วาฬหัวทุย

วาฬหัวทุย
วาฬหัวทุย
ขนาดเมื่อเทียบกับมนุษย์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
อันดับฐาน: Cetacea
อนุอันดับ: Odontoceti
วงศ์: Physeteridae
สกุล: Physeter
Linnaeus, 1758 [2]
สปีชีส์: P.  macrocephalus
ชื่อทวินาม
Physeter macrocephalus
Linnaeus, 1758
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (สีน้ำเงิน)
ชื่อพ้อง[2]
  • Physeter catodon Linnaeus, 1758
  • Physeter australasianus Desmoulins, 1822
  • Physeter australis Gray, 1846

วาฬหัวทุย[3] หรือ วาฬสเปิร์ม (อังกฤษ: sperm whale;[2] ชื่อวิทยาศาสตร์: Physeter macrocephalus) เป็นวาฬขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง จัดเป็นวาฬมีฟัน (Odontoceti) ชนิดที่ใหญ่ที่สุด

วาฬหัวทุยมีลักษณะเด่นคือ มีส่วนหัวใหญ่และยาวมากเกือบร้อยละ 40 ของลำตัว ลำตัวสีเทาดำผิวหนังเป็นรอยย่นตลอดลำตัว ส่วนหน้าผากตั้งฉากตรงขึ้นจากปลายปากบน และเป็นแนวหักลาดไปทางส่วนหลัง ท่อหายใจรูเดียว อยู่ส่วนบนเยื้องไปด้านซ้ายของหัวครีบหลัง มีลักษณะเป็นสันนูนขึ้นมาตั้งอยู่ค่อนไปทางท้ายลำตัว และมีสันเป็นลอน ๆ ไปจนเกือบถึงโคนหาง ครีบข้างค่อนข้างเล็กปลายมนเหมือนใบพาย ไม่มีครีบหลัง ขากรรไกรล่างแคบยาวและเล็กมากเมื่อเทียบกับส่วนหัว ฟันเป็นเขี้ยวจำนวน 16–30 คู่ บนขากรรไกรล่าง ขากรรไกรบนไม่มีฟัน แต่จะมีช่องสำหรับรองรับฟันล่างเวลาหุบปากเท่านั้น อย่างไรก็ตามอาจพบฟัน 10–16 คู่ ในกระดูกขากรรไกรบนของวาฬที่มีอายุมาก ๆ[4] นอกจากนี้แล้วบริเวณรอบ ๆ ปากจะเป็นสีขาว ซึ่งเชื่อกันว่าในที่ ๆ น้ำลึกสีขาวนี้จะเรืองแสงในความมืด ใช้เป็นเครื่องล่อเหยื่อต่าง ๆ ของวาฬหัวทุย[5]

วาฬหัวทุยตัวผู้มีขนาดโตเต็มวัยยาวประมาณ 15–18 เมตร วาฬหัวทุยตัวเมียจะยาวประมาณ 12–14 เมตร ส่วนลูกแรกเกิดยาว 3.5–4.5 เมตร แม่วาฬใช้เวลาตั้งท้องนาน 16–17 เดือน ลูกจะอาศัยอยู่กับแม่เป็นเวลาประมาณ 13 เดือนเศษ ๆ จึงแยกออกหากินอิสระ มีน้ำหนักประมาณ 28 ตัน[4]

วาฬหัวทุยเป็นวาฬที่อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง และเป็นวาฬชนิดที่ดำน้ำได้ลึกที่สุด มีรายงานว่าสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 1,000 เมตร โดยใช้เวลาประมาณ 40 นาที มีรายงานจากการติดตามวาฬที่ติดเครื่องหมายด้วยระบบโซนาร์ พบว่าสามารถดำน้ำได้ลึกถึง 2,800–3,000 เมตร โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง [4]จากการสูดหายใจเพียงครั้งเดียวที่ผิวน้ำที่มีแรงกดดันเท่ากับที่มนุษย์หายใจ ซึ่งในระดับความลึกกว่า 1,000 เมตร แรงกดของอากาศมากกว่าที่ผิวน้ำ 100 เท่า บีบอัดปอดของวาฬให้เหลือเพียงร้อยละ 1 ของปริมาตรทั้งหมด[6] แต่ขณะที่ยังเป็นวาฬวัยอ่อนอยู่จะยังไม่สามารถดำน้ำลึกได้เหมือนตัวที่โตเต็มวัย[5]

นอกจากนี้ วาฬหัวทุยยังเป็นวาฬชนิดที่ชอบกินหมึกเป็นอาหารมากที่สุด[7] โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมึกมหึมา (Mesonychoteuthis hamiltoni) ซึ่งเป็นหมึกชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีความยาวได้ถึง 14 เมตร ในระดับความลึกระดับ 1,000 เมตร หรือหมึกกล้วยยักษ์ (Architeuthis dux) ที่มีขนาดรองลงมา โดยอาจยาวได้ถึง 12 เมตร[5] โดยมีการพบซากจะงอยปากของหมึกในกระเพาะของวาฬหัวทุย วาฬบางตัวจะมีผิวหนังที่เป็นรอยแผลจากปุ่มดูดของหนวดหมึกปรากฏอยู่ [8]

รอยแผลเป็นบนผิวหนังวาฬหัวทุยจากปุ่มดูดของหมึกมหึมา

วาฬหัวทุยเป็นวาฬที่พบได้ในทะเลและมหาสมุทรทั่วโลก ในน่านน้ำไทยพบรายงานเพียง 3 จังหวัด คือ พังงา, ภูเก็ต และสตูล และถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย[4] [9]

วาฬหัวทุยนับเป็นวาฬอีกชนิดหนึ่งที่ถูกล่าจากมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยการนำเขี้ยวและฟันมาเป็นทำเครื่องประดับ ไขมันในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เนื้อสำหรับรับประทาน นอกจากนี้แล้วอาเจียนหรือมูลของวาฬหัวทุยยังมีลักษณะแข็งเหมือนอำพัน และมีกลิ่นหอมเป็นลักษณะพิเศษ เป็นของหายาก ราคาแพง ใช้เป็นส่วนสำคัญในการผลิตหัวน้ำหอมและยาไทยได้ด้วย เรียกว่า "อำพันขี้ปลา" หรือ "ขี้ปลาวาฬ"[7] และที่ส่วนหัวยังมีสารพิเศษคล้ายไขมันหรือขี้ผึ้ง เรียกว่า "ไขปลาวาฬ" ซึ่งใช้ในการผลิตโลชันและเวชภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ[10][11] วาฬหัวทุยได้รับการอ้างอิงถึงในวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงระดับโลก คือ "โมบิดิก" ของเฮอร์มัน เมลวิลล์ ใน ค.ศ. 1855 ที่เป็นเรื่องราวของการล่าวาฬหัวทุยเผือกตัวหนึ่งที่มีนิสัยดุร้าย ชื่อ โมบิดิก หรือในวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง "พินอคคิโอ" ที่ตอนท้ายเรื่องพินอคคิโอผจญภัยเข้าไปอยู่ในท้องของวาฬ ซึ่งก็คือ วาฬหัวทุย เป็นต้น[8]

ในปัจจุบัน มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์พบว่า วาฬหัวทุยรวมถึงวาฬชนิดอื่น ๆ มีขนาดลำตัวที่เล็กลงจากอดีต บ่งบอกว่าเป็นสัตว์ที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะวาฬหัวทุยนั้นใน ค.ศ. 1985 ขนาดเล็กกว่าเดิมที่เคยวัดไว้เมื่อ ค.ศ. 1905 ประมาณ 4 เมตร[12]

รูปภาพ

อ้างอิง

  1. จาก IUCN
  2. 2.0 2.1 2.2 "Physeter". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  3. "วาฬ." ใน ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 1412.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ปลาวาฬหัวทุย[ลิงก์เสีย]
  5. 5.0 5.1 5.2 "มหัศจรรย์หมึกยักษ์". ไทยพีบีเอส. 16 June 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-07-22. สืบค้นเมื่อ 16 June 2014.
  6. "อัศจรรย์โลกใต้น้ำ ตอนที่ 3". ช่อง 7. 5 January 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-22. สืบค้นเมื่อ 5 January 2015.
  7. 7.0 7.1 "อัมพันจากทะเล ขี้ปลาวาฬ กก.ละหมื่นบาท". ไทยรัฐ.
  8. 8.0 8.1 "โมบี้ ดิ๊ก วาฬเสปิร์มหัวทู่ - ปุ๊กเขียน". โอเคเนชั่น.[ลิงก์เสีย]
  9. สัตว์ป่าคุ้มครอง
  10. "ยาจากทะเล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-08. สืบค้นเมื่อ 2012-12-07.
  11. "10 วาฬใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในโลก". เด็กดีดอตคอม.
  12. หน้า 17 สัตว์เลี้ยง, พิพิธภัณฑ์ลอนดอนจัดแสดงตัวอ่อนวาฬหลังค่อม โดย ทีมข่าวต่างประเทศ. คมชัดลึกปีที่ 16 ฉบับที่ 5734: วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

แหล่งข้อมูลอื่น

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Physeter macrocephalus ที่วิกิสปีชีส์

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!