สินสอด (อังกฤษ: dowry; สันสกฤต: dahej; ละติน: dos) เป็นเงิน สินค้าหรือทรัพย์ที่หญิงมอบให้แก่สามีของตนในการแต่งงาน[1] ซึ่งตรงกันข้ามกับการมอบสินสอดอันเป็นการที่ชายมอบทรัพย์ให้แก่ภรรยาของตน ในวัฒนธรรมเดียวกันอาจมีทั้งการมอบสินสอดที่มอบให้แก่สามีและมอบให้แก่ภรรยาไปพร้อมกัน สินสอดเป็นประเพณีโบราณ และอาจมีมาก่อนการบันทึกใด ๆ เป็นเวลานานแล้ว
ประวัติศาสตร์
แต่เดิม วัตถุประสงค์ของสินสอดคือการจัดหา "เงินแรกเริ่ม" หรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับการสร้างครอบครัวใหม่ เพื่อช่วยให้สามีทำหน้าที่เลี้ยงดูและปกป้องครอบครัวของตน ตลอดจนถึงการให้ความช่วยเหลือแก่ภรรยาและบุตรในกรณีที่ผู้นั้นกำลังจะเสียชีวิต[2] ดังนั้น สามีจึงมีทรัพยสิทธิ์เหนือสินสอดของภรรยา นอกเหนือจากนั้น ภรรยายังอาจสมทบกับสินสมรสของเธอเอง ซึ่งทำให้ทรัพย์ดังกล่าวไม่รวมอยู่ในสินสอด และจึงเป็นทรัพย์ของเธอเพียงผู้เดียว ทรัพย์ประเภทนี้เป็นทรัพย์ "นอกเหนือจากสินสอด" (กรีก: parapherna) และเป็นที่รู้จักกันว่า "สินส่วนตัวของภรรยา" หรือ "สินอันไม่ประกอบขึ้นเป็นสินสอด"[3]
ในบันทึกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ เช่น ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี สินสอดก็ได้รับการอธิบายว่าเป็นประเพณีที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว ระเบียบของประเพณีดังกล่าวรวมไปถึง: ภรรยาจะได้สิทธิ์เหนือสินสอดเดิมของตนภายหลังการเสียชีวิตของสามีอันเป็นสิทธิ์ในมรดกของสามี สินสอดดังกล่าวจะสามารถสืบมรดกตามกฎหมายให้แก่บุตรของนางเท่านั้น ไม่ใช่บุตรของสามีหรือบุตรที่เกิดจากหญิงอื่น และภรรยาจะไม่มีสิทธิ์รับมรดกหากบิดาของนางจัดหาสินสอดให้ในการแต่งงาน หากสตรีผู้นั้นเสียชีวิตโดยไม่มีบุตร ฝ่ายสามีจะต้องคืนทรัพย์สินสอดคืน แต่สามารถหักลบกับมูลค่าของสินสอดที่มอบให้ฝ่ายหญิงได้ แต่โดยปกติแล้ว สินสอดที่มอบให้ฝ่ายชายมักจะมีปริมาณมากกว่า[4]
อ้างอิง