ศัลยศาสตร์ออร์โทพีดิกส์[1] หรือ ออร์โทพีดิกส์ (ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน) (อังกฤษ: orthopedics, orthopaedics, orthopedic surgery, orthopaedic surgery) (โดยทั่วไปมักสะกดว่า ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ หรือ ออร์โธปิดิกส์[2] [3] (ศัพท์ทางการ)) เป็นสาขาวิชาหนึ่งของวิชาศัลยศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งในประเทศไทยแบ่งสาขาวิชาย่อยดังนี้
- การบาดเจ็บทางออร์โธปิดิกส์ (Orthopedic trauma)
- ศัลยศาสตร์ข้อสะโพกและข้อเข่า (Hip and knee surgery) หรือออร์โธปิดิกส์บูรณสภาพ (Adult reconstructive surgery)
- ศัลยศาสตร์ทางมือและจุลยศัลยศาสตร์ (Hand and microsurgery)
- เวชศาสตร์การกีฬา (Sports medicine)
- ศัลยศาสตร์เท้าและข้อเท้า (Foot and ankle surgery)
- เนื้องอกกระดูกและระบบเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Musculoskeletal oncology)
- ศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง (Spine surgery)
- กุมารศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ (Pediatric orthopedics)
- ออร์โธปิดิกส์ผู้สูงวัยและโรคกระดูกเมตาบอลิก (Orthogeriatrics and metabolic bone disorder)
ศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์
ศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์ (ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน) (อังกฤษ: Orthopedic Surgeons, Orthopedists) (โดยทั่วไปมักสะกดว่า ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ (ศัพท์ทางการ)) เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง โดยทำการวินิจฉัยและดูแลรักษาด้วยการให้ยาหรือการผ่าตัดในความผิดปกติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกาย ในภาษาไทยมีชื่อเรียกศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์หลากหลายชื่อ เช่น "ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ" "แพทย์กระดูกและข้อ" "หมอกระดูก" หรือในวงการแพทย์ในประเทศไทยเรียกสั้นๆ ว่า "หมอออร์โธฯ"
ศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์ในประเทศไทยต้องสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากนั้นต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะและศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้านสาขาออร์โธปิดิกส์ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์ ซึ่งรับรองและออกให้โดยแพทยสภา
อ้างอิง