พระสวรรค์วรนายก (ทองคำ โสโณ) เป็นอดีตเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก [1] (กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบจังหวัดสวรรคโลกให้ไปขึ้นกับจังหวัดสุโขทัย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2482 ดังนั้นฐานะของเจ้าคุณสวรรค์วรนายก ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสวรรคโลก จึงเปลี่ยนเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัยไปด้วย ) และเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดสวรรคาราม เกียรติคุณที่ปรากฏท่านเป็นพระผู้ที่ชอบสะสมวัตถุโบราณ ของเก่า เมื่อไปบวชเป็นพระอุปัชฌาย์ที่แห่งใด ญาติโยมที่เคารพนับถือได้ถวายวัตถุโบราณให้ท่าน ซึ่งต่อมาท่านได้ดำริในการมอบวัตถุโบราณให้กับทางราชการในการก่อตั้ง "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสวรรค์วรนายก" อันตั้งอยู่ที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน
ประวัติ
พระสวรรค์วรนายก นามเดิม ทองคำ จิตรธร เป็นบุตรกำนันหนุน นางสายบัว จิตรธร เกิดที่หลังวัดสวรรคาราม ตำบลเมืองสวรรคโลก (เดิมเป็นตำบลพิณพาทย์ อำเภอวังไม้ขอน จังหวัดสวรรคโลก) อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เกิดเมื่อปีฉลู พ.ศ. 2420
พระสรรรค์รนายกมีพี่น้องร่วมบิตา มารตาเดียวกันเป็นชายทั้งสิ้นรวม 5 คน โดยท่านเป็นบุตรคนโต คือ
1. พระสวรรค์วรนายก
2. พระครูธรรมวโรทัย (เพชร จิตรธร)
3. หลวงพินิจสรรพากร์ (แจ่ม จิตรธร) รับราชการเป็นสรรพากรจังหวัดสวรรคโลก
4. นายเจิม จิตรธร เมื่อบวชมีฐานานุกรมว่า พระวินัยธร ชาวบ้านเรียกพระวินัยธรเจิม
5. นายบาง จิตรธร รับราชการเป็นเสมียนศาล จังหวัดสวรรคโลก
พี่น้องของท่านเจ้าคุณสรรค์นายก ได้มรณภาพและถึงแก่กรรมไปก่อน 3 คน คือพระครูธรมวโรทัยหลวงพินิจสรรพากร และนายเจิม จิตรธร ส่วนนายบาง จิตรธร ถึงแก่กรมภายหลังท่นเจ้าคุณสวรรค์วรนายกมรณภาพ
เมื่อเยาว์วัย ได้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์แดง เจ้าอาวาสวัดกลาง (ซึ่งต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสวรรคาราม[2])
บรรพชา อุปสมบท
ด้วยระบบการศึกษาแต่เดิมเกิดในวัด เด็กชายทองคำจึงได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อเข้ารับการศึกษาตามระบบบการศึกษาดั้งเดิม พร้อมทั้งได้มีโอกาสไปศึกษา และจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวรารามกรุงเทพมหานคร เมื่ออายุได้ 20 ปี คือ พ.ศ. 2440 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 12 (ดำรงตำแหน่ง 6 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2481-พ.ศ. 2487 ) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขณะที่ทรงสมณศักดิ์ที่พระศรีสมโพธิ์ วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "โสโณ" ท่านได้ขะมักเขม้นสนใจค้นคว้าศึกษาพระปริยัติธรรมมิได้ละเว้น ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นปลัด เรียกกันเป็นสามัญของผู้ที่คุ้นเคยว่า "พระปลัดคำ" เมื่ออุปสมบทได้ 10 พรรษา ตรงกับ พ.ศ. 2450 ได้รับสมณศักดิ์ที่พระครูสวรรค์วรนายก ต่อมาใน พ.ศ. 2476 พระครูสวรรค์วรนายก ได้รับสมณศักดิ์เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญดังปรากฏในสัญญาบัตรว่าให้พระครูสวรรค์วรนายก วัดสวรรคาราม จังหวัดสวรรคโลก เป็นพระราชาคณะมีนามว่า พระสวรรค์วรนายก ธรรมสาธกวินัยวาที สังฆปาโมกข์ [3][4]
ผลงานที่โดดเด่น
ท่านได้รวบรวมศิลปวัตถุโบราณไว้จำนวนมาก และได้มีดำริที่จะจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เป็นมรดกแก่แผ่นดิน ซึ่งทางหน่วยงานราชการได้สนองเจตนารมณ์ท่านโดยการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขึ้น และเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านจึงได้ใช้ให้นามว่า "พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสวรรค์วรนายก" ตามพระราชทินนามสมณศักดิ์ขั้นสุดท้ายของท่าน โดยสิ่งที่ท่านรวบรวมไว้และจัดมอบให้แก่ทางพิพิธภัณฑ์ อาทิ
- พระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธินาคปรก ศิลปะลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 18) [5]
- พระพุทธรูปปางประทานธรรม ศิลปะอู่ทอง (พุทธศตวรรษที่ 18 – 19) [6]
- พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19) [7]
- พระพุทธรูปปางประทานอภัย ศิลปะอยุธยา สกุลช่างกำแพงเพชร (พุทธศตวรรษที่ 21) [8]
- พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 23) [9]
- พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19 – 20) [10]
อ้างอิง
แหล่งข้อมุลอื่น