พลโท คาร์ล เอดูอาร์ท วิลเฮ็ล์ม เกรอเนอร์ (เยอรมัน: Karl Eduard Wilhelm Groener) เป็นทหารและนักการเมืองชาวเยอรมัน เขาเป็นนายทหารฝ่ายแนวหลังที่ประสบความสำเร็จทั้งก่อนและในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
เกรอเนอร์เติบโตทางราชการในสายงานรถไฟทหาร เขาทำงานเกี่ยวกับด้านนี้ยาวนานถึง 17 ปีตั้งแต่ค.ศ. 1899[1] จนได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟทหารในยศพลโท และมีส่วนสำคัญในการขยายโครงข่ายทางรถไฟและพัฒนาเส้นทางรถไฟในจักรวรรดิเยอรมัน การพัฒนาทางรถไฟทำให้เยอรมนีสามารถขนทหารนับล้านไปยังชายแดน ทำให้ได้รับเหรียญพัวร์เลอเมรีทในปีค.ศ. 1915
พลโทเกรอเนอร์เป็นมือร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมปิตุภูมิ ค.ศ. 1916 (Gesetz über den vaterländischen Hilfsdienst) เพื่อเกณฑ์ทหารจากจากชายวัยฉกรรจ์ จนตัวเขาตกเป็นเป้าโจมตีจากบรรดาเจ้าของโรงงานและสหภาพแรงงาน กลุ่มปฏิวัติได้ฉกฉวยคำพูดของเกรอเนอร์ที่ว่า "พวกแรงงานหยุดงานประท้วง ขณะที่ทหารแนวหน้ากำลังตาย" มาเป็นคำปลุกปั่นในหมู่แรงงาน และนั่นทำให้พลเอกเอริช ลูเดินดอร์ฟ เจ้าพนักงานใหญ่ผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ รู้สึกไม่พอใจมาก เมื่อได้โอกาสก็ส่งตัวเกรอเนอร์ไปเป็นผู้บัญชาการภาคสนามในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1917[1] โดยได้เป็นผบ.กองพลที่ 33 (33. Division) ต่อมาเป็นผบ.กองหนุนที่ 25 (XXV. Reserve-Korps) และตามด้วยเป็นผบ.กองทัพน้อยที่ 1 (I. Armee-Korps) ในยูเครน
เยอรมนีกำลังแพ้สงคราม ลูเดินดอร์ฟถูกจักรพรรดิบีบให้ลาออกในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 พลโทเกรอเนอร์ก็ถูกเรียกตัวมาแทนที่ลูเดินดอร์ฟที่ตำแหน่งเจ้าพนักงานใหญ่ผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ ซึ่งเป็นเบอร์สองรองจากจอมพลฮินเดินบวร์ค[2] ขณะนั้นสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มคุมไม่อยู่ การจลาจลเกิดขึ้นทั้งในหมู่ทหารและพลเรือนจนรัฐบาลเกรงว่าจะบานปลายเป็นการปฏิวัติ พลโทเกรอเนอร์เริ่มเตรียมการถอนกำลังทหารและปลดประจำการกองทัพทันที[3][4]: 51 [2] การปฏิวัติปะทุขึ้นทั่งประเทศในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เกรอเนอร์พยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาระบอบกษัตริย์และความสมานฉันท์ในกองทัพไว้ เขามองว่าอุปสรรคที่ขวางทางอยู่คือองค์จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 เขารู้สึกว่าจักรพรรดิควรจะปลงพระชนม์ตนเองอย่างองอาจเช่นทหารแนวหน้า[4]: 75
6 พฤศจิกายน 1918 เกรอเนอร์โกรธเมื่อทราบว่าพรรคสังคมประชาธิปไตยซึ่งครองเสียงมากสุดในไรชส์ทาค ถวายคำแนะนำให้จักรพรรดิทรงสละบัลลังก์[2] แต่สุดท้าย ในวันที่ 9 พฤศจิกายน เกรอเนอร์ทูลแนะนำจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ทรงสละบัลลังก์ เนื่องจากกองทัพไม่เหลือความไว้วางใจพระองค์อีกแล้ว เกรอเนอร์ยังคงต้องการจะพิทักษ์ระบอบกษัตริย์ไว้ แต่เป็นภายใต้เจ้าเหนือหัวคนใหม่[3] อย่างไรก็ตาม ในวันนั้นเอง นายกรัฐมนตรีจักรวรรดิออกประกาศว่าจักรพรรดิทรงสละราชสมบัติแล้ว นอกจากนี้ นักการเมืองพรรคสังคมประชาธิปไตยก็ยังป่าวประกาศว่าจักรวรรดิเยอรมันแปรสภาพสู่สาธารณรัฐแล้ว เกรอเนอร์จึงได้แต่ยอมรับสภาพโดยดี
ในคืนวันที่ 10 พฤศจิกายน พลโทเกรอเนอร์ติดต่อกับฟรีดริช เอเบิร์ท นายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลคนใหม่ ทั้งสองแอบทำข้อตกลงกัน นายกรัฐมนตรีเอเบิร์ทยินยอมให้เกรอเนอร์ปราบปรามพวกบอลเชวิคหัวปฏิวัติและรักษาขนบธรรมเนียมในกองทัพเยอรมัน เกรอเนอร์ให้สัญญาว่ากองทัพจะสนับสนุนรัฐบาลใหม่[5][2] ข้อตกลงนี้ทำให้เกรอเนอร์ถูกเกลียดขี้หน้าโดยทหารยศสูงจำนวนมากที่ต้องการปกป้องระบอบกษัตริย์ เกรอเนอร์เป็นผู้บัญชาการกำลังทหารในการปฏิวัติเยอรมัน ค.ศ. 1918–1919 และสามารถปราบปรามการลุกฮือของประชาชนทั่วทั้งประเทศ
อ้างอิง