เจ้าหญิงชามส์ ปาห์ลาวี (เปอร์เซีย:شمس پهلوی, ประสูติ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1917 - สิ้นพระชนม์ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996) พระราชธิดาในพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี กับสมเด็จพระราชินีตาจ อัล-โมลูก และเป็นพระเชษฐภคินีในพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ชาห์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ปาห์ลาวี และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในประเทศอิหร่าน
พระประวัติ
เจ้าหญิงชามส์ ปาห์ลาวี ประสูติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1917 ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ทรงพระราชธิดาในพระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี กับสมเด็จพระราชินีตาจ อัล-โมลูก พระองค์มีพระอนุชา 2 พระองค์ และพระขนิษฐา 1 พระองค์ คือ มกุฎราชกุมารโมฮัมหมัด เรซา เจ้าหญิงอัชราฟ ปาห์ลาวี และเจ้าชายอาลี เรซา ปาห์ลาวีที่ 1
ในระหว่างการเสด็จประพาสทวีปยุโรปใน ค.ศ. 1936 เจ้าหญิงชามส์ พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีตาจ อัล-โมลูก และพระขนิษฐา ได้ประทับอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน โดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำในขณะนั้น ได้ให้ความเป็นมิตรแก่พระราชวงศ์อิหร่านขณะที่พำนักอยู่ โดยประเทศอิหร่านในขณะนั้น เป็นหนึ่งในกว่า 10 ประเทศ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศเยอรมัน โดยมีการรับคนจำนวนมากเพื่อมาทำงานในอุตสาหกรรมตั๋วเดินทาง และศิลปศาสตร์การบิน
เสกสมรส
เจ้าหญิงชามส์ได้เสกสมรสครั้งแรกกับนายเฟเรย์ดัน แจม (Fereydoun Jam) บุตรของนายมะห์มุด แจม (Mahmood Jam) อดีตนายกรัฐมนตรีของอิหร่าน ภายใต้การคลุมถุงชนของพระราชบิดา แต่ภายหลังจากการสวรรคตของพระราชบิดา เจ้าหญิงชามส์ และพระสวามีจึงได้หย่าขาดจากกัน
ขณะที่พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี พระราชบิดา ถูกบังคับให้สละราชสมบัติ เจ้าหญิงชามส์พร้อมด้วยพระราชวงศ์จำนวนหนึ่งได้เสด็จลี้ภัยในกรุงพอร์ตลูอิส ประเทศมอริเชียส และเมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ตามลำดับ โดยขณะที่เจ้าหญิงชามได้ประทับนอกพระราชอาณาจักร เจ้าหญิงชามส์ได้เขียนบันทึกประจำวัน และได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เอตตาลาอัต (Ettela'at) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายเดือน ในปี ค.ศ. 1948
เจ้าหญิงชามส์ที่ปราศจากพระยศได้เสกสมรสอีกครั้งกับนายเมหร์ดาด ปาหร์บอด และเจ้าหญิงได้เสด็จไปประทับในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1945 จนถึง ค.ศ. 1947 อย่างไรก็ตาม ภายหลังเจ้าหญิงชามส์ และพระสวามีได้เสด็จนิวัตประเทศอิหร่านในกรุงเตหะราน ก่อนที่จะเกิดเหตุความวุ่ยวายที่เมืองอะบาดาน เจ้าหญิงชามส์มีพระโอรส-ธิดากับนายเมหร์ดาด จำนวน 3 องค์ คือ เจ้าชายชาห์บอซ ปาหร์บอด (ประสูติ ธันวาคม ค.ศ. 1946), เจ้าชายชาห์ยาร์ ปาหร์บอด (ประสูติ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1949) และเจ้าหญิงชาห์ราซาด ปาหร์บอด (ประสูติ 12 กันยายน ค.ศ. 1952)[1] ต่อมาเจ้าหญิงชามส์ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ในปี ค.ศ. 1940 และได้สร้างโบสถ์ส่วนพระองค์ที่พระตำหนักในเมืองเมหร์ชาหร์ โดยพระสวามี และพระโอรสธิดาก็หันมานับถือศาสนาคริสต์ตามพระองค์ และพระองค์เสด็จไปยังประเทศอิตาลี และนครรัฐวาติกันหลายครั้ง เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งถือเป็นประมุขแห่งคริสตจักร[2]
หลังการก่อรัฐประหารในสมัยของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ เจ้าหญิงชามส์ได้มีความขัดแย้งกับเจ้าหญิงอัชราฟ ปาห์ลาวี ซึ่งเป็นพระขนิษฐา ในเรื่องของการเป็นผู้จัดการมรดก และสมบัติมากมายที่ได้มาจากพระราชบิดา ในปลายปี ค.ศ. 1960 เจ้าหญิงได้พระราชวังโมราวิด ในเมืองการาจ ใกล้เมืองเมหร์ชาหร์ และพระตำหนักวิลล่า เมห์ราฟารีน ในเมืองคาเลาส์ จังหวัดมาซานดาราน
เสด็จเยือนไทย
เจ้าหญิงชามส์ เคยเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อวันที่ 15-19 เมษายน พ.ศ. 2507 โดยพระยาศัลวิธานนิเทศสมุหราชพระมณเฑียร เป็นผู้แทนพระองค์รับเสด็จ ณ สนามบินดอนเมือง และประทับในพระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ก่อนที่จะเสด็จไปประพาสท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหญิง และพระสวามี พร้อมด้วยบุคคลในคณะ เฝ้าทูลละอองพระบาท ณ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์[3]
สิ้นพระชนม์
ภายหลังจากการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐอิสลาม เจ้าหญิงชามส์ได้เสด็จลี้ภัย โดยประทับในสหรัฐอเมริกา และภายหลังเจ้าชามส์ได้สิ้นพระชนม์ลงด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 สิริรวมพระชนมายุได้ 79 พรรษา
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น