พระเทพสิทธินายก (ชื่น ปญฺญาธโร) (นามเดิม: ชื่น แก้วประภา) น.ธ.เอก, ป.ธ.๖ (๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ - ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑) อดีตเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
ประวัติ
เดิมชื่อ ชื่น นามสกุล แก้วประภา นามฉายา ปัญญาธโร เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 ณ บ้านปี้ ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย อุปสมบท ณ วัดบุญนาค ตำบลหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย สอบได้นักธรรมเอก และ เปรียญธรรม 6 ประโยค ในฝ่ายปริยัติศึกษา และจบบาลีศึกษาปีที่ 2 จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฝ่ายสามัญศึกษา
งานด้านปกครอง
ในฐานะเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระเทพสิทธินายก รับผิดชอบปกครองวัดใน 18 อำเภอ จำนวน 1,076 วัด แยกเป็นวัดที่มีพัทธสีมา 559 วัด วัดที่เป็นสำนักสงฆ์ 517 วัด วัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่มีมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นวัดในถิ่นทุรกันดาร พระเทพสิทธินายก ออกตรวจเยี่ยมวัดในเขตปกครองเป็นประจำ ท่านมักจะไปด้วยตัวเองอย่างเงียบๆ โดยถวายคำแนะนำให้พัฒนาวัดให้เป็นศาสนสถานควรค่าแก่การมาปฏิบัติธรรม ร่มรื่น สะอาด สัปปายะ
ความเชี่ยวชาญ
พระเทพสิทธินายก มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน ได้แก่ การสอนเจริญสมาธิภาวนา การเทศน์ บรรยายธรรม ด้านพิธีกรรมล้านนา ด้านโบราณคดี และประวัติศาสตร์ล้านนา ด้านการอ่าน เขียน และปริวรรตภาษาล้านนาเป็นภาษาไทย ท่านจัดให้มีการสอนภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง) แก่พระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป และยังได้จัดทำโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีสืบชาตาเมืองเชียงราย จัดพิธีสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ (พระสิงห์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จัดงานเทศน์มหาชาติในวันเพ็ญเดือน 12 จัดงานสลากภัตร (ตานก๋วยสลากหลวง) อนุรักษ์การสวดมนต์เย็นแบบล้านนาโบราณ และการทำบุญตักบาตรแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันธรรมสวนะ วัดพระสิงห์จึงมีศาสนพิธีที่ดึงดูดสาธุชนให้เข้าวัดได้ทุกวัน รวมทั้งการมาสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นกับคณะสงฆ์ซึ่งพระเทพสิทธินายกนำสวดเอง เป็นประจำ
นอกจากนี้แล้วกิจของสงฆ์ที่พระเทพสิทธินายก ถือปฏิบัติมาโดยตลอดคือการออกรับอาหารบิณฑบาตจากสาธุชนญาติโยมเป็นประจำทุกวัน ยกเว้นวันพระ วันที่มีกิจนิมนต์ หรือวันที่ฝนตก จึงไม่สามารถออกทำกิจได้ นับเป็นพระมหาเถระเพียงรูปเดียวที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและตำแหน่งการปกครองระดับสูง ที่แม้จะมีศาสนกิจที่มากมายเพียงใด กอปรกับเป็นพระมหาเถระที่สูงอายุ แต่ยังคงยึดมั่นใจสมณกิจอย่างไม่หยุดหย่อน ชาวพุทธในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงต่างทราบกันดีถึงข้อวัตรปฏิบัติอันน่าบูชาเช่นนี้ โดยจะสังเกตเห็นได้ว่ามีผู้มารอใส่บาตรแด่พระเทพสิทธินายกกันอย่างมากมาย นับเป็นพระมหาเถระอีกรูปหนึ่งที่สามารถกราบได้อย่างสนิทใจ
สมณศักดิ์
- เป็นเปรียญธรรม ๖ ประโยค (พ.ศ. ๒๕๒๒)
- พระครูสัญญาบัตร รองเจ้าคณะจังหวัด ที่ พระครูศรีปริยัติวิธาน (พ.ศ. ๒๕๒๙)
- พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสุนทรปริยัติวิธาน (๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔)
- พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชสิทธินายก ดิลกศีลาจารนิวิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี (๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔)
- พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพสิทธินายก ดิลกศีลาจารนิวิฐ วรกิจจานุกิจจาทร บวรสังฆาราม คามวาสี (๕ ธันวาคม ๒๕๕๓)
ผลงานสำคัญ
ผลงานสำคัญของพระเทพสิทธินายก คือ ได้ตั้งสำนักศาสนศึกษาวัดพระสิงห์ โรงเรียนศรีปริยัติวิทยากร ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 ตั้งแต่ยังเป็นพระมหาชื่น ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ โดยเริ่มสอนเฉพาะแผนกธรรม นักธรรมชั้นตรี - โท -เอก ครั้น พ.ศ. 2524 ได้จัดการสอนแผนกบาลี โดยท่านดำเนินการสอนด้วยตนเอง
มรณภาพ
พระเทพสิทธินายก มรณภาพเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ณ โรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค จังหวัดเชียงราย มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562 ณ เมรุชั่วคราว พุทธมณฑลสมโภช 750 ปี เมืองเชียงราย ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
อ้างอิง