อาสนวิหารน็องต์ (ฝรั่งเศส : Cathédrale de Nantes ) หรือมีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลแห่งน็องต์ (Cathédrale Saint-Pierre-et-Saint-Paul de Nantes ) เป็นอาสนวิหาร โรมันคาทอลิก และที่ตั้งของมุขนายก ประจำมุขมณฑลน็องต์ ตั้งอยู่ที่ปลัสแซ็ง-ปีแยร์ (Place Saint-Pierre) ในเขตเมืองน็องต์ จังหวัดลัวรัตล็องติก ในแคว้นเปอีเดอลาลัวร์ ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สองอัครทูต สำคัญ คือ นักบุญเปโตร และนักบุญเปาโล
อาสนวิหารน็องต์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ เมื่อปี ค.ศ. 1862 [ 1]
ประวัติ
อาสนวิหารแห่งน็องต์สร้างขึ้นบนพื้นที่วิหารเดิมที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1434 จนแล้วเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1891 โดยใช้เวลาสร้างรวมทั้งสิ้นถึง 457 ปี อาสนวิหารอันเป็นอาคารขนาดใหญ่มาก เริ่มสร้างในสมัยที่เมืองน็องต์ และภูมิภาคเบรอตาญ ซึ่งมีความร่ำรวยทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่ปกครองโดยฌ็องที่ 6 ดุ๊กแห่งเบรอตาญ โดยมีสถาปนิกชาวฝรั่งเศส กีโยม เดอ ดามาร์แต็ง เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง และมาตูว์แร็ง รอดีเย ในภายหลัง โดยวางศิลาฤกษ์ในปี ค.ศ. 1434 และเริ่มก่อสร้างจากหน้าบันฝั่งทิศตะวันตก ทางเดินด้านข้าง โถงทางเดินโบสถ์ และหอสวดมนต์เล็ก [ 2] ได้แบ่งการก่อสร้างวิหารแบ่งเป็น 5 ช่วงหลัก ๆ[ 3]
ช่วงปี ค.ศ. 1434–1470 เป็นช่วงที่มีการสร้างหน้าบันทิศตะวันตกและฐานสำหรับหอระฆัง รวมทั้งทางเดินด้านข้าง ฝั่งทิศใต้ ส่วนโถงทางเดินโบสถ์ และหอสวดมนต์เล็ก และโครงเสาด้านทิศใต้ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายกับเสาของมง-แซ็ง-มีแชล เริ่มก่อสร้างหลังปี ค.ศ. 1444 ตราประจำของดุ๊กฌ็องที่ 6 ซึ่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1442 ถูกตั้งไว้ที่โถงบันไดทางขึ้นระเบียงทางทิศใต้ เพดานโค้ง ฝั่งหอระฆังตกแต่งด้วยตราประจำของบิชอป กีโยม เดอ มาลทรัว (1443-1462) ระเบียงเหนือทางเดินข้าง สร้างในแบบที่เก่าแก่กว่า (ฟล็องบัวย็อง) และเป็นคนละแบบกันกับส่วนโถงทางเดินโบสถ์ ประตูทางเข้าวิหารทำด้วยทองแดงสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1482
ช่วงปี ค.ศ. 1500–1516 กระจกหน้าต่างฝั่งทิศตะวันตกได้ติดตั้งครบทั้งหมด (ค.ศ. 1498) โดยเป็นของขวัญพระราชทานจากพระราชินีแอนน์แห่งฝรั่งเศส เพดานโค้ง ช่องแรกของบริเวณกลางโบสถ์ แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1500 ต่อมาช่วงปี ค.ศ. 1508–1516 เพดานโค้ง ฝั่งทิศใต้ของบริเวณกลางโบสถ์ รวมทั้งชาเปล ได้แล้วเสร็จ และเริ่มสร้างส่วนแขนกางเขน ทางทิศใต้ ทำให้เสร็จสิ้นส่วนบนของด้านทิศตะวันตกของวิหารทั้งหมดในช่วงปี ค.ศ. 1519 - 1520 โดยการสนับสนุนงบประมาณจากบิชอป กีโยม เกก็อง ภายใต้การดูแลการก่อสร้างจากสถาปนิก ฌัก ดรูแอ
ส่วนสุดท้ายเป็นช่วงที่แขนกางเขน ทางทิศเหนือและบริเวณร้องเพลงสวด ได้เสร็จสิ้นช่วงปี ค.ศ. 1840 และ ค.ศ. 1891 อันเป็นยุคที่กำลังฟื้นฟูความเชื่อทางคริสต์ศาสนา ความล่าช้าส่วนใหญ่มากจากการรื้อถอนโบสถ์เก่า(โรมาเนสก์) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณกำแพงเมือง เพื่อมาทำการสร้างส่วนบริเวณร้องเพลงสวด ของอาสนวิหารแห่งใหม่
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาสนวิหารได้ถูกทิ้งระเบิดโดยฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ต่อมาเมื่อ 28 มกราคม ค.ศ. 1972 ได้มีเพลิงไหม้โดยเริ่มมาจากบริเวณหลังคาของวิหาร ถึงแม้ว่าเพลิงจะถูกควบคุมได้ในที่สุด แต่ก็ยังสร้างความเสียหายในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงสร้างหลังคาที่ทำจากไม้ อัคคีภัย ครั้งนี้เป็นมูลเหตุของการบูรณปฏิสังขรณ์อาสนวิหาร ที่สมบูรณ์แบบที่สุดในยุคปัจจุบัน
หน้าบันของอาสนวิหารประกอบไปด้วยหอระฆังทั้งสองขนาบข้าง โดยยอดหอสูงเหนือระเบียงบนดาดฟ้าของอาสนวิหาร หน้าบันของอาสนวิหารแห่งนี้แสดงให้เห็นถึง 1) มุขด้านหน้าที่ยื่นออกมา เพื่อสามารถเทศน์ให้ฝูงชนที่อยู่บนจัตุรัสด้านหน้าได้อย่างชัดเจน 2) ซุ้มประตูที่ตกแต่งอย่างวิจิตรพิสดารถึง 5 ซุ้ม โดยมี 3 ซุ้มทางด้านหน้า และอีก 2 ซุ้มทางด้านข้าง (ดูผังประกอบ - หมายเลข 1 เป็นประตูกลาง หมายเลข 2 คือประตูนักบุญเปาโล หมายเลข 3 คือประตูนักบุญอีฟว์ หมายเลข 32 คือประตูนักบุญโดนาเทียนกับโรกาเทียน และหมายเลข 33 คือประตูนักบุญเปโตร )
ผังของอาสนวิหาร
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาสนวิหารเป็นสถาปัตยกรรมกอทิกแบบฝรั่งเศส แต่รายละเอียดส่วนใหญ่ล้วนเป็นกอธิก ยุคปลายทั้งสิ้น อาทิ การยกเลิกการใช้หัวเสา ขอบหน้าต่างแบบฟล็องบัวย็อง (Flamboyant tracery) เป็นต้น[ 4]
ระเบียงภาพ
ด้านหน้าของอาสนวิหาร (มกราคม 2008) สีที่แตกต่างกันมาจากการบูรณะซ่อมแซมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนั้น
รายละเอียดหน้าวิหารฝั่งตะวันตกในปี ค.ศ. 2008 หลังการบูรณะซ่อมแซม
ทางเดินหลักภายในอาสนวิหาร
หลุมฝังศพของฟร็องซัวที่ 2 ดุ๊กแห่งเบรอตาญ
อนุสรณ์สถานของนายพลลามอรีเซียร์
อาสนวิหารมองจากด้านนอก เห็นบริเวณร้องเพลงสวด
อ้างอิง
↑ http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_fr กระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
↑ Frankl, P., Revised by Crossley, P. (2000) Gothic architecture , (Yale University Press , Pelican History of Art).
↑ Leniaud, J.-M., Bienvenu, G., Curie, P., Daboust, V., Eraud, D., Gros, C., James, F.-C. and Riffet, O. (1991) Nantes. La cathédrale Loire-Atlantique, Inventaire Général des Monuments et des Richesses Artistiques de la France. Nantes 1991
↑ Russon, J. B. and Duret, D. (1933) La cathedrale de Nantes. Savenay 1933