อิตาโกะ (ญี่ปุ่น: イタコ) บ้างเรียก อิจิโกะ (市子) หรือ โองามิซามะ (オガミサマ) คือผู้หญิงตาบอดที่ได้รับการฝึกฝน จนสามารถเป็นสื่อเพื่อติดต่อกับโลกวิญญาณตามความเชื่อญี่ปุ่น[1] โดยก่อนที่จะได้รับการยอมรับว่าพวกเธอสามารถติดต่อกับคามิหรือวิญญาณจากผู้วายชนม์ พวกเธอต้องบำเพ็ญพรตขั้นอุกฤษฎ์เสียก่อน[2] โดยอิตาโกะจะประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารกับคนตาย[2] การทำนายทายทัก[3]: 174 แต่ปัจจุบันการประกอบพิธีกรรมดังกล่าวเริ่มลดน้อยลงไป เพราะ พ.ศ. 2556 มีอิตาโกะทั่วประเทศญี่ปุ่นเพียง 20 คน ซึ่งแต่ละคนล้วนมีอายุมากกว่า 40 ปีเป็นต้นไป[1]
ประเพณีการฝึกฝนอิตาโกะจะกระทำตั้งแต่อายุยังน้อย มีการฝึกแช่น้ำที่ใส่น้ำแข็งหลายร้อยถังราววันสองวัน[2] การฝึกฝนเป็นอิตาโกะใช้ระยะเวลาสามปี มีการท่องจำบทเพลงและพระสูตรของศาสนาพุทธ[4] กระทั่งในช่วงท้ายของการฝึกฝน จะมีพิธีสมรสระหว่างอิตาโกะกับเทวดาประจำตัว[5] และต้องบูชาอจละ หรือฟูโดเมียวโอ
(不動明王) ซึ่งเป็นเทพในศาสนาพุทธ[6]
นักวิชาการให้ข้อมูลว่า ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าคนตาบอดมีความเกี่ยวข้องกับพลังงานเหนือธรรมชาติมายาวนาน และเป็นแนวทางที่คนตาบอดจะได้พึ่งพาตนเอง ท่ามกลางข้อจำกัดที่มีอยู่มากมายในสมัยโบราณ[7]: 190 ด้วยเหตุนี้ หลายครอบครัวจึงส่งลูกหลานที่พิการทางการมองเห็นไปฝึกฝนเป็นอิตาโกะ[7]: 190 กระทั่งต้นยุคเมจิจึงมีการห้ามการฝึกอิตาโกะอย่างเด็ดขาด[8]: 179
ปัจจุบันอิตาโกะจะร่วมกันประกอบพิธีกรรมที่ภูเขาโอโซเระ จังหวัดอาโอโมริ ท่ามกลางนักท่องเที่ยวหลายพันคน[6] ในพิธีอิตาโกะทำการสื่อสารกับดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตเมื่อไม่นานมานี้[2] รวมไปถึงดวงวิญญาณของเด็กที่ถูกทำแท้ง หรือทารกตายคลอดด้วย[7]: 198
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 Fackler, Martin. "As Japan's Mediums Die, Ancient Tradition Fades". New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 April 2013. สืบค้นเมื่อ 1 February 2016. [1] เก็บถาวร 2023-05-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน/http://www.nytimes.com/2009/08/21/world/asia/21japan.html Alt URL]
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Blacker, Carmen (1997). Earhart, Byron (บ.ก.). Religion in the Japanese experience : sources and interpretations (2nd ed.). Belmont, CA: Wadsworth Pub. Co. pp. 130–135. ISBN 0534524613.
- ↑ Ivy, Marilyn (1995). Discourses of the vanishing modernity, phantasm, Japan. Chicago: University of Chicago Press. ISBN 9780226388342.
- ↑ Kawamura, Kunimitsu. "The Life of a Shamaness: Scenes from the Shamanism of Northeastern Japan". Kokugakuin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 September 2015. สืบค้นเมื่อ 1 February 2016.
- ↑ "Itako no Kuchiyose". UNESCO Asian-Pacific Cultural Center. UNESCO Asian-Pacific Cultural Center. สืบค้นเมื่อ 9 March 2016.
- ↑ 6.0 6.1 Schattschneider, Ellen (2003). Immortal wishes : labor and transcendence on a Japanese sacred mountain. Durham (N. C.): Duke University press. ISBN 9780822330622.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 Breen, John; Teeuwen, Mark (2013). Shinto in History: Ways of the Kami. Routledge. ISBN 9781136827044.
- ↑ Josephson, Jason Ānanda (2012). The invention of religion in Japan. Chicago: The University of Chicago Press. ISBN 9780226412351.