บทความนี้เกี่ยวกับรัฐในประวัติศาสตร์ สำหรับรัฐในปัจจุบัน ดูที่
สหราชอาณาจักร
บทความนี้เกี่ยวกับรัฐในประวัติศาสตร์ สำหรับเกาะ ดูที่
บริเตนใหญ่
ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ (อังกฤษ : Kingdom of Great Britain ) เป็นรัฐ ในยุโรปตะวันตก ดำรงอยู่ในช่วงค.ศ. 1707 จนถึง ค.ศ. 1801 เกิดจากการรวมกันของราชอาณาจักรอังกฤษ และราชอาณาจักรสกอตแลนด์ ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1707 (พ.ศ. 2250) ก่อนหน้านี้ราชอาณาจักรทั้งสองได้มีพระประมุขพระองค์เดียวกัน ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ ขึ้นครองราชย์เป็นประมุขของอังกฤษใน ค.ศ. 1603
สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ เข้าแทนที่ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ในปีค.ศ. 1801 หลังจากราชอาณาจักรไอร์แลนด์ เข้าร่วมในพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800
ก่อตั้งราชอาณาจักรบริเตนใหญ่
จากพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 (Act of Settlement) ว่าหากราชวงศ์สจวตที่เป็นโปรเตสแตนต์สิ้นไป ให้บัลลังก์ตกเป็นขององค์หญิงโซฟี พระชายาในเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกฮันโนเฟอร์ (Sophie, Electress of Hannover) ทำให้รัฐสภาสกอตแลนด์ ที่ต้องการจะรักษาราชวงศ์สจ๊วตไว้ จึงออกพระราชบัญญัติรักษาความปลอดภัย (Act of Security) ว่าถ้าราชวงศ์สจ๊วตในอังกฤษหมดไปจะตั้งสมาชิกพระราชวงศ์สจ๊วตพระองค์อื่นมาครองสกอตแลนด์ ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ แห่งอังกฤษทรงเกรงว่าสกอตแลนด์จะแยกตัวและไปเข้าพวกกับฝรั่งเศส ทำให้พระนางออกพระราชบัญญัติต่างด้าว (Aliens Act) ในค.ศ. 1705 ว่าชาวสกอตในอังกฤษจะเป็นคนต่างด้าว เว้นแต่สกอตแลนด์จะเลิกพระราชบัญญัติรักษาความปลอดภัย หรือรวมเข้ากับอังกฤษ สกอตแลนด์เลือกอย่างหลัง
ในค.ศ. 1707 พระราชบัญญัติสหภาพผนวกอาณาจักรอังกฤษและอาณาจักรสกอตแลนด์ไว้ด้วยกัน เป็น ราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ (Kingdom of Great Britain) ยุบรัฐสภาของทั้งสองอาณาจักร ตั้งรัฐสภาแห่งบริเตนใหญ่
ในค.ศ. 1708 พระราชสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์คือ เจ้าชายจอร์จแห่งเดนมาร์ก (Prince George of Denmark) สิ้นพระชนม์ พระนางแอนน์ทรงเสียพระทัยมาก ทรงไม่ยอมแม้แต่จะแต่งตั้งผู้บัญชาการทัพเรือ (Lord High Admiral) คนอื่นขึ้นมาแทน โดยพระนางทรงทำหน้าที่แทนพระสวามีที่สิ้นพระชนม์ จนพรรควิก (Whigs) บังคับให้พระนางแต่งตั้งผู้บัญชาการใหม่ในที่สุด สงครามสืบราชสมบัติสเปนที่พวกวิกสนับสนุนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้พ่ายแพ้การเลือกตั้งในค.ศ. 1710 พรรคโทรี (Tory) ขึ้นมาแทน และเจรจาสันติภาพในสนธิสัญญาอูเทรชท์ (Treaty of Utrecht) ในค.ศ. 1713 ยอมรับพระเจ้าฟิลิปที่ 5 แห่งสเปน เป็นกษัตริย์สเปน
ในค.ศ. 1714 สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์สวรรคต พระโอรสขององค์หญิงโซฟี คือจอร์จ ผู้คัดเลือกแห่งแฮนโนเวอร์จากเยอรมนี มาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ฮาโนเวอร์
ในค.ศ. 1715 พรรควิกชนะการเลือกตั้ง ออกพระราชบัญญัติเจ็ดปี (Septennial Act) ให้รัฐสภามีอายุอย่างน้อยเจ็ดปี เป็นรากฐานให้พวกวิกมีอำนาจไปอีก 50 ปี แต่องค์ชายเจมส์ เอ็ดวาร์ด สจ๊วต (James Edward Stuart) หรือ The Old Pretender พระโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เป็นเชื้อพระวงศ์สจ๊วตที่นับถือคาทอลิกที่ถูกยึดบัลลังก์ไปในเหตุการณ์การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ มาทวงบัลลังก์เรียกว่า กบฏจาโคไบต์ (Jacobite) พวกโทรีแอบไปเข้าพวกจาโคไบต์ พระเจ้าจอร์จทรงมีความขัดแย้งกับพระโอรส คือ จอร์จ ออกุสตุส เจ้าชายแห่งเวลส์ (George Augustus, Prince of Wales) ในค.ศ. 1717 พระเจ้าจอร์จทรงนำอังกฤษเข้าสงครามจตุรสัมพันธมิตร (War of the Quadraple Alliance) เพื่อทำสงครามกับสเปน สเปนจึงสนับสนุนกบฏจาโคไบต์ แต่ไม่สำเร็จ
ในค.ศ. 1719 บริษัทเซาธ์ซี เสนอรัฐสภาว่าจะแบกรับภาระการใช้หนี้พันธบัตร จากรัฐบาล โดยขอความปลอดภัยของหุ้นเป็นการแลกเปลี่ยน บริษัทเซาธ์ซีเสนอให้เจ้าของพันธบัตรต่างๆ เปลี่ยนพันธบัตรเป็นหุ้น ทำให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐสภาต้องออกพระราชบัญญัติห้ามการแลกเปลี่ยน ผลคือการซื้อขายพันธบัตรกลายเป็นตลาดใต้ดิน เมื่อหาซื้อกันได้ง่ายๆ ราคาจึงตกวูบ บรรดาขุนนางก็ขาดทุนกันมหาศาล เรียกว่า เหตุการณ์ฟองสบู่แตกเซาธ์ซี
เจ้าชายแห่งเวลส์ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 2 เช่นเดียวกับพระบิดา พระเจ้าจอร์จที่ 2 ทรงมีความขัดแย้งกับพระโอรสคือเฟรเดอริค เจ้าชายแห่งเวลส์ (Frederick, Prince of Wales) ในรัชสมัยของพระองค์ เซอร์รอเบิร์ต วอลโพล (Sir Robert Walpole) มีอำนาจมากจนได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรก พระเจ้าจอร์จทรงนำอังกฤษเข้าสงครามหูเจงกินส์ (War of Jenkin's Ear) กับสเปน และสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย เมื่อพระเจ้าฟรีดรีชมหาราชแห่งปรัสเซีย (เป็นพระนัดดาของพระเจ้าจอร์จ) ต้องการจะแย่งบัลลังก์ออสเตรีย พระเจ้าจอร์จก็ทรงนำทัพไปปกป้องแคว้นแฮนโนเวอร์
แต่ฝรั่งเศสก็ปลุกปั่นกบฏจาโคไบต์ในสกอตแลนด์ในค.ศ. 1745 นำโดยเจ้าชายชาลส์ เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต (Charles Edward Stuart) หรือบอนนี่ ปริ้นซ์ ชาร์ลี (Bonnie Prince Charlie) หรือ The Young Pretender เป็นพระโอรสของ The Old Pretender นำทัพสกอตบุกอังกฤษ พระเจ้าจอร์จทรงส่งพระโอรสคือ เจ้าชายวิลเลียม ออกุสตุส ดยุกแห่งคัมเบอร์แลนด์ ไปปราบเจ้าชายชาลส์ในยุทธการที่คัลโลเดน (Culloden) เป็นสงครามครั้งสุดท้ายบนหมู่เกาะบริเทน ตลอดไป ในค.ศ. 1757 พันเอกรอเบิร์ต ไคลฟ์ มีชัยในยุทธการที่ปลาศี และได้แคว้นเบงกอล มาครอบครอง เป็นจุดเริ่มต้นของการยึดครองอนุทวีปอินเดียของบริเตน
ในค.ศ. 1754 การแข่งขันในการแผ่ขยายอาณานิคมในอเมริกาทำให้บริเตนทำสงครามกับฝรั่งเศสในอเมริกา แต่ฝรั่งเศสได้ชาวอินเดียนพื้นเมืองมาเป็นพวก เรียกว่าสงครามฝรั่งเศสและอินเดียน (French and Indian War) และในค.ศ. 1756 การแผ่ขยายอำนาจของพระเจ้าเฟรเดอริคแห่งปรัสเซียทำให้ชาติต่างๆที่เคยเป็นศัตรูกันรวมตัวกันทำสงครามกับปรัสเซีย แต่สงครามอาจทำให้แคว้นฮาโนเวอร์ตกอยู่ในอันตราย ฝรั่งเศสอาจยึด บริเตนจึงเข้าพวกปรัสเซีย เพื่อทำสงครามเจ็ดปี (Seven Years' War) บริเตนจึงต้องทำสงครามสองที่ ทั้งในยุโรปและอเมริกา
ปลายศตวรรษที่ 18 เป็ยสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในบริเตน
บริเตนทำสงครามกับฝรั่งเศสตามอาณานิคมต่างๆทั่วโลก ขุนพลวอล์ฟ (Wolfe) ชนะทัพฝรั่งเศสในการรบที่ที่ราบอับราฮัม (Plains of Abraham) ฝรั่งเศสยึดเกาะมินอร์กา แต่บริเตนยึดเซเนกัล ในค.ศ. 1758 วอล์ฟนำบริเตนยึดเมืองคิวเบก เมืองหลวงของอาณานิคมฝรั่งเศสได้ ในค.ศ. 1763 สนธิสัญญาปารีส ยกแคนาดาของฝรั่งเศสทั้งหมดให้บริเตน และได้ฟลอริดาจากสเปน ทำให้อาณานิคมของบริเตนในอเมริกาแผ่ขยายมหาศาล จอร์จ เกรนวิลล์ (George Grenville) หัวหน้าพวกวิกเป็นนายกรัฐมนตรี ออกพระราชบัญญัติอ้างเขตดินแดน (Royal Proclaimation) ในอาณานิคมเพื่อกำหนดเขตแดนระหว่างอาณานิคมกับที่ดินของชาวพื้นเมือง เพื่อหยุดสงครามกับชาวพื้นเมือง
ในค.ศ. 1765 เกรนวิลล์ออกพระราชบัญญัติแสตมป์ (Stamp Act) เพื่อให้ติดแสตมป์อากรในเอกสารราชการทุกอย่างของบริเตนในอาณานิคม ทำให้ชาวอาณานิคมไม่พอใจอย่างมาก พระเจ้าจอร์จ จึงทรงปลดเกรนวิลล์และทรงตั้งวิลเลียม พิตต์ผู้พ่อ (William Pitt the Elder) ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งเป็นเอิร์ลแห่งเชตแฮม (Earl of Chetham) ถอนพระราชบัญญัติแสตมป์ ทำให้ชาวอเมริกาสร้างอนุสาวรีย์ให้ทั้งพระเจ้าจอร์จและเชตแฮม
เอิร์ลแห่งเชตแฮมล้มป่วย ทำให้พวกโทรีขึ้นมามีอำนาจนำโดยลอร์ดนอร์ธ (Lord North) ลอร์ดนอร์ธยกเลิกภาษีทุกประการเพื่อเอาใจชาวอเมริกา แต่ยกเว้นภาษีชา เพื่อรักษาพระเดชานุภาพในการเก็บภาษี ในค.ศ. 1773 เกิดเหตุการณ์งานเลี้ยงน้ำชาบอสตัน (Boston Tea Party) โยนชาทิ้งทะเล ทำให้ลอร์ดนอร์ธออกพระราชบัญญัติลงทัณฑ์ (Punitive Act) ปิดท่าเรือบอสตันและยกเลิกเสรีภาพของอาณานิคมอ่าวแมซซาชูเซตต์ (Massachusette Bay) ชาวอเมริกาก็ยิ่งลุกฮืออีก เกิดเป็นการปฏิวัติอเมริกา (American Revolution) สงครามจึงเริ่มในค.ศ. 1775 ในค.ศ. 1776 ปีต่อมาอาณานิคมจึงประกาศเอกราชเป็นสหรัฐอเมริกา (United States of America) บริเตนพ่ายแพ้ทัพอาณานิคมที่ซาราโทกา (Saratoga) ในค.ศ. 1778 ฝรั่งเศสเห็นโอกาสจึงเข้าฝ่ายอาณานิคม ในค.ศ. 1781 บริเตนเข้ายึดเมืองยอร์คทาวน์ (Yorktown) ไม่สำเร็จ พระเจ้าจอร์จจึงทรงยอมรับความพ่ายแพ้ สนธิสัญญาปารีสในค.ศ. 1783 ทำให้อังกฤษสูญเสียอาณานิคมสิบสามรัฐในอเมริกา กลายเป็นสหรัฐอเมริกา และยกฟลอริดา ให้สเปน เหลือแต่แคนาดาที่ยังเป็นของบริเตน
สงครามเสียอเมริกาทำให้ลอร์ดนอร์ธเสียอำนาจ จึงคบคิดกับฟอกซ์ (Charles James Fox) เพื่อรักษาอำนาจ พระเจ้าจอร์จทรงไม่พอพระทัยจึงอาศัยอำนาจจากสภาขุนขางทำลายอำนาจของนอร์ธ ตั้งวิลเลียม พิตต์ ผู้เยาว์ (William Pitt the Younger) เป็นนายกฯแทน
พระเจ้าจอร์จทรงเริ่มมีพระอาการทางพระสติในค.ศ. 1765 แม้จะทรงพยายามจะรักษาพระองค์ แต่พระอาการก็ทรุดหนักในค.ศ. 1788 ในค.ศ. 1789 พระโอรส เจ้าชายแห่งเวลส์ จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน
ก่อตั้งสหราชอาณาจักร
ในค.ศ. 1789 เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ระบอบกษัตริย์ถูกล้มล้าง และกำลังแผ่ขยายอำนาจ บริเตนเข้าสงครามกับฝรั่งเศสในสัมพันธมิตรครั้งที่ 1 (First Coalition) กับชาติอื่นๆในยุโรป ในค.ศ. 1793 แต่พ่ายแพ้ในค.ศ. 1798 การขยายอำนาจของนโปเลียน ทำให้ชาติต่างๆเข้าร่วมสัมพันธมิตรครั้งที่ 2 (Second Coalition) อีกครั้งแต่สัมพันธมิตรก็พ่ายแพ้ในค.ศ. 1800 เหลือเพียงบริเตนที่ยังคงทำสงครามกับฝรั่งเศส
สงครามที่วุ่นวายทำให้ไอร์แลนด์ฉวยโอกาสก่อกบฏ วิลเลียม พิตต์จึงออกพระราชบัญญัติสหภาพ ค.ศ. 1800 ผนวกไอร์แลนด์เข้ากับบริเตน เป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ (United Kingdom of Great Britain and Ireland)
ติดตามประวัติศาสตร์ต่อใน สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์
ดูเพิ่ม