มาร์ตติ โอยวา กาเลวิ อะห์ติซาริ (ฟินแลนด์: Martti Oiva Kalevi Ahtisaari) เป็นนักการทูตและนักการเมืองชาวฟินแลนด์ อดีตประธานาธิบดีของฟินแลนด์ ทูตและผู้ไกล่เกลี่ยแห่งสหประชาชาติ และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2551
ประวัติ
มาร์ตติ อะห์ติซาริเกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2480 ที่เมืองวีปุริ ประเทศฟินแลนด์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศรัสเซีย) โดยโอยวา อะห์ติซาริ ผู้เป็นบิดา เป็นนายทหารชั้นประทวน ปู่ของโอยวาอพยพมาจากทางตอนใต้ของนอร์เวย์ โอยวาได้สัญชาติฟินแลนด์ในปี พ.ศ. 2472 และเปลี่ยนนามสกุลจากอดอล์ฟเซนเป็นอะห์ติซาริในปีพ.ศ. 2478[2]
มาร์ตติ อะห์ติซาริย้ายไปยังเมืองกัวปิโอในขณะที่บิดาต้องเข้าทำงานทหาร โดยมาร์ตติได้เข้าโรงเรียนที่กัวปิโอ ก่อนจะย้ายไปโอวลุในเวลาต่อมา อะห์ติซาริเรียนได้วุฒิการเป็นครูชั้นประถมจากมหาวิทยาลัยโอวลุในปี พ.ศ. 2502 และได้ทำงานสอนในโอวลุและประเทศปากีสถาน ก่อนจะเข้าทำงานในกระทรวงการต่างประเทศในปี พ.ศ. 2508 และในปี พ.ศ. 2516 ได้เป็นเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศแทนซาเนีย แซมเบีย โซมาเลีย และโมแซมบิก
อะห์ติซาริดำรงตำแหน่งข้าหลวงสหประชาชาติในนามิเบียในปี พ.ศ. 2520 ถึง 2524 และยังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนพิเศษของเลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติในนามิเบียในปี พ.ศ. 2521 อะห์ติซาริได้เป็นผู้นำปฏิบัติการของสหประชาชาติที่ให้ความช่วยเหลือนามิเบียในการได้รับเอกราช อะห์ติซาริได้รับรางวัลโอ อาร์ แตมโบจากแอฟริกาใต้สำหรับ "ผลงานอันโดดเด่นในฐานะนักการทูต และการทุ่มเทให้กับการเกิดเสรีภาพในแอฟริกาและสันติภาพในโลก"[3]
ตำแหน่งประธานาธิบดี
อะห์ติซาริเป็นตัวแทนพรรคสังคมประชาธิปไตยฟินแลนด์ ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีในปีพ.ศ. 2536 และชนะการเลือกตั้งเหนือเอลิซาเบท เรห์น จากพรรคประชาชนสวีเดน และเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของฟินแลนด์ในวันที่ 1 มีนาคน พ.ศ. 2537
หลังตำแหน่งประธานาธิบดี
อะห์ติซาริ ร่วมกับซีริล รามาฟอซา ช่วยเหลือในกระบวนการสันติภาพไอร์แลนด์ โดยเข้าตรวจสอบการปลดอาวุธของกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (ไออาร์เอ) ในปี พ.ศ. 2544 อะห์ติซาริเป็นผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยระหว่างขบวนการเสรีอาเจะฮ์และรัฐบาลอินโดนีเซียในปีพ.ศ. 2548 และได้รับตำแหน่งผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติในคอซอวอในปีเดียวกัน[4]
คณะกรรมการโนเบลนอร์เวย์ ประกาศในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ว่ามาร์ตติ อะห์ติซาริ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2551 "สำหรับความพยายามในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับนานาชาติในหลายทวีปมานานกว่าสามทศวรรษ"[5]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
---|
พ.ศ. 2444-2468 (ค.ศ. 1901-1925) | |
---|
พ.ศ. 2469-2493 (ค.ศ. 1926-1950) | |
---|
พ.ศ. 2494-2518 (ค.ศ. 1951-1975) | |
---|
พ.ศ. 2519-2543 (ค.ศ. 1976-2000) | |
---|
พ.ศ. 2544-2568 (ค.ศ. 2001-2025) | |
---|