เจาะเวลาหาอดีต

เจาะเวลาหาอดีต
กำกับโรเบิร์ต เซเม็กคิส
เขียนบทโรเบิร์ต เซเม็กคิส
บ็อบ เกล
อำนวยการสร้างบ็อบ เกล
สตีเฟน สปีลเบิร์ก
นีล แคนตัน
แคธลีน เคนเนดี
แฟรงก์ มาร์ชาล
นักแสดงนำไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์
คริสโตเฟอร์ ลอยด์
ลีอา ธอมป์สัน
คริสพิน โกลเวอร์
โธมัส เอฟ. วิลสัน
กำกับภาพดีน คันดีย์
ตัดต่อแฮร์รี คีรามิดาส
อาร์เธอร์ ชมิดต์
ดนตรีประกอบอลัน ซิลเวสตริ
ผู้จัดจำหน่ายยูนิเวอร์ซัล พิกเจอร์ส
วันฉาย3 กรกฎาคม ค.ศ. 1985
ความยาว116 นาที
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาภาษาอังกฤษ
ทุนสร้าง19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน381.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต่อจากนี้เจาะเวลาหาอดีต ภาค 2

เจาะเวลาหาอดีต (อังกฤษ: Back to the Future) เป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1985 แนวผจญภัยวิทยาศาสตร์ ของผู้กำกับ โรเบิร์ต เซเม็กคิส ร่วมเขียนบทโดยบ็อบ เกล และอำนวยการสร้างโดยสตีเฟน สปีลเบิร์ก นำแสดงโดย ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ รับบทวัยรุ่นที่ชื่อ มาร์ตี้ แม็กฟลาย , คริสโตเฟอร์ ลอยด์ ในบทบาทนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่ชื่อ ด็อกเตอร์ เอ็มเม็ต แอล. บราวน์ , คริสพิน โกลเวอร์, ลีอา ธอมป์สัน และโทมัส เอฟ. วิลสัน โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับมาร์ตี้ แม็กฟลาย วัยรุ่นที่บังเอิญย้อนเวลากลับจากปี 1985 ไปในปี 1955 เขาได้พบกับพ่อแม่ของเขาเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ในระดับไฮสคูล และบังเอิญทำให้แม่ของเขาหลงชื่นชอบตัวมาร์ตี้ เขาต้องแก้ไขความผิดพลาดที่จะทำลายประวัติศาสตร์ที่เป็นต้นเหตุโดยทำให้พ่อแม่ของเขากลับมารักกัน ขณะเดียวกันเขาก็ต้องหาวิธีกลับไปในปี 1985 ให้ได้

เซเม็กคิสและเกล ร่วมกันเขียนบทหลังจากที่เกลคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขากับพ่อของเขาเองได้เข้าเรียนด้วยกัน หลาย ๆ สตูดิโอภาพยนตร์ปฏิเสธบทภาพยนตร์นี้ จนกระทั่งภาพยนตร์ของเซเม็กคิสเรื่อง Romancing the Stone ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้ จึงทำให้เกิดโครงการนี้โดยยูนิเวอร์ซัลพิกเจอร์ส โดยมีสปีลเบิร์ก เป็นผู้อำนวยการสร้าง เดิมทีอีริก สตอลต์ซ จะมารับบทเป็นมาร์ตี้ แม็กฟลาย แต่ในระหว่างการถ่ายทำเขาและผู้สร้างภาพยนตร์ตัดสินใจที่จะทำการคัดตัวนักแสดงใหม่ นั่นหมายถึงการถ่ายทำใหม่เช่นกัน และขั้นตอนหลังการถ่ายทำที่ต้องดำเนินให้เสร็จในวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1985 ซึ่งเป็นวันกำหนดฉาย

เมื่อออกฉาย ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จมากที่สุดในปีนั้น ด้วยรายได้รวม 380 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลกและได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดี ได้รับรางวัลออสการ์ 1 สาขา คือ สาขาลำดับเสียงยอดเยี่ยม, รางวัลฮูโกสาขาการถ่ายทอดทางด้านดราม่ายอดเยี่ยม และรางวัลแซทเทิร์น ในสาขาภาพยนตร์แต่งแนววิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม และยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาอื่นๆ, รางวัลบาฟต้า และรางวัลลูกโลกทองคำ ทั้งนี้โรนัลด์ เรแกน ยังเคยพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยในการแถลงนโยบายประจำปี 1986 และในปี 2007 หอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ได้คัดเลือกภาพยนตร์เรื่องนี้ในหอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีการออกฉายภาคต่อใน เจาะเวลาหาอดีต ภาค 2 และ เจาะเวลาหาอดีต ภาค 3 ต่อเนื่องกันในปี 1989 และ 1990 ตามลำดับ และยังมีซีรีส์แอนิเมชันทางโทรทัศน์และยานในสวนสนุก

เนื้อเรื่อง

มาร์ตี้ แม็กฟลาย วัยรุ่นอายุ 17 ปี อาศัยอยู่ที่ฮิลล์วัลเลย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เช้าวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1985 ดร. เอ็มเม็ตต์ บราวน์ (แสดงโดย ลอยด์) นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องเพื่อนต่างวัยของมาร์ตี้ โทรศัพท์มาขอนัดเขาเวลา 1:15 น. ที่ทวินไพน์สมอลล์ในเช้าวันถัดไป หลังจากเข้าชั้นเรียน เขากับแฟนที่ชื่อเจนนิเฟอร์ (คลอเดีย เวลส์) ถูกขอให้บริจาคเงินเพื่อบูรณะหอนาฬิกาที่หยุดเดินไปตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว หลังจากฟ้าผ่าลงหอนาฬิกา ในเย็นวันนั้นระหว่างเดินเข้าบ้าน เขาก็พบว่ารถของครอบครัวเขาพังไป ภายในบ้าน พ่อของเขาผู้อ่อนแอที่ชื่อจอร์จ (คริสปิน โกลเวอร์) กำลังถูกระรานจากหัวหน้าเขาที่ชื่อ บิฟฟ์ เทนเน็น (โทมัส เอฟ. วิลสัน) ที่ขอยืมรถของพวกเขาไปแล้วทำพัง ในมื้อเย็นวันนั้น แม่ของมาร์ตี้ที่ชื่อ ลอร์เรน (ลีอา ธอมป์สัน) เล่าความหลังถึงตอนที่เธอและจอร์จพบกันครั้งแรกโดยที่พ่อของเธอขับรถชนจอร์จ โดยบอกว่าจอร์จกำลังดูนกอยู่

ในคืนนั้น มาร์ตี้ได้พบด็อกตามนัดที่ลานจอดรถของทวินไพน์สมอลล์ ด็อกได้นำเสนอเดอลอรีน ดีเอ็มซี-12 ที่ดัดแปลงมาเป็นยานไทม์แมชชีน โดยให้มาร์ตี้ถ่ายทำเทปวิดีโอไว้ ด็อกอธิบายถึงโปรแกรมในการเดินทางข้ามผ่านเวลาที่ต้องให้รถวิ่งที่ความเร็ว 88 ไมล์ต่อชั่วโมงโดยใช้พลังงานพลูโตเนียมจากปฏิกิริยานิวเคลียร์เกิดพลังงาน 1.21 จิ๊กกะวัตต์ การสาธิตอธิบายการทำงานของเครื่องยนต์ ด็อกได้กดเวลาเป้าหมาย ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1955 โดยเขาอธิบายว่าเป็นวันที่เขาเกิดแนวคิดในการสร้างเครื่องแปรพลังงาน(ฟลักซ์คาพาซิเตอร์) อุปกรณ์ที่ทำให้การเดินทางข้ามเวลาเป็นไปได้ ก่อนที่ด็อกวางแผนที่จะเดินทางไปอนาคต จู่ ๆ กลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวลิเบีย ที่ด็อกไปขโมยพลูโตเนียมมา ไล่ล่าเขาด้วยรถแวนโฟล์คสวาเกน จนฆ่าเขาได้ มาร์ตี้กระโดดเข้าเดอลอรีนและถูกวิ่งกวดมาจนถึงความเร็ว 88 ไมล์ต่อชั่วโมง จึงทำให้เดินทางข้ามเวลากลับไปที่ปี ค.ศ. 1955 โดยทันที

เมื่อมาถึงปี 1955 รถวิ่งเข้าคอกสัตว์และใช้การไม่ได้ มาร์ตี้จึงซ่อนรถไว้แล้วเดินเข้าไปในเมือง เขาพบจัตุรัสในเมืองที่บ่งบอกถึงยุคสมัย 1950 และเห็นหอนาฬิกาที่ยังใช้การได้ มาร์ตี้เดินเข้าร้านกาแฟ และพบกับพ่อของเขาเองที่กำลังถูกข่มเหงจากบิฟฟ์อยู่ จากนั้นมาร์ตี้ได้ตามจอร์จ และพบว่าจอร์จกำลังปีนต้นไม้เพื่อแอบดูผู้หญิงเปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่ ไม่ใช่ดูนก จอร์จตกลงจากต้นไม้และจะถูกรถชน มาร์ตี้ผลักเขาออกไป ทำให้ตัวเองถูกรถชนแทน ซึ่งคนขับชนก็คือพ่อของลอร์เรน เมื่อพามาร์ตี้ไปพักรักษาที่บ้าน ผลคือลอร์เรนหลงรักมาร์ตี้แทนจอร์จ มาร์ตี้พยายามบ่ายเบี่ยงการเกี้ยวพาราสีจากแม่ของเขาเองและพบว่าครอบครัวของแม่เป็นครอบครัวที่เคร่งครัดเจ้าระเบียบไม่เหมือนกับแม่ของเขาที่รู้จัก เขาผละตัวจากเธอเพื่อพยายามตามหาด็อก บราวน์

รถเดอลอรีน

มาร์ตี้เข้าพบกับด็อก นักวิทยาศาสตร์ที่เห็นว่ามาร์ตี้เสียสติ มาร์ตี้พยายามทำให้ด็อกเชื่อว่าเขามาจากปี 1985 โดยเล่าเรื่องราวของด็อกถึงที่มาของการผลิตเครื่องแปรพลังงาน (ฟลักซ์คาพาซิเตอร์) และได้โชว์วิดีโอเทปการทดลองในปี 1985 อย่างไรก็ตามแต่เมื่อถึงตอนที่ด็อกตอนแก่ (ในวิดีโอ) อธิบายว่าจะต้องใช้พลังงานจำนวนมากที่ใช้เดินทางข้ามเวลาก็ทำให้เขาช็อกไป ด็อกบอกแก่มาร์ตี้ว่านอกจากพลูโตเนียม ซึ่งจะหาได้ยากแล้ว สิ่งเดียวที่มีพลังงานเท่านั้นคือ พลังงานจากฟ้าผ่าซึ่งไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ มาร์ตี้ก็นึกขึ้นได้ว่าจะมีฟ้าผ่าลงหอนาฬิกาที่จะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่จะถึง ด็อกจึงได้เริ่มวางแผนที่จะใช้ประโยชน์จากฟ้าผ่าในการส่งมาร์ตี้กลับไปยังปี 1985

นอกจากนี้ มาร์ตี้ยังพบว่ารูปถ่ายของเขากับพี่ชายและพี่สาว เริ่มมีบางอย่างผิดปกติ โดยภาพพี่ชายของเขาเริ่มจากหายไป ด็อกสรุปว่าเป็นเพราะมาร์ตี้ ช่วยพ่อของเขาจากการถูกรถชน แล้วแม่ของเขากลับมาตกหลุมรักเขาเสียเอง เป็นการทำให้อนาคตบิดเบือนไป ซึ่งเขาจะต้องแก้ไขเรื่องที่ทำพลาดไปนี้

หลังจากล้มเหลวจากความพยายามที่นัดทั้งคู่ออกเดทกัน มาร์ตี้วางแผนว่าจะพาลอร์เลนไปงานเต้นรำที่โรงเรียน (ซึ่งตรงกับเวลาที่เขาจะเดินทางกลับอนาคต) แล้วเขาจะลวนลามเธอ จากนั้นก็ให้จอร์จเข้ามาช่วย เพื่อเป็นการพิชิตใจเธอ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาตามแผนบิฟฟ์ได้เข้ามาอย่างไม่ได้คาดการณ์ไว้และให้แก๊งค์เขาจับตัวมาร์ตี้ไปขังไว้หลังรถของนักดนตรี จากนั้นบิฟฟ์เข้าไปในรถแล้วพยายามลวนลามลอร์เรน จอร์จมาพอดีตามแผนของมาร์ตี้ที่วางไว้ แต่ก็ช็อกที่เจอบิฟฟ์แทนมาร์ตี้ บิฟฟ์บอกให้เขาไปไกล ๆ แต่จอร์จไม่อาจทนได้ที่ลอร์เรนถูกลวนลาม จึงต่อยเขาเข้าเต็ม ๆ จนหมอบลงกับพื้น ลอร์เรนจึงเกิดหลงรักจอร์จที่ช่วยเหลือเขาอย่างสุภาพบุรุษก็เข้าไปงานเต้นรำ ที่ที่ทั้งสองจูบกันครั้งแรก และทำให้มาร์ตี้กลับมามีตัวตนอีกครั้งแทนที่จะเลือนหายไป

ขณะเดียวกัน ด็อกได้ใช้สายเคเบิลเชื่อมต่อกับเสาล่อฟ้าของหอนาฬิกาเข้ากับโคมไฟสองข้างถนน โดยวางแผนว่าจะให้มาร์ตี้ใช้เดอลอรีนวิ่งผ่านสายไฟที่ขึงข้ามถนนขณะที่เกิดฟ้าผ่า ก่อนที่มาร์ตี้จะไปตั้งหลัก ด็อกก็พบกับจดหมายที่มาร์ตี้เขียนขึ้นในกระเป๋าเสื้อคลุม ซึ่งเตือนเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าเขาจะถูกฆ่าตาย ด็อกฉีกจดหมายทิ้งทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้อ่าน และอธิบายว่ามันอาจเป็นอันตรายต่ออนาคต มาร์ตี้จึงปรับเปลี่ยนเวลาที่จะย้อนกลับให้เร็วขึ้นกว่าเดิม 10 นาที เพื่อหวังว่าเมื่อกลับถึงอนาคตแล้วเขาจะมีเวลาเตือนด็อกเพื่อไม่ให้ถูกยิง หลังจากที่มาถึงอนาคต รถก็ใช้การไม่ได้อีก มาร์ตี้จึงมาถึงลานจอดรถช้าเกินไปที่จะช่วยด็อก ขณะที่มาร์ตี้ร้องไห้อยู่ ร่างของด็อกก็ลุกขึ้นและรูดซิปเสื้อกันกัมมันตภาพรังสีออก โชว์ให้เห็นเสื้อเกราะกันกระสุน ด็อกได้ให้มาร์ตี้ดูจดหมายที่มาร์ตี้เขียนไว้ในอดีตที่ทำมาปะติดใหม่ด้วยเทป จากนั้นด็อกตัดสินใจเดินทางข้ามเวลาไปยังอนาคตในอีก 30 ปีข้างหน้า

ในเช้าวันต่อมา มาร์ตี้พบว่าฐานะของครอบครัวเปลี่ยนไป ลอร์เรนดูหุ่นดีและดูไม่จู้จี้จุกจิก จอร์จเป็นนักประพันธ์ที่ดูมีความมั่นใจ ส่วนบิฟฟ์ก็ได้รับใช้จอร์จแทน ส่วนเจนนิเฟอร์กับมาร์ตี้ก็กลับมาเจอกันอีกครั้ง ด็อกมาพบทั้งคู่ด้วยท่าทีลนลาน บอกว่าเขากลับมาจากอนาคตและจะพาพวกเขาทั้งคู่ไปอนาคตด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูก ๆ ในอนาคตของทั้งสอง ฉากจบของเรื่อง รถเดอลอรีนได้เพิ่มสมรรถนะให้บินได้ และหายไปกับอนาคต

การพัฒนา

การเขียนบท

ผู้เขียนบทและผู้สร้าง บ็อบ เกล เกิดแนวคิดขึ้นหลังจากที่กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ของเขาที่ เซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี เขาพบรถเก่าที่ใต้ดินของที่บ้าน เกลพบหนังสือรุ่นของพ่อเขาและพบว่าพ่อของเขาเป็นประธานนักเรียนของชั้นด้วย เกลจึงนึกถึงประธานนักเรียนรุ่นเขาเองที่เขาไม่ได้สุงสิงอะไรด้วยเลย[1] เขาก็นึกเล่น ๆ ถ้าเขาเป็นเพื่อนกับพ่อเขาและไปเรียนด้วยกันตอนเรียนไฮสคูล จะเป็นอย่างไร เมื่อเขากลับไปแคลิฟอร์เนีย ก็ได้เล่าให้โรเบิร์ต เซเม็กคิส เกี่ยวกับแนวคิดใหม่นี้[2] เซเม็กคิสก็นึกถึงเรื่องของแม่เขาที่ว่า เธอไม่เคยจูบผู้ชายเลยเมื่อสมัยเรียนไฮสคูล ซึ่งในชีวิตจริงเธอก็ผ่านมาโชกโชน[3] ทั้งคู่นำไปเสนอกับโคลัมเบียพิกเจอร์ส และได้พัฒนาบทในเดือนกันยายน ค.ศ. 1980[2]

เซเม็กคิสและเกลได้กำหนดเรื่องราวในปี 1955 มีวิธีคิด กล่าวคือ คนอายุ 17 ปี กลับไปหาพ่อแม่เขาในอดีตเพื่อพบกับพ่อแม่ของเขาในวัยเดียวกับเขา ในยุคนั้นเป็นต้นกำเนิดของเพลงร็อกแอนด์โรล เป็นยุคที่สื่อให้ความสนใจกับวัยรุ่น พลังในการจับจ่ายใช้สอย และเป็นยุคการขยายตัวอยู่อาศัยในเขตชานเมือง ที่มีกลิ่นอายอยู่ในเรื่องราว[4] มาร์ตี้ในฉบับดั้งเดิมเป็นพวกทำวิดีโอเถื่อน ส่วนไทม์แมชชีนเป็นตู้เย็น ที่เขาต้องการพลังงานระเบิดจากการทดลองที่เนวาดาเทสต์ไซต์ ที่จะนำพาเขากลับบ้าน เซเม็กคิสตระหนักว่า "อาจจะมีเด็กที่ขังตัวเองในตู้เย็นก็ได้" และฉากสำคัญที่สุดในเรื่องก็ดูใช้เงินเยอะเกินไป รถเดอลอรีนที่ใช้เป็นไทม์แมชชีนได้ถูกคัดเลือกและออกแบบมาเพราะจะใส่มุขเกี่ยวกับครอบครัวที่ว่า ชาวไร่เข้าใจผิดว่ามันคือจานบิน นักเขียนได้เชื่อมความสัมพันธ์ในความเป็นเพื่อนข้ามวัยของมาร์ตี้กับด็อก บราวน์ ค่อนข้างยาก โดยเชื่อมเรื่องราวว่า พวกเขาสร้างแอมป์กีตาร์ขนาดใหญ่ขึ้นมา ส่วนฉากความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับมาร์ตี้ในอดีต พวกเขาเขียนคำพูดว่า "มันเป็นจูบที่เหมือนเธอจูบน้องชายเขา" ส่วนบิฟฟ์ แทนเน็นตั้งชื่อตามเน็ด เทเน็น ตำแหน่งยูนิเวอร์ซัลเอกคูทีฟ ที่ดูก้าวร้าวกับเซเม็กคิสและเกลขณะที่พบกันระหว่างเขียนบทให้ภาพยนตร์เรื่อง I Wanna Hold Your Hand[3]

โครงร่างแรกของ เจาะเวลาหาอดีต เสร็จสิ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1981 โคลัมเบียพิกเจอร์สต้องการให้ปรับเปลี่ยนและขายต่อ "พวกเขาคิดว่า มันค่อนข้างดี, น่ารัก, หนังอบอุ่น แต่ยังขาดเรื่องทางเพศไป" เกลพูด "พวกเขาแนะนำว่า ควรนำหนังไปให้ดิสนีย์ แต่พวกเขาตัดสินใจ ที่จะส่งไปสตูดิโอใหญ่อื่นที่ต้องการพวกเขา[2] ทุกค่าย ทุกสตูดิโอใหญ่ ๆ ปฏิเสธบทนี้ ขณะที่พวกเขายังพัฒนาอีก 2 บทร่าง ระหว่างต้นยุค 1980 ด้วยความนิยมของคอเมดี้วัยรุ่น (อย่างเช่น Fast Times at Ridgemont High และ Porky's) ที่มีเนื้อหาทะลึ่งตึงตัง ดังนั้นบทภาพยนตร์ก็ถูกปฏิเสธไปเนื่องจากเนื้อหาเบาไป[3] เกลและเซเม็กคิสตกลงที่จะเสนอ เจาะเวลาหาอดีต ให้ทางดิสนีย์ "พวกเขาบอกว่า แม่ตกหลุมรักลูกชายของตัวเอง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับภาพยนตร์ครอบครัว ภายใต้แบรนด์ของดิสนีย์" เกล พูด[2]

ทั้งคู่พยายามเข้าหาสตีเวน สปีลเบิร์ก ที่เป็นผู้สร้างให้กับ Used Cars และ I Wanna Hold Your Hand ที่ล้มเหลวทั้งสองเรื่อง สปีลเบิร์กได้ห่างหายจากโครงการไปเพราะเซเม็กคิสทำล้มเหลว เพราะถ้ามันล้มเหลวอีกก็อยู่ภายใต้ชื่อเขา เขาจะไม่สามารถที่จะสร้างหนังได้อีก เกลพูดว่า "เรากลัวว่า เราจะได้ชื่อเสียงจากเพราะเราสองคนที่แค่ทำงานได้เพราะว่าเราเป็นเพื่อนกับสตีเวน สปีลเบิร์ก"[5] มีผู้สร้างคนหนึ่งสนใจแต่เปลี่ยนใจเมื่อรู้ว่าสปีลเบิร์กไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เซเม็กคิสจึงเลือกที่จะกำกับ Romancing the Stone แทน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิสเป็นอย่างดี ทำให้เขามีประวัติดี น่าเชื่อถือ เซเม็กคิสจึงเข้าหาสปีลเบิร์กด้วยแนวคิดนี้ โครงการนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้สตูดิโอ ยูนิเวอร์ซัลพิกเจอร์ส[3]

ซิดนีย์ ชีนเบิร์ก ผู้บริหารได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับบทว่า ให้เปลี่ยนชื่อแม่ของมาร์ตี้ จากเม็ก เป็น ลอร์เรน (ตามชื่อภรรยาเขา ที่เป็นนักแสดงที่ชื่อ ลอร์เรน แกรี) และเปลี่ยนสัตว์เลี้ยงของด็อกบราวน์จากลิงชิมแพนซี เป็นสุนัข[3] ชีนเบิร์กต้องการให้เปลี่ยนชื่อเป็น Spaceman from Pluto แต่ก็ไม่สำเร็จ แต่เขาก็แนะนำว่าน่าจะให้มาร์ตี้แนะนำตัวเขาเองว่าเป็น "ดาร์ธ เวเดอร์ จาก ดาวพลูโต" ขณะที่ชุดแต่งให้แต่งตัวเหมือนมนุษย์ต่างดาว (ดีกว่ามาจากดาว วัลแคน) และที่ชาวนาโชว์การ์ตูนเป็น Spaceman from Pluto แทนที่จะเป็น Space Zombies from Pluto สปีลเบิร์กส่งข้อความกลับไปชีนเบิร์กว่า ที่เขาพยายามโน้มน้าวให้เปลี่ยนชื่อนี่คือเรื่องตลกใช่มั๊ย ดังนั้นเขาจึงยกเลิกแนวคิดนี้ไป[6]

การคัดเลือกนักแสดง

ภาพการทดลองยานไทม์แมชชีน รับบทเป็นมาร์ตี้ แม็กฟลาย โดยอีริก สตอลต์ซ

ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ เป็นตัวเลือกแรกสำหรับบทมาร์ตี้ แม็กฟลาย แต่เขาได้ตอบรับที่จะแสดงในซีรีส์ Family Ties ไปแล้ว[7] แกรี เดวิด โกลด์เบิร์ก ผู้สร้างโชว์รู้สึกว่าฟ็อกซ์มีความจำเป็นสำหรับความสำเร็จของซีรีส์นี้และจะทำให้สับสนถ้าเขาประสบความสำเร็จจากโชว์ ภาพยนตร์กำหนดออกฉายเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1985 และในช่วงปลายปี 1984 เมื่อรู้ว่าฟ็อกซ์ไม่สามารถแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้[3] ตัวเลือกอีก 2 คนของเซเม็กคิสคือ ซี. โทมัส ฮาวเวลล์ และ อีริก สตอลต์ซ ซึ่งภายหลังได้ทำให้ผู้สร้างประทับใจกับบท รอย แอล. เดนนิส ในเรื่อง Mask พวกเขาเลือกอีริก สตอลต์ซมารับบทเป็นมาร์ตี้ แม็กฟลาย[1] แต่ด้วยเพราะความยุ่งยากในขั้นตอนคัดเลือกนักแสดง ทำให้วันออกฉายเลื่อนไป 2 หน[8]

ในระหว่างการถ่ายทำ 4 อาทิตย์ เซเม็กคิสตัดสินใจดึงสตอลต์ซออกจากภาพยนตร์ ถึงแม้ว่าเขาและสปีลเบิร์กจะรู้ดีว่าจะต้องถ่ายทำใหม่ซึ่งจะต้องใช้งบเพิ่มอีก 3 ล้านถึง 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เขาตัดสินใจคัดเลือกตัวนักแสดงใหม่ สปีลเบิร์กอธิบายเซเม็กคิสที่รู้สึกกับสตอลต์ซว่า ขาดอารมณ์ขันและ "มีการแสดงที่เลวร้าย" เกลอธิบายเพิ่มว่า สตอลต์ซแค่แสดงไม่สมบทบาท ขณะที่ฟ็อกซ์ด้วยตัวเขาเองแล้วบุคลิกเหมือน มาร์ตี้ แม็กฟลาย เขารู้สึกว่าสตอลต์ซดูไม่เหมาะกับการเล่นสเกตบอร์ด ขณะที่ฟ็อกซ์ดูเนียน ทางด้านสตอลต์ซรู้สึกผิดกล่าวทางโทรศัพท์กับปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช ว่า 2 อาทิตย์ระหว่างการถ่ายทำ เขารู้สึกถึงความไม่มั่นใจในทิศทางของเซเม็กคิสและเกล และเห็นด้วยว่าเขาไม่เหมาะกับบทนี้[3]

ฟ็อกซ์วางตารางเวลาไว้ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1985 เมื่อเมเรดิธ แบ็กซ์เตอร์จะกลับมาใน Family Ties หลังจากการตั้งครรภ์ ทีมงาน เจาะเวลาหาอดีต กลับมาหาโกล์ดเบิร์กอีกครั้ง ที่ได้สัญญากับฟ็อกซ์ว่าจะเป็นตัวละครสำคัญใน Family Ties แต่ถ้าตารางเวลาขัดกัน เขาก็ไม่ได้เล่น ฟ็อกซ์ชอบบทภาพยนตร์และเห็นถึงความใส่ใจของเซเม็กคิสและเกลที่เขาไล่สตอลต์ซออก แต่พวกเขาก็ไม่ได้พูดถึงสตอลต์ซมากเท่าไหร่[3] เพอร์ เวลินเดอร์และโทนี ฮอว์ก โปรสเกตบอร์ดได้ช่วยในฉากเล่นสเกตบอร์ด อย่างไรก็ตามฮอว์กก็ออกไปจากภาพยนตร์เพราะเขาสูงกว่าฟ็อกซ์ ที่เดิมเขาแสดงแทนสตอลต์ซในหลายฉาก[9] ฟ็อกซ์ยังพูดถึงมาร์ตี้ แม็กฟลายว่าดูมีความเป็นตัวเองสูง "ที่ผมทำในตอนเรียนระดับไฮสคูลคือเล่นสเกตบอร์ด ตามผู้หญิงและมีวงดนตรี ผมเคยแม้แต่ฝันว่าจะเป็น ร็อกสตาร์"[7]

คริสโตเฟอร์ ลอยด์ รับบทเป็น ด็อก บราวน์ หลังจากที่ตัวเลือกแรกในบทนี้คือ จอห์น ลิธโกว์ ที่ไม่ว่างที่แสดง[3] ผู้สร้าง นีล แคนตัน ใน The Adventures of Buckaroo Banzai (1984) ที่เคยทำงานร่วมกับลอยด์ได้แนะนำให้มารับบทนี้ เดิมทีลอยด์ปฏิเสธที่จะเล่น แต่ก็เปลี่ยนจากหลังจากอ่านบทและคำคะยั้นคะยอจากภรรยาเขา เขายังได้ปรับเปลี่ยนการแสดงบางฉาก[10] โดยได้รับแรงบันดาลใจจากอัลเบิร์ต ไอนสไตน์และคอนดักเตอร์ ที่ชื่อ ลีโอโพลด์ สโตคาวสกี[11] บราวน์ ออกเสียง จิ๊กกะวัตต์ เป็น "จิ๊กโกวัตต์" ที่เป็นคำพูดของนักฟิสิกส์พูดกัน เป็นข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนการหาข้อมูลเขียนบทของเซเม็กคิสและเกล[9]

คริสพิน โกลเวอร์ รับบทเป็น จอร์จ แม็กฟลาย เซเม็กคิสพูดถึงโกลเวอร์ว่าเขาแสดงเกินบทมากเกินไป ในบทบาทจอร์จที่มีบุคลิกเฉื่อยชา อย่างเช่นการเชกแฮนด์ ผู้กำกับก็พูดติดตลกเกี่ยวกับโกลเวอร์ว่า เขาแทบไม่เข้าใจลักษณะตัวละคร อีก 50% ที่เหลือเลย[3]

ลีอา ธอมป์สัน รับบทเป็น ลอร์เรน แม็กฟลาย เพราะเธอรับบทคู่กับสตอลต์ซใน The Wild Life การแต่งหน้าเธอในฉากปี 1985 ต้องใช้เวลาแต่งหน้าถึง 3 ชั่วโมงครึ่งจึงจะเสร็จ[12]

โทมัส เอฟ. วิลสัน รับบทเป็น บิฟฟ์ แทนเน็น เพราะตัวเลือกแรกที่เลือกไว้คือ เจ. เจ. โคเฮน เมื่อพิจารณาดูแล้วจะดูเชื่อไม่ได้ว่าจะวางก้ามกับสตอลต์ซได้[3] แต่โคเฮนก็แสดงในบทเพื่อนของบิฟฟ์ และเมื่อมีฟ็อกซ์มาแสดง โคเฮนก็พอดูจะพอทำได้กับบทนี้ที่เขาสูงกว่าฟ็อกซ์[9]

งานสร้าง

จตุรัสเมืองฮิลล์วัลเลย์ถ่ายทำที่คอร์ตเฮาส์สแควร์

หลังจากที่สตอลต์ซออกไป ฟ็อกซ์ได้จัดตารางเวลาโดยในช่วงวันธรรมดา ถ่าย Family Ties ในช่วงกลางวัน และถ่าย เจาะเวลาหาอดีต จาก 18.30 น. ถึง 2.30 น. ของอีกวัน เขามีเวลานอนเฉลี่ย 5 ชั่วโมงต่อวัน ในระหว่างวันศุกร์เขาถ่ายตั้งแต่ 4 ทุ่ม ถึง 6 หรือ 7 โมงเช้า จากนั้นก็ไปถ่ายฉากข้างนอกในช่วงวันหยุด ในฉากที่ต้องถ่ายในช่วงกลางวัน ฟ็อกซ์รู้สึกเหน็ดเหนื่อยต่อการทำงาน แต่ "มันเป็นความฝันที่จะอยู่ในภาพยนตร์ และธุรกิจโทรทัศน์ ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้รู้ว่าผมทำควบคู่กันไป มันเป็นอะไรที่ประหลาดแต่ผมก็ต้องดำเนินต่อไป"[13] เซเม็กคิสก็เห็นด้วย พวกเขาถ่ายทำวันแล้ววันเล่า ทุกคืน ตอนนั้นเขามักจะอยู่ใน "ภาวะกึ่งหลับ" และ "อ้วนที่สุด ไม่อยู่ในรูปร่างที่ควบคุมและป่วยบ่อยที่สุด"[3] ฟ็อกซ์ใช้เวลาถ่ายเรื่องนี้ 10-12 สัปดาห์

ฉากจตุรัสเมืองฮิลล์วัลเลย์ถ่ายทำที่คอร์ตเฮาส์สแควร์ ตั้งอยู่ด้านหลังสตูดิโอของยูนิเวอร์ซัล บ็อบ เกลอธิบายว่า มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะถ่ายทำจากสถานที่จริง "เพราะไม่มีเมืองไหนที่อนุญาตให้ทีมงานภาพยนตร์ตกแต่งฉากบ้านเรือนให้เหมือนในยุค 1955" ทางทีมงานสร้างอธิบายว่า "พวกเขาตัดสินใจที่จะถ่ายทำฉากในปี 1955 ก่อน ที่ที่มีความสวยงาม จากนั้นจึงค่อยใส่ขยะ และทำให้มันน่าเกลียดในฉากยุค 1985"[13] ส่วนฉากภายในบ้านด็อกบราวน์ถ่ายทำที่บ้านโรเบิร์ต อาร์. แบล็กเกอร์ ขณะที่ฉากด้านนอกถ่ายทำที่บ้านแกมเบิล[14]

เมื่อภาพยนตร์ใกล้เสร็จ เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1985 หลังจากการถ่ายทำครบร้อยวัน ภาพยนตร์ก็ได้เลื่อนฉายจากเดือนพฤษภาคมไปเป็นสิงหาคม แต่หลังจากได้เสียงตอบรับด้านบวกในรอบทดลองฉาย ชีนเบิร์กเลือกวันออกฉายวันที่ 3 กรกฎาคม และเพื่อที่เสร็จสิ้นภายในวันที่กำหนด ผู้ตัดต่อสองคนคือ อาร์เธอร์ ชมิดต์และแฮร์รี เคอรามิดาส รับหน้าที่ในการตัดต่อภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่ผู้ตัดต่อเสียงจำนวนมากทำงาน 24 ชั่วโมง มีส่วนที่ถูกตัดทิ้งไป 8 นาที เช่นฉากมาร์ตี้ดูแม่เขาโกงการสอบ, จอร์จติดอยู่ในบูธโทรศัพท์ก่อนที่จะช่วยเหลือลอร์เรน รวมถึงฉากที่มาร์ตี้แสร้งทำเป็นดาร์ธ เวเดอร์ ส่วนฉากจอห์นนี บี. กู้ด ก็เกือบถูกตัดทิ้งไปโดยเซเม็กคิส ที่เขารู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับเนื้อหา แต่ผู้ชมรอบทดสอบกลับชื่นชอบมัน ทำให้เขาต้องเก็บเอาไว้

อินดัสเทรียล ไลท์ แอนด์ แมจิก ทำงานด้านฉากเอฟเฟกต์ 32 ช็อต ซึ่งเซเม็กคิสและเกลก็ไม่ได้รู้สึกประทับใจอะไร จนกระทั่งในสัปดาห์สุดท้ายก่อนภาพยนตร์จะเสร็จสิ้น[3]

ดนตรี

อลัน ซิลเวสตริ เคยร่วมงานกับเซเม็กคิสในภาพยนตร์เรื่อง Romancing the Stone ซึ่งทางสปีลเบิร์กก็ไม่ชอบผลงานเพลงบรรเลงเรื่องนี้ เซเม็กคิสแนะนำซิลเวสตริว่าให้ประพันธ์เพลงบรรเลงอย่างอลังการ ฟังดูเหมือนเป็นมหากาพย์ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์เล็ก ๆ เพื่อจะได้สร้างความประทับใจให้กับสปีลเบิร์ก ซิลเวสตริเริ่มบันทึกเสียงเพลงบรรเลงก่อนรอบปฐมทัศน์ 2 สัปดาห์ เขายังได้แนะนำ ฮิวอี ลูวิส แอนด์ เดอะ นิวส์ ให้แต่งเพลงธีมภาพยนตร์ ความพยายามครั้งแรกก็ได้รับการปฏิเสธจากยูนิเวอร์ซัล จากนั้นพวกเขาบันทึกเสียง "The Power of Love" ซึ่งทางสตูดิโอก็ชื่นชอบเพลงสุดท้ายนี้ แต่ก็ผิดหวังเมื่อมันไม่ได้มีอยู่ในไตเติลของหนัง พวกเขาจึงส่งข้อความให้สถานีวิทยุโดยให้พูดถึงว่าเพลงนี้เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่อง เจาะเวลาหาอดีต[3] ในตอนท้ายของหนังมีเพลงที่ชื่อ "Back in Time" ขึ้นมาในช่วงที่มาร์ตี้กลับมาถึงในปี 1985 และอีกครั้งตอนเครดิตตอนจบ ฮิวอี เลวิส ยังร่วมแสดงเป็นครูในโรงเรียนที่ผิดหวังกับวงของมาร์ตี้ และวิจารณ์ว่า เพลงเสียงดังไป[13]

การตอบรับ

การออกฉาย

เจาะเวลาหาอดีต ออกฉายเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1985 ด้วยจำนวนโรงฉาย 1,200 โรงในอเมริกาเหนือ เซเม็กคิสกังวลว่าภาพยนตร์จะไม่ประสบความสำเร็จดีเนื่องจาก ฟ็อกซ์ ต้องไปถ่ายซีรีส์ Family Ties ตอนพิเศษในลอนดอนจึงไม่สามารถมาร่วมประชาสัมพันธ์ได้ เกลก็รู้สึกไม่พอใจกับคำเปรยของยูนิเวอร์ซัลพิกเจอร์สที่เขียนไว้ว่า "คุณกำลังบอกใช่มั๊ยว่า แม่ของผมชอบผมเหรอ" แต่ เจาะเวลาหาอดีต ก็ทำรายสถิติอยู่ที่อันดับ 1 นาน 11 สัปดาห์[3] เกลพูดว่า "ในสัปดาห์ที่ 2 มียอดสูงกว่าในสัปดาห์แรก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคงเป็นคำพูดแบบปากต่อปาก ภาพยนตร์เรื่อง National Lampoon's European Vacation ที่ออกในเดือนสิงหาคม เขี่ยพวกเราลงจากอันดับ 1 ได้สัปดาห์เดียวจากนั้นพวกเขาก็ขึ้นไปที่อันดับ 1 ใหม่อีกครั้ง"[5] ภาพยนตร์ทำรายได้ 210.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอเมริกาเหนือ และ 170.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐในต่างประเทศ รวมยอดทั่วโลกที่ 381.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[15] นอกจากนี้ เจาะเวลาหาอดีต ยังเปิดตัวในสุดสัปดาห์ สูงสุดเป็นอันดับ 4 และมีรายได้มากที่สุดประจำปีนั้นอีกด้วย[16] ถ้าคิดจากค่าเงินเฟ้อแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รายได้สูงสุดในอเมริกาเหนือ เป็นอันดับที่ 58 จากการคำนวณเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2008[17]

โรเจอร์ อีเบิร์ต รู้สึกว่า เจาะเวลาหาอดีต มีธีมคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ของแฟรงก์ คาปรา หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง It's a Wonderful Life อีเบิร์ตยังวิจารณ์ผู้สร้างว่า "สตีเวน สปีลเบิร์ต ได้เลียนแบบหนังในอดีตที่ยิ่งใหญ่ ของหนังตระกูลคลาสสิกของฮอลลีวูด โดยมีความเหมาะสมในการเลือกผู้กำกับ (โรเบิร์ต เซเม็กคิส) กับโครงการที่เหมาะสมกันยิ่ง"[18] แจเน็ต แมสลิน จาก เดอะนิวยอร์กไทมส์ เชื่อว่าภาพยนตร์มีเนื้อเรื่องที่สมดุลกัน "ถือเป็นการประดิษฐ์ทางภาพยนตร์ที่น่าพึงพอใจและเรื่องเล่าที่แปลกประหลาดที่นาน ๆ ทีจะมี"[19] คริสโตเฟอร์ นูลล์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ที่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่ยังวัยรุ่น เรียกว่า "เป็นหนังที่เป็นแก่นสารของยุค 1980 ที่รวมเรื่องนิยายวิทยาศาสตร์, บู๊, ตลก และความรัก รวมเข้าอย่างสมบูรณ์ที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี"[20] เดฟ เคอร์ จาก ชิคาโกรีดเดอร์ รู้สึกถึงว่าบทภาพยนตร์ที่เขียนโดยเกลและเซเม็กคิสช่างสมบูรณ์และสมดุลระหว่างนิยายวิทยาศาสตร์ สาระ และอารมณ์ขัน[21] วาไรตี้ ยกย่องการแสดง การเถียงกันของฟ็อกซ์และลอยด์ ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างมาร์ตี้กับด็อก บราวน์ ซึ่งชวนให้ระลึกถึง กษัตริย์อาเธอร์ และ เมอร์ลิน[22] บีบีซี ยกย่องความสลับซับซ้อนของบทที่ดำเนินการอย่างโดดเด่น และยังพูดว่า "ไม่มีใครเลยที่ไม่สำคัญในเนื้อเรื่องนี้"[23] และจากนักวิจารณ์ 44 คนใน ร็อทเทนโทเมโทส์ มี 95% ที่รู้สึกสนุกกับภาพยนตร์เรื่องนี้[24]

เจาะเวลาหาอดีต ยังได้รับรางวัลออสการ์สาขาตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม ขณะที่เพลง "The Power of Love" รวมถึงผู้ออกแบบเสียง รวมถึงเซเม็กคิสและเกล (สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิม) ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง[25] ภาพยนตร์ยังได้รับรางวัลฮูโกสาขาการถ่ายทอดทางด้านดราม่ายอดเยี่ยม [26] และรางวัลแซทเทิร์น ในสาขาภาพยนตร์แต่งแนววิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม ส่วนไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ และนักออกแบบวิชวลเอฟเฟกต์ก็ได้รับรางวัลจากการแจกรางวัลแซทเทิร์นด้วย เซเม็กคิสและอลัน ซิลเวสตริ นักประพันธ์เพลง ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย และนักแสดงสมทบ ลีอา ธอมป์สัน, คริสพิน โกลเวอร์ และ โธมัส เอฟ. วิลสัน ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเช่นกัน[27] ภาพยนตร์ยังประสบความสำเร็จในงานแจกผลรางวัลบาฟต้าครั้งที่ 39 ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์, วิชวลเอฟเฟกต์, การออกแบบงานสร้างและการตัดต่อ[28] ในงานแจกรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 43 ภาพยนตร์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เพลงหรือตลก), เพลงดั้งเดิม (สำหรับเพลง "The Power of Love"), นักแสดงยอดเยี่ยมในภาพยนตร์เพลงหรือตลก (ฟ็อกซ์) และ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยเซเม็กคิสและเกล[29]

สิ่งสืบเนื่อง

ประธานาธิบดี โรนัลด์ เรแกน เคยพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ในการแถลงนโยบายประจำปี 1986 โดยเขาพูดว่า "ไม่เคยรู้สึกตื่นเต้นมากกว่านี้ในชีวิต เวลาที่ปลุกความบรรลุผลอันกล้าหาญ อย่างที่พวกเขาเคยพูดในหนังเรื่อง เจาะเวลาหาอดีต ...ที่ที่เราจะไป เราไม่ต้องการถนน"[30] เมื่อเขาเห็นมุขตลกครั้งแรกเกี่ยวกับการเป็นประธานาธิบดีของเขาเองในหนังที่ว่า "โรนัลด์ เรแกน? นักแสดง? ฮา! แล้วใครเป็นรองประธานาธิบดีล่ะ, เจอร์รี ลูวิส เหรอ?" เขาก็ให้ผู้ฉายหนังในโรงหยุดและย้อนฟิล์มกลับไปดูใหม่[1] จอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ก็เคยพูดถึง เจาะเวลาหาอดีต ในการกล่าวสุนทรพจน์ด้วย[31]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังติดอันดับ 28 ของการจัดอันดับ 50 ภาพยนตร์ไฮสคูลที่เยี่ยมที่สุด จากการจัดของนิตยสาร เอนเตอร์เทนเมนต์วีกลี[32] ในปี 2006 ยังได้รับการลงคะแนนจากผู้อ่าน เอมไพร์ ในอันดับที่ 20 ของภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เคยมีมา[33] เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 2007 เจาะเวลาหาอดีต ยังถูกเลือกให้เก็บไว้ในหอทะเบียนภาพยนตร์แห่งชาติ จากการคัดเลือกโดยหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน ในฐานะ "เกี่ยวกับวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ หรือโดดเด่นทางด้านสุนทรียศาสตร์"[34] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 อเมริกันฟิล์มสติติวต์ ออกมาประกาศ 10 อันดับภาพยนตร์คลาสสิกอเมริกันที่ดีที่สุดตามประเภทต่าง ๆ หลังจากการสำรวจความเห็นจากคนจำนวน 1,500 จากกลุ่มคนใช้ความคิดสร้างสรรค์ เจาะเวลาหาอดีต ติดอยู่ที่อันดับ 10 ของภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในหมวดนิยายวิทยาศาสตร์[35]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 Back to the Future, The Complete Trilogy - "The Making of the Trilogy, Part 1" (DVD). Universal Home Video. 2002.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Michael Klastornin; Sally Hibbin (1990). Back To The Future: The Official Book Of The Complete Movie Trilogy. London: Hamlyn. pp. 1–10. ISBN 0-600-571041.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 Ian Freer (January 2003). "The making of Back to the Future". Empire. pp. 183–187.
  4. Klastornin, Hibbin, p.61-70
  5. 5.0 5.1 Scott Holleran (2003-11-18). "Brain Storm: An Interview with Bob Gale". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2008-10-19.
  6. Joseph McBride (1997). Steven Spielberg: A Biography. New York City: Faber and Faber. pp. 384–385. ISBN 0-571-19177-0.
  7. 7.0 7.1 Klastornin, Hibbin, p.11-20
  8. Norman Kagan (May 2003). "Back to the Future I (1985) , II (1989) , III (1990)". The Cinema of Robert Zemeckis. Lanham, Maryland: Rowman & Littlefield. pp. 63–92. ISBN 0-87833-293-6.
  9. 9.0 9.1 9.2 Robert Zemeckis, Bob Gale. (2005). Back to the Future: The Complete Trilogy DVD commentary for part 1 [DVD]. Universal Pictures.
  10. Klastornin, Hibbin, p.31-40
  11. Robert Zemeckis and Bob Gale Q&A, Back to the Future [2002 DVD], recorded at the University of Southern California
  12. Klastornin, Hibbin, p.21-30
  13. 13.0 13.1 13.2 Michael J. Fox, Robert Zemeckis, Bob Gale, Steven Spielberg, Alan Silvestri, The Making of Back to the Future (television special) , 1985, NBC
  14. Klastornin, Hibbin, p.41-50
  15. "Back to the Future". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  16. "1985 Domestic Totals". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  17. "Domestic Grosses Adjusted for Ticket Price Inflation". Box Office Mojo. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  18. Roger Ebert (1985-07-03). "Back to the Future". Chicago Sun-Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-13. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  19. Janet Maslin (1985-07-03). "Back to the Future". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  20. Christopher Null. "Back to the Future". FilmCritic.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-12. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  21. Dave Kehr. "Back to the Future". Chicago Reader. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-04. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  22. "Back to the Future". Variety. 1985-07-01. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  23. "Back to the Future (1985)". bbc.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2006-11-29.
  24. "Back to the Future". Rotten Tomatoes. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  25. "58th Academy Awards". Academy of Motion Picture Arts and Sciences. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  26. "1986 Hugo Awards". The Hugo Award. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  27. "Past Saturn Awards". Saturn Awards.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-06. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  28. "Back to the Future". British Academy of Film and Television Arts. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-05. สืบค้นเมื่อ 2008-10-09.
  29. "Back to the Future". Hollywood Foreign Press Association. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-11. สืบค้นเมื่อ 2008-10-26.
  30. "President Ronald Regan's Address Before a Joint Session of Congress on the State of the Union". C-SPAN. 1986-02-04. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-14. สืบค้นเมื่อ 2006-11-26.
  31. Bob Gale; Robert Zemeckis (1990). "Foreword". Back To The Future: The Official Book Of The Complete Movie Trilogy. London: Hamlyn. ISBN 0-600-571041.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  32. "The 50 Best High School Movies". Entertainment Weekly. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-05. สืบค้นเมื่อ 2006-11-26.
  33. "201 Greatest Movies of All Time". Empire. No. 201. March 2006. p. 97.
  34. "National Film Registry 2007, Films Selected for the 2007 National Film Registry". สืบค้นเมื่อ 2008-02-04.
  35. "AFI Crowns Top 10 Films in 10 Classic Genres". ComingSoon.net. 2008-06-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-18. สืบค้นเมื่อ 2008-06-18.

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!