พุทธจริต หรือ "จริยาแห่งพระพุทธองค์" มหากาพย์ภาษาสันสกฤต รจนาโดยพระอัศวโฆษ คาดว่ารจนาขึ้นในราวช่วงต้นศตวรรษที่ 2[1] ปัจจุบันเหลืออยู่ 28 สรรค 14 สรรคแรกเหลือสมบูรณ์ดีในภาษาสันสกฤต ส่วนสรรคที่ 15 ถึง สรรค 28 อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ พระอัศวโฆษผู้ประพันธ์ได้ใช้ฉันทลักษณ์ 10 ชนิดในการประพันธ์ อาทิ ตริษฏุภฉันท์ อนุษฎุภฉันท์ วังสัสถฉันท์ เอาปัจฉันทสิกฉันท์ เป็นต้น[2]
ในปีค.ศ. 420 พระธรรมเกษม[3] แปลพุทธจริตในภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน ต่อมาในราวศตวรรษที่ 7 หรือราวศตวรรษที่ 8 ได้มีการแปลเป็นภาษาทิเบต และได้รับการยอมรับว่า มีความใกล้เคียงกับต้นฉบับภาษาสันสกฤตมากกว่าฉบับแปลภาษาจีน[4][5]
ผู้แต่ง
ผู้แต่งมหากาพย์พุทธจริต คือพระอัศวโฆษ ผู้ได้รับยกย่องเป็นมหากวีและเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง คาดว่าท่านมีช่วงชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ. 80–150 ท่านเป็นบุตรของนางสุรรณกษี เกิดที่เมืองสาเกต แต่เดิมนับถือพราหมณ์และได้รับการศึกษาแบบพราหมณ์จนมีความเชี่ยวชาญในไตรเพท ภายหลังหันมานับถือพระพุทธศาสนาโดยบวชเป็นภิกษุในนิกายสรวาสติวาท ด้วยความที่ท่านเป็นทั้งปราชญ์และเป็นทั้งกวี เมื่อบวชแล้วจึงมีคำนำหน้าชื่อมากมาย เช่น ภิกษุ อาจารย์ ภทันตะ มหากวี และมหาวาทิน[6]
พระอัศวโฆษเป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในยุคเริ่มต้นของนิกายมหายาน มีผลงานมากมายทั้งด้านปรัชญาศาสนา บทละครและกวีนิพนธ์ ผลงานที่สำคัญทางปรัชญาและศาสนา เช่น สูตราลังการะ มหายานศรัทโธตปาทะ วัชรสูจี คัณฑีสโตรตระ ที่เป็นบทละคร เช่นราษฎรปาละ ศาริปุตรปรกรณัม และที่เป็นกวีนิพนธ์ เช่นมหากาพย์เสานทรนันทระ และมหากาพย์พุทธจริต เป็นต้น นอกจากจะรจนางานเขียนไว้หลายเล่มแล้วอัศวโฆษยังเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับสานุศิษย์และนักดนตรีเพื่อขับลำนำอันเป็นเรื่องราวแห่งพระพุทธศาสนาและความไร้แก่นสารของชีวิตในที่ชุมนุมต่าง ๆ เพื่อป่าวประกาศคุณค่าอันล้ำเลิศแห่งพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา ชนทั้งหลายที่สัญจรไปเมื่อได้ฟังต่างหยุดนิ่งอยู่กับที่เพราะถูกตรึงไว้ด้วยน้ำเสียงและท่วงทำนองที่ไพเราะจับใจ[7]
ครั้งหนึ่ง กษัตริย์แห่งแคว้นกุษาณะได้รุกรานมัธยมประเทศ จนถึงเมืองปาฏลีบุตร จนกษัตริย์แห่งมัธยมประเทศต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่กษัตริย์แคว้นกุษาณะเป็นทองคำ 300,000 เหรียญ ทว่า กษัตริย์แห่งมัธมประเทศมีเพียง 100,000 เหรียญ ฝ่ายกุษาณะจึงเรียกร้องเพียงเท่านั้น แต่ค่าปฏิกรรมสงครามที่ติดค้างไว้ ต้องแลกเปลี่ยนโดยการมอบบาตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับพระอัศวโฆษ ต่อมาเหล่าเสนามมาตย์เกิดความกังขาเหตุใดพระอัศวโฆษจึงมีค่าถึง 100,000 เหรียญ กษัตริย์แห่งแคว้นกุษาณะจึงได้ขังอัศวชาติตัวหนึ่งไว้เป็นเวลา 6 วันจนหิวโหย จากนั้น จึงปล่อยออกมา แล้ววางหญ้าชั้นเลิศไว้ตรงหน้า พร้อมกับอาราธนาพระอัศโฆษให้แสดงธรรม ปรากฏว่า อัศวชาติตัวนั้นมิได้แตะต้องหญ้าชั้นเลิศแม้นจะหิวโหยเพียงใด แต่กลับสดับพระธรรมเทศนาด้วยน้ำตานองหน้า นับแต่บัดนั้นเสนามาตย์และมหาชนต่างซาบซึ้งศรัทธาในตัวพระเถระยิ่งนัก จึงถวายสมัญญานามแก่ท่านว่า "อัศวโฆษ" อันหมายความว่า แม้แต่อัศวชาติยังต้องร่ำไห้โหยหวนยามสดับพระธรรมเทศนาของท่าน[8]
เนื้อหา
สรรคที่ 1 ภควตฺปฺรสูติ – การประสูติของพระผู้มีพระภาค กล่าวถึงพระเจ้าศุทโธทนะทรงครองเมืองกปิลวาสตุและพระนางมายาพระมเหสีของพระองค์ได้ประสูติพระกุมารที่ลุมพินีวัน พระกุมารทรงดำเนินได้ 7 ก้าวพร้อมกับประกาศว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย คณะพราหมณ์ ทำนายว่าพระกุมารได้เป็นจักรพรรดิแต่ถ้าออกผนวชจะได้เป็นพระศาสดา ส่วนอสิตฤษีที่มาเยี่ยมภายหลัง ทำนายว่าพระกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระศาสดาแน่นอน พระราชาทรงเปี่ยมล้นด้วยความปิติยินดีจึงได้ประกอบพิธีทางศาสนาและพระราชทานโคจำนวนมากเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของพระกุมาร จากนั้นจึงรับพระกุมารกลับสู่พระนคร
สรรคที่ 2 อนฺตะปุรวิหาร – การประทับอยู่ในพระราชวังฝ่ายใน กล่าวถึงเมืองกปิลวาสตุมีความอุดมสมบูรณ์และมีความสำเร็จทุกประการหลังจากพระกุมารประสูติ พระเจ้าศุทโธทนะจึงขนานพระนามพระกุมารว่า “สรวารถสิทธะ” เมื่อพระมารดาสวรรคต พระนางเคาตมีพระมาตุจฉาได้รับภาระเลื้ยงดูพระกุมารต่อมา พระเจ้าศุทโธทนะทรงเกรงว่าพระกุมารจะออกผนวชจึงจัดให้อภิเกสมรสกับเจ้าหญิงยโศธราและบำรุงบำเรอด้วยกามารมณ์ทุกชนิด ครั้นเมื่อพระราหุลประสูติจากเจ้าหญิงยโศธรา พระราชาจึงทรงคลายกังวลเรื่องการออกผนวชของพระกุมาร
สรรคที่ 3 สํเวโคตฺปตฺติ – การเกิดความสังเวช กล่าวถึงพระกุมารเสด็จประพาสภายนอกพระราชวัง ประชาชนต่างตื่นเต้นดีใจ๑๙ เทวดาชั้นสุทธาวาสได้เนรมิตชายชราขึ้นมาให้ทอดพระเนตร พระองค์ทรงสังเวชพระทัยจึงเสด็จกลับ เสด็จครั้งที่2 เทวดาได้เนรมิตคนเจ็บขึ้นมาทรงสังเวชพระทัยก็เสด็จกลับอีก ครั้งที่3 พระราชบิดารับสั่งให้แต่งสถานที่พิเศษไว้โดยให้หญิงงามผู้เชียวชาญเชิงโลกีย์คอยต้อนรับ ครั้งนี้พระกุมารทอดพระเนตรเห็นคนตายที่เทวดาเนรมิตขึ้นมาก็ทรงสังเวชพระทัย จึงรับสั่งให้กลับรถ แต่สารถีก็ไม่เชื่อฟังขับรถตรงไปยังป่าที่เตรียมไว้และหญิงงามทั้งหลายได้เข้ารุมล้อมพระกุมารเหมือนกันนางอัปสรรุมล้อมท้าวกุเวร
สรรคที่ 3 สตฺรีวิฆาตน – การขจัดความหลงใหล กล่าวถึงหญิงงามทั้งหลายเดินเข้าหาพระกุมารแต่ก็ต้องตกตะลึงในความงามของพระองค์จนลืมทำหน้าที่ อุทายีบุตรของปุโรหิตจึงกล่าวเตือนหญิงเหล่านั้น เมื่อได้สติหญิงเหล่านั้นจึงใช้มายายั่วยวนพระกุมาร แต่พระองค์ก็ไม่ทรงยินดี อุทายีจึงกราบทูลโน้มน้าวพระทัยด้วยตนเองเพื่อให้พระกุมารโอนอ่อนผ่อนตามหญิงเหล่านั้น พระกุมารทรงปฏิเสธคำพูดของอุทายีด้วยเหตุผลต่าง ๆ จนกระทั่งพระอาทิตย์อาสดงคต หญิงทั้งหลายยอมแพ้กลับเข้าสู่เมือง ฝ่ายพระราชาทรงบทราบเรื่องจึงปรึกษากับอำมาตย์เพื่อหาวิธียับยั้งพระกุมารตลอดทั้งคืน
สรรคที่ 5 อภินิษฺกรมณ – การเสด็จของผนวช กล่าวถึงพระกุมารเสด็จประพาสป่าและทอดพระเนตรชาวนาให้วัวไถนาและมีแมลงตายเกลื่อนกลาดจึงสลดพระทัย พระองค์ทรงห้ามผู้ติดตามไว้แล้วเสด็จไปประทับใต้ต้นหว้าทรงมีพระทัยเป็นสมาธิจนได้ปฐมฌาน ขณะนั้นเทวดาแปลงร่างเป็นสมณะเดินผ่านมา พระองค์ทรงสนทนากันสมณะนั้นแล้วเกิดปิติจึงปรารถนาจะออกผนวช เมื่อกลับไปขออนุญาตก็ถูกพระราชบิดาห้ามปราม ในราตรีเทวดาชั้นอกนิษฐกะบันดาลให้นางสนมนอนหลับไม่เป็นระเบียบ พระกุมารทรงเบื่อหน่ายจึงเสด็จลงจากปราสาทและทรงม้ากันถกะหนึออกผนวชโดยมีนายฉันทกะตามเสด็จ ม้ากันถกะวิ่งออกโดยมียักษ์ช่วยยกกีบเท้า ประตูที่แน่นหนาเปิดออกเอง ทวยเทพก็ส่องแสงนำทางตลอดราตรี ม้ากันถกะนำพระกุมารทะยานไปได้หลายร้อยโยขน์จนกระทั่งรุ่งอรุณ
สรรคที่ 6 ฉนฺทกนิวรฺตน – การกลับนครของฉันทกะ กล่าวถึงพระกุมารเสด็จถึงอาศรมของฤษีภารควะตอนรุ่งสางทรงเปลื้องเครื่องประดับแก่นายฉันทกะและรับสั่งให้นำม้ากันถกะกลับสู่นครพร้อมกับนำความไปกราบทูลพระราชบิดา จากนั้นพระกุมารทรงตัดพระเกศาโยนขึ้นบนท้องฟ้า เทวดารับเอาพระเกศานั้นไปบูชาบนสวรรค์ เมื่อทรงปรารถนาผ้าผ้อมน้ำฝาดเทวดาตนหนึ่งได้แปลงร่างเป็นนายพรานนุ่งผ้าย้อมน้ำฝาดผ่านมา พระองค์ทรงแลกเปลี่ยนผ้ากับนายพรานแล้วเสด็จเข้าไปยังอาศรมฤษีภารควะ ฝ่ายนายฉันทกะร้องไห้และล้มฟุบลงบนพื้น จากนั้นจึงกอดม้ากันถกะเดินทางกลับสู่นครโดยบ่นเพ้อและแสดงอาการเหมือนคนบ้าไปตลอดทาง
สรรคที่ 7 ตโปวนปฺรเวศ – การเสด็จเข้าสู่ป่าบำเพ็ญตบะ กล่าวถึงพระกุมารเสด็จเข้าสู่อาศรมของฤษีภารควะและทรงได้รับการเชื้อเชิญจากฤษี ทรงสอบถามเรื่องการบำเพ็ญตบะของฤษีทั้งหลาย เมื่อได้รับคำอธิบายก็ไม่ทรงยินดีด้วยวิธีเหล่านั้นเพราะทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางหลุดพ้น พระกุมารประทับอยู่ 2-3 วัน ฤษีตนหนึ่งทราบว่าพระกุมารต้องการโมกษะจึงแนะนำให้ไปพบพระมุนีอราฑะ พระกุมารทรงอำลาฤษีทั้งหลายเล้วจึงเสด็จหลีกไป
สรรคที 8 อนฺตะปุรวิลาป – การพิลาปรำพันของพระสนมฝ่ายใน กล่าวถึงนายฉันทกะฝืนใจเดินทางกลับสู่นครโดยใช้เวลาถึง 8 วัน ชาวเมืองทราบว่านายฉันทกะกลับมาโดยไม่มีพระกุมารจึงดุด่าว่านายฉันทกะ ในพระราชวังพระนางยโศธราทรงพิลาปรำพันถึงพระสวามี พระนางเคาตมีก็ทรงกันแสงปานจะสิ้นพระทัย หญิงทั้งหลายก็กอดกันร้องไห้ พระนางยโศธราทรงกันแสงและล้มฟุบลงกับพื้น ฝ่ายพระราชาเสด็จออกมาเห็นเหตุการณ์ก็ทรงกำสรวลจนถึงแก่วิสัญญีภาพ เมื่อทรงฟื้นขึ้นก็ทรงพร่ำเพ้อเหมือนคนเสียสติ พระราชครูและปุโรหิตจึงทูลอาสาออกติดตามพระกุมาร
สรรคที่ 9 กุมารานฺเวษณ – การติดตามค้นหาพระกุมาร กล่าวถึงพระราชครูและปุโรหิตเร่งเดินทางไปจนถึงอาศรมของฤษีภารควะและเข้าไปสอบถาม เมื่อรู้ว่าพระกุมารเสด็จมุ่งหน้าไปยังอาศรมของพระมุนีอราฑะจึงออกติดตามไปทันที ทั้งสองตามทันพระกุมารที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งได้กราบทูลให้ทราทราบข่าวในพระราชวัง พระกุมารตรัสว่าที่ทรงออกผนวชเพราะกลัวชรา พยาธิ และมรณะและจะแสวงหาทางหลุดพ้นเพื่อช่วยเหลือชาวโลกให้ได้ พระราชครูและปุโรหิตได้ทูลชักชวนพระกุมารกลับ แต่พระกุมารทรงปฏิเสธ เมื่อเห็นว่าไม่สำเร็จทั้งสองจึงอำลากลับสู่เมืองโดยได้แต่งตั้งจารบุรุษไว้คอยสืบเส้นทางที่พระกุมารเสด็จไป
สรรคที่10 เศฺรณฺยาภิคมน – การเข้าเผ้าของพระเจ้าเศรณยะ กล่าวถึงพระกุมารเสด็จข้าแม่น้ำคงคาผ่านเข้าสู่เมืองราชคฤห์ที่มีภูเขาทั้งห้าแวดล้อม ชาวเมืองตื่นตะลึงบในความงามของพระองค์จึงพากันชุมนุมตามเฝ้าดู พระเจ้าเศรณยะทอดพระเนตรเห็นคนชุมนุมกันจากเบื้องบนปราสาทจึงตรัสถามจนทราบสาเหตุ พระองค์จึงเสด็จไปเฝ้าพระกุมารขนภูเขาปาณฑวะและทรงเชื้อเชิญให้อยู่ครองราชย์สมบัติครึ่งหนึ่ง แต่พระกุมารทรงปฏิเสธและไม่ทรงยินดี
สรรคที่ 11 กามวิครฺหณ – การขจัดความหลงใหลในกาม กล่าวถึงพระกุมารโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธคำเชื้อเชิญของพระเจ้าเศรณยะ ทรงอธิบายให้เห็นโทษของกามและอานิสงส์ในการออกจากกามตลอดจนความปรารถนาโมกษะ พระเจ้าเศรณยะทรงซาบซึ้งพระทัยจึงขอให้พระองค์เสด็จมาโปรดเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว พระกุมารโพธิสัตว์ทรงรับโดยดุษณีภาพแล้วเสด็จต่อไปยังอาศรมไวศวัมตระ ฝ่ายพระราชาก็เสด็จกลับสู่พระราชวัง
สรรคที่12 อรฑทรฺศน – ทรรศนะของพระมุนีอราฑะ กล่าวถึงพระกุมารโพธิสัตว์เสด็จถึงอาศรมของพระมุนีอราฑะและได้รับการต้อนรับอย่างดี พระมุนีอราฑะได้อธิบายทรรศนะของตนแก่พระกุมารโพธิสัตว์ พรองค์ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้จึงหลึกไปสู่อาศรมขอพระมุนีอุทรกะ แต่แล้วก็ทรงปฏิเสธทรรศนะของพระมุนีอุทรกะอีก จากนั้นจึงเสด็จไปประทับที่ตำบลคยะ ณ ริมฝั่งแม่น้ำไนรัญชนา ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาเป็นเวลา 6 ปี โดยมีปัญจวัคคีย์ฝากตัวเป็นศิษย์ เมื่อทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางจึงเลิกเสีย ครั้งนั้นเทวดาดลใจนางนันทพลาธิดาหัวหน้าคนเลี้ยงโคให้นำข้าวปรายาสมาถวาย ปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์เสวยพระกระยาหารจึงหนีจากพระองค์ จากนั้นพระองค์จึงเสด็จไปสู่โคนต้นอัศวัตถพฤกษ์ทรงรับหญาคาจากคนตัดหญ้าและปูลาดเป็นอาสนะประทับนั่งตั้งปณิธานมู่งสู่การตรัสรู้
สรรคที่ 13 มารวิชย – การชนะมาร กล่าวถึงพระกุมารโพธิสัตว์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะตรัสรู้ ฝ่ายพญามารจึงพร้อมด้วยบุตรและธิดาเข้าไปรบกวนพระกุมารโพธิสัตว์ เมื่อพระองค์ไม่ทรงหวั่นไหวพญามารจึงยิงศรเข้าใส่ แต่ศรก็มิอาจทำร้ายพระองค์ได้ พญามารจึงนึกถึงกองทัพของตน เหล่าเสนามารจึงมาปรากฏตัว ขณะนั้นท้องฟ้ามืดสนิท การต่อสู้ระหว่างพญามารกันพระกุมารโพธิสัตว์เริ่มขึ้น เกิดแผ่นดินไหว มหาสมุทรสั่นสะเทือน งูใหญ่เห็นอปุสรรคก็ออกมาขู่ฟ่อ ๆ ทวยเทพก็ร้องไห้ฮือ ๆ เมื่อพญามารเคลื่อนทันเข้าโจมตีด้วยวิธีต่าง ๆ พระกุมารโพธิสัตว์ก็ไม่ทรงสะดุ้งกลัว ในที่สุดพญามารและเสนามารก็ล่าถอย ทัองฟ้าและพระจันทร์ก็สว่างสดใส ฝนโบกขรพรรษาที่มีกลิ่นหอมก็โปรยปรายลงมา
สรรคที่ 14 พุทฺธตฺวรปฺราปฺติ – การบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า กล่าวถึงพระกุมารโพธิสัตว์ทรงเข้าฌานมุ่งสู่การตรัสรู้ เมื่อพระองค์บรรลุพระสัพพัญญูตญาณ โลกสั่นสะเทือน ชาวโลกต่างก็มีความสุข เทวดาก็สาธุการ พระองค์ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ 7 วัน ทรงเห็นว่าพระธรรมลึกซึ้งยากที่จะเข้าใจจึงดำริที่จะไม่สั่งสอน พระอินทร์และพระพรหมจึงมาทูลของอาราธนา ต่อมาพระองค์ทรงดำริที่จะไปโปรดพระมุนีอราฑะและอุทรกะแต่ทั้งสองเสียชีวิตไปก่อนจึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ จากนั้นจึงเสด็จดำเนินไปยังแคว้นกาศี
สรรคที่ 15 การประกาศพระธรรมจักร กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จไปยังแคว้นกาศีเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ฝ่ายปัญจวัคคีย์เมื่อเห็นพระองค์เสด็จมาแต่ไกล ได้ตกลงกันว่าจะไม่ถวายการต้อนรับ แต่แล้วก็ลืมข้อตกลงที่ทำกันไว้ ทุกคนต่างลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ พระพุทธองค์ตรัสว่าพระองค์ตรัสรู้แล้ว จากนั้นจึงทรงแสดงอริยมรรคมีองค์แปดและอริยสัจสี่ ในจำนวนนั้นเกาณฑินยะได้ดวงตาเห็นธรรม ยักษ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นปฐพีจึงป่าวประกาศข่าว เมื่อวงล้อแห่งธรรมหมุนไปในไตรโลก เทวดาทั้งหลายก็เปล่งเสียงสาธุการ
สรรค 16 ธารศรัทธาแห่งพุทธสาวก กล่าวถึงพระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดอัศวชิตและโปรดยศกุลบุตรพร้อมด้วยสหาย 54 คนจนบรรลุพระอรหัตผลแล้วจึงทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในที่ต่าง ๆ ส่วนพระองค์เสด็จไปโปรดฤษีกาศยปะ 3 พี่น้องพร้อมด้วยบริวารที่ตำบลคยะจนบรรลุอรหัตผลทั้งหมด จากนั้นจึงเสด็จไปโปรดพระเจ้าเศรณยะพิมพิสาร พระราชาเสด็จมาเฝ้าพร้อมด้วยบริวาร ชาวเมืองเห็นพระกาศยปะ 3 พี่น้องอยู่กับพระพุทธองค์ก็แปลกใจ พระพุทธองค์จึงโปรดให้พระเอารุวิลวะกาศยปะแสดงปาฏิหาริย์ พระกาศยปะเหาะขึ้นสู่ท้องฟ้าแสดงฤทธิ์ด้วยการยืน เดิน นั่ง นอน ในอากาศ พ่นน้ำและไฟออกมาพร้อมกัน จากนั้นจึงลงมาถวายบังคมและประกาศว่าตนเป็นศาย์ของพระพุทธองค์ เมื่อดินถูกเตรียมไว้ดีแล้วพระพุทธองค์จึงเทศนาโปรดพระราชาและบริวารจนได้ดวงตาเห็นธรรม
สรรค 17 การบรรพชาของมหาสาวก กล่าวถึงพระเจ้าเศรณยะพิมพิสารทรงถวายพระเวณุวันเป็นพระอารามแห่งแรกแด่พระพุทธองค์ พระอัศวชิตเข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ อุปติษยะเห็นพระอัศวชิตเดินสำรวมน่าเลื่อมใสจึงติดตามไปเพื่อสนทนาธรรม พระอัศวชิตกล่าวสั้น ๆ ว่า ผลทุกอย่างเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุดับผลก็ดับ อุปติษยะได้ฟังก็เกิดดวงตาเห็นธรรมละทิ้งลัทธิเดิมของตนและนำความไปบอกเมาทคลโคตรผู้เป็นสหายจนได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน จากนั้นจึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอบวช ภายหลังทั้งสองได้เป็นอัครสาวกของพระพุทธองค์ ต่อมาพราหมณ์กาศยปะได้ละทิ้งทรัพย์และภรรยาออกแสวงหาความหลุดพ้นได้มาพบพระพุทธองค์ที่เจดีย์พหุปุตรกะจึงน้อมตนเข้าไปเฝ้า พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดจนบรรลุอรหัตผล ครั้งนั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ท่ามกลางพระสาวกทั้ง 3 ดุจพระจันทร์เพ็ญลอยอยู่ท่ามกลางดาวฤกษ์ 3 ดวงในเดือนชเยษฐา (เดือน7)
สรรคที่ 18 การโปรดเศรษฐีอนาถปิณฑิทะ กล่าวถึงเศรษฐีสุทัตตะเดินทางจากแคว้นโกศลไปค้าขายที่เมืองราชคฤห์และได้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ในเวลากลางคืน พระพุทธองค์ทรงเทศนาโปรดจนเศรษฐีได้บรรลุโสดาปัตติผล ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากความเชื่อเดิม ๆ โดยเฉพาะประกฤติและปุรุษ เศรษฐีมีศรัทธาปรารถนาจะสร้างพระวิหารถวายที่เมืองศราวัสตีจึงทูลอาราธนาให้พระองค์เสด็จไปโปรด ต่อมาเศรษฐีเดินทางกลับไปเมืองศราวัสตีพร้อมด้วยพระอุปติษยะเพื่อสร้างพระวิหารเมื่อได้ไปถึงได้ขอซึ้ออุทยานจากพระราชกุมารเชตะโดยนำทรัพย์มาปูลาดจนเต็มอุทยาน พระกุมารเชตะทรงเลื่อมใสในศรัทธาของเศรษฐีจึงอุทิศป่าทั้งหมดถวายพระพุทธองค์ด้วย เศรษฐีสร้างพระเชตะวันวิหาร โดยมีพระอุปติษยะควบคุมการก่อสร้างจนพระวิหารแล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว
สรรค 19 การโปรดพระพุทธบิดาและพระโอรส กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จจากเมืองราชคฤห์ไปยังเมืองกปิลวาสตุโดยมีพระภิกษุ 1000 รูปตามเสด็จ พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาจนทรงเลื่อมใส มหาชนและพระกุมารที่ศรัทธาต่างพากันออกผนวชตามมากมาย เช่น อานันทะ อนิรุทธะ เทวทัตตะ เป็นต้น ครั้งนั้นอุทายีและอุบาลีก็ออกบวชตามด้วย พระเจ้าศุทโธทนทรงสละราชสมบัติให้พระอนุชาปกครองและประทับอยู่ในพระราชวังอย่างราชฤษี ฝ่ายพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จไปประทับที่ป่านยโครธะ
สรรคที่20 การรับพระวิหารเชตะวัน กล่าวถึงพระพุทธองค์ทรงโปรดชาวเมืองกปิลวาสตุแล้วได้เสด็จไปยังเมืองศราวัสตีของพระเจ้าปเสนชิตพร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้นเสด็จถึงเศรษฐีสุทัตตะได้ถวายพระเชตะวันวิหารเป็นที่ประทับ พระเจ้าประเสนชิตเสด็จไปเฝ้าสนทนาธรรม ณ พระเชตะวันวิหาร ทรงแสดงธรรมโปรดพระราชาจนเลื่อมใสอย่างมาก ฝ่ายเดียรถีย์ขาดลาภสักการะเพราะพระราชาหันมานับถือพระพุทธองค์จึงท้าทายให้แสดงปาฏิหาริย์ พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ปราบเจ้าลัทธิทั้งหลายแล้วได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาและประทับจำพรรษาบนสวรรค์ คั้นออกพรรษาแล้วจึงเสด็จลงจากเทวโลกที่เมืองสังกาศยะ
สรรคที่ 21 สายธารแห่งการบรรพชา กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จโปรดประชาชน เช่น ทรงโปรดชโยติษกะและหมอชีวกที่กรุงราชคฤห์ ทรงโปรดพระเจ้าอชาตศัตรูที่ชีวกัมวัน และทรงโปรดบุคคลต่าง ๆ ในสถานที่ต่าง ๆ มากมาย พระเทวทัตเห็นความยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ก็บังเกิดความริษยาจึงคิดทำร้ายพระพุทธองค์ โดยการกลิ้งหินที่เขาคฤธรกูฏและปล่อยช้างตกมันเพื่อทำร้ายพระพุทธองค์ แต่ก็มิอาจทำร้ายพระองค์ได้ พระเจ้าอชาตศัตรูจึงบังเกิดความเสือมใสในพระพุทธองค์เป็นอย่างยิ่ง ครั้งนั้นพระเกียรติยศของพระพุทธองค์ได้แผ่ขจรขจายไปทั่วทุกทิศ ส่วนพระเทวทัตมีแต่ความอับเฉา
สรรคที่ 22 การเสด็จเยือนอัมรปาลีวัน กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จจากเมืองราชคฤห์ไปยังเมืองปาฏลิบุตรประทับที่เจดีย์ปาฏลิ ที่แห่งนั้นเสนาบดีวรษการะสร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันการรุกรานของชาวลิจฉวี พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นทวยเทพนำทรัพย์สมบัติมาเก็บไว้จึงพยากรณ์ว่าเมืองนี้จะโด่งดังในอนาคต เมื่อเสด็จต่อไปจนถึงฝั่งแม่น้ำคงคาพระพุทธองค์ได้ทรงนำหมู่ภิกษุเหาะข้ามแม่น้ำคงคา จากนั้นจึงเสด็จต่อไปยังหมู่บ้านกุฏิและหมู่บ้านนาทีกะแสดงธรรมแล้วเสด็จต่อไปยังเมืองไวศาลีโดยประทับที่อัมรปาลีวัน และทรงเทศนาโปรดนางอัมราลีที่มาเฝ้าจนได้ดวงตาเห็นธรรม
สรรคที่ 23 การปลงพระชนมายุสังขาร กล่าวถึงกษัตริย์ลิจฉวีนำโดยพระเจ้าสิงหะเสด็จมาฟังธรรมที่อัมรปาลีวันและอาราธนาพระพุทธองค์เพื่อรับอาหารบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อรู้ว่านางอัมรปาลีได้อาราธนาพระองค์ไว้ก่อนแล้วจึงขุ่นเคืองพระทัยเล็ยน้อยแต่ก็ระงับได้ด้วยหลักพุทธธรรม วันรุ่งขึ้นทรงรับบิณฑบาตจากนางอัมรปาลีแล้วเสด็จต่อไปยังหมู่บ้านเวณุมตี ทรงประทับจำพรรษาที่นั่นแล้วเสด็จกลับมาที่เมืองไวศาลีอีกครั้งโดยประทับที่สระมรกฏะ ขณะนั้นพญามารได้มาทูลอารธนาให้เข้าสู่นิรวาณ พระพุทธองค์ตรัสว่าอีกสาม 3 จะเข้าสู่นิรวาณ พญามารจึงอันตรธานไป ขณะนั้นแผ่นดินได้สั่นสะเทือนและเกิดความโกลาหลทั่วทุกทิศ
สรรคที่ 24 พระมหากรุณาต่อกษัตริย์ลิจฉวี กล่าวถึงพระอานันทะเห็นแผ่นดินไหวก็เกิดอาการขนลุกชูชันจึงทูลถามถึงสาเหตุ พระพุทธองค์จึงตรัสให้ทราบและทรงปลอบใจพระอานันทะ ขณะนั้นกษัตริย์ลิจฉวีพากันมาเฝ้า พระองค์ทรงทราบความคิดของกษัตริย์ลิจฉวีจึงตรัสปลอบพระทัยและเมื่อจะเสด็จจากเมืองไวศาลีพระองค์จึงรับสั่งให้กษัตริย์เหล่านั้นกลับ กษัตริย์ลิจฉวีกลับสู่พระราชวังด้วยอาการโศกเศร้า
สรรคที่ 25 ระหว่างวิถีสู่นิรวาณ กล่าวถึงเมืองไวศาลีมีความเศร้าหมองครอบคลุมไปทั้งเมือง พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเมืองไวศาสีเป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจึงเสด็จสู่โภคนครและตรัสให้พระสาวกทั้งหลายยึดมั่นในพระธรรมวินัย ทรงรับอาหารบิณฑบาตครั้งสุดท้ายจากนายจุนทะแล้วเสด็จต่ไปยังเมืองกุศินคร เสด็จข้ามแม่น้ำอิราวดี ทรงสนานด้วยน้ำในแม่น้ำหิรัญยวดี และเสด็จไปยังป่าสาละ ทรงรับสั่งให้พระอานันทะจัดเตรียมที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่เพื่อจะเข้าสู่นิรวาณในปัจฉิมยาม พระอานันทะเศร้าโศกมีน้ำตาปิดกั้นดวงตาตลอดเวลา เมื่อพระพุทธองค์ทรงบรรทมบนพระแท่นความเงียบสงบก็เข้ามาเยือน ทรงรับสั่งให้พระอานันทะไปแจ้งข่าวแก่เจ้ามัลละ เมื่อเจ้ามัลละมาเฝ้าจึงตรัสปลอบด้วยพระธรรมเทศนา จากนั้นเจ้ามัลละก็เสด็จกลับเข้าสู่เมืองด้วยความทุกข์และสิ้นหวัง
สรรคที่ 26 มหาปรินิวาณ กล่าวถึงสุภัทรปริพาชกมาขอเข้าเฝ้าแต่พระอานันทะห้ามไว้พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าและแสดงธรรมโปรดจนบรรลุอรหัตผล สุภัทระปรารถนาจะเข้าสู่นิรวาณก่อนพระพุทธองค์จึงหมอบราบลงกับพื้นและนอนแน่นิ่งไปเหมือนกับงู พระพุทธองค์จึงให้ประกอบพิธีเผาศพของสภัทระ เมื่อผ่านปฐมยามทรงแสดงธรรมโปรดภิกษุและตรัสปัจฉิมโอวาทว่าด้วยความไม่ประมาท แล้วเข้าปฐมฌานไปจนถึงสมาบัติ 9 (สมาบัติ9* มีรูปฌาน 4 อรูปฌาน 5 สัญญาเวทยิตนิโรธ1) จากนั้นจึงเข้าสมาบัติย้อนกลับโยปฏิโลมไปถึงปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้วเข้าฌานต่อไปอีกจนถึงจุตตถฌานครั้นออกจากจตุตถฌานจึงเข้าสู่มหาปรินิวาณ ขณะนั้นมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งแผ่นดินไหว ฟ้าผ่า พายุพัด ทวยเทพต่างเศร้าโศก ฝ่ายพญามารและเสนามารต่างพากันลิงโลดดีใจ เมื่อสิ้นสุดพระศากยมุนีโลกจึงเศร้าหมองไปทุกหย่อมหญ้า
สรรคที่ 27 สดุดีพระนิรวาณ กล่าวถึงทวยเทพต่างสดุดีพระนิรวาณ ฝ่ายอนิรุทธะเห็นโลกถูกตัดขาดจากแสงสว่างจึงพรรณนาความเลวร้ายของสังสารวัฏ เจ้ามัลละพร้อมกันออกมาจากเมืองทั้งน้ำตาและได้อัญเชิญพระพุทธสรีระไปวางบนพระแท่นงาช้างแล้วบูชาด้วยมาลัยและประพรมน้ำหอมชั้นดี จากนั้นเคลื่อนพระบรมศพผ่านเข้ากลางเมืองแล้วออกทางประตูนาคะ ข้ามแม่น้ำหิรัณยวดี แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธานซึ่งก่อด้วยไม้หอมชนิดต่าง ๆ ใกล้กับเจดีย์มกุฏะ เมื่อได้เวลาถวายพระเพลิงจิตกาธานกลัลไม่ลุกไหม้ เพราะแรงอธิษฐานของพระกาศยปะซึ่งกำลังเดินทางมา ครั้นพระกาศยปะเดินทางมาถึงพระเพลิงก็ลูกไหม้ขึ้นเอง พระเพลิงเผาไหม้พระบรมศพเหลือเพียงพระบรมสารีริกธาตุ เจ้ามัลละชำระล้างให้สะอาดแล้วได้บรรจุลงในพรชนะทองคำและสวดบทสรรเสริญ จากนั้นจึงสร้างปะรำเป็นที่ประดิษฐานเพื่อบูชาสักการะ
สรรคที่ 28 การแจกพระบรมสารีริกธาตุ กล่าวถึงราชทูตจากนครทั้ง 7 ส่งทูตมาขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ แต่เจ้ามัลละไม่ยอม กษัตริย์ทั้ง 7 จึงกรีฑาทัพมาเพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ พราหมณ์โทรณะได้ออกมาหย่าศึกจึงไม่มีการสู้รบกัน ครั้งนั้นพระบรมสารีริกธาตุถูกแบ่งออกเป็น 8 ส่วน พราหมณ์โทรณะเก็บภาชนะแจกพระธาตุไว้ ส่วนพระสรีรังคารที่แหลือชาวปสละเก็บไว้บูชา ดังนั้นครั้งแรกจึงมีสถูปทั้งหมด 8 องค์ รวมสถูปที่พราหมณ์โทรณะสร้างและสถูปบรรจุพระสรีรังคารจึงเป็นสถูป 10 องค์ ครั้นเมื่อพระเจ้าอโศกทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาพระองค์ทรงรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุมาจากสถูป 7 องค์แล้วแบ่งไปบรรจุในสถูป 84000 องค์ที่สร้างขึ้นใหม่ทั่วชมพูทวีป พระองค์ไม่ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาจากสถูปองค์ที่ 8 ซึ่งอยู่ในเมืองรามปุระเพราะมีพวกนาคเผ้ารักษาไว้อย่างดี พระองค์มีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้าและทรงปฏิบัติบำเพ็ญธรรมจนได้บรรลุโสดาบัน ตอนท้ายของสรรคนี้ผู้รจนากล่าวถึงอานิสงส์ของการบูชาพระบรมสารีริกธาตุและการทำใจให้บริสุทธิ์และกล่าวว่าที่ท่านรจนามหากาพย์พุทธจริตขึ้นมิใช่ต้องการจะอวดความรู้หรือความชำนาญเชิงกวี แต่ต้องการแสดงหลักพุทธธรรมให้แพร่หลายเพื่อประโยชน์สุขของชาวโลกยิ่ง ๆ ขึ้นไป[9]
คุณค่าทางศาสนา
นอกจาก มหากาพย์พุทธจริต จะมีความสละสลวยงดงามในทางกวีพจน์ และมีการบรรยายพุทธประวัติด้วยถ้อยคำสละสลวย จนเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ยังแฝงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่สรรค ที่ 14 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิยาณและทำการโปรดสัตว์โลกแล้ว ผู้รจนาได้เลือกสรรถ้อยคำอยน่างชาญฉลาด ในการบรรยายหลักธรรม และโน้มน้าวให้ผู้สดับ/อ่าน ได้เกิดความศรัทธาปสาทะในสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เกิดความยำเกรงในอกุศลกรรมทั้งปวง และเร่งเร้าให้สัตว์โลกทั้งหลายได้หันมาปฏิบัติกุศลกรรม เพื่อยังให้ตนได้หลุดพ้นจากอบายภูมิ จนถึงพระนิพพานในปั้นปลาย
ในสรรคที่ 13 ผู้รจนาได้บรรยายพระดำริของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากทรงใช้พระญาณอันล้ำลึก ทอดพระเนตรเห็นการจุติและการอุบัติของสัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งที่ทำกรรมไม่ดีและที่ทำกรรมดี ดังนี้
สุขัง สยาท อิติ ยัต กรรมะ กฤตัมง ทุห์ขะนิวฤฺตตะเย ผะลัมง ตัสเยทัม อวะไศวร์ ทุห์ขัม เอโวปะภุชยะเต
17 "กรรม(ชั่ว)ใดที่พวกเขาทำลงไปเพื่อขจัดทุกข์ ด้วยเข้าใจว่ามันเป็นสุข พวกเขาจะต้องได้รับทุกข์ซึ่งเป็นผลแห่งกรรม(ชั่ว)นั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น"
สุขารถัง อศุภัง กฤตวา ยา เอเต พฤศทุห์ขตาห์ อาสวาทะห์ สะ กิม เอเตษาง กะโรติ สุขัม อัณว์ อปิ
18 "สัตว์เหล่านั้นทำกรรมชั่วเพื่อหวังจะได้ความสุขจึงต้องรับทุกข์อย่างแสนสาหัส (ดังนั้น) ความสนุกเพลิดเพลินของพวกเขาจะสร้างความสุขแม้เพียงเล็กน้อยได้อย่างไร"
หะสัทภีร์ ยัต กฤตัง กรรมะ กะลุษัง กะลุษาตมะภิห์ เอตัต ปะริณะเต กาเล โกรศัทภีร์ อนุภูยาเต
19 "คนที่มีจิตใจหยาบช้าทำกรรมชั่วอันใดลงไปพร้อมกับเสียงหัวเราะ ครั้นเมื่อกาลเวลาสุกงอมเต็มที่ เขาย่อมได้รับผลของกรรมนั้นพร้อมกับเสียงร้องไห้"[10][11]
ในสรรค ที่ 15 ว่าด้วการประกาศพระธรรมจักร กวีได้พรรณนาถึงเหตุการณ์ขณะที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นพระธรรมเทศนาแรกแก่พระปัญจวัคคีย์ โดยทรงแจกแจงถึงหนทางที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นที่แท้จริง ดังนี้
44 "เพราะทำลายกิเลสทั้งหลายได้ สาเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิดจึงดับไป และเพราะขจัดกรรมคือการกระทำได้ ทุกข์จึงหมดไป เพราะว่าสรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยบารมี และเพราะสิ่งนั้นดับไปสรรพสิ่งจึงดับไปด้วย"
45 "จงรู้ว่าการดับทุกข์ (นิโรธ) คือสภาวะที่ไม่มีชาติ ชรา มรณะ ดิน น้ำ อากาศ หรือลมไม่มีเบื้องต้น ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ใคร ๆ ขโมยไม่ได้ เป็นความสุข และไม่มีการเปลี่ยนแปลง"
46 "อริยมรรคนี้ประกอบด้วยองค์แปด นอกจากอริยมรรคนี้แล้วไม่มีทางอื่นที่จะเป็นไปเพื่อการบรรลุความพ้นทุกข์(อริคม)มนุษย์เดินวนเวียนอยู่ในทางที่หลากหลายเป็นนิตย์ก็เพราะยังไม่เห็นอริยมรรคนี้"
47 "ดังนั้นในอริยสัจ4นี้จึงกล่าวสรุปได้ว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุทัยเป็นสิ่งที่ต้องละ นิโรธเป็นสิ่งที่ต้องเข้าใจชัด มรรคเป็นสิ่งที่ต้องทำให้มีขึ้น"[12]
อ้างอิง
- ↑ Willemen, Charles, transl. (2009), Buddhacarita: In Praise of Buddha's Acts, Berkeley, Numata Center for Buddhist Translation and Research, p. XIII.
- ↑ สำเนียง เลื่อมใส. (2547). หน้า 20
- ↑ University of Oslo, Thesaurus Literaturae Buddhicae: Buddhacarita Taisho Tripitaka T.192
- ↑ Sa dbaṇ bzaṇ po and Blo gros rgyal po, "Saṅs rgyas kyi spyod pa źes bya ba´i sñan dṅags chen po" (Tibetan translation of Buddhacarita), in Tg - bsTan ’gyur (Tibetan Buddhist canon of secondary literature), Derge edition, skyes rabs ge, 1b1-103b2..
- ↑ E. H. Johnston, trans. (1937)
- ↑ สำเนียง เลื่อมใส. (2547). หน้า 8
- ↑ สำเนียง เลื่อมใส. (2547). หน้า 9
- ↑ tuart H. Young. (2002).
- ↑ สำเนียง เลื่อมใส. (2547). หน้า13 - 20
- ↑ สำเนียง เลื่อมใส. (2547)
- ↑ Faculty of Humanities, University of Oslo. Buddhacarita.
- ↑ สำเนียง เลื่อมใส. (2547)
บรรณานุกรม
- Willemen, Charles, trans. (2009), Buddhacarita: In Praise of Buddha's Acts, Berkeley, Numata Center for Buddhist Translation and Research.
- University of Oslo, Thesaurus Literaturae Buddhicae: Buddhacarita Taisho Tripitaka T.192
- Sa dbaṇ bzaṇ po and Blo gros rgyal po, "Saṅs rgyas kyi spyod pa źes bya ba´i sñan dṅags chen po" (Tibetan translation of Buddhacarita), in Tg - bsTan ’gyur (Tibetan Buddhist canon of secondary literature), Derge edition, skyes rabs ge, 1b1-103b2.
- E. H. Johnston, trans. (1937), "The Buddha's Mission and last Journey: Buddhacarita, xv to xxviii", Acta Orientalia, 15: 26-62, 85-111, 231-292.
- สำเนียง เลื่อมใส. (2547). มหากาพย์พุทธจริต พุทธประวัติฝ่ายมหายานจากกวีนิพนธ์สันสกฤต. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
- Stuart H. Young. (2002). Biography of the Bodhisattva A?vagho?a. Princeton, New Jersey
- Faculty of Humanities, University of Oslo. Buddhacarita. ดู http://www2.hf.uio.no/polyglotta/index.php?page=fulltext&view=fulltext&vid=77&cid=146406&mid=244532