สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ไฟฉาย) เป็นสถานีขนส่งที่ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณแยกไฟฉาย ใช้รับส่งผู้โดยสารจากภาคใต้ ภาคตะวันตกและภาคกลาง เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 และยุติการใช้งานในปี พ.ศ. 2532 เพื่อไปใช้งาน สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) และ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) ตามลำดับ
ประวัติ
ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2502 นั้น การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางนั้นไม่มีการควบคุมอย่างเป็นระบบมากนัก หากผู้ประกอบการรายได้มีเงินทุนมากพอก็สามารถนำรถยนต์โดยสารมาวิ่งให้บริการได้ อาจจะวิ่งในนามบุคคลหรือในนามบริษัท และไม่มีสัมปทานจากรัฐมาควบคุมการเดินรถ ท่ารถในขณะนั้นถ้าจะเดินทางไปในสายใต้จะจอดอยู่บริเวณวัดเลียบและท่าเตียน[1]
กระทั่งได้มีการจัดระเบียบการเดินรถและก่อตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ไฟฉาย) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 ณ ริมถนนจรัลสนิทวงศ์ ตำบลบางเสาธง อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี (เขตการปกครองในสมัยนั้น)[2] พร้อมกันกับอีกสองสถานีขนส่งคือ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) (หมอชิตเก่า) และสถานีขนส่งเอกมัย สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย)[2]
สาเหตุที่เลือกตั้งสถานีขนส่งสำหรับสายใต้ที่บริเวณนี้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังท่าน้ำพรานนก ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักในสมัยนั้น เพื่อข้ามฝากไปยังท้องสนามหลวง และโดยสารเรือไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาต่อได้ ต่อมาเมื่อเมืองมีการขยายตัว แต่เดิมที่สถานีขนส่งนี้อยู่ในพื้นที่ชานเมืองก็ถูกกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมือง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรจากรถโดยสารซึ่งเป็นรถที่มีขนาดใหญ่ จึงได้มีการย้ายสถานีขนส่งไปยังพื้นที่ปิ่นเกล้า และใช้ชื่อว่าสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) ในปี พ.ศ. 2532[3]
ที่ตั้ง
สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ไฟฉาย) แบ่งออกเป็นสองส่วน[1] คือ
- สถานีเดินรถโดยสารปรับอากาศชั้นหนึ่ง ภาคใต้ บริเวณทิศเหนือของสามแยกไฟฉาย[1] ตั้งอยู่บริเวณโรงพยาบาลศรีวิชัย
- สถานีเดินรถโดยสารธรรมดา ภาคใต้ บริเวณทิศใต้ของสามแยกไฟฉาย[1] ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์การค้านครหลวง ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยของสถานีรถธรรมดาแล้ว
สภาพพื้นที่สถานีในปัจจุบัน
เนื่องจากที่ดินผืนดังกล่าวเป็นของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ปัจจุบันบริษัทกำลังเปิดให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทอีกทางนอกเหนือจากการบริการเดินรถระหว่างจังหวัด โดยพื้นที่ของ บขส. บริเวณแยกไฟฉายที่จะเปิดให้เข้าทำประโยชน์นั้นมีจำนวน 3 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา ราคาประเมินที่ดินปัจจุบันคือ 98.09 ล้านบาท ติดกับถนนจรัญสนิทวงศ์และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล[4]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ผลานุรักษา, เมธี (2523). การออกแบบเลขนศิลป์สิ่งแวดแล้อม สำหรับสถานีเดินรถปรับอากาศสายเหนือ วิทยานิพนธ์ ภาคเอกสาร (PDF). คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
- ↑ 2.0 2.1 "จุดกำเนิดเครือข่ายการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง และสถานีขนส่งในกรุงเทพฯ". www.silpa-mag.com.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
- ↑ kinyupen_admin (2020-09-22). "รู้ไหม "สายใต้เก่า" แท้จริงในอดีตอยู่ที่ "สามแยกไฟฉาย" ปิ่น เกล้าคือ "สายใต้ใหม่" และ "ตลิ่งชัน (ปัจจุบัน) คือ "สายใต้ ใหม่กว่า"". kinyupen.co (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ ฐานเศรษฐกิจ (2023-10-12). "บขส.ไม่ถอย เปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ "แยกไฟฉาย-ชลบุรี" รอบ 2". thansettakij.
แหล่งข้อมูลอื่น