มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลอะพอนไทน์ (University of Newcastle upon Tyne) หรือเรียกอย่างสั้นว่ามหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเน้นวิจัยขนาดกลาง มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนและวิจัยทางแพทยศาสตร์ ก่อตั้งขึ้นจากส่วนงานของมหาวิทยาลัยเดอรัมที่แยกออกมาและพัฒนาให้เป็นมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสองสถาบันอุดมศีกษาในเมืองนิวคาสเซิล โดยมีจำนวนนักศึกษาทุกระดับน้อยกว่ามหาวิทยาลัยนอร์ทัมเบรีย ณ นิวคาสเซิล[1]
ประวัติ
มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2377 ในฐานะวิทยาลัยแพทย์ขนาดเล็ก ๆ ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2394 เกิดความขัดแย้งในหมู่อาจารย์จนต้องแยกเป็นสองสถาบัน คือ วิทยาลัยแพทย์นิวคาสเซิล (Newcastle College of Medicine) และวิทยาลัยแพทยศาสตร์และศาสตร์ปฏิบัตินิวคาสเซิลอะพอนไทน์ (Newcastle upon Tyne College of Medicine and Practical Science) จากนั้นในปีต่อมา วิทยาลัยแพทย์นิวคาสเซิล ได้สมทบกับมหาวิทยาลัยเดอรัม และให้ประกาศนียบัตรแพทยศาสตร์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2399 หนึ่งปีให้หลังจากนั้นวิทยาลัยทั้งสองรวมตัวกันเป็นคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอรัม ณ นิวคาสเซิล (ระวังสับสนกับคณะแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเดอรัมในปัจจุบัน)[2]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2414 มหาวิทยาลัยเดอรัม วิทยาเขตนิวคาสเซิล (ส่วนงานในขณะนั้น) ได้ขยายสถานที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ ตั้งในใจกลางเมืองนิวคาสเซิล ทำการสอนสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และธรณีวิทยาเพื่อรองรับการทำเหมืองแร่ คณะวิชาดังกล่าวต่อมาได้ยกฐานะเป็นคณะวิทยาศาสตร์กายภาพในปี พ.ศ. 2426 คณะทั้งสองดำเนินกิจการมาได้ด้วยดีภายใต้การบริหารเดียวกัน วิทยาเขตนิวคาสเซิลของมหาวิทยาลัยเดอรัมเจริญก้าวหน้าตามลำดับจนสามารถสอนด้านแพทยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ได้ครบเมื่อ พ.ศ. 2461[3] ในที่สุดมหาวิทยาลัยเดอรัมบริหารงานไม่คล่องตัว จนต้องให้มีพระราชบัญญัติแยกสองสถาบันออกจากกัน โดยวิทยาเขตเดอรัมยังคงเป็นมหาวิทยาลัยเดอรัมต่อไป ส่วนวิทยาเขตนิวคาสเซิล ได้เป็นมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลอะพอนไทน์[4][5]
ที่ตั้ง
มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลมีวิทยาเขตหลักที่ย่านเฮย์มาร์เก็ต ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของใจกลางเมืองนิวคาสเซิล มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ติดกับสวนสาธารณะลีซพาร์ก (Leazes Park) สวนสาธารณะทาวน์มัวร์ (Town Moor) และมหาวิทยาลัยนอร์ทัมเบรีย ภายในมหาวิทยาลัยประกอบด้วยอาคารเรียนและปฏิบัติการ อาทิ อาคารอาร์มสตรอง ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2431 ด้วยเงิน 18,000 ปอนด์ทองคำ ต่อมาได้มีการต่อเติมสร้างหอจูบิลี ซึ่งเสร็จในปี พ.ศ. 2437 เพื่อเป็นอนุสรณ์พระราชพิธีกาญจนาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเมื่อปี พ.ศ. 2430 นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2449 ได้มีการต่อเติมทางเข้าด้านตะวันตกเฉียงเหนือจนสำเร็จ อาคารทั้งหลังทำพิธีเปิดโดยสมเด็จพระราชาธิบดีเอ็ดเวิร์ดที่เจ็ด [6] ภายในอาคาร ประกอบด้วยโถงคิงส์ (King's Hall) ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้เรียกชื่อเช่นนั้น โถงดังกล่าวใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีมอบปริญญาบัตร[7] ด้านข้างอาคารเป็นลานอนุสรณ์สำหรับคณาจารย์-เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาซึ่งต้องสูญเสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง[8]
นอกจากอาคารอาร์มสตรองแล้ว ยังมีอาคารบรูซ (ฺBruce Building) ซึ่งสร้างราว ๆ พ.ศ. 2439 - 2443 ออกแบบโดยโจเซฟ ออสวอลด์ (Joseph Oswald) แต่เดิมใช้เป็นโรงสุราของบริษัทนิวคาสเซิลบรูเวอรี (Newcastle Brewery Limited)[9][10][11]
อาคารที่สร้างใหม่ของมหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นคือ อาคารเดวอนเชอร์ (Devonshire Building) ซึ่งเปิดในปี พ.ศ. 2544 เป็นอาคารประหยัดพลังงานซึ่งติดตั้งเซลล์สุริยะ กระแสไฟฟ้าที่ได้จะนำไปควบคุมระบบม่านควบคุมแสงในอาคาร ตลอดจนมีการใช้พลังงานน้ำร้อนใต้ดินทำความร้อนให้แก่อาคาร จนได้รับรางวัลกรีนกาวน์ (Green Gown).[12][13][14]
มหาวิทยาลัยมีแผนพัฒนาพื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัย โดยสร้างอาคารคิงส์เกต อาคารแพทยศาสตร์ พร้อมด้วยหอพักนักศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2553[15] นอกจากนี้ยังได้สร้างอาคารสำหรับอินทูนิวคาสเซิลยูนิเวอร์ซิตี (INTO Newcastle University) ในปี พ.ศ. 2555 ด้วย
ห้องสมุดขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยมีสามแห่ง ได้แก่ ห้องสมุดโรบินสัน ซึ่งเป็นหอสมุดกลาง ตั้งชื่อตามฟิลิป โรบินสัน (Philip Robinson) พ่อค้าขายหนังสือและผู้อุทิศเงินแก่มหาวิทยาลัย, ห้องสมุดวอลตัน ซึ่งเป็นหอสมุดคณะแพทยศาสตร์ ตั้งชื่อตามจอห์น วอลตัน (John Walton) อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ห้องสมุดวอลตันเป็นห้องสมุดที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สำนักบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Services) ได้ใช้ด้วย และ ห้องสมุดกฎหมาย ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยได้รับรางวัลชาร์เทอร์มาร์ก (Charter Mark) ในฐานะที่ให้บริการแก่ผู้ใช้ห้องสมุดดีเด่น[16] นอกจากห้องสมุดขนาดใหญ่แล้ว มหาวิทยาลัยยังมีห้องสมุดขนาดเล็กตามภาควิชาต่าง ๆ[17]
นอกเหนือจากที่ตั้งในเมืองนิวคาสเซิลอะพอนไทน์แล้ว มหาวิทยาลัยยังได้ขยายศูนย์วิทยบริการไปที่ประเทศสิงคโปร์[18]และเปิดคณะแพทยศาสตร์ที่ประเทศมาเลเซีย[19]
ส่วนงาน
มหาวิทยาลัยประกอบด้วยคณะวิชา (faculty) จำนวน 3 คณะ ได้แก่[20]
- คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
- ภาควิชาสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง และภูมิสถาปัตยกรรม
- ภาควิชาศิลปวัฒนธรรม
- ภาควิชาบริหารธุรกิจ
- ศูนย์รวมปริญญาบัณฑิตหลักสูตรสี่ปี (Combined Honours Centre)
- ภาควิชาศึกษาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และภาษาศาสตร์
- ภาควิชาวรรณคติ ภาษา และภาษาศาสตร์อังกฤษ
- ภาควิชาภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสังคมวิทยา
- ภาควิชาประวัติศาสตร์ โบราณศึกษา และโบราณคดี
- ศูนย์ภาษา
- ภาควิชานิติศาสตร์
- ภาควิชาภาษาสมัยใหม่
|
- คณะแพทยศาสตร์
- ภาควิชาแพทยศาสตร์
- ภาควิชาชีวเวชศาสตร์
- ภาควิชาทันตแพทยศาสตร์
- ภาควิชาพัฒนาแพทยศาสตรศึกษา
- สถาบันบัณฑิตศึกษาด้านแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์
- ภาควิชาจิตวิทยา
|
- คณะวิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์
- ภาควิชาเกษตร อาหาร และการพัฒนาชนบท
- ภาควิชาชีววิทยา
- ภาควิชาวิศวกรรมเคมีและวัสดุขั้นสูง
- ภาควิชาเคมี
- ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและธรณีศาสตร์
- ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
- ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล
- ภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ
- ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและระบบ
|
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
---|
อังกฤษ | ตะวันออก (East Anglia) | |
---|
ลอนดอน | |
---|
ตอนกลาง (Midlands) | |
---|
ตอนเหนือ (North) | |
---|
ตอนใต้ (South) | |
---|
|
---|
ไอร์แลนด์เหนือ | |
---|
สกอตแลนด์ | |
---|
เวลส์ | |
---|
ดินแดนโพ้นทะเล | |
---|
Crown dependencies | |
---|
Non−geographic | |
---|