ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) (อังกฤษ: Moral For Morality Promotion (CMP) (Public Organization)) เป็นองค์การมหาชนของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554 มีภารกิจด้านการส่งเสริมและสนับสนุนคุณธรรมความดีภายใต้บริบทของสังคมไทยซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาตลอดเวลา และเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาคุณธรรมความดี
ประวัติ
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม
เดิมศูนย์คุณธรรม ถูกจัดตั้งขึ้นในชื่อ "ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม" เป็นหน่วยงานเฉพาะด้านตามนโยบายรัฐบาล ก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่หลักในการบริหารจัดการและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนประสานงานและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรด้านการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม
คณะกรรมการ
- คุณหญิง ปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการ
- ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์ รณชัย คงสกนธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- ดร. เมธินี เทพมณี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- รองศาสตราจารย์ ดร. ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 จึงได้เริ่มมีแนวความคิดในการจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้น และได้มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 46ก วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554 โดยโอนภารกิจ ทรัพย์สิน และบุคลากรของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) มาจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนแห่งใหม่
ภารกิจ
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มีบทบาทหน้าที่และภารกิจ ดังนี้[3]
- ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมพลังของกลุ่มหรือเครือข่ายทางสังคม และประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงการจัดประชุมสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่สอดคล้องกับแนวทางหรือกรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ
ส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เพื่อพัฒนาคุณธรรมความดีที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย
- ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ค้นคว้า พัฒนาองค์ความรู้ สร้างองค์ความรู้ใหม่รวบรวมองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ บริหารจัดการความรู้ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านคุณธรรมความดีและเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบของการประพฤติปฏิบัติดีของบุคคลและการเป็นคนดีของสังคม
- ส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทางวิชาการและนวัตกรรมในกระบวนการพัฒนาคุณธรรมความดีในรูปแบบต่าง ๆ
- ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมอื่น ๆ และการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคุณธรรมความดี
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น