาถา แปลว่า "บทร้อยกรองที่กล่าวในกะทะน้ำมัน" เป็นวรรณกรรมบาลีประเภทร้อยกรอง มีคาถา 100 บท แต่เป็นวสันตดิลก 14 พยางค์ล้วนๆ เนื้อหากล่าวถึงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่บทสรรเสริญพระรัตนตรัย การระลึกถึงความตาย ความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่ง และโทษของบาปเวร
ที่มา
ความเป็นมาของคาถานี้ มีอยู่ว่า เมื่อครั้งพระเจ้ากัลยาณิยติสสะ ครองเมืองกัลยาณี ณ ลังกาทวีป ระหว่างพุทธราช 237 - 238 ทรงมีพระอนุชาเป็นอุปราชเคยศึกษาเล่าเรียนในสำนักพระกัลยาณิยะเถระ จึงมีลายมือคล้ายพระเถระ ต่อมาพระอนุชาเกิดความสิเนหาในพระมเหสีของพระเชษฐาธิราช เมื่อความทราบถึงพระองค์ พระอนุชาจึงเสด็จหนีไป แต่ไม่นานนักรับสั่งให้ชายคนหนึ่งปลอมตัวเป็นพระภิกษุในสำนักพระเถระติดตามพระเถระเข้าวัง พร้อมแอบซ่อนสาส์นรักไปเฝ้าพระมเหสี เมื่อพระภิกษุตัวปลอมฉันภัตตาหารแล้วลุกขึ้น ได้แอบโยนสาส์นรักให้พระมเหสี แต่บังเอิญพระราชาทอดพระเนตรเห็น และเข้าใจว่าเป็นสาส์นของพระเถระ จึงรับสั่งให้จับพระเถรโยนใส่กะทะน้ำมันที่เดือดพล่าน [1]
ในขณะที่พระเถรถูกโยนลงไปนั้น หลับปราฏแก้วอินทนิลผุดขึ้นมาเป็นที่นั่งรองรับในกะทะน้ำมัน พระเถระได้เจริญวิปัสสนาจนบรรลุอรหันตผล เพื่อได้พิจารณากรรมเก่าของตนจึงทราบว่าในชาติก่อนเคยเป็นเด็กเลี้ยววัวและได้โยนแมลงวันตัวหนึ่งในน้ำนมที่เดือดพล่าน ครั้งนี้จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกรรมได้ ท่านจึงกล่าวคาถาเพื่อสั่งสอนเวไนยสัตว์มิให้มัวเมาประมาท ก่อนที่จะปรินิพพานในที่นัน จากนั้น พระราชารับสั่งให้ประหารชีวิตพระเถระและบุรุษนั้นเสียแล้วให้โยนศพทิ้งทะเล [2]
ทว่า ในเวลาต่อมาศาสนิกชนได้สร้างวิหารเป็นอนุสรณ์เพื่อรำลึกถึงพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ไว้ ณ สถานที่ซึ่งตั้งกะทะนั้นมันนั้น [3] และทั้งนี้ เนื่องจากท่านกล่าวคาถาในกะทะน้ำมัน จึงปรากฏนามว่า เตลกฏาหคาถา แปลว่า "บทร้อยกรองที่กล่าวในกะทะน้ำมัน"
เนื้อหา
เตลกฏาหคาถามีเนื้อหาหลักอยู่ที่การสรรเสริญพระรัตนตรัย มีบทพรรณนาพระเกียรติคุณของกษัตริย์ลังกา ในฐานะที่ทรงส่งเสริมให้พสกนิกรกระทำความดีเป็นแบบอย่าง มีการระลึกถึงความตายว่าเป็นที่สิ่งที่แน่นอนเที่ยงแท้ โดยใช้อุปมาอุปมัยทางกวีนิพนธ์ที่แหลมคมและได้ภาพพจน์ มีการกล่าวถึงพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดจนโทษของการทำบาป โดยท่านผู้ประพันธ์มุ่งเตือนสติชาวพุทธไม่ให้ประมาทในการบำเพ็ญคุณงามความดี อาทิ บทที่ 24 ที่กล่าวว่า
โภ โมหโมหิตตยา วิวโส อธญฺโญ
โลโก ปตตฺยปิ หิ มจฺจุมุเข สุภีเม
โภเค ริตึ สมุปยาติ วิหีนปญฺโญ
โทลาตรงฺคจปเล สุปิโนปเมยฺย
ชาวโลกผู้ไร้อำนาจบุญ เพราะถูกความหลงครอบงำ ย่อมตกไปสู่ปากแห่งมัจจุราชอันน่าสะพรึงกลัว คนเขลาย่อมแสวงหาความเพลิดเพลินในสมบัติพัสถานอันเปรียบเสมือนความฝัน ไม่ยั่งยืน เหมือนชิงช้าและรอกคลื่น [4]
ทั้งนี้ 3 บทแรกของเตลกฏาหคาถาเป็นการพรรณนาคุณของพระรัตนไตร ด้วยฉันลักษณะและกวีรสที่งดงามอลังการ ดังนี้
บทพรรณนาพระพุทธคุณ
โย สพฺพโลกมหิโต กรุณาธิวาโส
โมกฺขากโร รวิกุลมฺพรปุณฺณจนฺโท
เญยฺโยทธึ สุวิปุลํ สกลํ วิพุทฺโธ
โลกุตฺตมํ นมถ ตํ สิรสา มุนินฺทํ.
พระจอมมุนีที่ชาวโลกทั้งปวงบูชา ทรงเพียบพร้อมด้วยพระกรุณา เป็นบ่อเกิดแห่งความหลุดพ้น เปรียบดั่งพระจันทร์เพ็ญท่ามกลางนภาอันเป็นอาทิตยวงศ์ ทรงตรัสรู้เญยยธรรมทั้งหมดอันไพศาลดั่งมหาสมุทร เชิญท่านทั้งหลายนมัสการพระจอมมุนีผู้ประเสริฐในโลก พระองค์นั้น [5]
บทพรรณนาพระธรรมคุณ
โสปานมาล’มมลํ ติทสาลยสฺส
สํสารสาครสมุตฺตรณาย เสตุง
สพฺพาคติภยวิวชฺชิตเขมมคฺคํ
ธมฺมํ นมสฺสถ สทา มุนินา ปณีตํ.
เชิญท่านทั้งหลายนมัสการพระธรรมอันพระมุนีตรัสสอน เป็นขั้นบันไดอันหมดจดแห่งสวรรค์ ประดุจสะพานข้ามมหาสมุทรคือสงสาร และเป็นทางเกษมปลอดจากทุคคติภัยทั้งมวลทุกเมื่อ [6]
บทพรรณนาพระสังฆคุณ
เทยฺยํ ตทปฺป’มปิ ยตฺถ ปสนฺนจิตฺตา
ทตฺวา นรา ผล’มุลารตรํ ลภนฺเต
ตํ สพฺพทา ทสพเลนปิ สุปฺปสตฺถํ
สํฆํ นมสฺสถ สทามิตปุญฺญเขตฺตํ.
เชิญท่านทั้งหลายนมัสการพระสงฆ์ ผู้เป็นนาบุญหาประมาณมิได้ ซึ่งแม้พระทศพลก็ทรงสรรเสริญเป็นนิตย์ ที่มหาชนมีใจเลื่อมใสแล้วถวายไทยธรรมแม้เล็กน้อยแล้วได้รับผลบุญอันโอฬาร [7]
การแพร่หลายในประเทศไทย
จารึกเนินสระบัว พบที่เนินสระบัว ในบริเวณเมืองพระรถ ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาได้ถูกเคลื่อนย้ายมาพิงไว้ที่โคนต้นโพธิ์ใหญ่ในวัดโพธิ์ศรีมหาโพธิ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่เดิมนัก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 นายชิน อยู่ดี หัวหน้าแผนกพิพิธภัณฑ์พระนคร กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ออกสำรวจที่แหล่งโบราณคดีนี้ จึงได้พบจารึกหลักดังกล่าว และได้ทำสำเนาจารึกหลักนี้ไว้ ต่อมา ศ. ฉ่ำ ทองคำวรรณ ได้อ่าน-แปลจารึกหลักนี้ แล้วนำไปตีพิมพ์ในหนังสือชุดประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 3 ในปี พ.ศ. 2506 และ นาวาอากาศเอก แย้ม ประพัฒน์ทอง ได้อ่านและแปลใหม่อีกครั้ง แล้วนำไปตีพิมพ์ในหนังสือชุดจารึกในประเทศไทย เล่ม 1 ในปี พ.ศ. 2529 [8]
เนื้อหาในจารึกระบุมหาศักราช 683 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1304 กล่าวถึงการประดิษฐานพระพุทธศาสนา เป็นการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และการอุทิศพระโค เดิมเชื่อว่า จารึกเนินสระบัว เป็นวรรณคดีภาษาบาลี ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนักปราชญ์ในอดีตคือ พระพุทธสิริรจนาขึ้น มิได้คัดลอกมาจากคัมภีร์พระบาลี หรืออรรถกถาใด ๆ [9]
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ดร.โรหนะ ชาวศรีลังกา ได้อ่านจารึกนี้พบว่า พระบาลีสามบทในจารึกเป็นบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยตรงกับ เตลกฏาหคาถา หรือ คาถากระทะน้ำมัน ในบทที่ 2, 3 และ 4 [10]
อ้างอิง
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 7 - 13
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 7 - 13(2545)
- ↑ The Pali Literature of Ceylon หน้า 162)
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 44
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 21
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 22
- ↑ พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). หน้า 23
- ↑ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. จารึกเนินสระบัว.
- ↑ ต้องการอ้างอิง
- ↑ M. Rohanadeera
บรรณานุกรม
- พระคันธสาราภิวงศ์ (แปล). (2545). เตลกฏาหคาถา. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์สแควว์ปริ๊นซ์ 93.
- G. P. Malalasekera. (1928). The Pali Literature of Ceylon. Kandy. Buddhist Publication Society.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. จารึกเนินสระบัว. http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_detail.php?id=321[ลิงก์เสีย]
- M. Rohanadeera, "Earliest evidence of cultural relations between Sri Lanka and Dvaravati Kingdom in Thailand", Journal of the Royal Asiatic Society of Sri Lanka, New Series, Volume XLVIII, Special Number [in commemoration of the 250th anniversay of the restoration of the higher ordination, etc.], 2003, Columbo: Sri Lanka.
เตลกฏาหคาถาฉบับเต็ม
เตลกฏาหคาถา