พระเทพกิตติปัญญาคุณ นามเดิม กิติศักดิ์ เจริญสถาพร[1] หรือที่รู้จักในนาม กิตติวุฑโฒ ภิกขุ อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และอดีตผู้อำนวยการจิตตภาวันวิทยาลัย จังหวัดชลบุรี
ประวัติ
พระเทพกิตติปัญญาคุณ เดิมชื่อ มังกร เจริญสถาพร เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2479 ที่ตำบลบางไทรป่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายเตียวยี่-นางเง็กเล้า เจริญสถาพร มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน คือ
- ร.ต.ต. อุเทน เจริญสถาพร
- นายวิทยา เจริญสถาพร
- พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิติศักดิ์ กิตฺติวุฑฺโฒ)
- นางสาวสมนึก เจริญสถาพร
- นายบุญช่วย เจริญสถาพร
- เด็กหญิงพิกุล เจริญสถาพร
- นายเกียรติ เจริญสถาพร
- นายชูศักดิ์ เจริญสถาพร
มังกรเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านบางเลน ต่อมาได้เรียนวิชชาธรรมกายกับพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) แล้วอุปสมบทวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2500 ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ[2] ขณะนั้นหลวงพ่อสดอาพาธ จึงให้พระธีรสารมุนี (สุไชย ธีรสาโร) วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์แทน พระครูปัญญาภิรัต วัดปากน้ำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพิพัฒนธรรมคณี วัดปากน้ำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์[3] ต่อมาวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2507 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกิติศักดิ์[4]
หลังอุปสมบทได้ศึกษาปริยัติธรรมจนจบนักธรรมชั้นเอกจากสำนักเรียนวัดปากน้ำ ต่อมาไปเรียนอภิธรรมที่โรงเรียนพระอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์[5] ได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนอภิธรรมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2503 จึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุฯ และได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ เช่น มูลกัจจายน์ วิสุทธิมรรค อภิธัมมัตถสังคหะ เป็นต้น กับพระเตชินทะ ธัมมาจริยะ อภิธัมมกถิกาจริยะชาวพม่า และพระครูประกาศสมาธิคุณ (สังเวียน ญาณเสวี) และเรียนวิปัสสนากับพระอาจารย์อินทวังสะ กัมมัฎฐานาจริยะชาวพม่า[6] จนมีผลงานทางด้านการพัฒนาการศึกษาของสงฆ์ การประพันธ์ และแต่งหนังสือเป็นจำนวนมาก[7] ในปี พ.ศ. 2510 ได้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของวิทยาลัยการเผยแพร่พระพุทธศาสนา (ปัจจุบันคือจิตตภาวันวิทยาลัย)
ช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ (ขณะนั้นเป็นพระราชาคณะที่พระอุดรคณาภิรักษ์) ได้กล่าวว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป ซึ่งถูกฝ่ายขวา อันได้แก่ นวพล กลุ่มกระทิงแดง ในสมัยนั้นนำไปใช้เป็นวาทกรรม โจมตีฝ่ายซ้าย และยุยงให้คนไทยเกลียดชังนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำไปสู่การสังหารหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519[8]
ระยะหลังพยายามที่จะสร้างอุโบสถกลางทะเลและระดมทุนก่อสร้างคอนโดธรรมะ รวมทั้งโรงพยาบาลสงฆ์ แต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์
พระเทพกิตติปัญญาคุณ อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบมานาน 5 ปีเศษ จนมรณภาพด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2548 เวลา 12:51 น. ณ โรงพยาบาลชลบุรี[9] สิริอายุได้ 68 ปี 234 วัน[10]วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเพลิงศพ[11]ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ้าย กรุงเทพมหานคร
สมณศักดิ์
วาทกรรมฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป
กิตติวุฑโฒภิกขุ ได้ให้สัมภาษณนิตยสารรายสัปดาห์ จัตุรัส เมื่อ พ.ศ. 2519 อันกลายมาเป็นคำขวัญระบือลือลั่นของฝ่ายขวาว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป ดังต่อไปนี้[15]
จัตุรัส: การฆ่าฝ่ายซ้าย หรือ คอมมิวนิสต์บาปหรือไม่
กิตติวุฑโฒ: อันนั้นอาตมาก็เห็นว่าควรจะทำ คนไทยแม้จะนับถือพุทธก็ควรจะทำ แต่ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการฆ่าคนเพราะว่าใครก็ตามที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันไม่ใช่คนสมบูรณ์ คือต้องตั้งใจ เราไม่ได้ฆ่าคน แต่ฆ่ามาร ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน
จัตุรัส: ฝ่ายซ้ายที่ตายหลายคนในช่วงนี้ คนฆ่าก็ได้บุญ
กิตติวุฑโฒ: ถ้าหากฆ่าคนที่ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้วก็ได้ประโยชน์
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ พระมหากัจจายนเถระ รจนา. (2551). เนตติปกรณ์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก Link[ลิงก์เสีย]. เข้าถึงเมื่อ 7-8-52
- ↑ เรือเอก ธเนศ วงษ์วารี. กิตติวุฑโฒ ภิกขุ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ), หน้า (4)
- ↑ ปรมัตถธรรม 4. (จิต เจตสิก รูป นิพพาน), หน้า (7)
- ↑ ปรมัตถธรรม 4. (จิต เจตสิก รูป นิพพาน), หน้า (8)
- ↑ ปรมัตถธรรม 4. (จิต เจตสิก รูป นิพพาน), หน้า (9)
- ↑ พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ), หน้า (5)
- ↑ 6 ตุลา “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จาก ประชาไทย [ออนไลน์] วันที่ 2013-10-04.
- ↑ พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ), หน้า (6)
- ↑ คุยได้ทุกเรื่อง : "พระกิตติวุฑโฒ"มรณภาพแล้ว
- ↑ พิธีบำเพ็ญกุศล ‘พระเทพกิตติปัญญาคุณ’
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 89, ตอน 202 ง ฉบับพิเศษ, 31 ธันวาคม 2515, หน้า 5
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 104, ตอน 253 ง ฉบับพิเศษ, 5 ธันวาคม 2530, หน้า 6
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 109, ตอน 101 ง ฉบับพิเศษ, 12 สิงหาคม 2535, หน้า 4
- ↑ กิตติวุฒโฑภิกขุ. น.ส.พ.จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 วันที่ 27 มิถุนายน 2519
- บรรณานุกรม
- พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ). ปรมัตถธรรม 4. (จิต เจตสิก รูป นิพพาน). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2549. ISBN 974-344-389-4
- พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ). กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], 2548. [อนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศลสัตตมวารศพ พระเทพกิตติปัญญาคุณ (กิตฺติวุฑฺโฒ ภิกฺขุ)]