วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ เกิดวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่กรุงเทพมหานคร โดยมีกิจการในครอบครัวคือการจำหน่ายอัญมณีจำพวกทองและเพชร ฐานะของครอบครัวจัดว่าอยู่ในขั้นดี
นายวิรัตน์เข้าสู่วงการมวยด้วยอายุ 20 กว่า ๆ ในวัยเรียน ด้วยการเข้าไปเล่นพนันมวยในเวทีมวยราชดำเนินและเวทีมวยลุมพินี ทำให้รู้จักบุคคลในวงการมากมาย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2520 ได้ตั้งค่ายมวยของตนเองขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในชื่อ "ค่ายเพชรยินดี" มีนักมวยไทยในสังกัดที่มีชื่อเสียง เช่น สกัด เพชรยินดี ทอง เพชรยินดี และวิชาญน้อย เพชรยินดี ในยุคแรก ๆ
ในปี พ.ศ. 2520 เวทีมวยลุมพินีได้แต่งตั้งให้เป็นโปรโมเตอร์ประจำสนาม โดยใช้ชื่อรายการของตนเองว่า "ศึกเพชรยินดี" มาจนปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2537 ได้ก่อตั้งบริษัทธุรกิจมวยของตนเองขึ้นมา ในชื่อ "เพชรยินดี บ๊อกซิ่ง โปรโมชั่น" (Diamond Boxing Promotion) และเป็นผู้จัดการแข่งขันมวยไทยรายการใหญ่ รวมทั้งเป็นผู้จัดมวยคู่เอก ดังเช่น การแข่งขันของ แซมซั้น แสนเมืองน้อย ลูกเจ้าพ่อมเหศัดิ์ (แซมซั้น กระทิงแดงยิม) ทวีศักดิ์เล็ก พลอยศักดา
สามเอ ไก่ย่างห้าดาวยิม[1]
ในทางมวยสากล นายวิรัตน์ก็มีนักมวยที่ประสบความสำเร็จได้แชมป์โลกและมีชื่อเสียงมากมายในสังกัด เช่น ฉัตรชัย อีลิทยิม, แซมซั่น กระทิงแดงยิม, เม็ดเงิน กระทิงแดงยิม, พงษ์ศักดิ์เล็ก กระทิงแดงยิม, โอเล่ห์ดง กระทิงแดงยิม, วันเฮง ซีพีเอฟ และ น็อคเอาท์ ซีพรเฟรชมาร์ท
นอกจากธุรกิจมวยแล้ว นายวิรัตน์ยังมีธุรกิจประเภทอื่นอีก เช่น ค้าทองคำซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวแต่ดั้งเดิมอยู่แล้ว ธุรกิจสปอร์ตคอมเพล็กซ์ในชื่อ "อีลิท สปอร์ตคอมเพล็กซ์" เป็นต้น
ชีวิตส่วนตัว นายวิรัตน์มีชื่อเล่นที่นิยมเรียกกันในหมู่สื่อมวลชนและบุคคลในวงการมวยว่า "เสี่ยเน้า" หรืออีกมุมหนึ่งว่า "โปรโมเตอร์ไม่กะล่อน" ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางภาวิณี วชิรรัตนวงศ์ มีบุตร 2 คน คือ นายณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์[2] กับ นางสาวฐานิต วชิรรัตนวงศ์[3]
ในปัจจุบัน มี "เสี่ยโบ๊ท" นายณัฐเดช ลูกชายคนโต และ "เสี่ยตัง" นายปิยะรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ หลานชาย เป็นผู้สืบทอดกิจการมวย เสี่ยเน้า นายวิรัตน์ โปรโมเตอร์ไม่กะล่อน ได้เตรียมจะวางมือจากวงการมวยเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 โดยถ่ายโอนงานบางส่วนให้นายณัฐเดช และนายสุเมธ ซื่อสัตตบงกช เป็นผู้ดูแล [4] และได้วางมือเป็นการถาวรในวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกันเนื่องจากมีความขัดแย้งส่วนตัวอย่างรุนแรงกับอดีตนายสนามมวยเวทีลุมพินี โดยการจัดรายการมวยใหญ่นัดสุดท้ายเป็นการอำลา ผ่านรายการถ่ายทอดสดทาง ททบ. 5 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาเวทีมวยลุมพินี นับเป็นเวลากว่า 38 ปี ที่ได้มีบทบาทในวงการมวย ทั้งมวยไทยและมวยสากล[5]
อ้างอิง