อ๋อง (จีน: 王; พินอิน: wáng หวัง หรือ หวาง)[1] เป็นพระราชอิสริยยศสูงสุดของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ยจนถึงราชวงศ์โจว ซึ่งสมัยนั้นจีนยังไม่รวมเป็นจักรวรรดิที่เป็นปึกแผ่น แต่ละแคว้นจะมีอ๋องเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น ต่อมาฉินอ๋องเจิ้งแห่งแคว้นฉินทรงรวมแผ่นดินจีนเป็นปึกแผ่น พระองค์ถือว่าพระองค์มีคุณงามความดีเหนืออ๋องในอดีตทั้งมวล ทรงพระดำริเห็นว่าพระราชอิสริยยศ "อ๋อง" ไม่ยิ่งใหญ่เพียงพอสำหรับพระองค์ จึงทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศขึ้นใหม่คือ หฺวังตี้ (จีน: 皇帝; พินอิน: Huángdì ; ฮกเกี้ยน:ฮ่องเต้; แต้จิ๋ว:อ้วงตี่) แล้วเฉลิมพระปรมาภิไธยพระองค์เป็น ฉินฉื่อหฺวังตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ (แปลว่า ปฐมจักรพรรดิฉิน) นับเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิจีน จิ๋นซีฮ่องเต้ได้ใช้พระราชอำนาจยกเลิกระบบอ๋องเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งหมดเพราะต้องการให้แผ่นดินจีนรวมเป็นหนึ่งเดียว แต่ก็มีการต่อต้านอย่างรุนแรงจากผู้ที่เคยมีอำนาจในแคว้นต่างๆ นอกเมืองหลวง ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์ฉินล่มสลายหลังจากพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้สวรรคตก่อนเวลาอันควร และอำนาจส่วนกลางลดลงเนื่องจากขุนนางและแม่ทัพในรัฐบาลกลางแตกแยกกัน
ต่อมาในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ได้นำระบบอ๋องเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยมีการอวยยศให้แม่ทัพที่ร่วมกันก่อตั้งราชวงศ์ให้เป็นอ๋องเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นรอบนอก แคว้นเหล่านี้จะปกครองตนเอง มีระบบราชการคล้ายเมืองหลวงโดยย่อส่วนลงมา มีองคมนตรีและรัฐมนตรีของตนเอง แต่ไม่สามารถมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ กองทัพของแคว้นต้องขึ้นกับเมืองหลวงโดยตรงเท่านั้น
แต่ในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นจิงหรือพระเจ้าฮั่นเกงเต้ จักรพรรดิองค์ที่ 6 เกิดเหตุการณ์กบฏเจ็ดรัฐ เมื่ออ๋องทั้งเจ็ดแคว้นต่างก่อกบฏและแยกตัวเป็นรัฐอิสระ รัฐบาลส่วนกลางจากเมืองหลวงได้ทำการปราบปรามพวกเขาจนสำเร็จ พระเจ้าฮั่นเกงเต้ทรงมีพระราชดำริที่จะใช้นโยบายลดอำนาจของอ๋องต่างๆ ลง โดยการออกกฎหมายให้ลูกหลานของอ๋องสืบทอดต่อยศไม่ได้ ต้องถูกลดทอนยศลงมาทีละหนึ่งขั้นไปเรื่อย ๆ ในชั้นลูกและหลานลงมาตามลำดับก็คือ เมื่ออ๋องถึงแก่ทิวงคต บุตรชายคนโตจึงมียศเป็นเพียงขุนนางชั้นระดับโหว (เจ้าพระยา) และให้แบ่งพื้นที่ศักดินาส่วนหนึ่งให้กับลูกชายคนโตครึ่งหนึ่ง ที่เหลือแบ่งให้ลูกชายคนอื่นเท่า ๆ กัน เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความเป็นอ๋องเจ้าผู้ครองแคว้นของผู้ที่ไม่ใช่แซ่เล่าที่เป็นราชสกุลจึงหายไปหมดสิ้น ราชวงศ์ฮั่นก็มีความมั่นคงยิ่งขึ้น จำนวนแคว้นที่ปกครองโดยอ๋องลดลงจากที่มีขนาดรวมกันประมาณสองในสามของประเทศในช่วงต้นราชวงศ์ เหลือเพียงแค่ประมาณแปดแคว้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามยังมีลูกหลานชั้นที่หนึ่งหรือพี่น้องหรือพระญาติของฮ่องเต้คือองค์ชายต่างๆ ถูกแต่งตั้งเป็นอ๋องหรือทรงกรมขึ้นใหม่อยู่เสมอๆ แต่ฮ่องเต้ในราชวงศ์ฮั่นไม่ค่อยมีลูกหลานมากนัก ถึงจะมีบ้างก็มักจะตายตั้งแต่เด็ก ซึ่งต่างจากราชวงศ์อื่นที่มีลูกหลานมากมายจนเกิดการแก่งแย่งราชสมบัติตลอดเวลา ทำให้ในสมัยฮั่นมีอ๋องน้อยมาก
อ๋องจะได้รับพระราชทานเมืองให้หนึ่งเมือง ภาษีและรายได้ต่างๆ ที่เก็บได้ในเมืองนั้นจะตกเป็นศักดินาของอ๋องโดยไม่ต้องส่งบรรณาการไปยังเมืองหลวง ตัวอย่างเช่น เมื่อหองจูเหียบได้รับยศเป็นตันลิวอ๋อง หองจูเหียบจะมีรายได้จากการเก็บภาษีจากเมืองตันลิวทั้งหมด ต่อมาข้าราชการของอ๋องทั้งหมดถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลกลางตำแหน่งสำคัญได้ถูกยกเลิก ศักดินาของข้าราชการของอ๋องที่เหลืออยู่ก็ถูกลดลง จนในทางปฏิบัติแล้ว อ๋องไม่มีอำนาจปกครองเหลืออยู่เลย ได้แต่เพียงแค่กินบ้านกินเมืองเสวยสุขมาจากรายได้จากภาษีที่เป็นสิทธิตามศักดินาเท่านั้น อ๋องนั้นจะต้องอยู่ในแคว้นที่ตนเองได้รับศักดินาเท่านั้น หากจะเข้าเมืองหลวงได้ก็ต่อเมื่อถูกเรียกตัวหรือได้รับพระบรมราชานุญาตซะก่อน ลูกชายคนโตของอ๋องที่ได้รับยศชั้นระดับโหว(เจ้าพระยา) หลังจากที่บิดาถึงแก่กรรมแล้วจะได้รับศักดินาเท่ากับหนึ่งอำเภอเท่านั้น และนี่ก็กลับกลายเป็นสาเหตุที่ญาติพี่น้องของฮ่องเต้ฮั่นไม่มีอำนาจบารมี เมื่อเมืองหลวงถูกโค่นล้มอำนาจโดยขุนนางหรือขันที อ๋องหรือลูกหลานของอ๋องก็ทำอะไรไม่ได้เลย อำนาจปกครองของราชวงศ์จึงล่มสลายและกลายไปเป็นของตระกูลแซ่อื่น เป็นปัญหาทางการเมืองที่แก้ไม่ตกมาทุกยุคทุกสมัยเพราะเมื่อให้อำนาจกับญาติพี่น้องที่เป็นอ๋องมาก ๆ เข้า อ๋องก็จะทำการโค่นล้มอำนาจเสียเอง ตัวอย่างที่มีให้เห็นในสมัยราชวงศ์จิ้น
อ๋องที่ได้รับการยกย่องสรรเสริญ
ในยุคชุนชิวและจ้านกว๋อ (770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 453 ปีก่อนคริสต์ศักราช) มีอ๋องอยู่เพียง 5 พระองค์เท่านั้นที่ได้รับการสรรเสริญเป็น ป้าอ๋อง หรือ ป้าจู๋ (霸, Bà) แปลว่า "อ๋องผู้ยิ่งใหญ่" ได้แก่
และอาจมี 2 พระองค์ที่ได้รับการยกย่องเช่นกัน คือ
อ้างอิง
- ↑ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ แปลว่า "เจ้านายชั้นสูงของจีน"
- ↑ Ebrey, Patricia Buckley (1999). The Cambridge Illustrated History of China. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-66991-X (paperback). p.34-35