เจดีย์ซู่เล (พม่า : ဆူးလေဘုရား , ออกเสียง: [sʰúlè pʰəjá] ) เป็นเจดีย์ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองย่างกุ้ง เป็นพื้นที่ภูมิศาสตร์สำคัญของการเมืองพม่าร่วมสมัย ตามตำนานระบุว่าเจดีย์สร้างขึ้นก่อนเจดีย์ชเวดากอง ในช่วงพระพุทธเจ้า ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ทำให้เจดีย์องค์นี้เก่าแก่กว่า 2,500 ปี ตำนานระบุว่าสถานที่สำหรับก่อสร้างเจดีย์ชเวดากองได้รับการแนะนำจากนะ (วิญญาณ) เก่าแก่ของเมืองที่สถิตอยู่บริเวณเจดีย์ซู่เล[ 1] [ 2] [ 3]
เจดีย์ซู่เลเป็นจุดศูนย์กลางทางการเมืองของย่างกุ้งและพม่า เป็นสถานที่ชุมนุมประท้วงในเหตุการณ์ปฏิวัติ 8888 ในปี พ.ศ. 2531[ 4] และการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ ในปี พ.ศ. 2550[ 2] [ 5] เจดีย์ซู่เลจัดอยู่ในรายชื่อโบราณสถานของเมืองย่างกุ้ง[ 6]
เจดีย์
เจดีย์ซู่เลโครงสร้างเดิมคาดว่าได้รับอิทธิพลจากสถูปเจดีย์ของอินเดียซึ่งทำรูปแบบคล้าย ๆ กันคือเป็นรูปเนินดินสำหรับเก็บพระธาตุ ต่อมาเริ่มได้รับวัฒนธรรมท้องถิ่น รูปแบบอิทธิพลของอินเดียตอนใต้จึงเริ่มเปลี่ยนแปลงเป็นสถาปัตยกรรมแบบท้องถิ่นเป็นรูปของเจดีย์ เป็นที่เชื่อกันว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ที่ได้ประทานให้แก่พี่น้องพ่อค้าสองคนคือ ตปุสสะและภัลลิกะ[ 1] [ 2]
ประวัติและตำนาน
ตามตำนานที่ตั้งของเจดีย์ซู่เลในปัจจุบันเคยเป็นที่สถิตของนะ นามว่า ซู่เล เมื่อท้าวสักกะ อยากจะช่วยเหลือกษัตริย์โอะกะลาปะ เพื่อหาสถานที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุ แต่ท้าวสักกะไม่ทราบว่าควรเป็นที่ไหน เหล่าเทวดา มนุษย์ พร้อมด้วยกษัตริย์โอะกะลาปะจึงมาประชุมบริเวณซู่เล และนะซู่เลจึงได้แนะนำสถานที่สำหรับการสร้างเจดีย์ชเวดากอง [ 2] [ 3]
เจดีย์ซู่เลเริ่มเป็นศูนย์กลางของย่างกุ้งโดยร้อยโท อเล็กซานเดอร์ เฟรเซอร์ (Lt. Alexander Fraser) วิศวะกรจากเบงกอล ผู้ซึ่งวางผังรูปแบบถนนย่างกุ้งอย่างในปัจจุบัน ไม่นานนักหลังจากการยึดครองของจักรวรรดิอังกฤษ ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 (มีการนำชื่อของเขาไปตั้งชื่อถนนเฟรเซอร์ แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นถนนอโนรธา และยังคงเป็นหนึ่งในเส้นทางสายหลักของย่างกุ้ง)[ 2] [ 3]
เจดีย์เป็นรูปทรงแปดเหลี่ยมซึ่งแต่ละด้านมีความยาว 24 ฟุต (7 เมตร) สูง 144 ฟุต 9½ นิ้ว (44 เมตร) เจดีย์ได้รับการบูรณะและมีขนาดเท่าปัจจุบันในสมัยพระนางเชงสอบู (ค.ศ. 1453–1472) รอบ ๆ เจดีย์มีระฆังสัมฤทธิ์ 10 ใบขนาดและอายุแตกต่างกันไปโดยมีการจารึกชื่อผู้บริจาคและวันที่ถวาย คำอธิบายเกี่ยวกับชื่อเจดีย์แตกต่างกันไปตามความเชื่อเช่น มาจาก ซู-เว หมายถึง "การชุมนุมโดยรอบ" มาจากเมื่อครั้งกษัตริย์โอะกะลาปะและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ สืบหาที่ตั้งของเนินเขาสิงคุตตระ เพื่อสร้างเจดีย์ชเวดากอง อีกความเชื่อกล่าวว่ามาจาก ซู-เล หมายถึงพุ่มไม้ป่าชนิดหนึ่ง และสมมุติฐานใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับตำนานมาจากความเชื่อมโยงกับภาษาบาลีคำว่า จุลฺล หมายถึง "เล็ก" และ เจติย หมายถึง "เจดีย์"[ 1] [ 2] [ 3]
ที่ตั้ง
เจดีย์ซู่เลตั้งอยู่ใจกลางกรุงย่างกุ้งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชน ระหว่างการชุมนุมประท้วงเมื่อปี พ.ศ. 2531[ 4] และ พ.ศ. 2550 เจดีย์ซู่เลเป็นจุดนัดพบของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลและผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตย[ 1] [ 5]
สถานที่ทางการเมือง
ในช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติ 8888 เจดีย์เป็นจุดนัดพบและจุดหมายปลายทางที่ได้รับการเลือก เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งและเป็นนัยสำคัญทางสัญลักษณ์[ 4] ในปี พ.ศ. 2550 ระหว่างการปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ เจดีย์ซู่เลใช้เป็นจุดชุมนุมในการประท้วงเพื่อประชาธิปไตย พระสงฆ์จำนวนหลายพันรูปมาชุมนุมกันเพื่อสักการะรอบพระเจดีย์ และเป็นสถานที่แรกที่ได้เห็นถึงปฏิกิริยารุนแรงของรัฐบาลพม่าต่อกลุ่มผู้ประท้วง[ 1] [ 5]
คลังภาพ
เจดีย์ซู่เล ค.ศ. 1895
บริเวณด้านนอกรอบเจดีย์
บริเวณภายในเจดีย์
ซู่เล
โบ้โบ้จี้ นะ เจดีย์ซู่เล
อ้างอิง
เชิงอรรถ
บรรณานุกรม
Barnes, Gina L. (ตุลาคม 1995). "An Introduction to Buddhist Archaeology". World Archaeology . 27 (2): 165–182. ISSN 0043-8243 .
Raga, Jose Fuste (10 กุมภาพันธ์ 2009). "Sule pagoda, in the centre of Yangon, Myanmar". Encyclopædia Britannica .
Soni, Sujata (1991). Evolution of Stupas in Burma: Pagan Period, 11th to 13th Centuries A.D. , Buddhist Traditions, Vol XII. Delhi: Motilal Banarsidass Publishers. ISBN 81-208-0626-3 .
แหล่งข้อมูลอื่น