เฉลียง (วงดนตรี)

เฉลียง
ข้อมูลพื้นฐาน
ที่เกิดกรุงเทพ ประเทศไทย
แนวเพลงป็อป, แจ๊ส, สตริง
ช่วงปี2524 - 2534
2537 - ปัจจุบัน
ค่ายเพลงเจเอสแอล
ครีเอเทีย อาร์ตติส
คีตา เรคคอร์ดส
สมาชิกวัชระ ปานเอี่ยม
นิติพงษ์ ห่อนาค
ภูษิต ไล้ทอง
เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์
ศุ บุญเลี้ยง
ฉัตรชัย ดุริยประณีต
อดีตสมาชิกสมชาย ศักดิกุล
เว็บไซต์www.chaliang.com

เฉลียง เป็นชื่อของวงดนตรีสัญชาติไทย ที่มีผลงานระหว่างปี พ.ศ. 2525 - 2534 มีอัลบั้มเป็นจำนวนทั้งหมด 6 ชุด เฉลียงเป็นวงดนตรีวงแรก ๆ ที่บุกเบิกเพลงแนวแปลกใหม่ ทั้งด้านเนื้อหาและท่วงทำนองให้กับวงการเพลงไทย มีผู้ก่อตั้งและผู้แต่งเพลงส่วนใหญ่ของวงเฉลียงคือ ประภาส ชลศรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ พวกเขาได้รับการขนานนามว่าเป็น "กลุ่มตัวโน้ตอารมณ์ดี" และ "ต้นแบบบอยแบนด์วงแรกของไทย"[1]

ที่มาของชื่อวงเฉลียง

จิก - ประภาส ชลศรานนท์ ต้องการชื่อวงดนตรีที่สื่อถึงมนุษย์ เป็นบ้าน เป็นจิตใจ และต้องการสื่อถึง ตรงกลาง ที่อยู่ระหว่างข้างนอกและข้างใน (จิตใจ) จึงนึกถึงชื่อเฉลียงที่เป็นส่วนที่เชื่อมต่อข้างนอกกับข้างในบ้าน ประกอบกับชื่อเฉลียงมีเสียงคล้ายกับ เฉียง ๆ ไม่ค่อยตรง เป็นการสะท้อนภาพ แต่ไม่ใช่สะท้อนภาพสังคม เป็นการสะท้อนภาพจิตใจ[2]

สมาชิก

แบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

ประวัติ

ยุคที่หนึ่ง

เฉลียงเกิดจากการรวมกันของกลุ่มนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย จิก - ประภาส ชลศรานนท์ และ เจี๊ยบ - วัชระ ปานเอี่ยม ทำเพลงตัวอย่างให้ ดี้ - นิติพงษ์ ห่อนาค นำไปขับร้อง ก่อนจะนำไปขอให้ เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์ อำนวยการผลิตให้

หลังจากเต๋อได้ฟังแล้วพบว่าดี้ร้องเสียงเพี้ยนต่ำไม่เหมาะกับการเป็นนักร้องนำ จึงเสนอให้เล็ก - สมชาย ศักดิกุล ที่ขณะนั้นเป็นนักดนตรีอาชีพ มาเป็นนักร้องคู่กับเจี๊ยบในผลงานชุดแรก ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งแท้จริงแล้วไม่มีชื่อชุด แต่เนื่องจากหน้าปกที่ออกแบบโดยจิกมีรูปฝน จึงถูกเรียกว่าชุด ปรากฏการณ์ฝน ตามชื่อเพลงที่ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มชุดนั้น แต่หลังจากผลงานชุดแรกออกมาไม่ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงตอบรับ มียอดขายไม่เกิน 4,000 - 5,000 ม้วน[3] เฉลียงจึงไม่ได้ออกผลงานอีกเป็นระยะเวลา 4 ปี

ยุคที่สอง

ในปี พ.ศ. 2529 จิกมีผลงานเพลงอยู่ชุดหนึ่งที่เคยมีความคิดให้เกี๊ยง - เกียรติศักดิ์ เวทีวุฒาจารย์ รุ่นน้องร่วมคณะที่เคยร่วมร้องเพลงประกอบโฆษณาที่จิกแต่ง ออกผลงานเป็นศิลปินเดี่ยว แต่เนื่องจากอุปสรรคด้านผู้สนับสนุน จึงทำให้โครงการไม่เกิดขึ้น จนกระทั่ง จุ้ย - ศุ บุญเลี้ยง หนึ่งในผู้ที่ซื้ออัลบั้ม ปรากฏการณ์ฝน ประทับใจในเพลงเที่ยวละไมที่อยู่ในอัลบั้มนั้น จึงติดต่อกับจิกเพื่อนำผลงานเพลงของตัวเองไปให้พิจารณา และไปชนกับผลงานเพลงเดี่ยวที่ถูกพับไว้ของเกี๊ยง จึงเกิดความคิดที่จะรวมตัวเป็นศิลปินคู่ในชื่อ ไปยาลใหญ่ แต่จิกยังไม่พอใจในบางเพลง จึงเสนอให้เจี๊ยบและดี้กลับมารวมวงอีกครั้งเป็นวงเฉลียงในยุคที่สอง ซึ่งเป็นยุคคลาสสิกของวง แต่เนื่องจากในหลายบทเพลงมีเสียงของแซกโซโฟน จึงได้ชักชวนให้แต๋ง - ภูษิต ไล้ทอง เพื่อนนักดนตรีเครื่องเป่าจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ที่เคยร่วมงานกันเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตมาร่วมเป็นสมาชิกวงอีกคน ก่อนจะออกผลงานชุดแรกในยุคที่สองกับค่ายครีเอเทียคือ อื่น ๆ อีกมากมาย อำนวยการดนตรีโดย ทรงวุฒิ จรูญเรืองฤทธิ์ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักฟังเพลง มีการออกแสดงคอนเสิร์ตและมิวสิกวีดีโอ และได้เคยแสดงคอนเสิร์ตถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ต้นปี พ.ศ. 2530 เฉลียงออกผลงานเพลงชุดที่สามกับค่ายคีตาแผ่นเสียงและเทป (ต่อมาคือคีตา เรคคอร์ดสและคีตา เอนเตอร์เทนเมนท์) ในชุด เอกเขนก มีเพลง เร่ขายฝัน ที่ถูกทำเป็นมิวสิกวีดีโอยาว 9 นาที และได้รับรางวัลมิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมจากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ (B.A.D. Awards) ประจำปี พ.ศ. 2530 นอกจากผลงานบทเพลงแล้ว ชื่อเสียงของเฉลียงทำให้ได้เล่นโฆษณาของน้ำอัดลมเป๊ปซี่ ซึ่งเพลงประกอบโฆษณาที่ดัดแปลงมาจากเพลง รู้สึกสบายดี ก็ได้รับรางวัลจากสมาคมผู้กำกับศิลป์กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน [4]

ปลายปี พ.ศ. 2530 เฉลียงออกผลงานเพลงชุดที่สี่คือ เฉลียงหลังบ้าน ที่ผลงานเพลงส่วนใหญ่เป็นบทเพลงประกอบละครเรื่องต่าง ๆ ที่จิกเป็นผู้แต่ง และได้จัดแสดงคอนเสิร์ต หัวบันไดไม่แห้ง ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 เป็นการปิดอัลบั้ม เฉลียงหลังบ้าน

ยุคที่สาม

หลังจากคอนเสิร์ต หัวบันไดไม่แห้ง ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตปิดอัลบั้ม เฉลียงหลังบ้าน แล้ว จุ้ยที่งานส่วนตัวเริ่มรัดตัวและดี้ที่ต้องกลับไปเป็นนักแต่งเพลงให้กับ แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ได้ตัดสินใจขอยุติบทบาทกับวง จิกจึงชักชวนให้นก - ฉัตรชัย ดุริยประณีต นักแต่งเพลงที่เคยส่งเพลงมาให้เขาพิจารณาเข้ามาเพิ่มเป็นสมาชิกอีกคนหนึ่งในเฉลียงยุคที่สาม ที่มีสมาชิก 4 คน ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2532 และมีผลงานชุดแรกในยุคที่สามคือ แบ-กบาล มิวสิกวีดีโอที่มีชื่อเสียงของชุดนี้คือ ใจเย็นน้องชาย ที่ได้รับรางวัลชมเชยประเภทมิวสิกวีดีโอดีเด่นของคณะกรรมการโทรทัศน์ทองคำ[5] เฉลียงมี คอนเสิร์ตปิดท้ายทอย ที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2532

และผลงานชุดสุดท้ายของเฉลียงซึ่งออกในปี พ.ศ. 2533 คือ ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า มีเนื้อหาหลักเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของแนวเพลงจากสวิงแจ๊สมาเป็นโฟล์กร็อก ทำให้เฉลียงได้รับรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ถึง 2 รางวัล คือรางวัลเพลงยอดเยี่ยมในเพลง โลกาโคม่า และรางวัลศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม แต่เนื่องจากภาระและหน้าที่การงานส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนทำให้การทำการตลาดและการออกแสดงคอนเสิร์ตเป็นไปได้ยาก เฉลียงจึงประกาศยุบวงในที่สุด โดยมีเพลงสุดท้ายของเฉลียงที่อยู่ในอัลบั้มตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า คือ ฝากเอาไว้[6]

ภายหลังจากออกผลงานชุดสุดท้ายในปี พ.ศ. 2533 เฉลียงยังคงมีการรวมตัวกันเล่นคอนเสิร์ตและออกผลงานเพลงเฉพาะกิจเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งกองทุนเฉลียง เพื่อมอบทุนสนับสนุนกิจกรรมการศึกษาสำหรับเด็ก

ยุคที่สี่

หลังจากออกผลงานอัลบั้มสุดท้ายคือตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า วงเฉลียงได้ยุบวงไป 3 ปี ก่อนจะกลับมารวมตัวอีกครั้งหนึ่งใน คอนเสิร์ตแก้คิดถึง...ฉลองสิบกว่าปีเฉลียง นำรายได้เพื่อการกุศล แสดงในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2537[7] ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยสมาชิก 7 คน จากทั้ง 3 ยุคขึ้นแสดงโดยพร้อมหน้ากันเป็นครั้งแรก และดี้ยังได้แต่งเพลงใหม่คือ ไม่รักแต่คิดถึง เพื่อแสดงเป็นครั้งแรกในคอนเสิร์ตนี้

วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
video icon แฟนเพลงเฉลียงปรบมือต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานในคอนเสิร์ตเรื่องราวบนแผ่นไม้ (พ.ศ. 2543) (4:05), วิดีโอยูทูบ

ต่อมาในวันที่ 2 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2543 วงเฉลียงได้มารวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตสั่งลาอีกครั้งในชื่อ คอนเสิร์ตเรื่องราวบนแผ่นไม้ แสดงที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์[8] และได้ออกผลงานอีกชุดเป็นชุดพิเศษที่มีจำหน่ายหน้าคอนเสิร์ต คือ ชุด นอกชาน ซึ่งเป็นการรวบรวมเพลงใหม่ที่แต่งมาใหม่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และในคอนเสิร์ต ดี้ในฐานะหัวหน้าวงได้ประกาศอำลาแฟนเพลงและบอกว่าจะไม่รวมตัวเล่นคอนเสิร์ตกันอีก การแสดงรอบสุดท้ายของคอนเสิร์ตนี้อาจเป็นประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีว่าเป็นคอนเสิร์ตที่ใช้เวลาหลังจากจบการแสดงยาวนานที่สุด เนื่องจากภายหลังแสดงเพลงสุดท้ายไปเรียบร้อยแล้ว แฟนเพลงเฉลียงปรบมือต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ทำให้ดี้ออกมาประกาศว่าจะไม่ลงจากเวทีจนกว่าแฟนเพลงคนสุดท้ายที่ต้องการลายเซ็นจะเดินทางกลับ นอกจากนั้นวงยังออกมาแสดงเพลง เรื่องราวบนแผ่นไม้ ซึ่งเป็นเพลงประจำคอนเสิร์ตอีกครั้งหนึ่ง โดยมีจิกซึ่งเป็นผู้แต่งร่วมร้องด้วยเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2550 สมาชิกวงเฉลียงทั้ง 6 คนใน 2 ยุคสุดหลังกลับมารวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งเพื่อจัดหารายได้ให้กับสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสนับสนุนด้านการศึกษาของคณะ มีชื่อว่า เหตุเกิดที่...เฉลียง และมีนิยามว่า "ดนตรีบำบัด ถาปัดจัด เฉลียงโชว์" ที่จุ้ยเป็นผู้ตั้ง[9] แสดงที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี จำนวน 2 รอบในวันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน เวลา 13.00 น. และ 19.00 น. โดยจิกได้แต่งเพลงใหม่สำหรับแสดงในคอนเสิร์ตนี้ คือ เธอหมุนรอบฉัน ฉันหมุนรอบเธอ [10] ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมในเวลาต่อมา[11]

พ.ศ. 2559 วงเฉลียงกลับมารวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งในชื่อ ปรากฏการณ์เฉลียง แสดงที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ในวันที่ 17 - 18 กันยายน[12][13] โดยมีเพลงใหม่ที่แสดงในคอนเสิร์ตนี้ คือ เข้าใจว่าไม่เข้าใจ, คนแปลกหน้า, ไม่นานนี้เอง

พ.ศ. 2566 วงเฉลียงกลับมารวมตัวกันจัดคอนเสิร์ตอีกครั้งในชื่อ เฉลียง Rare Item แสดงที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน ในวันที่ 26 - 27 สิงหาคม[14] และ เฉลียง Rare Item RESTAGE แสดงที่ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 9 - 11 ธันวาคม[15] โดยจิกได้แต่งเพลงใหม่สำหรับแสดงในคอนเสิร์ตนี้ คือ ยังคงเอกเขนก[14]

ผลงาน

อัลบั้ม

ปรากฏการณ์ฝน

อื่น ๆ อีกมากมาย

เอกเขนก

เฉลียงหลังบ้าน

แบ-กบาล

ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า

อีพีและซิงเกิล

บันทึกการแสดงสด

โฆษณา

  • เป๊ปซี่ (2531)
  • ลิโพวิตัน-ดี (2546)

คอนเสิร์ต

ชื่อคอนเสิร์ต วันที่ สถานที่
คอนเสิร์ตปิดอัลบั้ม อื่น ๆ อีกมากมาย 23 ตุลาคม พ.ศ. 2529 หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
คอนเสิร์ตเอกเขนกกับเฉลียง 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง
คอนเสิร์ตหัวบันไดไม่แห้ง 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
คอนเสิร์ตปิดท้ายทอย 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
คอนเสิร์ตแก้คิดถึง...ฉลองสิบกว่าปีเฉลียง 30 เมษายน พ.ศ. 2537 หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
คอนเสิร์ตเรื่องราวบนแผ่นไม้ 2 - 3 ธันวาคม พ.ศ. 2543 หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
เหตุเกิดที่...เฉลียง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550 อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี
คอนเสิร์ต โตโยต้า พรีเซนต์ ปรากฏการณ์เฉลียง 17 - 18 กันยายน พ.ศ. 2559 รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน
คอนเสิร์ต มหรสพอารมณ์ดี เฉลียงริมเล 12 กันยายน พ.ศ. 2563 สวนสาธารณะสะพานหิน จังหวัดภูเก็ต
เฉลียง Rare Item คอนเสิร์ต 26 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2566 รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน
เฉลียง Rare Item RESTAGE คอนเสิร์ต 9 - 11 ธันวาคม พ.ศ. 2566 มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

เอกลักษณ์ของคอนเสิร์ตเฉลียง

คอนเสิร์ตเฉลียงมีรูปแบบพิเศษเฉพาะตัวคือมีการพูดคุยหลังจากจบเพลง เรื่องที่คุยมันจะเป็นเรื่องหยอกล้อกันระหว่างสมาชิกภายในวง หรือวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ในสังคมในมุมมองที่แตกต่างและขบขัน แฟนเพลงเฉลียงบางส่วนที่เข้าไปชมคอนเสิร์ตจึงให้ความสนใจส่วนพูดคุยมากพอ ๆ กับการฟังเพลง นอกไปจากนั้นระหว่างการแสดงบางบทเพลง เช่น นิทานหิ่งห้อย ที่ร้องโดยจุ้ย จะมีการเล่านิทานโดยเจี๊ยบสลับระหว่างท่อน

ในยุคก่อนยุบวงรวมทั้งบางคอนเสิร์ตหลังยุบวง เฉลียงจะใช้บทเพลงอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นเพลงปิดคอนเสิร์ต โดยบางครั้ง มีการแก้เนื้อเพลงเพื่อสร้างความแปลกใจให้กับผู้ชม

เฉลียงเฉพาะกิจ

นอกจากผลงานเพลงเฉลียง 6 ชุดแล้ว เฉลียงยังคงมีผลงานอื่น ๆ ที่เฉลียงรวมตัวกันแม้จะไม่ครบวง เช่น งานเพลงประกอบภาพยนตร์ งานคอนเสิร์ต และ เพลงประกอบสารคดี

ผลงานเพลง

  • เพลง พวกเดียวกัน ในอัลบั้ม กว้างxยาว ของ เกี๊ยง (2533)
  • เพลง ชะตาชีวิต และ ไร้เดือน ในอัลบั้ม เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเทียน (2534)
  • ขอแค่คิดถึง รวมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง วอนทั้งโลกโขกหัวเธอ ที่เจี๊ยบเป็นผู้กำกับ มีผู้ร่วมงานคือ แต๋ง เกี๊ยง เจี๊ยบ และจุ้ย ประกอบด้วยเพลง
    • ขอแค่คิดถึง
    • ลุ้น
    • วอนทั้งโลกโขกหัวเธอ
    • ขอแค่คิดถึง (Acoustic Version)
    • วอนทั้งโลกโขกหัวเธอ (Acoustic Version)
    • ขอแค่คิดถึง (Saxophone Version)
    • ขอแค่คิดถึง (Orchestra Version)
  • เพลงประกอบสารคดีดนตรีเล่าเรื่อง "น้ำคือชีวิต" ตอน น้ำเป็นแหล่งกำเนิดชีวิต เฉลียงประกอบด้วยสมาชิกทั้ง 6 คนในยุครุ่งเรือง ได้แก่ เจี๊ยบ ดี้ แต๋ง เกี๊ยง จุ้ย และนก
  • เพลง ครองแผ่นดินโดยธรรม (เจี๊ยบ, เกี๊ยง, นก) (2554) - จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
  • เพลง ดาวเทียม (เจี๊ยบ, แต๋ง) (2567) - เพลงของ ว่าน - ธนกฤต พานิชวิทย์

หนังสือ

  • ประคำลูกโอ๊ค แปลโดย มนันยา จัดพิมพ์โดย กองทุนเฉลียงเพื่อมอบรายได้ให้มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ
  • เฉลียงเรื่องราวบนแผ่นไม้ (2543)
  • เฉลียงเอียงกระเท่เร่ (2566)

สิ่งสืบทอด

ทริบิวท์เฉลียง

เป็นอัลบั้มรวมเพลงที่รวบรวมศิลปินมาร้องเพลงของเฉลียง มีชื่อว่า คนอื่น ๆ อีกมากมาย ต่างบ้าน ต่างคน บนเฉลียง อำนวยการผลิตโดย โรจน์ชนา วโรภาษ ตัวอย่างศิลปินที่ขับร้อง

ละครร้องเพลงเฉลียง

บทเพลงของวงเฉลียงได้ถูกนำมาดัดแปลงใหม่เป็นละครเวทีรูปแบบละครเพลงประเภทตู้เพลง (Jukebox Musical) ถึง 3 ครั้ง ดังนี้

รางวัล

  • รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2529 มิวสิกวิดีโอดีเด่น จากเพลง "กล้วยไข่"
  • รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2530 มิวสิกวิดีโอดีเด่น จากเพลง "เร่ขายฝัน"
  • รางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2532 มิวสิกวิดีโอชมเชย จากเพลง "ใจเย็นน้องชาย"
  • สีสันอะวอร์ดส์ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2533 ศิลปินกลุ่มยอดเยี่ยม จากอัลบั้ม "ตะไคร่น้ำสุดขอบฟ้า"
  • รางวัลพิเศษ SEED HALL OF FAME รางวัลสำหรับศิลปินคุณภาพระดับตำนานที่สร้างผลงานต่อเนื่อง และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ฟังได้มีความหวัง สร้างฝันให้กับผู้คน ประสบความสำเร็จสูงสุดและยาวนาน จัดโดย คลื่นซี้ด 97.5 เอฟเอ็ม พ.ศ. 2554

อ้างอิง

  1. เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก “เฉลียง Rare Item RESTAGE” บทความโดย กวินพร เจริญศรี
  2. เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก หน้า 52
  3. เฉลียงเรื่องราวบนแผ่นไม้ หน้า 65
  4. เฉลียงเรื่องราวบนแผ่นไม้ หน้า 141-143
  5. เฉลียงเรื่องราวบนแผ่นไม้ หน้า 175
  6. เฉลียงเรื่องราวบนแผ่นไม้ หน้า 193
  7. ปฏิทินเฉลียงเดือนเมษายน เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บวงเฉลียง
  8. ปฏิทินเฉลียงเดือนธันวาคม เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บวงเฉลียง
  9. เฉลียงกลืนน้ำลายตัวเอง ขึ้นเวทีอีกครั้งเพื่อ 'ถาปัด' ข่าวจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
  10. "หน้างานคอนเสิร์ตจากเวบวงเฉลียง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-15. สืบค้นเมื่อ 2007-06-15.
  11. ‘เธอหมุนรอบฉัน’ เพลงจาก ‘เฉลียง’ ที่ ‘Scrubb’ ไม่คิดว่าจะดัง แต่กลับร้องกันได้ทุกคน
  12. "การกลับมาขึ้นเวทีคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบอีกครั้ง ของเฉลียง!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-07-15. สืบค้นเมื่อ 2021-10-05.
  13. "คอนเสิร์ต โตโยต้า พรีเซนต์ ปรากฏการณ์เฉลียง ที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-28. สืบค้นเมื่อ 2016-07-02.
  14. 14.0 14.1 "พลาดครั้งนี้ไม่รู้จะได้ดูอีกทีครั้งไหน กับคอนเสิร์ตสุดแรร์ "เฉลียง Rare Item คอนเสิร์ต"". ผู้จัดการออนไลน์. 7 สิงหาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "เฉลียงคัมแบค!! กลับมาอีกครั้งในคอนเสิร์ตใหญ่ "เฉลียง Rare Item RESTAGE"". ดาราเดลี่. 24 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  • เพลงเขียนคน ดนตรีเขียนโลก เรียบเรียงโดย สมชัยพหลกุลบุตร , ณ บ้านวรรณกรรม, ตุลาคม 2537
  • เฉลียงเรื่องราวบนแผ่นไม้, สำนักพิมพ์ แม่ขมองอิ่ม, ธันวาคม 2543

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!