อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ
อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำของเพลโต โดย Jan Saenredam , อิงจาก Cornelis van Haarlem , ค.ศ. 1604, อัลเบอร์ตินา, เวียนนา
อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ หรือ ถ้ำของเพลโต (อังกฤษ : Allegory of the Cave, Plato's Cave ) เป็นการนำเสนอของเพลโต นักปราชญ์ชาวกรีก ในอุตมรัฐ (514a–520a) เพื่อเปรียบเทียบ "ผลกระทบของการศึกษา (παιδεία ) และการขาดการศึกษาในธรรมชาติของพวกเรา" โดยเขียนในรูปแบบของบทสนทนาระหว่างพี่ชายของเขากลาวคอน (Glaucon) และที่ปรึกษาของเขาโสกราตีส และเล่าโดยโสกราตีส อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำถูกเสนอต่อจากอุปมานิทัศน์เรื่องดวงอาทิตย์ (508b–509c) และอุปมานิทัศน์เรื่องเส้นที่ถูกแบ่ง (508b–509c)
เพลโตและโสกราตีสบรรยายถึงกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตโดยถูกตรึงอยู่และหันหน้าเข้ากับผนังถ้ำว่างเปล่าตลอด คนเหล่านี้เฝ้าดูเงาที่ถูกฉายบนผนังจากสิ่งของที่เคลื่อนผ่านเปลวไฟด้านหลังของพวกเขา พวกเขาต่างได้ตั้งชื่อให้เงาเหล่านี้ สำหรับนักโทษพวกนี้เงาเหล่านั้นเป็นความจริง โสกราตีสอธิบายว่านักปราชญ์ก็เหมือนนักโทษที่ได้รับการปลดปล่อยออกจากถ้ำและได้เข้าใจว่าเงาบนผนังไม่ใช่ความจริง ด้วยความที่เขาสามารถมองเห็นรูปแบบที่แท้จริงของความจริง ไม่ใช่ความจริงที่ถูกสร้างขึ้นหรือเงาที่เหล่านักโทษเห็น นักโทษในที่แห่งนี้ไม่แม้แต่อยากที่จะออกจากคุก ด้วยความที่พวกเขาไม่รู้จักชีวิตที่ดีกว่านี้ วันหนึ่งเหล่านักโทษสามารถทำลายพันธะและค้นพบว่าความจริงที่พวกเขารู้จักไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคิด พวกเขาค้นพบดวงอาทิตย์ซึ่งเพลโตใช้เปรียบดั่งเปลวไฟด้านหลังของพวกเขาที่พวกเขาไม่เคยเห็น เหมือนกับเปลวไฟที่ฉายแสงบนผนังถ้ำ สถานะภาพของมนุษย์ยึดติดอยู่กับสิ่งที่ได้รับผ่านประสาทสัมผัส ทั้งสิ้น แม้การตีความเหล่านี้อาจแตกต่างจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง พวกเราก็ยังไม่สามารถหลุดจากพันธะสภาพความเป็นมนุษย์ได้ พวกเราไม่สามารถปลดปล่อยตัวเราเองจากสถานะนี้ เหมือนกับที่นักโทษไม่สามารถปลดปล่อยตนเองจากโซ่ล่ามของพวกเขาได้ อย่างไรก็ตามหากพวกเราสามารถหนีจากพันธะนี้ได้อย่างปาฏิหาริย์ พวกเราก็จะพบกับโลกที่พวกเราไม่สามารถเข้าใจได้ ดวงอาทิตย์เป็นสิ่งที่เข้าใจยากสำหรับคนที่ไม่เคยเห็นมัน กล่าวคือ พวกเราจะเจอกับอีก "ดินแดน" หนึ่งที่พวกเราไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะว่าตามทฤษฎี มันจะเป็นแหล่งของความจริงที่มากกว่าความจริงที่พวกเราเคยรู้จัก เป็นดินแดนของรูปแบบที่แท้จริง ความจริงที่แท้จริง[ 1]
โสกราตีสออกความเห็นว่าอุปมานิทัศน์นี้สามารถจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับอุปมานิทัศน์เรื่องดวงอาทิตย์ (analogy of the sun) และอุปมานิทัศน์เรื่องเส้นที่ถูกแบ่ง (analogy of the divided line)
คำศัพท์
อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ ยังถูกเรียกว่า การเปรียบเทียบของถ้ำ (analogy of the cave), ตำนานของถ้ำ (myth of the cave), อุปลักษณ์ของถ้ำ (metaphor of the cave), นิทานคติธรรมของถ้ำ (parable of the cave) และถ้ำของเพลโต (Plato's Cave)[ 2]
บทย่อ
"อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ" โดย Markus Maurer
การจำคุกในถ้ำ
เพลโตเริ่มโดยให้โสกราตีสบอกให้กลาวคอนจินตนาการถึงถ้ำที่คนถูกขังไว้แต่กำเนิด นักโทษเหล่านี้ถูกล่ามโซ่ให้ไม่สามารถขยับคอและขาได้ ทำให้พวกเขาต้องมองไปยังผนังถ้ำข้างหน้าและไม่สามารถมองไปรอบ ๆ ถ้ำ, ไม่สามารถมองคนข้าง ๆ, และไม่สามารถมองตนเองได้ (514a–b)[ 3] ด้านหลังนักโทษมีเปลวไฟ และระหว่างเปลวไฟและนักโทษมีทางเดินยกระดับที่มีผนังต่ำ หลังกำแพงมีคนเดินถือสิ่งของหรือหุ่นเชิด "ของคนและสิ่งมีชีวิตอื่น" (514b)[ 3] คนเดินหลังกำแพงเพื่อไม่ให้นักโทษเห็นเงาจากร่างกายพวกเขา ทว่าเห็นเพียงเงาจากสิ่งของที่พวกเขาถือ (514a)[ 3] นักโทษไม่สามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้านหลังพวกเขาได้เลย พวกเขามองเห็นแต่เงาด้านหน้าเท่านั้น เสียงคนคุยกันก้องจากกำแพง และนักโทษเชื่อว่าเสียงเหล่านี้มาจากเงา (514c)[ 3]
โสกราตีสเสนอว่าเงาเป็นความจริงสำหรับนักโทษเพราะพวกเขาไม่เคยเห็นอย่างอื่น พวกเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นเป็นเงาสิ่งของหน้าเปลวไฟ และไม่แม้แต่สงสัยว่าสิ่งของเหล่านี้เกิดจากสิ่งของจริงด้านนอกถ้ำที่พวกเขาไม่เห็น (514b-515a)[ 3]
การออกจากถ้ำ
อุปมานิทัศน์เรื่องถ้ำ ซ้าย (จากบนลงล่าง): ดวงอาทิตย์; สิ่งธรรมชาติ; เงาของสิ่งธรรมชาติ; เปลวไฟ; สิ่งประดิษฐ์; เงาของสิ่งประดิษฐ์; ระดับการอุปมาขวา (จากบนลงล่าง): "ดี" มโนคติ, มโนคติ, วัตถุทางคณิตศาสตร์, แสง, สิ่งสร้างสรรค์และสิ่งของ, รูป, อุปมานิทัศน์เรื่องของดวงอาทิตย์ และอุปมานิทัศน์เรื่องเส้นที่ถูกแบ่ง
จากนั้นเพลโตสมมติว่าหนึ่งในนักโทษได้รับการปลดปล่อย นักโทษคนนี้มองไปรอบ ๆ และเห็นเปลวไฟ แสงจะทำให้เขาแสบตาและยากต่อการที่เขาจะเห็นสิ่งของที่ทำให้เกิดเงา หากเขาถูกบอกว่าสิ่งที่เขาเห็นตอนนี้เป็น ความจริง แทนที่ความจริงอีกรูปแบบที่เขาเห็นบนผนัง เขาจะไม่เชื่อ ด้วยความเจ็บปวด เพลโตเล่าต่อ นักโทษที่ถูกปลดปล่อยจะหันหน้าหนีและวิ่งกลับไปหาสิ่งที่เขาคุ้นชิน (นั่นคือเงาของสิ่งของ)[ 3]
เพลโตเล่าต่อ "สมมติ...ว่าใครสักคนใช้กำลังลากเขา...และไม่หยุดจนกว่าเขาจะออกมาสู่แสงอาทิตย์"[ 3] นักโทษจะโกรธและเจ็บปวด และสิ่งนี้จะแย่ลงด้วยแสงอันร้อนแรงของดวงอาทิตย์จะทำให้ตาของเขาไม่สามารถรับไหวและทำให้เขามองไม่เห็นอะไร[ 3]
"ช้า ๆ ดวงตาของเขาจะสามารถปรับเข้ากับแสงของดวงอาทิตย์ ตอนแรกเขาสามารถมองเห็นเพียงเงา จากนั้นเขาจะค่อย ๆ เห็นเงาของคนและสิ่งของในน้ำ และจึงเห็นคนและสิ่งของ ในที่สุดเขาจะสามารถมองยังดวงดาวและดวงจันทร์ในตอนกลางคืน จนในที่สุดเขาสามารถมองไปยังดวงอาทิตย์ได้ (516a)"[ 3] หลังเขาสามารถมองตรงไปยังดวงอาทิตย์ เขาสามารถเข้าใจถึงเหตุผล และเข้าใจว่ามันคืออะไร (516b).[ 3] [ 4]
กลับไปในถ้ำ
เพลโตเล่าต่อ กล่าวว่านักโทษที่ถูกปลดปล่อยจะคิดว่าโลกข้างนอกถ้ำดีกว่าโลกที่เขารู้จักในถ้ำ "เขาจะคิดว่าเขาโชคดีที่ได้เปลี่ยนแปลง และรู้สึกสงสาร [นักโทษคนอื่น]" และจะอยากที่จะพาเพื่อนที่เคยร่วมถ้ำออกจากถ้ำไปยังแสงอาทิตย์ (516c)[ 3]
นักโทษที่ถูกปลดปล่อยมีดวงตาที่ชินต่อแสงอาทิตย์แล้ว จึงมองไม่เห็นเมื่อกลับเข้าไปในถ้ำอีกครั้ง เช่นเดียวกับตอนที่เขาออกมาพบดวงอาทิตย์ครั้งแรก (516e)[ 3] เพลโตกล่าวว่า นักโทษจะดูถูกความที่ชายที่กลับมาไม่สามารถมองเห็นได้ดังเดิม และเชื่อว่าการที่เขาออกจากถ้ำได้ทำร้ายเขา และพวกเขาไม่ควรที่จะออกจากถ้ำ โสกราตีสสรุปว่าเหล่านักโทษ จะฆ่าคนที่พยายามลากพวกเขาออกจากถ้ำหากทำได้ (517a)[ 3]
อ้างอิง
↑ Ferguson, A. S. "Plato's Simile of Light. Part II. The Allegory of the Cave (Continued)." The Classical Quarterly 16, no. 1 (1922): 15-28. http://www.jstor.org/stable/636164.
↑ The various English names of this allegory were often traditionally capitalized as if they were the names of a chapter in Plato's text, which is not correct, or according to an older style that capitalized all (famous) allegories and theories and even concepts. Wikipedia's manual of style does not follow this older practice, and neither do many modern publications in reliable sources nor, for example, the Encyclopædia Britannica and the Columbia Encyclopedia.
↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 Plato. Rouse, W.H.D. (บ.ก.). The Republic Book VII . Penguin Group Inc. pp. 365–401.
↑ Jowett, B. (ed.) (1941). Plato's The Republic . New York: The Modern Library. OCLC 964319 .
แหล่งข้อมูลอื่น
Wikiquote
Wikisource